• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

มะเร็งลำไส้

 พลตรี รศ.นพ.ปริญญา ทวีชัยการ  กองศัลยกรรม โรงพยาบาลพระมงกุฏเกล้า ประธานชมรมศัลยแพทย์ลำไส้ใหญ่และทวารหนัก (ประเทศไทย)
มะเร็งลำไส้ใหญ่  ภัยเงียบที่เอาชนะได้
                มะเร็งเป็นโรคร้ายแรงที่ทุกคนป้องกันได้ ด้วยตนเอง แต่ถ้าเป็นมะเร็งแล้วอาการ อยู่ในระยะที่ไม่สาหัสจนเกินไป แพทย์  ผู้เชี่ยวชาญสามารถรักษาให้หายได้
ทำไมถึงเรียกว่ามะเร็ง
                มะเร็งคือเนื้องอกชนิดหนึ่ง
                เนื้องอกในร่างกายคนเราแบ่งออกเป็น ๒ ชนิดคือ เนื้องอกที่ไม่ใช่มะเร็ง ไม่ใช่เนื้อร้าย และเนื้องอกที่เป็นมะเร็ง
                เซลล์ในร่างกายมีการแบ่งตัวปกติ ต่อมามีการแบ่ง ตัวผิดปกติ จนกระทั่งมีก้อนเนื้อยื่นออกมา เป็นก้อน   เนื้อใหญ่กว่า อยู่ในตำแหน่งที่ไม่ควรอยู่ เช่น ผิวหนัง ลำไส้เนื้องอกที่ไม่ใช่มะเร็ง มักจะโตช้า บางครั้งหยุดโต
               เนื้องอกที่เป็นมะเร็ง จะโตขึ้นมาก่อนเวลา โตขึ้นเรื่อยๆ ไม่มีการหยุด ไม่มีการควบคุม เรียกการโตแบบนี้ว่ามะเร็ง
               มะเร็ง ภาษาอังกฤษเรียก cancer หมายถึง ปู เปรียบเสมือนเนื้องอกที่โตขึ้นเรื่อยๆ คืบคลานไปไม่มีการหยุด เมื่อไม่มีการหยุด ทุกครั้งที่มีการแบ่งตัวก็อาศัยพลังงานในร่างกาย และลุกลามสู่อวัยวะใกล้เคียง ที่เกี่ยวข้อง ทำให้หน้าที่ของอวัยวะในร่างกายเสียไป และใช้พลังงานมากขึ้น ส่งผลให้ร่างกายเสื่อมสภาพ เช่น   เป็นมะเร็งที่อยู่ใกล้ท่อน้ำดี ก็ทำให้ท่อน้ำดีอุดตัน มะเร็งกระเพาะอาหารก็อาจจะกินลึกเข้าไปถึงหลอดเลือด ทำให้หลอดเลือดฉีกขาด มีเลือดออก 
     

                 


