• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

เปิดลายแทงแห่ง "ความสุข"

เปิดลายแทงแห่ง "ความสุข"


ความลับที่คุณต้องรู้ นิตยสารไทม์ เปิดประเด็นที่พลิกกระแสนิยมในโลกยุคใหม่ได้อย่าง "กลับตาลปัตร"

นั่นคือการสืบสาวเรื่องราวว่าด้วย"ความสุข" อย่างเจาะลึกถึงแก่นว่า มีที่มาจากไหนกันแน่ พร้อมกับพยายามพิสูจน์ด้วยผลวิจัยจากทั่วโลกว่า คาถา "มีเงินมากก็สุขมาก" นั้น จริงเท็จแค่ไหน

ผลที่พบนั้นเชื่อว่าทำให้ผู้อ่านส่วนหนึ่งต้องหันมาทบทวนทิศทางชีวิตตัวเองไม่มากก็น้อย..."เงินขับไล่ความทุกข์ได้จริงหรือ" นั่นคือคำถามตั้งต้นที่นักวิจัยมากมายในโลกเสาะหาคำตอบกันในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา และนี่คือบางส่วนของผลที่พบ

เริ่มต้นจากกรณีของประเทศญี่ปุ่น ซึ่งอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่วัดกันในรูปของค่าจีดีพี (GDP-Gross Domestic Product หรือผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ) พุ่งทะยานอย่างต่อเนื่องมาตลอดช่วงปี พ.ศ.๒๕๐๓-๒๕๒๓ ส่งผลให้ชาวญี่ปุ่นยุคปัจจุบันดำเนินชีวิตอยู่ท่ามกลางสิ่งอำนวยความสะดวกสบายและการผ่อนคลายอันมั่งคั่ง ทุกครอบครัวเป็นเจ้าของรถยนต์ส่วนตัวอย่างน้อยหนึ่งคัน โดยจำนวนไม่น้อยเป็นรถ "ไฮบริด" (hybrid) หรือรถยนต์รุ่นล้ำยุค อันเป็นพาหนะหายากและแพงลิบลิ่วสำหรับประเทศอื่น อีกทั้งยังมีเงินใช้จ่ายสำหรับการท่องเที่ยวพักผ่อนประจำปีร่วม ๔๐๐,๐๐๐ บาทต่อคนต่อปี พูดง่ายๆ คือเป็นประเทศที่ผู้คนใช้ชีวิตอยู่ท่ามกลางความสะดวกสบายและสนุกที่มีการไต่ระดับอย่างต่อเนื่อง แต่เมื่อถามถึงเรื่อง "ความสุข" กลับหยุดนิ่งเป็นเส้นตรงเท่าเดิม หาได้เพิ่มเป็นเงาตามคุณภาพชีวิตอันหรูหรา ข้ามน้ำข้ามทะเลไปที่ประเทศเกาหลีใต้ ซึ่งเศรษฐกิจขยายตัวรวดเร็วในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาก็พบภาวะความสุขพยศ ไม่ยอมกวดไล่ตัวเลขอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจเช่นเดียวกัน

ไปต่อที่มหาอำนาจทางเศรษฐกิจโลกที่ร่ำรวยอย่าง สหรัฐอเมริกา พบว่าจำนวนประชากรที่ยืดอกบอกว่า "ชีวิตมีความสุขมาก" จากการสำรวจเมื่อ ๕๐ ปีก่อนกับวันนี้ย่ำอยู่ไล่เลี่ยกับที่เดิม ทั้งที่ตัวเลข จีดีพี กระโดดไปไกลมากกว่าเท่าตัวแล้ว เหลียวมองไปที่ทวีปยุโรป เหตุการณ์ก็ละม้ายคล้ายเพื่อนๆ กลุ่มประเทศที่ภาวะเศรษฐกิจรุ่งเรืองทางเอเชียตะวันออกและสหรัฐอเมริกา โดยที่ประเทศอังกฤษ ซึ่งตัวเลขจีดีพีขยายตัวจาก ๓๔ พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ไปเป็นมากกว่า ๒ พันพันล้านเหรียญ ในช่วง ๕๐ ปีที่ผ่านมา แต่ประชาชนเมืองผู้ดียังมีสภาพความพอใจกับชีวิตไม่มากไปกว่าเมื่อ  ๔๐ ปีก่อน การทำโพลล์สำรวจที่ประเทศเยอรมนี ก็พบผลทำนองเดียวกัน
ขยับไปมองภาพรวมระดับโลกกันบ้าง

ไม่นานมานี้ ดร.เอ็ดเวิร์ด ไดเนอร์ (Edward Diener) นักจิตวิทยาที่มหาวิทยาลัยในรัฐอิลลินอยส์ สหรัฐอเมริกา ผู้ซึ่งได้ฉายาว่า "ด็อกเตอร์แฮปปี้เนส" จากการที่เขาสนใจศึกษาเรื่องราวที่ว่าด้วยความสุขของมนุษย์มานานร่วม ๒๕ ปี  ได้ลงมือทำงานวิจัยที่น่าสนใจชิ้นหนึ่งร่วมกับบุตรชาย โดยทำการสำรวจความเห็นของคนจากสังคมต่างๆ ทั่วโลกว่าตัวเองมี "สุขภาวะ"  มากแค่ไหนแล้วนำเสนอผลออกมาเป็นระดับคะแนนตั้งแต่ ๑-๗ โดยเรียกการทดสอบนี้ว่า เอสดับเบิลยูบี ซึ่งย่อมาจาก Subjective Well-Being ซึ่งทำให้มุมมองใหม่ๆ ต่อเรื่องของความยากไร้และร่ำรวยซึ่งเคยถูกคาถา "เงินมากสุขมาก"  ถมทับไว้มีโอกาสได้ปรากฏตัวให้เห็น ข้อค้นพบสำคัญของสองพ่อลูกก็คือการจัดอันดับความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจนั้นเป็นคนละชุดกับอันดับความรู้สึกว่าตัวเอง "มีความสุข" ของผู้คนในแต่ละชาติ


จากแผนภาพสรุปผลที่สองพ่อลูกสร้างออกมาให้ดูได้ง่าย เราจะเห็นชื่อประเทศที่คิดไม่ถึงติดอันดับนำโด่งในด้านความสุขอยู่หลายประเทศ ขณะที่อีกหลายประเทศติดกลุ่มไล่ตามมาอย่างอ่อนล้าที่แน่ๆ ก็คือ คนในประเทศอย่างเม็กซิโก อินโดนีเซีย ชิลี สาธารณรัฐเช็ก เป็นต้น ที่รู้สึกว่าตัวเองมีชีวิตที่เป็นสุขมีมากกว่าญี่ปุ่น อิตาลี หรือเกาหลีใต้ แล้วจะอธิบายเรื่องที่ดูไม่น่าเป็นไปได้นี้กันอย่างไรดี...

