• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

การฟื้นฟูกลไก กาย-ใจ ปราณายามะ (3)

กวี คงภักดีพงษ์  สถาบันโยคะวิชาการ
การฟื้นฟูกลไก  กาย-ใจ ปราณายามะ (3)
                
พูรากะประกอบด้วย ๓ ขั้นตอนข้างต้น ฝึกปฏิบัติอย่างค่อยเป็นค่อยไป   นุ่มนวล เป็นจังหวะ และต่อด้วยกุมภกะ คือ หยุดหายใจ ขณะหยุดลมหายใจนี้ "ปราณายามะมีการหยุดลมหายใจ มีสภาวะของการกดเกร็ง แต่อยู่ในระดับที่พอเหมาะพอดในเวลาที่เหมาะสม"
            
1. ช่องท้องส่วนล่างยังคงเว้าเข้า
2. ยกกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานให้สูงที่สุดเท่าที่จะทำได้
3. จดคางลงกดที่แอ่งไหปลาร้า ซึ่งเป็นการเกร็งก้านคอ หรือโพรงแคโรทิด (carotid sinus) และ
4. ลองม้วนลิ้นกลับ ปลายลิ้นม้วนขึ้นทางเพดานปาก โคนลิ้นกดลงที่ผนังหลอดลม ลองยกคอขึ้น เพื่อให้การกดที่ก้านคอเป็นไปได้ดีขึ้น ซึ่งก็คือ เรากำลังฝึก อุทธิยานะพันธะ (ช่องท้อง) มูละพันธะ (อุ้งเชิงกราน) จาลันดะพันธะ (ก้านคอ) และ ชิวหะพันธะ (ลิ้น) 


            
เมื่อเราหายใจเข้าจนเต็มทรวงอกในลักษณะนี้ จะรับรู้ได้ถึงความรู้สึกยิบๆ ทั่วร่างกาย รู้สึกซู่ตามขุมขน  รู้สึกได้ถึงการขยายตัวของหลอดเลือดฝอยโดยเฉพาะที่ปลายนิ้ว รู้สึกได้ถึงชีพจรอย่างชัดเจน เราจะฝึกหยุดลมหายใจจนกระทั่งรับรู้ความรู้สึกเช่นนี้
            
การออกแรงกดที่ก้านคอเป็นการป้องกันไม่ให้ความดันเลือดสูงขึ้นจากการที่เราหยุดลมหายใจ ป้องกันไม่ให้หัวใจเต้นเร็วเกิน เพราะเป็นที่ทราบกันในทางสรีรวิทยา ก้านคอนี้เป็นตำแหน่งของบาโรรีเซปเตอร์ ซึ่งทำหน้าที่จัดปรับการหายใจ การเต้นของหัวใจ และความดันของเลือด
            
โยคีเรียกบริเวณก้านคอนี้ว่า วิจนานะ นาดี (vijnana nadi) ซึ่งหมายถึงการที่เราดำรงสติสัมปชัญญะ การที่เรามีพลังที่จะ "รู้" เป็นที่น่าสังเกต คำว่า วิจนานะ นาดี นี้ตรงกันข้ามกับคำภาษาอังกฤษว่าแคโรทิด ที่หมายถึง สิ่งที่ทำให้เราหมดสติ ก้านคอจะทำให้เราหมดสติก็ต่อเมื่อถูกกดอย่างแรงเป็นเวลานานพอสมควร ซึ่งไม่ใช่สภาวะปกติของคน
            
ความเป็นจริง ภายในก้านคอนี้เองที่ทำหน้าที่ช่วย ประคองสติสัมปชัญญะ โดยคอยส่งเลือดปริมาณมาก ให้กับสมอง เราจึงไม่ควรจะเรียกมันว่า สิ่งที่ทำให้เราหมดสติ แต่น่าจะเรียกว่า สิ่งที่ทำให้เรามีสติมากกว่า เป็นที่รู้กันว่าสมองต้องการออกซิเจนและน้ำตาลจำนวนมากในการทำหน้าที่ ซึ่งผ่านมาทางก้านคอนี่เอง 
            
ดังนั้น คำศัพท์ของโยคีที่เรียกบริเวณก้านคอว่า   วิจนานะ ดูจะเหมาะสมกว่า ดูเหมือนว่า โยคีโบราณเข้าใจสรีรวิทยาของก้านคอ เพราะโยคีรู้ที่จะกดเกร็งบริเวณนี้ ขณะที่กำลังหยุดลมหายใจ เพราะมันคอยกำกับระบบหายใจ ความดันเลือด การเต้นหัวใจของเรา  โยคียังใช้มันในการบำบัด คือ วิจนานะ นาดี มาทนะ หรือการนวดก้านคอ ซึ่งใช้สำหรับคลายอาการของโรคความดันเลือดสูง ทั้งยังใช้ในการสร้างสภาวะ "เคลิ้ม" กล่าวคือมีปราณายามะชนิดหนึ่งเรียกว่ามูรชา เป็นการกดก้านคอขณะทำการหายใจ ทำให้ผู้ฝึกเกิดอาการเคลิ้ม  ทั้งหมดที่ว่ามานี้ เพื่อแสดงให้เห็นว่า จาลันดะพันธะ ไม่ใช่เพียงการเกร็งคาง แต่มันมีผลต่อกลไกทางสรีรวิทยา ของระบบหายใจสติสัมปชัญญะ ซึ่งเป็นที่หยั่งรู้ของโยคีโบราณ
            
