• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ธรรมสัญจร สู่มูลนิธิพุทธฉือจี้

 ประเวศ วะสี
ร่วมด้วยช่วยกันเยียวยาโลก ธรรมสัญจร สู่มูลนิธิพุทธฉือจี้

ท่านธรรมาจารย์เจิ้งเหยียน (ต่อ)
      
นางหว่อง มารดาของชินหยุนคร่ำครวญหาลูกสาว นางไปที่วัดเมฆเมตตาอย่างน้อยวันละ ๑ ครั้งเพื่อจะถามพวกแม่ชีว่าได้ข่าวคราวจากสมภารของพวกเขาบ้างหรือเปล่า นางไม่รู้หรอกว่า ขณะนั้นลูกสาวของนางอยู่บนยอดเขา และกำลังจะแยกทางจากเพื่อน

มนุษย์ร่างยักษ์และชายชราต้องการกลับไปทางเดิม คือลงไปทางชันและข้ามแม่น้ำอันเชี่ยวกราก ส่วนพวกผู้หญิงไปทางสะดวก ข้ามสะพานเชือกและไปยังเมืองท่ากำยาน ที่นั่นชาวบ้านมองดูกลุ่มสตรีด้วยความพิศวง เพราะเสื้อผ้าขาดวิ่นและสกปรก เขาตัดสินใจซื้อตั๋วรถไฟไปยังเมืองไตตุง เพื่อไปบ้านพี่ชายของหลวงพี่เมฆเมตตาที่เป็นทันตแพทย์  ผู้ซึ่งเมื่อเห็นสภาพสตรีทั้ง ๔ แล้วโกรธขึ้นมา ตะโกนว่า "ดูสารรูปของพวกแกสิ ทำให้ครอบครัวอับอายขายหน้า ฉันห้ามไม่ให้แกกลับมายังเมืองสวนกวางอีก ฉันจะให้เงินและอาหารแก แล้วแกเลือกเอาว่าจะกลับไปฟอนหยวน หรือไปหาวัดที่ดีๆ อยู่ เช่น วัดสว่างอารมณ์ที่เมือง ฉือเปง"

แม่ชีสาว ๒ คนเลือกกลับฟอนหยวน ชินหยุน กับหลวงพี่เมฆเมตตาเลือกไปเมืองฉือเปง ไม่ห่าง จากไตตุงเท่าไรนัก  วัดสว่างอารมณ์เป็นสถานที่สงบ สมภารเป็นแม่ชีอาวุโส ทั้ง ๒ เข้าได้ดีกับแม่ชีทั้งวัดและร่วมทำงาน สวดมนต์และศึกษาพระคัมภีร์ด้วยกัน

ศึกษาคัมภีร์บวกกับการคิดใคร่ครวญ ทำให้ปัญญาของชินหยุนเพิ่มขึ้น แต่กระนั้นก็ตามจิตก็ไม่สงบ เหมือนมีเชือกรัดคอ ได้แก่ความรักของแม่
"ฉันรู้สึกตัวเหมือนผู้ลี้ภัย ต้องซ่อนตัวจากผู้ตามหา เธอพูดกับหลวงพี่เมฆเมตตา" เมื่อเราอยากทำอะไรแต่เผชิญกับแรงต้าน แรงต้านที่รุนแรงที่สุดมาจากคนที่เรารัก และเราก็ไม่สามารถต่อสู้เขาได้ ได้แต่หวังว่าการคัดค้านของเขาจะเปลี่ยนเป็นความช่วยเหลือสนับสนุน แต่ฉันก็ไม่รู้จะเปลี่ยนวิธีคิดของแม่ได้อย่างไร ฉันจะต้องหลบซ่อนท่านไปตลอดกาลหรือ