มะเร็งกับความตาย
                  ประมาณ ๕-๑๐ ปีที่ผ่านมา มะเร็งเป็นสาเหตุการ ตายอันดับ ๑ ของประชากรโลก ถึงแม้ว่าอุบัติการณ์ของมะเร็งจะน้อยกว่าอุบัติเหตุ น้อยกว่าโรคหัวใจ แต่ตายมากกว่า เพราะบางคนเป็นโรคหัวใจ แต่ไม่ตาย แต่เป็นมะเร็งส่วนมากจะตาย
                 ผู้ป่วยมะเร็งทั่วโลกที่เสียชีวิตมากที่สุดคือผู้ป่วยมะเร็งปอด รองลงมาคือมะเร็งลำไส้ใหญ่
                 ทำไมมะเร็งปอดถึงทำให้เสียชีวิตมากที่สุด เพราะเมื่อตรวจพบว่าเป็นมะเร็งปอด เพียง ๑-๒ เซนติเมตร มะเร็งปอดกระจายไปต่อมน้ำเหลือง อาการมักจะรุนแรง มากแล้ว รักษาไม่ได้ผล ผ่าตัดออกก็ไม่ได้ ต้องให้เคมีบำบัดอย่างเดียว 
                ข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุขพบว่า ก่อนปี พ.ศ. ๒๕๔๐ คนไทยตายจากโรคหัวใจและอุบัติเหตุมาก แต่หลังจากปี พ.ศ.๒๕๔๐ การตายจากโรคหัวใจและอุบัติ-เหตุลดจำนวนลง จนกระทั่งหลังปี พ.ศ.๒๕๔๕ โรคมะเร็ง เป็นสาเหตุการตายอันดับ ๑ ของคนไทย
มีข้อสังเกตว่า มะเร็งชนิดไหนก็ตามที่สามารถตรวจ พบได้ตั้งแต่ระยะแรก ผู้ป่วยมักจะรอดชีวิต แต่ถ้ามะเร็ง ชนิดนั้นระยะแรกไม่สามารถตรวจพบได้ เพราะเมื่อตรวจ พบมักจะเป็นมากแล้ว ทำให้ผู้ป่วยรอดชีวิตยาก
มะเร็งลำไส้ใหญ่คืออะไร
                  มะเร็งลำไส้ใหญ่ คือการแบ่งงอกที่ผิดปกติของเยื่อบุภายในลำไส้ใหญ่
                  ลำไส้ใหญ่แบ่งออกเป็นชั้นๆ ด้านในมีเยื่อบุ แบ่งตัวผิดปกติ และค่อยๆ งอกโตขึ้นมา ด้านหนึ่งงอกเข้ามาด้านใน อีกด้านหนึ่งลุกลามไปที่ผนังทั้ง ๒ ด้าน คือคืบคลานไป ถ้าอยู่แค่เยื่อบุลำไส้ เรียกว่า มะเร็งระยะไม่ลุก ลาม เพราะไม่มีท่อน้ำเหลืองและหลอดเลือดฝอย (ท่อน้ำเหลืองและหลอดเลือดฝอยอยู่ที่ผนังลำไส้ ลึกเข้าไปอีกนิดหนึ่ง)
                 พอเริ่มเป็นชนิดลุกลามเมื่อไหร่ ลึกถึงชั้นก่อนถึงกล้ามเนื้อ มีท่อน้ำเหลืองและหลอดเลือดฝอย ก็เริ่มต้นนับเป็นมะเร็งระยะที่ ๑ เริ่มลุกลาม
                 มะเร็งลำไส้ใหญ่เป็นเซลล์มะเร็งของเนื้อเยื่อลำไส้ ใหญ่และลำไส้ตรง คือมะเร็งที่เติบโตมาจากเนื้อเยื่อที่มีลักษณะเป็นต่อมในลำไส้ใหญ่ โดยก่อนที่เซลล์จะกลาย เป็นมะเร็ง บางครั้งอาจพบลักษณะคล้ายติ่งเนื้องอกในลำไส้ขึ้นมาก่อน ซึ่งการผ่าตัดติ่งเนื้องอกออกสามารถป้องกันไม่ให้เซลล์กลายเป็นมะเร็งได้
มะเร็งลำไส้ใหญ่ที่ไม่ได้รับการรักษาอาจลุกลามทะลุผนังลำไส้ หรือแพร่กระจายต่อไปยังตับ ปอด สมอง และกระดูกได้
     
ระยะของมะเร็งลำไส้ใหญ่
                การแบ่งระยะของโรคเป็นการแบ่งตามความรุนแรง คือ

  • ระยะที่ ๑ การรักษา ผ่าตัดอย่างเดียว ร้อยละ ๙๕ หายจากโรค
  • ระยะที่ ๒ แบบเนื้อเยื่อชนิดเลว จะต้องให้เคมีบำบัดตาม เพราะการผ่าตัดอย่างเดียวได้ผลประมาณ ร้อยละ ๗๐ และจะต้องให้เคมีบำบัด โอกาสหายร้อยละ ๘๐-๙๐
  • ระยะที่ ๓ มะเร็งแพร่กระจายต่อมน้ำเหลืองแล้ว การผ่าตัดจะต้องผ่าตัดเอาต่อมน้ำเหลืองออกให้มากที่สุด เพราะกระจายไปตามต่อมน้ำเหลือง อย่างน้อยจะต้องไม่น้อยกว่า ๑๒ ต่อม และทุกกรณีหลังผ่าตัด ต้องให้เคมีบำบัดตามหมด เป็นการรักษาเสริม การผ่าตัดคือการรักษาหลัก เพื่อเอาเนื้อมะเร็งออกไป และนำหน่วยลาดตระเวน คือยาเคมีบำบัดฉีด หรือกินเข้าไปในร่างกาย เพื่อไปฆ่าทหารแตกทัพทิ้งให้หมด