เปิดโปงขีดจำกัดของ "อำนาจเงิน"
นิตยสารไทม์ตีแผ่ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมานี้มีงานวิจัยด้านสังคมศาสตร์และจิตวิทยามากมายที่พยายามตอบคำถามให้ได้ว่าต้องมีเงินมากเท่าไหร่จึงทำให้มนุษย์รู้สึกมีความสุขกับชีวิต คำตอบที่ได้ก็คือ ความสุขกับจำนวนเงินที่มีนั้นไม่เกี่ยวกันเลย นิตยสารไทม์เองยังพยายามไม่ถอย โดยจัดทำโพลล์ขึ้นอีกครั้งเมื่อเดือนธันวาคมปี พ.ศ. ๒๕๔๗ ได้ข้อสรุปว่า การมีรายได้ประมาณ ๒ ล้านบาทต่อปี (๕๐,๐๐๐ เหรียญสหรัฐฯ) ดูเหมือนจะทำให้ชาวอเมริกันมีความสุขกับชีวิตมากขึ้น แต่เมื่อรายได้เพิ่มมากไปกว่านั้นพบว่าไม่ได้ทำให้ชีวิตมีความสุขมากขึ้นเสมอไป

ดร.เอ็ดเวิร์ดเองก็เคยลงมือสัมภาษณ์บุคคลที่ร่ำรวย ๔๐๐ อันดับแรกในสหรัฐฯ จากการจัดอันดับโดยนิตยสารแนวเศรษฐกิจชื่อฟอร์บส์ (Forbes)  และพบข้อสรุปว่าบุคคลเหล่านี้มีความสุขมากกว่าคนทั่วไปเพียงเล็กน้อย หาได้สุขล้นฟ้าตามตัวเลขทรัพย์สินที่ครอบครองแต่อย่างใด เชื่อหรือไม่ว่า การที่ความสุขเพิ่มเป็นเงินเงาตามเงินในกระเป๋าเช่นนี้นับเป็น "สัจธรรม" เลยทีเดียว! ผู้ที่ให้คำอธิบายว่า  ทำไมความสุขของคนแต่ละคนจึงไม่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตามจำนวนเงินและทรัพย์สินที่มีได้อย่างน่าสนใจก็คือ โจ โดมิงเกซ และ วิกกี้ โรบิน (Joe Dominguez & Vicky Robin)  ผู้ร่วมกันเขียนหนังสือชื่อ "จะเลือกเงินหรือชีวิต" (Your Money or Your Life) ที่มียอดจำหน่ายมากกว่าเจ็ดแสนเล่มทั่วโลก และถูกแปลเป็นหลายภาษา รวมทั้งภาษาไทยโดยมูลนิธิโกมลคีมทอง เมื่อ  ปี พ.ศ. ๒๕๔๖ ที่ผ่านมา

ในหนังสือเล่มนี้ได้พยายามอธิบายว่าเหตุใด การมีเงินมากมายจึงให้ความสุขแบบถาวรแก่ชีวิตไม่ได้ด้วยภาพของ "เส้นโค้งแห่งความอิ่มเอม" หรือ "เส้นโค้งแห่งความสุข" ซึ่ง พระไพศาล วิสาโล หนึ่งในผู้ที่ให้ความสนใจต่อแนวคิดของโจและวิกกี้ ได้สรุปความหมายของภาพดังกล่าวให้เข้าใจอย่างง่ายๆ ไว้ว่า ความสุขระดับความอยู่รอดของมนุษย์นั้น  อาศัยทรัพย์เพียงเล็กน้อยเท่านั้นก็สามารถเพิ่มขีดขั้น ความสุขขึ้นได้อย่างรวดเร็ว และจากขั้นของความอยู่รอดมาเป็นขั้นของความสะดวกสบาย ความสุขยังสามารถเพิ่มขึ้นได้แต่ต้องอาศัยทรัพย์เพิ่มขึ้น  กระนั้นความสุขก็เพิ่มขึ้นได้ไม่มากนัก การมีทรัพย์มากขึ้น ยังสามารถทำให้ความสุขเพิ่มขึ้นได้อีกอย่างช้าๆ แต่เมื่อทรัพย์สินเพิ่มขึ้นถึงจุดหนึ่งความสุขจะเริ่มลดลง และจะลดลงเรื่อยๆ เป็นปฏิภาคผกผันกับจำนวนทรัพย์ที่มี หรือพูดอีกอย่างก็คือ "เงินล้านสำหรับเศรษฐีให้ความสุขน้อยกว่าเงิน ๑๐ บาทในมือคนหิวโหย" (บางส่วนจากหนังสือ เส้นโค้งแห่งความสุข โดย พระไพศาล วิสาโล)

"...เราเชื่อเสียแล้วว่าเงินมีค่าเท่ากับความสมหวัง ดังนั้นเราจึงแทบไม่รู้ตัวเลยว่าเส้นโค้งเริ่มจะราบลงแล้ว เราดำเนินชีวิตต่อไป ซื้อบ้าน ทำงาน แบกรับภาระทั้งหลายของครอบครัว ยิ่งหาเงินได้มากก็ยิ่งมีเรื่องกังวลมาก หมดเวลา หมดแรงมาก ยิ่งไต่เต้ามีตำแหน่งงานสูงขึ้นไปเรื่อยๆ ก็ยิ่งมีเวลาให้กับครอบครัวน้อยลง มีทรัพย์สินให้เสียมากขึ้นถ้าเกิดถูกโจรปล้น ก็เลยยิ่งวิตกกังวลว่าจะโดนปล้นมากขึ้น เสียภาษีแพงขึ้น และเสียค่าธรรมเนียมจัดทำภาษีให้นักบัญชีมากขึ้น ถูกหน่วยงานกุศลในชุมชนเรียกร้องมากขึ้น เสียค่าบำบัดทางจิตแพงขึ้น ค่าตกแต่งบ้านแพงขึ้น ความสุขของลูกก็แพงขึ้น