"ทำไมไม่บอกแม่ว่าอยู่ที่ไหน ให้ท่านมาพบ อาจจะเปลี่ยนความคิดท่านไม่ได้ แต่เธอ ก็ไม่ต้องหลบซ่อนท่านอีกต่อไป" หลวงพี่เมฆเมตตาแนะนำ
ชินหยุนนิ่งคิด แล้วเขียนจดหมายความว่า

"...แม่ โปรดยกโทษให้ลูกที่หนีออกจากบ้านมา โปรดให้ลูกได้บวชเป็นชี ไม่ต้อง ตามหาลูก เพราะลูกจะไม่กลับบ้าน อย่างน้อยในขณะนี้ มีคำโบราณว่า : ม้าที่หยิ่งผยอง จะไม่กลับไปกินหญ้าในที่ที่จากมา ลูกจะไม่กลับไปยังฟอนหยวนจนกว่าจะประสบความ สำเร็จ..."

นางหว่องเมื่อได้รับจดหมายจากชินหยุนก็ชวนมิสเตอร์หว่องน้องเขยออกเดินทางไปหาลูกสาวทันที ต้องเดินข้ามสะพาน ต้องปีนเขาสูงไปวัดสว่างอารมณ์ที่เมืองฉือเปง ตอนข้ามสะพานน้องเขยต้องให้พี่สะใภ้ขี่หลัง

ชินหยุนตามมารดามาอย่างเงียบ พูดน้อยที่สุด ที่เมืองไตตุงชินหยุนขอเงินมารดา ๓๐๐ ดอลลาร์เพื่อจะไปซื้อสายสร้อยทองของแม่ที่ขายไว้ที่ร้านเล็กๆ ในเมืองสวนกวาง เมื่อได้สร้อยคืนมาแล้วชินหยุนนำมาคล้องคอมารดาแล้วมองหน้านางด้วยน้ำตาคลอเบ้า เพื่อสื่อสารว่า : แม่ ลูกได้คืนพยานแห่งความรักของพ่อและแม่ ความรักของแม่จะอยู่กับลูกเสมอ แม้ว่าลูกจะไม่ได้สวมสร้อยเพชรที่แม่ให้ แต่ความรักของลูกก็จะอยู่กับแม่เสมอ ถึงแม้แม่จะไม่มีลูกอยู่เคียงข้าง

แต่ในขณะนั้นนางหว่องไม่ได้รับข้อสื่อสารที่ชินหยุนหวังจะให้แม่รู้  หลังจากนั้นทั้ง ๓ คนไปขึ้นรถเมล์ที่ไตตุงเพื่อจะกลับไปยังฟอนหยวน คนรอขึ้นรถแน่นมากดันหลังกันขึ้น มิสเตอร์หว่องนำหน้า ชินหยุนอยู่กลาง แม่อยู่ข้างหลัง ขณะกำลังชุลมุนกันอยู่นั้นชินหยุนสลับตำแหน่งกับแม่โดยรวดเร็ว แม่ถูกคนดันหลังเข้าไปในรถ แต่ชินหยุนหายตัวไปในฝูงชน มิสเตอร์หว่องและแม่ของชินหยุนถูกดันโดยผู้โดยสารต้องเดินเข้าไปในรถโดยไม่มีทางที่จะเดินกลับมาได้ แม่ตะโกนหาลูกสาวที่หายไป มองหาชินหยุนก็ไม่เห็นจนรถเคลื่อนที่ เห็นเธอก้าวออกมาจากหลังกลุ่มคน โบกมือให้น้ำตาไหลพรากเป็นทางยาว
"ลาก่อนแม่ ลาก่อนอา"
"ชินหยุนลูก ชินหยุนกลับมา..."