                 ผู้ป่วยที่ให้เคมีบำบัดระยะที่ลุกลามไปต่อมน้ำเหลือง กับผู้ป่วยที่ผ่าตัดอย่างเดียว และผู้ป่วยที่ผ่าตัด + เคมีบำบัด ชนิดไหนรอดมากกว่ากัน พบว่า ผ่าตัด + เคมีบำบัด รอดมากกว่า ก็เลยกลายเป็นมาตรฐานว่าต่อไปนี้ ผ่าตัดต้องให้เคมีบำบัดด้วย
                ระยะที่ ๔ มะเร็งแพร่กระจายไปที่ตับ ถ้าตามไปตัดตับบางส่วน (เหลือตับไว้ร้อยละ ๒๕) ผู้ป่วยมีโอกาสรอดชีวิตเท่ากับระยะที่ ๓ รวมถึงให้เคมีบำบัดด้วย
     
ชนิดมะเร็งลำไส้ใหญ่ 
มะเร็งลำไส้ใหญ่มี ๓ รูปแบบดังนี้
                ๑. ถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์ พบยีนที่ถ่ายทอดโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่อย่างชัดเจน มีประมาณร้อยละ  ๑๐-๒๐
                ๒. เกิดขึ้นเอง ปกติเซลล์แบ่งตัวเรื่อยๆ ได้เซลล์ผิดปกติ เรียกว่าการแบ่งแบบผ่าเหล่า เกิดขึ้นบ่อยๆ     ผิดปกติเรื่อยๆ คือมะเร็ง พบประมาณร้อยละ ๗๐ 
                ๓. ไม่ทราบสาเหตุ ประมาณร้อยละ ๑๐-๒๐ มีคนเป็นกันมากในครอบครัว แต่หายีนที่เป็นตัวถ่ายทอดไม่ได้ และสรุปไม่ได้ว่าเป็นมะเร็งแบบที่ ๑ หรือ ๒ เรียกว่ามะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนักแบบเป็นครอบครัว เช่น ตัวเอง ญาติ พี่น้อง
     