จนวันหนึ่ง เราพบว่าตัวเองนั่งเหนื่อยหน่ายอยู่ในบ้านขนาด ๔,๐๐๐ ตารางฟุต บนเนื้อที่ร่มครึ้ม ๒.๔ เอเคอร์ มีอ่างอาบน้ำอุ่นหลังบ้าน และมีอุปกรณ์อย่างดียี่ห้อนอติลุสอยู่ในห้องเก็บของชั้นใต้ดิน แต่ใจกลับโหยหาชีวิตอย่างที่เคยมีเคยเป็นตอนที่ยังเป็นนักศึกษาจนๆ แค่ได้เดินเล่นในสวนสาธารณะก็มีความสุข

เราขึ้นมาชนเพดานของระดับความอิ่มใจแล้ว แถมไม่เคยฉุกคิดว่า สูตรที่ว่าเงินเท่ากับความอิ่มใจนั้นใช้ไม่ได้เสียแล้ว ซ้ำยังกลับส่งผลเสียต่อเราอีก ต่อจากนั้นไม่ว่าเราจะจับจ่ายใช้เงินมากขนาดไหน กราฟเส้นโค้งแห่งความอิ่มใจก็ยังปักหัวลงอยู่เสมอ" (บางส่วนจากหนังสือ จะเลือกเงินหรือชีวิต)

โจและวิกกี้ขยายให้เห็นภาพเพื่ออธิบายจนกระจ่างต่อสิ่งที่เกิดขึ้นในช่วงการดิ่งลงของกราฟ ซึ่งพิสูจน์ถึงขีดจำกัดของ "อำนาจเงิน"
 
แกะ "กล่องดำ" กลางใจคน
ทำไม "หาเท่าไหร่ก็ไม่พอ"

ขุดคุ้ยกันให้ลึกลงไปถึงสาเหตุที่ทำให้ความมั่งคั่ง ซึ่งมนุษย์ใช้แปรสภาพไปสู่เครื่องใช้ไม้สอยและไลฟ์สไตล์ชีวิตที่เลิศหรู สะดวกสบาย และความสนุกสนานเพลิดเพลินบันเทิงใจได้สารพัดรูปแบบ ว่าเหตุใดจึงไม่อาจเติมความสุขให้เต็มความต้องการของมนุษย์ได้ สาเหตุสำคัญข้อหนึ่งก็คือธรรมชาติมนุษย์ในเรื่องของการเปรียบเทียบ ดังที่แวดวงนักสังคมศาสตร์บัญญัติศัพท์ใช้กันแพร่หลายว่าเป็นภาวะความเร่าร้อนทุรนทุรายจากการเปรียบเทียบ (reference anxiety) นั่นเอง

มีการหยิบยกเหตุการณ์ในสหรัฐฯ เป็นกรณีศึกษา ย้อนไปในยุคอดีตชาวอเมริกันทั้งในเมืองและชนบทมีรูปแบบการใช้ชีวิตไม่แตกต่างกันนัก ในขณะที่กลุ่มคนร่ำรวย ซึ่งยังมีจำนวนน้อยก็จะแยกตัวไปสร้างอาณาจักรอยู่หลังกำแพงสูง สภาพความเหลื่อมล้ำต่ำสูงจึงไม่ปรากฏชัดเจน จนเมื่อไม่กี่สิบปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจยุคใหม่ได้เปลี่ยนสภาพดังกล่าวไปโดยสิ้นเชิง กลุ่มคนร่ำรวยขยายตัวกว้างขึ้น และใช้ชีวิตอย่างเปิดเผยมากขึ้น สร้างความกระสับกระส่าย กระวนกระวายใจแก่กลุ่มคนมีฐานะปานกลางให้อยากได้ใคร่มีเช่นคนเหล่านั้น จนหมดคนพึงพอใจต่อชีวิตที่เคยเป็น

ทันทีที่คนใดเลือกการไต่เต้าสถานะทางเศรษฐกิจ เมื่อนั้นความสุขจากความพอใจต่อชีวิตที่เป็นอยู่ก็หายไปในพริบตา เพราะมองเห็นแต่สิ่งที่อยู่เหนือขึ้นไปจากขั้นที่เหยียบ และไม่เคยสัมผัสกับความสุขที่แท้จริง เพราะมองเห็นแต่ก้าวที่ยังไม่ได้เหยียบเรียงรายรออยู่เบื้องหน้า เร่งรัดกดดันให้ไต่ระดับขึ้นไปอีกเรื่อยๆ สภาพเช่นนี้ไม่ได้กำลังเกิดขึ้นแค่ในสหรัฐฯ แต่เป็นสภาพที่พบได้ทั่วโลก ผู้คนในประเทศร่ำรวยค้นพบว่าตัวเองแสวงหาความสุขจากสิ่งที่มีอยู่ได้น้อยเต็มที นักจิตวิทยาบางคนให้ความเห็นว่า ชาวเอเชียเป็นกลุ่มคนที่เผชิญความเครียดและความทุกข์จากสภาพดังกล่าวมากที่สุดกลุ่มหนึ่ง เพราะค่านิยมในอดีตของสังคมภูมิภาคนี้ยึดถือการปฏิบัติตามธรรมเนียม เพื่อประโยชน์ของการอยู่ร่วมกันในสังคมเป็นอุดมการณ์ของชีวิต แต่เมื่อสังคมใหม่เปิดโอกาสให้ผู้คนมีทางเลือกในการไต่เต้า และกำหนดรูปแบบชีวิตเพื่อตัวเอง ทำให้ความสุขกลายเป็นเรื่อง ที่ได้มาอย่างยากลำบาก เพราะต้องหันรีหันขวางอยู่ท่ามกลางทางเลือกมากมายอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน เห็นได้ชัดเจนจากสื่อโฆษณา และเนื้อหาในสื่อสารพัดรูปแบบที่ดาหน้าเข้ามาหาจากทุกหนแห่งแม้แต่ในที่รโหฐานถึงห้องนอน ด้วยภาพชีวิตอันสะดวกสบาย อิสรเสรี สนุกสนาน และความหรูหรา ของผู้คนระดับสูงให้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่แหงนคอจ้องมองตั้งแต่ยามตื่นจนเอนหลังกลับสู่เตียง แล้วแบบนี้ผู้คนในยุคเราจะค้นพบความสุขกันได้อย่างไร