รถบัสเลี้ยวและชินหยุนลับสายตาไปแล้ว นางหว่องตีอกด้วยความชอกช้ำใจ แล้วนิ้วที่สั่นเทาก็ไปถูกจี้เพชรที่ชินหยุนคล้องคอไว้ให้ นางก้มลงมองจี้เพชรและระลึกถึงใบหน้าของชินหยุนเมื่อเธอคล้องสร้อยแห่งความรักนั้นคืนกลับให้มารดา ทันใดนั้นข้อสื่อสารที่ชินหยุนต้องการส่งให้มารดาก็เข้าถึงหัวใจของเธอ ...ความรักของแม่อยู่กับลูกเป็นนิรันดร์ แต่ของขวัญที่เป็นเพียงวัตถุไม่จำเป็นต้องอยู่กับลูก และความรักของลูกก็จะอยู่กับแม่อย่างไม่มีที่สิ้นสุด แม้ร่างกายของลูกจะไม่ได้อยู่เคียงข้างแม่
ความเจ็บปวดในหัวใจของนางหว่องเริ่มจางลง ไม่ช้าก็หยุดร้องไห้ โดยไม่รู้ตัวริมฝีปาก ของนางมีรอยยิ้มน้อยๆ เกิดขึ้น
เมื่อกลับมาถึงฟอนหยวน น้องเขยและลูกๆ ที่เหลือก็ช่วยทำธุรกิจ ซึ่งก็เจริญรุ่งเรือง

"ฉันควรจะปล่อยชินหยุนให้เป็นอิสระนานมาแล้วŽ นางหว่องรำพึงรำพัน ฉันทำผิดที่พยายามยึดเหนี่ยวลูกไว้"
หลังจากนั้นแม่ลูกและน้องก็มีจดหมายติดต่อกันอย่างสม่ำเสมอ ชินหยุนได้ออกจากวัดสว่างอารมณ์ แสวงหาวัดที่จะอยู่อย่างถาวรไปเรื่อยๆ จนกว่าจะเจอสมภารที่มีความเชื่อในพุทธศาสนาเหมือนกัน

ในปี ค.ศ. ๑๙๖๒ (พ.ศ.๒๕๐๕) ไต้หวันก็ร่ำรวยและเต็มไปด้วยแสงสี แต่ชินหยุนก็อยู่บนภูเขาและใช้เทียน เธอศึกษาอย่างหนักเพื่อแสวงหาความรู้เพื่อใช้งานตามพันธกิจของตน เธอย้ายวัดไปเรื่อยๆ

ในเดือนธันวาคมปีนั้นชินหยุนกับหลวงพี่เมฆเมตตามาถึงเหมืองฮวาเหลียนโดยรถไฟ "เราจะไปไหนกัน เราไม่รู้จักใครเลยที่นี่" ทั้ง ๒ คนปรึกษากัน
"ชื่อวัดบูรพาพิสุทธิ์ได้ไหม ชินหยุนเอ่ยขึ้น เราไปที่นั่นกัน ท่านสมภารอาจจะรับเราก็ได้"
มีรถถีบรับจ้างผ่านมาพอดี "รู้จักวัดบูรพาพิสุทธิ์ไหม" ชินหยุนถาม
"รู้จัก คนถีบรถ แต่มันไกลมาก ค่าโดยสารถึง ๕ ดอลลาร์"
ทั้ง ๒ ตกลงว่าจ้างรถถีบให้ไปส่ง แต่ทางขึ้นเขาชันมาก ฝนก็ตกหนัก คนถีบก็ต้องถีบอย่างทุลักทุเล หญิงผู้โดยสาร ๒ คนสงสารคนถีบไม่ไหวจึงลงจากรถมาช่วยเข็นรถ ที่ยอดเขามีเสียงคนกระซิบกระซาบ "ชีโง่ ๒ คนดันรถรับจ้างที่คนถีบนั่งยิ้มอยู่บนรถท่ามกลางสายฝน"
หญิงสูงอายุผู้หนึ่งเอาผ้าเช็ดตัวมาส่งให้และพูดว่า "หนู ๒ คนอาจจะไม่ค่อยฉลาด แต่มีเมตตาจิต ฉันชอบคนที่มีจิตเมตตาซึ่งเดี๋ยวนี้หายาก" นางแนะนำตัวเองว่าชื่อวัน ลูกเป็นนายตำรวจอยู่ที่ไตตุง นางมาอยู่ที่วัดนี้ชั่วคราวเพื่อบำเพ็ญภาวนา นางว่านางรู้จักเจ้าอาวาสดี ถ้าต้องการอยู่ที่นี่ก็จะไปเจรจาให้