มะเร็งที่เกิดจากกรรมพันธุ์ ป้องกันได้หรือไม่
               มะเร็งชนิดใดก็ตาม สามารถป้องกันได้เสมอ เกิดจากกรรมพันธุ์ คือเติบโตมาพร้อมกับได้รับถ่ายทอดยีนที่ผิดปกติข้างหนึ่งมาจากพ่อหรือแม่ (ยีนจะอยู่กันเป็นคู่) คนที่ได้รับการถ่ายทอดยีนกรรมพันธุ์ คือได้รับ   มาข้างเดียว พออีกข้างเปลี่ยนปุ๊บ กลายเป็นมะเร็งเลย เนื่องจากมะเร็งเป็นลักษณะด้อย เป็นธรรมชาติกำหนดให้โรคต่างๆ มีลักษณะด้อย เมื่ออยู่เป็นคู่ยีนเปลี่ยนไปข้างเดียว อีกข้างยังอยู่ ไม่เกิดมะเร็ง ไม่เกิดโรค ต่อมาเปลี่ยน ๒ ข้างจึงเกิดโรค
               คนปกติต้องเปลี่ยนทั้ง ๒ ข้างถึงจะเกิดโรค เกิดการ ผ่าเหล่าทั้ง ๒ ข้าง เมื่ออายุมากขึ้นเกิดโรคได้ประมาณ ๖๓-๖๕ ปีเมื่อไหร่ที่มะเร็งลำไส้ใหญ่เกิดในคนอายุ ๒๐-๓๐-๔๐ ให้สงสัยได้เลยว่าถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์ เพราะโตมาก็หงิกไป ๑ ข้างแล้ว แต่สามารถดึงให้ยีนเปลี่ยนแปลง ช้าลงได้ ด้วยการใช้ชีวิตที่ดี เช่น การออกกำลังกาย กินอาหารได้สัดส่วนสมดุล ประกอบด้วย คาร์โบไฮเดรต โปรตีน ไขมัน ผักสด ผลไม้ เส้นใย ปริมาณที่มีความพอเพียง สมดุล มีสัดส่วนอาหารที่ถูกต้อง ไม่ดื่มเหล้า   ไม่สูบบุหรี่ ก็อาจจะช่วยยืดเวลาการเกิดโรคออกไปได้
               กรรมพันธุ์ไม่สามารถแก้ได้ แต่แก้ด้วยพฤติ-กรรม เพราะคนที่มีพื้นฐานกรรมพันธุ์ ไม่ได้เกิดมาปุ๊บเป็นโรคเลย ต้องกินเวลาอีก ๒๐-๓๐ ปี ถึงจะเป็นโรค ช่วงนี้ยืดเวลาได้หรือไม่ บางส่วนอาจจะยืดเวลาออกไปได้ และจะต้องตรวจเช็กร่างกายสม่ำเสมอ ก็จะช่วยให้พบมะเร็งตั้งแต่ระยะเริ่มแรก
               การป้องกันไม่แตกต่างกัน แต่การตรวจเช็กแต่เนิ่นๆ ว่าสงสัยเป็นกรรมพันธุ์ เพราะกลุ่มนี้จะมีเนื้องอกตั้งแต่อายุ ๒๐
ปัจจัยเสี่ยงของมะเร็งลำไส้ใหญ่
               ปัจจัยเสี่ยง หมายถึง สิ่งใดก็ได้ที่สามารถเพิ่มโอกาสในการเกิดโรค สำหรับการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่ มีปัจจัยเสี่ยงดังต่อไปนี้
               ๑. มีประวัติติ่งเนื้องอกในลำไส้ ซึ่งติ่งเนื้อบางชนิด อาจกลายเป็นมะเร็งในเวลาต่อมาได้ การตรวจลำไส้ใหญ่โดยการส่องกล้องสามารถตรวจพบและตัดติ่งเนื้อออกได้ก่อนที่จะเปลี่ยนแปลงเป็นมะเร็งต่อไป
               ๒. อายุ พบว่ามากกว่าร้อยละ ๙๐ ของมะเร็งลำไส้ใหญ่เกิดในกลุ่มอายุมากกว่า ๕๐ ปี
               ๓. โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่บางชนิด อาจเกิดการอักเสบเรื้อรังของลำไส้ใหญ่ และกลายเป็นปัจจัยเสี่ยงได้
               ๔. มีประวัติเป็นมะเร็งชนิดอื่นมาก่อนในบุคคลนั้น
              ๕. มีประวัติเป็นมะเร็งในครอบครัว หรือมีโรคแต่กำเนิดบางชนิด เช่น โรคเนื้องอกแต่กำเนิดในลำไส้ อาจเพิ่มปัจจัยเสี่ยงได้
              ๖. กิจวัตรประจำวัน เช่น การกินอาหารไขมันสูงหรือไม่ได้ออกกำลังกายเป็นประจำ อาจเป็นปัจจัยเสี่ยงได้
              ๗. การสูบบุหรี่
                   การกินยาต้านการอักเสบชนิดไม่มีสตีรอยด์ เช่น แอสไพริน อาจช่วยป้องกันการเกิดติ่งเนื้องอกในผู้ป่วยที่มีประวัติสงสัยว่าอาจเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้ แต่ควรปรึกษาแพทย์ เนื่องจากยามีผลข้างเคียง
     
อะไรคือตัวกระตุ้นมะเร็งลำไส้ใหญ่
                   ตัวกระตุ้นคือตัวสัมผัส เกี่ยวข้องกับอาหารที่กินเข้าไป ถ้าถ่ายตอนเช้า วันละครั้ง อุจจาระจะสัมผัส ๒๔ ชั่วโมง ถ้าถ่ายเช้าและเย็น อุจจาระสัมผัส ๑๒ ชั่วโมง ประเมินว่า คนถ่ายวันละครั้ง เฉลี่ยอายุ ๖๓ ปีเป็นมะเร็ง แต่ถ้าถ่ายวันละ ๒ ครั้งอายุ ๑๒๖ ปีแล้วเป็นมะเร็งใช่ไหม มีการแนะนำให้กินผัก ดื่มน้ำมากๆ ออกกำลังกาย จนสามารถถ่ายอุจจาระได้เช้า-เย็น เพื่อจะยืดเวลาที่มะเร็งสัมผัสกับลำไส้ใหญ่ออกไป
     