แกะรอยกำเนิดความสุข
ความลับที่ใครก็อยากรู้
มีคนมากมายที่อยากรู้ว่าถ้าวัตถุและเงินทอง ไม่ใช่ที่มาอันมั่นคงของความสุขในชีวิต แล้วผู้คนในยุคเราจะแสวงหาความสุขได้จากที่ไหน หนึ่งในกลุ่มคนที่สืบหาคำตอบนี้อย่างขะมักเขม้น ยิ่งกว่าใครๆ ก็คือบรรดานักวิชาการด้าน "สุขศึกษา" (Happiness Studies) ในสถาบันการศึกษาชั้นนำในหลายประเทศ พวกเขาคิดค้นและสร้างสรรค์วิธีการอันซับซ้อน ขึ้นมามากมาย เพื่อนำไปสู่คำตอบที่เป็นวิทยาศาสตร์ ว่า อะไรที่ทำให้คนเราเกิดความสุข ทั้งโดยการสถานการณ์จำลอง เจาะเลือดตรวจหาผลเปลี่ยนแปลงในร่างกายเมื่อเผชิญสถานการณ์รูปแบบต่างๆ การศึกษาหน่วยพันธุกรรม การสัมภาษณ์แบบเจาะลึก การสร้างแบบทดสอบ และอื่นๆ อีกมากมาย แม้แต่จิตแพทย์เจ้าของรางวัลโนเบลอย่าง ดาเนียล คาห์นีแมน (Daniel Kahneman) ก็ยังโดดเข้ามาร่วมขบวนการตามล่าหาความจริงว่าด้วยเรื่องของความสุข

ข้อสรุปที่พบนั้นไปในทิศทางร่วมกันว่า ความสุขเป็นเรื่องของปัจจัยภายในมากกว่าปัจจัยภายนอก ข้อสันนิษฐานถึงปัจจัยที่จะนำไปสู่ความสุขตามที่คนมักเชื่อกัน (โดยไม่นับเรื่องของความร่ำรวย ซึ่งถูกพิสูจน์แล้วว่าไม่จริงเสมอไป) ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการศึกษาสูงๆ การมีช่วงชีวิตอยู่ในวัยหนุ่มสาว สภาพชีวิตสมรส หรือการมีเวลาพักผ่อนหน้าจอทีวีนานหลายๆ ชั่วโมงต่อวัน ล้วนถูกพิสูจน์ว่าไม่ได้นำไปสู่ความสุขโดยตรง แต่สิ่งที่บ่งชี้ว่ามีความสัมพันธ์กับการมีความสุขอย่างมีนัยสำคัญกลับกลายเป็นกิจกรรมที่ดูเหมือนไม่เป็นองค์ประกอบอันโดดเด่นของชีวิตยุคใหม่ นั่นคือ การเข้าหากิจกรรมทางศาสนา และการให้เวลาอย่างมีคุณภาพกับครอบครัว และมิตรสหาย
มีข้อค้นพบเกี่ยวกับปัจจัยที่สัมพันธ์กับความสุขประการหนึ่งที่น่าสนใจ นั่นคือเรื่องของยีน หรือหน่วยพันธุกรรมในตัวคนแต่ละคน โดย เดวิด ลิกเคน (David Lykken) นักวิจัยที่มหาวิทยาลัยมินนิโซตา สรุปผลจากการศึกษายีนของฝาแฝด ๔,๐๐๐ คู่ และให้ข้อสรุปว่า ครึ่งหนึ่งของความพึงพอใจในชีวิตของคนแต่ละคนเป็นผลมาจากระบบการทำงานทางด้านพันธุกรรมในร่างกาย แต่ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม ข้อสรุปที่ได้รับการยอมรับกันโดยทั่วไปจากนักวิทยาศาสตร์ด้าน "สุขศึกษา" ก็คือ สิ่งที่กำหนดระดับความสุขของคนแต่ละคนนั้นอยู่ตรงที่ว่าบุคคลนั้นพึงพอใจต่อชีวิตที่กำลังเป็นอยู่ขนาดไหนเป็นสำคัญ

เปิดคัมภีร์ "กลเม็ดเผด็จสุข"
ต่อไปนี้ก็คือการประมวลข้อแนะนำต่างๆ ในการสร้างสุขให้แก่ชีวิต ที่ประกอบด้วย ๓ ด้านหลัก

 ๑. การสร้างทัศนคติให้ใช้ชีวิตอย่างมีความสุข

การมองโลกในแง่ดี หรือที่บางคนใช้คำว่า "มองเชิงบวก"
เป็นที่ยอมรับกันว่าทัศนคติเช่นนี้ทำให้มนุษย์เกิดพลังในการใช้ชีวิตทำในสิ่งที่สร้างสรรค์ และเกิดผลสำเร็จตามเป้าหมายได้อย่างไม่น่าเชื่อ กรณีชัดเจนที่สุดที่เพิ่งเกิดขึ้นเร็วๆ นี้ก็คือ การให้สัมภาษณ์ของ นาตาลี เกลโบวา มิสแคนาดา ที่ทำให้เธอชนะใจกรรมการจากต่างชาติต่างภาษา จนพิชิตมงกุฎผู้หญิงที่สวยที่สุดในจักรวาลไปครองแบบไร้ข้อกังขา
"สิ่งที่ท้าทายที่สุดในชีวิตของดิฉันก็คือ การพยายามที่จะมองโลกและชีวิตในด้านบวก ซึ่งบางครั้งมันยากมากที่จะมองชีวิตให้ได้แบบนั้น การมองโลกในแง่บวกเปรียบไปก็เหมือนการมองน้ำครึ่งแก้ว มันอยู่ที่ว่าจะเลือกมองว่าเหลือน้ำ แค่ ครึ่งแก้ว   หรือเหลือน้ำ ตั้ง ครึ่งแก้ว และสำหรับดิฉัน ดิฉันเลือกการมองว่าน้ำยังเหลือตั้งครึ่งแก้ว เพราะมันทำให้เรามีพลังสู้ต่อไป"