ปราณายามะมีการหยุดลมหายใจ มีสภาวะของการกดเกร็ง แต่อยู่ในระดับที่พอเหมาะพอดี ในเวลาที่เหมาะสม ซึ่งระยะเวลาที่เหมาะของแต่ละคนคือ ประมาณ ๒ เท่าของลมหายใจเข้าของตนเอง การแนะนำระยะเวลาหยุดหายใจไว้เพียงแค่นี้ มีเหตุผลเพื่อความปลอดภัย คือไม่สร้างภาระต่อระบบหายใจอันละเอียดอ่อน ไม่ ฝืนเกินขีดความสามารถของตนเอง ซึ่งเมื่อฝึกไปเรื่อยๆ ร่างกายก็จะค่อยๆ ทนทานต่อค่าความเข้มข้นของคาร์-บอนไดออกไซด์ได้มากขึ้น ในระยะยาว เราก็จะสามารถ ควบคุมเคโมรีเซปเตอร์ได้ดีขึ้น ควบคุมบาโรรีเซปเตอร์ได้ดีขึ้น รวมทั้งควบคุมการตอบสนองต่อการเหยียดยืดของกล้ามเนื้อซี่โครง (stretch reflexes) ได้ดีขึ้น ซึ่งเป็น 3 กลไกที่กำกับระบบหายใจของเราโดยอัตโนมัติได้ดีขึ้นด้วย 
             
ทั้งหมดนี้ ก็เพื่อให้เรากำกับระบบหายใจของตนเอง ได้ดีขึ้น บาราค (นักวิจัย) พบว่า หากเรากระตุ้นให้กลไก ตอบสนองต่อการเหยียดของถุงลมทำงานได้อย่างเพียงพอ ก็จะทำให้เรากำกับระบบหายใจของตนได้ดีขึ้นด้วยเช่นกัน ซึ่งล้วนเป็นเป้าหมายของปราณายามะ การฝึกพันธะต่างๆ การทำให้เกิดแรงดันสูงในช่องทรวงอกล้วนนำเราไปสู่ข้อสรุปที่ว่านี้ ส่วนคำถามว่าทำไมต้องกำกับระบบหายใจตนเองให้ได้ เราจะได้อธิบายกันในประสาทสรีรวิทยาของปราณายามะ ตามแนวทางของปตัญชลี ดังเช่นที่เราได้อธิบายกับอาสนะมาแล้ว
               
อัตราส่วนเวลาในปราณายามะตามตำราโบราณนั้นหลากหลาย อย่างไรก็ตาม ส่วนใหญ่จะแนะนำไว้ที่ 1 ต่อ 4 ต่อ 2 คือหยุดลมหายใจนาน 4 เท่าของลมหายใจเข้า และหายใจออกนาน ๒ เท่าของลมหายใจเข้า  ขอย้ำว่า ทุกช่วงของการหายใจ จะต้องไม่มีการฝืน ไม่มีความรู้สึก "ขาดอากาศ" กล่าวคือ ในตลอดช่วงเวลาของ การฝึกปราณายามะ (ซึ่งอาจจะฝึกคราวละ 10 รอบ) ต้องไม่มีความรู้สึกอึดอัดเกิดขึ้นแม้แต่น้อย  
               
ในกรณีที่รู้สึกอึดอัด ให้ปรับลดเวลาหายใจเข้าของตนลง (เวลาของช่วงหยุด ช่วงหายใจออก ก็จะลดลงตาม) พึงระลึกว่าระบบหายใจนั้นละเอียดอ่อนมาก ศูนย์ควบคุมระบบหายใจที่เมดูลาตรงก้านสมองนั้น มีขีดจำกัดที่เปราะบางอย่างยิ่ง การกระทบกระทั่งจะนำไปสู่ความหายนะทางกายทางอารมณ์อย่างถาวร  อัตราส่วน 1:4:2 ตามตำราดั้งเดิมอาจจะมากเกินไป
                
สำหรับผู้ฝึกใหม่ๆ เราน่าจะเริ่มฝึกที่ 1:1:2 พัฒนาอย่างช้าๆ ค่อยเป็นค่อยไป จนถึง 1:4:2 ตำราโกรักษะ สัมหิตา แนะนำให้เริ่มต้นฝึกที่  6:8:5 ซึ่งปลอดภัย และ ง่ายต่อผู้เริ่มฝึก ในการฝึกเราสามารถกำหนดอัตราส่วนโดยวิธีใดก็ได้ ไม่ว่าจะเป็นการนับในใจ ใช้คำสวดมนต์เป็นตัวกำกับเวลา หรือใช้ดูนาฬิกา ซึ่งในปราณายามะทั้ง 3 ช่วงนี้ เราให้ความสำคัญกับช่วงหยุด หายใจ เพราะมันเป็นช่วงที่สำคัญที่สุดของปราณายามะ 

 

 


 

ข้อมูลสื่อ

338-010
นิตยสารหมอชาวบ้าน 338
มิถุนายน 2550
โยคะ
กวี คงภักดีพงษ์