การป้องกัน
                    แพทย์จะให้คำแนะนำในการตรวจสอบผู้ป่วยแต่ ละราย เช่น ผู้ป่วยที่มีประวัติครอบครัวเป็นมะเร็ง การตรวจสอบมีหลายวิธี เช่น หลังจากอายุ ๕๐ ปีไปแล้ว อาจได้รับการตรวจหา ปริมาณเลือดปนเปื้อนในอุจจาระปีละครั้ง และ/หรือการ ส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ทุก ๕-๑๐ ปี และหากสงสัยว่า มีปัจจัยเสี่ยงมาก อาจตรวจสอบถี่กว่าระยะเวลาที่กำหนด 
                   นอกจากนี้ อาจมีการตรวจร่างกายโดยใช้นิ้วคลำบริเวณทวารหนัก การตรวจทางรังสี เช่น การสวนแป้งแบเรียม หรือการตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ เป็นต้น

อาการและอาการแสดง
                  อาการและอาการแสดงต่อไปนี้ อาจทำให้ผู้ป่วยมาพบแพทย์ได้เร็ว ซึ่งหากตรวจพบมะเร็งระยะเริ่มแรก สามารถรักษาให้หายขาดได้ อาการดังกล่าว ได้แก่
                  ๑. การเปลี่ยนแปลงการขับถ่ายในชีวิตประจำวัน หรือลักษณะอุจจาระลีบเล็กลง
                  ๒. ท้องเสีย หรือท้องผูกสลับกัน
                  ๓. อึดอัดแน่นท้อง มีอาการเกร็งคล้ายเป็นตะคริว ในท้อง
                 ๔. น้ำหนักลดโดยไม่ได้จำกัดอาหาร
                 ๕. เลือดออกทางทวารหนัก หรือปนมากับอุจจาระ
                 ๖. เบื่ออาหาร อ่อนเพลียอย่างผิดปกติ

การวินิจฉัย
                  แพทย์จะตรวจวินิจฉัยตามวิธีการที่เหมาะสม การตัดชิ้นเนื้อเป็นวิธีที่สามารถวินิจฉัยได้อย่างแน่นอน ร่วมกับการตรวจเลือดหรือการตรวจทางรังสีอื่นๆ เพื่อตรวจการลุกลามแพร่กระจายของโรค โดยพิจารณาจากอายุ โรคประจำตัวของผู้ป่วย ชนิดของมะเร็ง และความรุนแรงของอาการ
     
การรักษา
                 การรักษามะเร็งลำไส้ใหญ่ขึ้นอยู่กับขนาดและตำแหน่งของเนื้องอก การกระจายของมะเร็ง และสุขภาพ โดยรวมของผู้ป่วย ซึ่งหลายครั้งต้องอาศัยทีมแพทย์    ผู้เชี่ยวชาญสาขาต่างๆ เช่น อายุรแพทย์ทางเดินอาหาร ศัลยแพทย์ อายุรแพทย์มะเร็งวิทยา และรังสีรักษาแพทย์ ร่วมวางแผนการรักษาที่ดีที่สุดให้กับผู้ป่วยแต่ละราย
     
การผ่าตัด
               การผ่าตัดเป็นวิธีการรักษามะเร็งลำไส้ใหญ่ที่นิยมที่สุด จุดประสงค์เพื่อกำจัดเนื้อร้ายออกไป ควรได้รับการผ่าตัดโดยแพทย์ผู้มีประสบการณ์ด้านมะเร็ง โดยส่วนใหญ่จะเป็นการผ่าตัดลำไส้ใหญ่ส่วนที่เป็นมะเร็งและต่อมน้ำเหลืองข้างเคียงออก ผู้ป่วยบางรายอาจต้อง มีการนำลำไส้มาเปิดทางหน้าท้อง และขับถ่ายทางถุงหน้าท้อง ซึ่งอาจเป็นการชั่วคราวหรือถาวรก็ได้ ปัจจุบันการนำรังสีรักษาและเคมีบำบัดมาใช้ร่วมกับการผ่าตัด สามารถลดการนำลำไส้มาเปิดที่หน้าท้องอย่างถาวรได้
ปัจจุบันมีการผ่าตัดผ่านกล้องส่องทางหน้าท้อง ซึ่ง ลดผลข้างเคียงจากการผ่าตัดใหญ่ได้ แต่ต้องทำโดยแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญ และไม่ใช่วิธีที่เหมาะสมกับผู้ป่วยทุกราย
     