เครื่องยืนยันถึงคุณค่าของการมองโลกในแง่ดีก็คือ ผลวิจัยของ มาร์ติน เซลิกแมน (Martin Seligman) อดีตประธานสมาคมนักจิตวิทยาสหรัฐอเมริกา ที่ระบุว่า การมองโลกในแง่ดีเป็นหนึ่งในลักษณะเด่นที่พบว่ามีความสัมพันธ์กับการมีสุขภาพร่างกายแข็งแรง ไม่ค่อยพบอาการซึมเศร้าหรือเจ็บป่วยทางจิตเวช มีอายุยืนยาว และร่ำรวยความสุข นพ.เทอดศักดิ์ เดชคง แห่งเว็บไซต์ ดร.เทอดดอตคอม (www.dr.terd.com) จิตแพทย์แห่งกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข เป็นหนึ่งในผู้ที่เชื่อมั่นในพลังของการมองเชิงบวกว่าจะทำให้ค้นพบความสุข โดยรวบรวมบทความเกี่ยวกับเรื่องนี้มาพิมพ์เป็นหนังสือเล่มล่าสุดที่เป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางในชื่อ "สิ่งใดเกิดขึ้นแล้ว สิ่งนั้นดีเสมอ"

คุณหมอกล่าวว่า มีคำถาม ๒ ข้อที่เป็นประโยชน์มากเมื่อเกิดเรื่องที่ก่อข้อขัดแย้งในใจ ข้อแรก  คือ เรื่องนั้นต้องทำไหม และข้อสองคือ ถ้าต้องทำจะทำอย่างไรจึงมีความสุข เช่น ถ้าหัวหน้าเป็นคนไม่ดี ถามว่าเราต้องทำงานกับเขาไหม ถ้าคำตอบคือต้องทำ ลาออกไม่ได้ เพราะฉะนั้น ถ้าอยากมีความสุขก็ต้องลองถามตัวเองว่าเขามีดีไหม หรืออย่างคนที่แต่งงาน แล้วแต่ไม่พอใจคู่ของตนเอง เมื่อคำตอบข้อแรกคือเปลี่ยนไม่ได้ ก็มาสู่คำถามข้อสองคือ แล้วจะอยู่กันอย่างไรให้มันมีความสุขมากขึ้น ลักษณะเช่นนี้เรียกว่าเป็น การหาโอกาสท่ามกลางอุปสรรค (turning obstacle into opportunity)

"คนส่วนใหญ่จะวนเวียนอยู่ในปัญหาข้อแรก ทำไมฉันถึงต้องแต่งกับเขาด้วย แต่ถ้าผ่านข้อแรกไปแล้ว ความทุกข์ร้อยละ ๙๐ หายไปเลย ถ้าคุณตัดสินใจว่าคุณจะอยู่ คุณคิดต่อทันทีได้เลยว่าแล้วคุณจะอยู่อย่างไร หลักการของสิ่งใดเกิดแล้ว สิ่งนั้นจะดีเสมอ เป็นหลักการที่ตกผลึกแล้ว" คุณหมอให้ทัศนะไว้

"คนเราส่วนใหญ่มักมีความสุขจากปัจจัยภายนอกถึงร้อยละ ๙๐ ส่วนอีกร้อยละ ๑๐ เป็นความสุขจากปัจจัยภายใน เช่น เรารู้สึกว่าเรามีสมาธิดีขึ้นนะ เราอ่านหนังสือได้มากขึ้น เรานอนดึกได้ เราทำงานได้ มากขึ้น เราพบว่า คนที่มีความสุขบนปัจจัยภายนอกส่วนใหญ่นั้นมีความสุขได้ยากขึ้น เวลาที่เราปรับเปลี่ยนคนที่อยู่ในสภาวะแบบนี้ เราจะให้เขาเปลี่ยนมาแสวงหาความสุขจากปัจจัยภายใน

ผมขอยกตัวอย่างของการไปเปลี่ยนวิธีคิดในองค์กรซึ่งมีปัญหามาก ผมเคยไปจัดคอร์สให้กับโรง-พยาบาลแห่งหนึ่ง ที่นั่นมีแต่ความทุกข์ครับ คนมาเชิญผมบอกว่าคนที่นี่หน้างอตั้งแต่ประชาสัมพันธ์ไปจนกระทั่งหมอ ผมใช้เวลากับพวกเขาเดือนครึ่ง ปรากฏว่าพอจบคอร์ส เขาโหวตกันว่าคะแนนความสุขเป็นยังไงบ้าง ส่วนใหญ่บอกว่าเพิ่ม ร้อยละ ๕๐-๖๐ การอบรมในเซ็กชั่นแรกผมจะให้แต่ละคนบอกว่าเขาจะมีความสุขได้จากอะไรบ้าง มีอยู่คนหนึ่งครับ บอกว่าเขาอยากได้แอร์ตัวใหม่ บางคนบอกว่าอยากได้เพื่อนร่วมงาน และพยาบาลเวรดึกเพิ่มขึ้น บางคนบอกว่าอยากเปลี่ยนหัวหน้าฝ่าย เป็นต้น ...ผมก็เลยถามเขาว่า วันนี้คุณเจาะเลือดคนไข้ไปบ้างหรือยัง คุณจ่ายยา คุณทำอะไรไปบ้างแล้ว ทุกคนทำ แต่ไม่นับ แบบนี้เขาเรียกว่าขาด sense of success ผมก็เลยให้แต่ละคนบันทึกครับ แต่ละวันเขาทำอะไรบ้าง หนึ่งสัปดาห์ผ่านไป มีอยู่คนหนึ่งเขาดูสดใสขึ้นมาก ถามว่าทำไมเดี๋ยวนี้คุณมีความสุข เขาตอบว่าเพราะเขารู้แล้วว่าวันๆ เขาทำอะไรไปบ้าง แกตอบ สั้นๆอย่างนั้น แล้วก็บอกว่าเวลาฉีดยาฉีดได้กี่ราย เขาจะนับไว้ นี่คือเป้าหมายของเขา sense of success จึงเป็นกุญแจของความสุข ถามว่าคนที่มีความสุขกับคนที่มีความทุกข์  ๒ กลุ่มนี้เกิดเหตุการณ์ในชีวิตต่างกันไหม ไม่ต่าง ... แต่ต่างกันตรงที่วิธีคิด เพราะฉะนั้นถ้าสร้างวิธีคิดได้จะเกิดความสุข"
 