ชินหยุนและหลวงพี่เมฆเมตตารับผ้าเช็ดตัวมาเช็ดตัวให้แห้งมองนางวันก็เห็นแววความเมตตากรุณาแบบคุณย่าคุณยาย
"พวกเธอมาจากไหนและจะไปไหนกัน" นางถาม
"เรามาจากไกล" ชินหยุนตอบ พยายามจะหาคำพูดที่เหมาะ แล้วก็โพล่งไปว่า "เราอาจจะไปทาโรโกะเพื่อไปดูหุบเหวแห่งฮวาเหลียน"
"ดีล่ะ"
นางวันว่า "ฉันจะแนะนำให้รู้จักมิสเตอร์ชุงหมิงสู เป็นคนแก่ขนาดฉันนี่แหละ ร่ำรวยและใจดี เป็นชาวพุทธที่เสียสละ เขาสร้างวัดมาหลายวัดแล้ว และก็กำลังจะสร้างเพิ่มอีก พรุ่งนี้เขาจะมาที่นี่ จะพาคนไปที่หุบเหวแห่งฮวาเหลียน หาที่สร้างวัดแถวนั้น"

วันรุ่งขึ้นชินหยุนและหลวงพี่เมฆเมตตาขึ้นรถไปกับนางวันและมิสเตอร์สู ซึ่งให้ความ เอ็นดูกับหญิงสาวเยี่ยงลูกหลาน ให้นามบัตรไว้ว่าถ้าต้องการความช่วยเหลืออะไรให้บอก ระหว่างเวลาเหล่านี้ชินหยุนรู้แล้วว่าเธอไม่เห็นด้วยกับวัตรปฏิบัติต่างๆ ของบรรดาวัดทั้งหลายที่เนินเขา เช่น การเผาเงินกระดาษไปให้ผู้ตาย หรือร้องขอให้พระพุทธเจ้าแสดงปาฏิหาริย์ ไม่เป็นเหตุเป็นผลเอาเสียเลย เธอเชื่อว่าแม่ชีและพระควรจะทำงานเลี้ยงปากเลี้ยงท้องของตนเอง ไม่ใช่ด้วยการรับบริจาคเขากิน เธอไม่อาจจะไปบวชเป็นชีแล้วก็เชื่อฟังสมภารในเรื่องที่เธอไม่เห็นด้วย เธอต้องการหาวัดของตัวเองและมีคนที่มีศรัทธาเพื่อจะได้ทำตามความคิดของตัวเอง แต่ก็ไม่เห็นมีทางที่จะสมประสงค์ตามนั้นจึงต้องย้ายวัดไปเรื่อยๆ นางวันได้ให้จดหมายไปถึงเจ้าอาวาสวัดแห่งหนึ่งในไตตุงชื่อวัดบัว