เคมีบำบัด
              ผู้ป่วยที่มีก้อนมะเร็งขนาดใหญ่มาก หรือมีมะเร็งระยะที่แพร่กระจายไปสู่ต่อมน้ำเหลือง ผู้ป่วยมักจะต้องได้รับเคมีบำบัดหลังการผ่าตัด เรียกว่า การรักษาเสริมหลังการผ่าตัด เพื่อกำจัดเซลล์มะเร็งที่ยังหลงเหลืออยู่ กรณีนี้เป็นการรักษาเพื่อที่จะลดโอกาสของการกลับมาเป็นมะเร็งซ้ำ รวมถึงช่วยเพิ่มอัตราการอยู่รอดของผู้ป่วย
นอกจากนี้ ยาเคมีบำบัดยังใช้ในการรักษาหลักในผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่ระยะแพร่กระจาย หรือผู้ป่วยที่ไม่สามารถรับการผ่าตัดได้ ในกรณีที่มะเร็งลำไส้ใหญ่ได้แพร่กระจายไปยังส่วนต่างๆ ของร่างกาย โอกาสการรักษาให้หายขาดมีน้อยมาก
                การใช้เคมีบำบัดจึงมักนิยมใช้เพื่อหยุดการกระจาย ตัวของมะเร็งไม่ให้ลุกลามต่อ รวมทั้งบรรเทาอาการ หรือความทรมานจากมะเร็ง เพื่อให้คุณภาพในการดำเนินชีวิตดีที่สุด และเพิ่มอัตราการอยู่รอดของผู้ป่วยได้นานขึ้น เรียกการรักษาแบบนี้ว่า การรักษาแบบบรรเทาอาการ
กรณีของมะเร็งลำไส้ตรง อาจพิจารณาให้เคมีบำบัดร่วมกับการฉายแสงก่อนการผ่าตัด เพื่อลดขนาดของก้อนมะเร็ง และลดการกลับมาเป็นซ้ำของมะเร็ง
เคมีบำบัดมี ๒ ชนิด
                 ชนิดฉีดเข้าหลอดเลือดดำ การให้ยาเคมีบำบัด แบบฉีด เป็นวิธีดั้งเดิมในการรักษาด้วยยาเคมีบำบัด
                 ชนิดกิน เป็นรูปแบบยาเคมีบำบัดที่พัฒนาขึ้นมาช่วยเพิ่มความสะดวกต่อการรักษาให้กับผู้ป่วย ผู้ดูแลและครอบครัว ทั้งนี้ผู้ป่วยสามารถกินยาได้เองที่บ้าน และไม่ต้องมารับเคมีบำบัดที่โรงพยาบาล
     
รังสีรักษา
                 รังสีรักษาสามารถให้ก่อนหรือหลังผ่าตัด เพื่อทำลายโรคบริเวณต้นกำเนิด การให้รังสีรักษาก่อนผ่าตัดสามารถช่วยลดขนาดก้อนเนื้อมะเร็ง ทำให้ผ่าตัดได้ง่ายขึ้น  ส่วนการให้หลังผ่าตัด สามารถช่วยทำลายโรคที่อาจ หลงเหลืออยู่ ปัจจุบันพบว่าการให้รังสีรักษาร่วมกับเคมีบำบัดในผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ตรงก่อนการผ่าตัดได้ผลดีกว่า การให้หลังผ่าตัด สามารถลดการเกิดโรคขึ้นมาใหม่ และลดอัตราการผ่าตัดชนิดนำลำไส้มาเปิดไว้ที่หน้าท้องได้
                  รังสีรักษาวิธีการพิเศษ เช่น การฉายรังสีปริมาณสูง เพียงครั้งเดียวระหว่างผ่าตัด หรือการฝังแร่สามารถใช้ใน บริเวณรอยโรคเล็กๆ ที่อาจหลงเหลืออยู่หลังการผ่าตัดได้ การรักษาดังกล่าวมาทุกวิธี มีผลข้างเคียงกับผู้ป่วย ได้แตกต่างกันไป ซึ่งแพทย์ผู้รักษาจะให้คำแนะนำ และรักษาผลข้างเคียงดังกล่าวไปด้วย
     
มะเร็งลำไส้ใหญ่ หายเองได้หรือไม่
                   เท่าที่ปรากฏ ยังไม่มีใครที่เป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่และไม่เข้ารับการผ่าตัดรักษา หายจากโรคได้เอง มะเร็งลำไส้ใหญ่หายขาดได้หรือไม่ ขึ้นกับว่าเป็นระยะไหน
ระยะก่อนเป็นมะเร็ง คือเป็นเนื้องอกธรรมดา หาย ขาดได้ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์
มะเร็งยังไม่ลุกลาม ตัดออก ก็หายขาด ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์