รู้จักคำว่า "พอ"
นับเป็นเรื่องมีความสัมพันธ์แนบแน่นกับสิ่งที่ได้กล่าวไปในช่วงแรกถึงสาเหตุแห่งความอยู่ไม่เป็นสุขของคนยุคใหม่ที่เกิดจากปมช่างเปรียบเทียบ เฝ้ามองแต่สิ่งที่ขาด ไม่เห็นในสิ่งที่มีกระแสรับสั่งของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในเรื่อง "เศรษฐกิจพอเพียง" ถือว่าเป็นวิสัยทัศน์ที่สอดคล้องกับโลกยุคปัจจุบันอย่างยิ่ง ที่ผ่านมา คนจำนวนมากตีความเรื่องนี้ในความหมายที่แคบ ว่าหมายถึงรูปแบบของการทำเกษตรกรรมแบบใดแบบหนึ่ง แต่แท้ที่จริง สาระสำคัญของคำว่าเศรษฐกิจพอเพียงเป็นเรื่องที่เกี่ยวโยงกับทุกส่วนในการใช้ชีวิต
ความรู้จักพอ คือบ่อเกิดของความพึงพอใจต่อชีวิต อันเป็นรากแก้วสำคัญที่ทำให้บังเกิดความสุขล้นพ้น ดังที่นักวิทยาศาสตร์ "สุขศึกษา" ให้ข้อสรุปเอาไว้

รู้จักการ "ให้"
ในเหตุการณ์โศกนาฏกรรมคลื่นยักษ์สึนามิเมื่อวันที่ ๒๖ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๔๗  เป็นเครื่องยืนยันได้อย่างดีถึงพลังแห่งการให้ในการขจัดปัดเป่าความทุกข์ให้ห่างไกลออกไป ท่ามกลางความโศกเศร้า สูญเสีย ความตระหนกต่อภัยพิบัติ และอาดูรต่อการจากอย่างไม่หวนกลับของผู้คนหลายหมื่นคนที่เกิดต่อความรู้สึกของคนทั้งประเทศในขณะนั้น ค่อยๆ ถูกเยียวยาด้วยการขยายวงของกลุ่มอาสาสมัครจากผู้คนทุก ระดับการศึกษาและฐานะชนชั้น ที่ผันแปรสถานการณ์ ให้เกิดแง่มุมของความสุขที่ชวนให้จดจำรำลึกควบซ้อนสู่เหตุการณ์อันเศร้าสลดที่ทุกคนอยากลืม ในประเทศที่พัฒนาแล้ว คนจำนวนมากแบ่งเวลาส่วนหนึ่งให้กับการทำงานอาสาสมัครในองค์กรหรือหน่วยงานสาธารณประโยชน์เพื่อเติมเต็มความสุขในลักษณะที่ประณีตและมีคุณภาพเกินกว่าที่เงินรายได้และทรัพย์สินที่มีอยู่จะให้ได้ ขณะเดียวกันการทำงานสาธารณประโยชน์ ซึ่งล้วนแต่มีธรรมชาติในการเข้าไปเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับกลุ่มคนที่ขาดแคลนและมีปัญหายังเป็นการเปิดโอกาสให้แต่ละคนได้สัมผัสกับการเปรียบเทียบในรูปแบบที่โน้มนำให้เกิดความสุข หลายคนพบว่า การทำงานอาสาสมัครหรือ ให้ความช่วยเหลือกับกิจกรรมสาธารณกุศลแต่ละครั้งได้เปิดมุมมองใหม่ๆ ในการทบทวนชีวิตที่เป็นและสิ่งที่มีว่ามีค่ามากเพียงใด และการได้ช่วยเหลือคนที่ทุกข์มากกว่า นำไปสู่ความสุขและอิ่มใจอย่างที่ไม่อาจหาสิ่งใดเปรียบ

มองมาที่บ้านเราในขณะนี้มีหลายหน่วยงานที่เห็นความสำคัญในการสนับสนุนค่านิยมเรื่องของการให้ให้เกิดอย่างมั่นคงในวงกว้าง ตัวอย่างหนึ่งที่ได้รับความสนใจอย่างมากในปีที่ผ่านมาก็คือ การรณรงค์เรื่อง "ฉลาดทำบุญ" โดยเครือข่ายชาวพุทธเพื่อสังคม ในรูปการจัดทำคู่มือเล่มเล็กนำเสนอแนวคิดและวิธีการ "ทำบุญ" ในสังคมทันสมัยที่ทำได้ในรูปแบบหลากหลาย ไม่จำกัดอยู่ที่การบริจาคเข้าวัด แต่ตีความกว้างไปถึงการทำประโยชน์ทุกรูปแบบต่อสังคมรอบๆ ตัว หรือมองใกล้ๆตัว กระแสการสวม "รีส แบน" (wrist band) หรือกำไลยางสวมข้อมือที่องค์กรสาธารณกุศลต่างๆ ทำขึ้น ซึ่งมีผู้ยินดีบริจาคนับล้านๆ จากทั่วโลก ก็เป็นรูปแบบหนึ่งในเครื่องพิสูจน์ว่าการให้นั้นสร้างสุขและความอิ่มใจแก่มนุษย์ได้อย่างไร้พรมแดน

๒. การใช้ชีวิตในรูปแบบที่ไปสู่ความสุข

วิธีที่เราใช้ชีวิตในแต่ละวันเกี่ยวพันกับปริมาณและคุณภาพความสุขในชีวิตของคนแต่ละคนอย่างแยกไม่ออก กุญแจสำคัญของครรลองชีวิตที่เอื้อให้ได้อิ่มเอมกับความสุขนั้นมีอยู่หลายดอก ลองมาดูซิว่าวิธีเรียบง่ายแต่ได้ผลดีเหล่านี้คุณเคยลอง ทำดูหรือยัง

