• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ขจร

ขจร 
  ขึ้นลานวัดทัศนาดูอาวาส  ศิลาลาดเลียบเดินเนินสิงขร
  พฤกษาออกดอกช่ออรชร  หอมขจรจำปาสารภี 

 นิราศเมืองเพชร...สุนทรภู่ 

 จรเป็นไม้เลื้อยวงศ์ดอกรัก คือวงศ์ Asclepiadaceae บ้างเรียกดอกสลิด ผักขิก (ร้อยเอ็ด) ผักสลิดคาเลา สลิดป่า ผักสลิด กะจอน ขะจอน
ขจรเป็นไม้เถาเนื้อแข็งขนาดเล็กสูง ๓-๖ เมตร ยอดอ่อนมีขนปกคลุม เปลือกหนานุ่มมีรอยแตกลึก ทุกส่วนมีน้ำยางสีขาว

ใบเดี่ยวขนาดเล็กปลายใบแหลมขอบใบเรียบ โคนใบรูปหัวใจแผ่นใบบาง ด้านล่างมีขนตามเส้นใบ มีก้านใบยาวออกตามข้อแบบตรงข้าม

ดอกมี ๕ กลีบโคนเชื่อมติดกันเป็นท่อ ภายในท่อมีขนเกสรเพศผู้ ๕ อันเชื่อมติด กันเป็นรูปมงกุฎ ปลายอับเรณูมีเยื่อบางๆ หุ้มเกสรเพศเมีย ๕ อันอยู่ตรงกลาง

ดอกขจรมีสีเหลืองหรือสีส้ม บริเวณกลางดอกมีสีเขียว ออกรวมกันเป็นช่อซี่ร่มตามข้อลำต้นหรือง่ามใบ ดอกบานไม่พร้อมกัน เมื่อบานเริ่มหอมตั้งแต่ช่วงบ่าย ดอกออกมากตั้งแต่ต้นฤดูหนาว ดอกมีกลิ่นหอมเย็น
ผลเป็นรูปไข่แกมรูปหอก ปลายโค้งแหลม เมล็ดมีขนเพื่อช่วยในการกระจายพันธุ์

ขจรเป็นพืชปลูกง่ายโดยการใช้เมล็ด ใช้กิ่งชำ หรือแยกราก ขึ้นได้ดีในดินทุกสภาพ แต่ถ้าจะให้ดีควรปลูกบน ดินร่วนปนทราย หรือดินที่มีความร่วนซุยมากๆ ขจรเป็น ไม้ที่ชอบแดดจัดไม่ต้องการน้ำมากนัก และทนต่อสภาพ ความแห้งแล้งได้ดี ดังนั้นการรดน้ำให้รด ๒ วันต่อครั้ง

สรรพคุณทางยา : ยอดอ่อน ดอก ผลอ่อน บำรุงธาตุ บำรุงตับ ปอด แก้เสมหะเป็นพิษ   รากมีรสเย็นเบื่อ ทำให้อาเจียน ถอนพิษเบื่อเมา  
ประโยชน์ทางอาหาร : ยอดอ่อน ดอก ผลอ่อน กินสดหรือลวกให้สุกกินร่วมกับน้ำพริก ดอกมีรสเย็นขมหอม นำไปปรุงอาหาร เช่น ผัด แกงจืด แกงส้ม
ส่วนที่ใช้เป็นอาหาร : ยอดอ่อน ดอกตูมและบาน ผลอ่อน

ดอกขจรกินได้ มีรสอร่อย คนไทยใช้ดอกขจรปรุง อาหาร ทำแกงจืด หรือต้มกับกะทิกินต่างผัก ดอก ยอด ใบอ่อนใช้แกงผักรวม ดอกและผลอ่อนใช้ต้มลวกกิน   กับน้ำพริกได้ กลุ่มประเทศอาเซียนหลายประเทศกินดอกขจรโดยการผัดหรือต้ม  มีจำหน่ายในกระทงใบตอง สหรัฐอเมริกามีการกินช่อดอกอ่อนและใบอ่อน
ขจรเป็นไม้หอมที่มีการกล่าวถึงในวรรณคดีไทย  นอกจากนี้แล้วมีการนำดอกขจรมาใช้ร้อยมาลัยและกรองเป็นดอกคล้ายดอกกุหลาบ

มลรัฐฮาวาย ประเทศสหรัฐอเมริกาใช้ดอกขจรในการร้อยมาลัยคล้องคอที่เรียกว่า "เลย์ส หรือ leis" ใช้ในงานพิธีกรรมต่างๆ ของท้องถิ่น จะเห็นว่าคนไทยแต่โบราณมีความสุนทรีในความเป็นอยู่ ปลูกพืชผักไว้ได้ใช้ทั้งบริโภคและเพื่อจรรโลงใจ

ขจรเป็นพืชที่ปลูกในกระถางได้ ถ้าจะลองปลูก   กันเพื่อใช้ดอกเป็นอาหารและสูดดมกลิ่นจรุงใจก็จะใช้เป็นสุคนธบำบัดได้นะคะ 

ข้อมูลสื่อ

337-007
นิตยสารหมอชาวบ้าน 337
พฤษภาคม 2550
บทความพิเศษ
รศ.ดร.สุธาทิพ ภมรประวัติ