ทั้ง ๒ คนสอนที่วัดนั้น วิธีของชินหยุนคือทำคำสอนอันซับซ้อนจากคัมภีร์ให้เข้าใจง่าย ใช้เหตุการณ์ปัจจุบันมาเป็นตัวอย่าง ผู้ฟังส่วนใหญ่ชอบ ส่วนน้อยวิจารณ์ว่าแผลงคัมภีร์ หลังจากนั้นก็ย้ายกันอีก ไปหามิสเตอร์ชุงหมิงสู เขาสร้างวัดไว้หลายวัด บางวัดอาจจะยังไม่มีใครอยู่ก็ได้...
"มีวัดว่างอยู่วัดหนึ่งที่หมู่บ้านซูหลิน ชื่อวัดสาดแสงธรรม แต่เธออยู่ไม่ได้หรอก เพราะไม่มีอาคารที่อยู่อาศัย ไปดูก็ได้"
วันรุ่งขึ้นก็พากันไปดูวัดสาดแสงธรรมที่หมู่บ้านซูหลิน
"ฉันรู้จักที่นี่! ฉันเคยมาที่นี่มาก่อน" ชินหยุนพูด
"เป็นไปไม่ได้คุณหนู" มิสเตอร์สูหัวเราะ "วัดนี้เพิ่งสร้างเสร็จใหม่ๆ เพิ่งทำพิธีเปิด"
"ฉันพูดจริงๆ นะ" ชินหยุนยืนยัน "ฉันมาที่นี่มากกว่า ๑ ครั้ง ฉันรู้ว่าภายในหน้าตาเป็นอย่างไร" ทั้งๆ ที่ประตูวัดปิดอยู่ เธอบรรยายรูปร่างลักษณะเป็นอย่างไรโดยละเอียด
มิสเตอร์สูตาค้างด้วยความประหลาดใจ "เธอพูดถูกทุกอย่าง แต่เธอรู้ได้อย่างไรนะ"
"ฉันก็ไม่รู้เหมือนกัน" ชินหยุนตอบ
เมื่อพากันเดินเข้าไปในโบสถ์ ทุกอย่างตรงตามที่ชินหยุนบรรยาย "ฉันมาที่นี่เมื่ออายุ ๑๕ ในความฝัน ฉันเห็นโบสถ์นี้ถึง ๓ คืนซ้อนๆ เมื่อตอนแม่ป่วยหนัก และฉันสวดมนต์ขอให้ท่านหาย" เทพธิดาแห่งความเมตตาปรากฏตัว เอายามาให้และแม่ก็หายอย่างอัศจรรย์
"เหลือเชื่อจริงๆ" มิสเตอร์สูโคลงศีรษะ " ฉันคิดว่าเธอไม่เชื่อในสิ่งมหัศจรรย์"
"อาจจะไม่มีสิ่งมหัศจรรย์ใต้สวรรค์ เหตุการณ์ที่เรียกว่ามหัศจรรย์นั้นก็อาจจะเป็นเช่นนั้นเอง เคยเป็นเช่นนั้น และจะเป็นเช่นนั้น การพบวัดนี้ทำให้ฉันรู้ว่าการเดินทางของฉันสิ้นสุดแล้ว ณ ที่แห่งนี้"
ชินหยุนและหลวงพี่เมฆเมตตายังพักอยู่ที่บ้านมิสเตอร์สู ซึ่งรับทั้ง ๒ เป็นหลานบุญธรรม ทั้ง ๒ ไปยังวัดสาดแสงธรรมทุกวันเพื่อสอนคนในหมู่บ้านรอบๆ วัด วิธีสอนของชินหยุนได้รับการคัดค้านโดยคนส่วนน้อย แต่ได้รับการยอมรับโดยคนส่วนใหญ่ จนมีชื่อเสียงว่าเป็นครูที่ดีและได้รับการเชิญไปสอนตามวัดต่างๆ