ใช้ชีวิตให้ช้าลง
ชีวิตในโลกยุคใหม่ดูเหมือนมีสิ่งที่ต้องทำมากมายในแต่ละวัน แต่หลายคนกลับไปทบทวนแล้ว  พบว่าในบรรดาสิ่งที่เข้าคิวรอให้ทำเป็นลำดับยาวเหยียดในแต่ละวันนั้นมีอยู่จำนวนมากที่เอาเข้าจริงแล้วอยู่ในระดับ "ควรทำ" หรือ "อยากทำ" มากกว่า "ต้องทำ" จริงๆ แต่เมื่อกิจกรรมประจำวันที่มีความสำคัญมากน้อยต่างกันถูกนำมาผสมรวมกันโดยไม่ทันสำรวจให้ถ่องแท้เสียก่อน ผลที่ตามมาก็คือ ความเร่งรีบอยู่ตลอดเวลา จนทำให้เรื่องที่สำคัญจริงๆ ต่อการมีชีวิตหรือการดำเนินชีวิตอย่างมีคุณภาพและมีความสุขถูกเบียดบังโอกาส เช่น ต้องรีบกินหรืออดมื้อกินมื้อทั้งที่มีเงินเต็มกระเป๋า พักผ่อนไม่พอ ไม่มีเวลาทำกิจกรรมพร้อมหน้าพร้อมตากับครอบครัว หรือพลาดโอกาสวันสำคัญต่างๆ ของคนที่มีความหมายในชีวิต และกว่าจะรู้ผลก็เมื่อสายไปเสียแล้ว เช่น การล้มป่วย สูญเสียคนที่รักไปโดยไม่ทันได้เจอหน้าหรือดูแลให้สมคุณค่า หรือถูกทอดทิ้งต้องจมอยู่กับความว้าเหว่และรู้สึกผิดไปอีกยาวนาน ซึ่งเหล่านี้คือสิ่งที่ผลักไวความสุขให้ไกลห่างจากชีวิตออกไปจนยากจะเอื้อมคว้ากลับมาได้โดยง่าย

ทุกวันนี้ เรื่องของการใช้ชีวิตให้ช้าลงได้รับความสนใจจากผู้คนจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศที่มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างสูง ที่ประเทศอิตาลี มีการก่อตั้งชมรมของคนที่นิยมใช้ชีวิตอย่างช้าๆ และเป็นสุข ที่เริ่มต้นจากเรื่องของอาหารการกินในชื่อ สโลว์ ฟู้ด (slow food) และ  ต่อมาได้รับการสนับสนุนจากนายกเทศมนตรีในเมืองเล็กๆ แห่งหนึ่งที่เห็นคุณค่าของการใช้ชีวิตอย่างประณีตเรียบง่ายให้ก่อตั้ง สโลว์ ซิตี้ (slow  city) ที่ปฏิเสธกิจกรรมเร่งรัด มีคำขวัญที่รู้จักกันแพร่หลาย คือ "Don't rush me" หรือแปลเป็นไทยว่า "อย่าเร่งฉัน" และใช้สัตว์ที่เคลื่อนไหวแช่มช้าอย่างมีเอกลักษณ์ คือ หอยทาก เป็นสัญลักษณ์โดยสมาชิกที่โดดเข้าร่วมแนวคิดนี้ได้ขยายตัวอย่างรวดเร็วถึงหลักแสนจากร้อยกว่าประเทศในวันนี้

เมื่อเร็วๆ นี้ ได้มีผู้รวบรวมความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจเช่นนี้ไว้ในหนังสือเล่มหนึ่งที่มีชื่อว่า "ชมชื่นความแช่มช้า" (In Praise of Slowness) เขียนโดย คาร์ล ฮอนอเร (Carl Honore) นักหนังสือพิมพ์หนุ่มวัย ๓๗ ปี จากประเทศอังกฤษ ผู้ซึ่งเกิดแรงบันดาลใจในการหันหลังให้ชีวิตอันเร่งรีบ  ที่เขาเองก็จ้ำเดินร่วมทางไปโดยไม่ทันรู้ตัวอยู่นาน   จากความหงุดหงิดที่ต้องแก้ปัญหาการแบ่งเวลามาเล่านิทานให้ลูกเล็กๆ ฟังคืนละหลายๆ เรื่องตามคำรบเร้าของลูก ในขณะที่ใจก็กระวนกระวายอยู่กับความต้องการที่จะไปทำกิจกรรมอื่นๆ ที่คิดว่า "จำเป็นต้องทำ" เช่น อ่านอีเมล์ ดูโทรทัศน์ เป็นต้น จนในที่สุดก็เกิดฉุกคิดได้ถึงต้นตอของปัญหาที่ว่า ทำไมเขาจึงไม่เคยมีเวลาพอที่จะได้ทำในทุกสิ่งที่ต้องการได้ ว่ามีที่มาจากอะไร

จากสิ่งที่ค้นพบดังกล่าว คาร์ลเริ่มสืบค้นข่าวคราวว่ามีใคร ที่ไหน ที่คิดแบบเขาบ้าง และพบว่าแนวคิดนี้กำลังผุดสะพรั่งไปทั่วโลก เขาเดินทางไปพบปะและเสวนากับกลุ่มคนเหล่านี้และนำมาเสนอในหนังสือเล่มนี้ ทั้งประสบการณ์การเดินทางไปประเทศออสเตรเลียเพื่อร่วมประชุมกับสมาคมนิยมความแช่มช้า ไปกรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น เพื่อชมโรงเรียนทางเลือกที่ส่งเสริมให้นักเรียนเรียนแบบผ่อนคลาย การประชุมประจำปี ไปประเทศอิตาลี จับเข่าคุยกับชมรมคนนิยมอาหารแช่มช้า เป็นต้น
คาร์ลขมวดปมสาระสำคัญของรูปแบบการดำเนินชีวิตที่ทำให้พลาดการได้มาซึ่งความสุขในแต่ละวันไปอย่างน่าเสียดายว่า เป็นเพราะลัทธิ "คลั่งความเร็ว" (cult of speed) โดยไม่ยอมอยู่กับปัจจุบัน และทางออกอย่างตรงไปตรงมาก็คือ ใช้ชีวิตให้ช้าลงด้วยการตัดกิจกรรมบางอย่างออกไป แม้แต่ตัวของคาร์ลทุกวันนี้ก็ยังหาเวลาสำรวจกิจกรรมที่ทำในชีวิตอยู่เสมอว่า กิจกรรมใดบ้างเป็น "ส่วนเกิน" เพื่อเก็บเวลาไว้ให้กับกิจกรรมที่ทำแล้วให้ความสุขจริงๆ ต่อชีวิตให้มากที่สุด