  • ระยะ ๑ มะเร็งหายขาดร้อยละ ๙๕
  • ระยะ ๒ มะเร็งหายขาดร้อยละ ๗๐-๘๐
  • ระยะ ๓ มะเร็งหายขาดร้อยละ ๖๐ และบวกเคมีบำบัดก็หายขาดเพิ่มขึ้น
  • ระยะ ๔ มะเร็งลามไปตับ

                     หลังผ่าตัดมะเร็งลำไส้ใหญ่ คนไข้ต้องมาให้หมอตรวจเป็นระยะ ทุก ๓ เดือนใน ๒ ปีแรก เพราะมะเร็งจะเกิดใหม่ส่วนใหญ่ประมาณ ๒ ปีแรกร้อยละ ๗๐
หลังจากนั้นอีก ๓ ปีหลัง แค่ร้อยละ ๓๐ เท่านั้น
                    หลังจาก ๕ ปีไปแล้วว่า มะเร็งลำไส้ใหญ่เหมือนเมียหลวงผู้ซื่อสัตย์ นานเท่าไหร่ก็คอย และมักจะหาย ขาด ดังนั้น จะต้องติดตามทุก ๓ เดือนใน ๒ ปีแรก   หลังจาก ๒ ปีแรกอาจจะทุก ๖ เดือน  หลังจาก ๕ ปีก็ประมาณปีละครั้ง ตลอดชีวิต

                    วิถีชีวิตที่ส่งเสริมสุขภาพของตนเอง คือหนทางที่จะนำพาชีวิตปราศจากโรคมะเร็งและ โรคร้ายแรงอื่นๆ สิ่งสำคัญคือปฏิบัติต่อเนื่อง และจริงจัง
 

มะเร็งลำไส้ใหญ่  ไม่ผ่าตัด...ตาย
คุณสนั่น ศิลปบรรเลง
ประธานชมรมออสโตมี (ประเทศไทย) อายุ ๘๐ ปี
                        ย้อนไปเมื่อ ๑๐ กว่าปีมาแล้ว มีสุขภาพ ไม่ดีเกี่ยวกับท้องไส้ นั่นคือบางทีก็ท้องเสีย บางทีก็ท้องผูก และมีอาการปวดท้องเป็นประจำ บาง- ครั้งถ่ายอุจจาระออกมาก้อนมีสีแปลกๆ ระคนกันอยู่ บางทีก้อนมีสีดำ บางทีก้อนเป็นสีแดง และบางทีสีม่วง และบ่อยครั้งมีสีดำคล้ำอีกด้วย
                        บางครั้งปวดท้องเหมือนท้องจะเสีย แต่ก็ไม่เสีย แต่เวลาท้องเสียจริงๆ กลับไม่ปวดท้อง ก็มี เรียกว่าสภาพการขับถ่ายเปลี่ยนแปลงผิดปกติไปหมด
แม่บ้านทนไม่ได้บอกให้ไปหาหมอ หมอตรวจร่างกายอย่างละเอียดแล้ว รวมทั้งขอให้เอกซเรย์และส่องกล้องอีกด้วย
                       ผลที่ออกมาก็คือเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ ต้องรีบผ่าตัดทันที ไม่เช่นนั้นมีสิทธิ์ตายได้เลย และที่สำคัญต้องย้ายทวาร (ก้น) มาไว้ที่หน้าท้อง โดยขับถ่ายทางหน้าท้อง เพราะว่าลำไส้ใหญ่ส่วนล่างเหนือทวารหนักเสียหมดแล้ว 
                       รู้สึกสับสนไปหมด ทำไมชีวิตต้องยุ่งยาก ขนาดนี้ เราต้องเป็นคนพิการแล้วหรือ ใครจะรับไหวล่ะ... คุณหมอถามว่าจะผ่าตัดเมื่อไหร่ล่ะ เดี๋ยวจะไม่ทัน แต่ตอนนั้นคิดว่าตายเป็นตายสิ จะไม่ผ่าตัดให้ยุ่งยากและเจ็บตัวด้วย
                      ลูกชายคนกลางไปปรึกษากับหมออีกคน แล้วมา บอกว่า พ่อลองไปฟังและพบหมอที่โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้าสักหน่อยได้ไหม...  คิดว่าไปลองไปฟังดู 
หมอบอกว่าไม่ลำบากหรอกนะกับการผ่าตัดและใช้ทวารใหม่ เพราะก็เหมือนปกติทั่วๆ ไป ขอเพียงให้   ตัวเรารับสภาพได้ ทุกอย่างจะเหมือนเดิม
                      ได้ฟังแล้วเกิดความคิดว่า จริงสินะ เราจะตายทำไม ต้องสู้ก่อน  จึงตอบตกลงและเริ่มตรวจรักษาทันที โดยคุณหมอให้ความรู้ ความเข้าใจตลอด
สรุปได้ว่า ถ้าเราเรียนรู้และเข้าใจการปฏิบัติตัวกับ การใช้ทวารใหม่ได้แล้วนั้น ชีวิตก็อยู่ได้ และแล้วการผ่าตัดก็เริ่มขึ้น โดยดำเนินไปตามขั้นตอน เพื่อรักษาชีวิต มะเร็งร้ายถูกตัดออกไปหมดแล้ว ภายใน ๓ เดือน การผ่าตัดเรียบร้อยและทันเวลาด้วย
                       โชคดีมากที่ไม่ต้องฉายแสงรังสีรักษาด้วย และมีทวารใหม่ ขับถ่ายอุจจาระอยู่หน้าท้องด้านซ้าย ถ้าไม่บอกใครก็ไม่มีใครรู้ ถ้าไม่เปิดพุงให้ใครดู ก็ไม่มีใครเห็น ผมใช้ชีวิตอยู่อย่างปกติสุขดีมา ๑๑-๑๒ ปี เข้าไปแล้ว 
      