ชินหยุนยังไม่ได้เข้าพิธีบวชเลย ในฤดูใบไม้ผลิของปี ค.ศ.๑๙๖๓ (พ.ศ.๒๕๐๖) ชินหยุนได้ข่าวว่าจะมีพิธีบวชที่วัดลิ้นจี่ในไทเป ก่อนออกเดินทางไปไทเป เธอขอร้องให้มิสเตอร์สูสร้างกระท่อมหลังเล็กหลังโบสถ์ที่วัดให้เพื่อเธอจะได้กลับมาอยู่หลังเข้าพิธีบวชแล้ว
เธอไปถึงวัดลิ้นจี่ในวันที่มีพิธีบวช
"ใครรับเป็นอุปัชฌาย์ของเธอ" แม่ชีที่นั่นถาม
"เธอบวชไม่ได้โดยไม่มีอุปัชฌาย์"
ชินหยุนผิดหวังมาก และตั้งท่าจะกลับไปฮวาเหลียน แต่อยากซื้อหนังสือที่หาไม่ได้ในฮวาเหลียน แม่ชีแนะนำให้ไปที่วัดสุริยสนเทศ มีร้านหนังสือที่มีหนังสือมาก
ชินหยุนไปที่วัดสุริยสนเทศ แม่ชีแนะนำว่าควรจะไปคารวะพระอาจารย์ที่ดูแลชื่ออาจารย์อิ้นซุ่น ชินหยุนเคยได้ยินชื่ออาจารย์อิ้นซุ่นมาก่อน ท่านเขียนหนังสือไว้มาก
"เธอมาไทเปเพื่อจะเข้าพิธีบวชหรือ" อาจารย์อิ้นซุ่นถาม
"ใช่พระคุณเจ้า แต่ดิฉันบวชไม่ได้เพราะไม่มีอุปัชฌาย์..."
ด้วยความบันดาลใจบางอย่าง ทั้งๆ ที่ไม่รู้จักกันมาก่อน อาจารย์อิ้นซุ่นรับเป็นพระอุปัชฌาย์ให้
"เธอจะต้องใช้ชีวิตที่เหลือของเธอทำ ๒ อย่าง : รับใช้สรรพชีวิตทั้งปวงและทำให้เขา ได้เรียนรู้พระพุทธศาสนา"
"พระอาจารย์ ข้าพเจ้าชินหยุนหว่องจะจดจำคำของพระอาจารย์ไว้ทุกวันตลอดชีวิตของข้าพเจ้า"
"เมื่อบวชแล้วควรเลิกใช้ชื่อชินหยุนหว่อง อาตมาจะให้ชื่อใหม่... ชื่อใหม่ของเธอคือ เจิ้งเหยียน..."
อาจารย์อิ้นซุ่นยิ้มและกล่าวต่อไปว่า "ถ้าเธอตั้งใจรับใช้สรรพชีวิตและทำให้ เขาได้เรียนรู้พุทธศาสนา ในอนาคตวันหนึ่งชื่อของเธอก็จะเปลี่ยนจากแม่ชีเจิ้งเหยียนเป็นธรรมาจารย์เจิ้งเหยียน"
*     *     *     *     *
นางหว่องไปเยี่ยมบุตรสาวหลายครั้ง ในฤดูใบไม้ร่วง ปี ค.ศ.๑๙๖๔ (พ.ศ.๒๕๐๗)  แม่ชีเจิ้งเหยียนมีลูกศิษย์เพิ่มขึ้นเป็น ๕ คน อยู่กันอย่างยัดเยียดในกระท่อมเล็กหลังโบสถ์หลังนั้น ในปี ค.ศ.๑๙๖๗ (พ.ศ.๒๕๑๐) แม่ชีเจิ้งเหยียนขอเงินแม่ซื้อที่เพื่อขยับขยาย โยมมารดาได้ช่วยเหลือทางการเงินอีกหลายครั้งจนเป็นที่รู้จักกันทั่ว
เรื่องทั้งหมดนี้นางหว่องเล่าให้ยู่อิงชิง นักเขียนผู้เรียบเรียงหนังสือเล่มนี้ ก่อนจากกันนางหว่องพูดกับยู่อิงว่า
"ฉันรู้สึกภูมิใจมากที่หลังจากผ่านความยากลำบากนานัปการ เด็กน้อยที่น่ารักของฉันมีผู้เลื่อมใสศรัทธาและสานุศิษย์เป็นล้านๆ คน และโลกรู้จักเธอในนามของธรรมาจารย์เจิ้งเหยียน"
       (ยังมีต่อ)

 

 

ข้อมูลสื่อ

338-016
นิตยสารหมอชาวบ้าน 338
มิถุนายน 2550
ศ.นพ.ประเวศ วะสี