ข้อเสียของทวารใหม่
                        บริเวณหน้าท้องด้านซ้าย ถือเป็นจุดอ่อนที่สุด ต้องระวังการกระทบกระแทกมากที่สุด เพื่อนๆ สมัยเด็กที่ชอบต่อยท้องเล่นกันนั้น ต้องระวังด้วย
เวลาไปทะเล นุ่งกางเกงอาบน้ำลงทะเล จะลำบาก หน่อย ต้องหาผ้ามาปิดเอว และที่สำคัญที่สุด ต้องพกถุงอะไหล่ไว้เสมอ อย่าลืมเด็ดขาด

วิธีการใช้ถุง (อุจจาระ) หน้าท้อง
                       ถุงหน้าท้องเป็นผลิตภัณฑ์ที่ฝรั่งและญี่ปุ่นทำ ขาย โดยใช้ปิดเอวที่รูทวารใหม่ แล้วคอยเปลี่ยนทิ้ง ไม่ต้องใช้ส้วม ถ่ายที่ไหนก็ได้ ไม่มีใครเห็น  
การฝึกใช้ให้เคยชินและชำนาญ จะช่วยให้เรา ไม่รู้สึกอาย หรือมีปมด้อย แล้วเวลาท้องเสีย หรืออุจจาระเหลว จะต้องพึงระวัง สกปรก หกเรี่ยราดได้  เพราะฉะนั้น จะต้องกินอาหารที่ไม่เสาะท้อง ซึ่งจะทำให้ท้องเสียได้ง่าย โดยเฉพาะเหล้าเบียร์

เป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้อย่างไร
                       ปกติไม่ใช่คนคอเหล้า คอเบียร์ แต่มีชีวิตเกลือก-กลั้วมาตั้งแต่เด็กๆ เพราะเป็นนักดนตรีไทยในวงปี่พาทย์ ตามงานวัดหรือโรงลิเกนั้น ดื่มเหล้าโรงและแม่โขงกันเป็นประจำ เมื่อไปเล่นเป็นลูกวง จึงถูกมอบให้ทดลองดื่ม เป็นธรรมเนียมตั้งแต่วัยรุ่น สมัยสงครามโลกครั้งที่ ๒    และเมื่อไปงานต่างจังหวัดก็ต้องทดลองเหล้าพื้นบ้านเป็นการเรียนรู้   สมัยที่ทำงานมีเพื่อนร่วมงานให้ทดลองดื่มเหล้าจีน เหล้าฝรั่งอยู่เรื่อยๆ


      

 

 

 
     


     

 


 

ข้อมูลสื่อ

338-006
นิตยสารหมอชาวบ้าน 338
มิถุนายน 2550
พล.ต.รศ.นพ.ปริญญา ทวีชัยการ