หาความสุขจากธรรมชาติรอบตัว

มนุษย์ทุกคนในโลกต่างเคยมีประสบการณ์คล้ายคลึงกันในยามที่เครียดหรือเป็นทุกข์แล้วได้เบนสายตาไปหาธรรมชาติต่างพบว่าปริมาณความทุกข์ดูเหมือนเจือจางลงไปได้ ขณะที่บางคนหายทุกข์ได้อย่างปลิดทิ้ง เพราะเกิด "ปัญญา" ขึ้นฉับพลันจากการเปรียบเทียบทุกข์ในใจเข้ากับความเป็นไปอย่างอิสระของโลกอันกว้างใหญ่ บางคนยังพบว่า ธรรมชาติเป็นเสมือนบึงน้ำใหญ่อันฉ่ำเย็นให้มนุษย์ตักตวงพลังชีวิตและความสุขสู่ชีวิตได้อย่างไม่มีวันหมด

ดร.มาเรีย ดอมนิง (Maria Domning) นักศิลปะบำบัดชาวเยอรมัน ซึ่งใช้ชีวิตหลังวัยเกษียณอายุเป็นอาสาสมัครฝึกสอนด้านศิลปะบำบัดให้แก่โรงเรียนทางเลือกแห่งหนึ่งในประเทศไทยที่จัดการศึกษาตามแนวคิดแบบวอร์ดอฟ เคยเล่าให้หลายคนฟังว่า ที่บ้านของเธอที่ประเทศเยอรมนี ตรงบริเวณหน้าต่างข้างประตูบ้าน จะมีกระดาษขนาดโปสการ์ด สีน้ำ และพู่กันวางอยู่ ทุกเช้า ก่อนที่เธอจะออกจากบ้านไปเริ่มต้นภารกิจต่างๆ เธอจะกันเวลาไว้สัก ๕ นาที นั่งลงมองท้องฟ้า และระบายสีถ่ายทอดความรู้สึกจากภาพที่เห็น เธอบอกว่านี่เป็นกิจกรรมง่ายๆ ที่วิเศษ เพราะสามารถสร้างความสุขให้เบ่งบานอยู่ในหัวใจได้ตลอดทั้งวัน และโปสการ์ดเหล่านี้นี่เองที่เธอใช้เป็นการ์ดอวยพรปีใหม่ ส่งความสุขจากตัวเธอแผ่กระจายไปสู่มิตรที่เธอมีอยู่ทั่วโลก

สิ่งที่เราเรียนรู้จากอาจารย์มาเรียนั้นมิใช้เพียงแค่การได้วิธีการหนึ่งที่จะเข้าถึงความสุขได้อย่างเรียบง่ายเพียงด้วยการเปิดตาเปิดใจให้มองเห็นความงามจากธรรมชาติรอบตัว แต่ยังแสดงให้เห็นว่าธรรมชาตินั้นพร้อมที่จะให้มนุษย์ทุกคนซึมซับ เอาความสุขเข้าไปหล่อเลี้ยงจิตใจได้ทุกที่ ทุกเวลา หากคนคนนั้นรู้จักกำหนดกิจวัตรแห่งการเปิดรับเอาไว้อย่างสม่ำเสมอ การเข้าถึงธรรมชาติตามแบบของอาจารย์มาเรียเป็นหนึ่งในรูปแบบง่ายๆ ที่เราจะได้เป็นเจ้าของความสุขได้ทุกวัน และยังมีวิธีอื่นๆ อีกมากมาย ทั้งที่ทำได้ด้วยตัวคนเดียว และทำร่วมกับมิตรสหาย เช่น การปลูกต้นไม้ รดน้ำและดูแล การหาเวลาเดินเล่นช้าๆ ในสวนสาธารณะ การดูนก ที่ทำได้ตั้งแต่ในละแวกบ้าน และออกไปในที่ห่างไกลและมีอีกหลากหลายวิธีที่คุณสร้างสรรค์ได้ตามแบบฉบับของตัวเอง

รดน้ำพรวนดินสายสัมพันธ์ครอบครัวและมิตรสหาย
ผลวิจัยมากมายยืนยันตรงกันว่า การมีเพื่อนและมีสายสัมพันธ์ที่อบอุ่นในครอบครัวนับเป็นหนึ่งในองค์ประกอบที่สัมพันธ์ที่ทำให้ชีวิตพบกับความสุข มีจิตใจที่มั่นคง ไม่แปรปรวนหรือหดหู่ซึมเศร้าง่าย จุดเริ่มต้นของสายสัมพันธ์อาจก่อเกิดขึ้นโดยไม่ต้องลงมือทำอะไร เช่น การเกิดมาร่วมอยู่ในครอบครัวเดียวกัน หรือเรียนโรงเรียนเดียวกัน ทำงานที่เดียวกัน อยู่ในหมู่บ้านเดียวกัน แต่การพัฒนาให้ความสัมพันธ์ราบรื่นแน่นแฟ้นในระยะยาวนั้นเป็นสิ่งที่ต้องหมั่นสร้างและสั่งสมอย่างต่อเนื่องยาวนาน ด้วยกิจกรรมที่ดูเหมือนเป็นสิ่งละอันพันละน้อย เช่น เขียนจดหมาย ถึงพ่อแม่ ญาติผู้ใหญ่ ที่อยู่ห่างไกลสม่ำเสมอ ช่วยลูกๆ เพื่อนบ้านทำการบ้านบ้าง  ยิ้ม ทักทาย และเล่าสู่ความเป็นไปในชีวิตกับเพื่อนบ้านบ้าง เป็นต้น รวมไปถึงร่วมทุกข์ร่วมสุขให้ความช่วยเหลือที่เป็นประโยชน์ เมื่อสมาชิกในครอบครัวและมิตรสหายเผชิญมรสุมครั้งใหญ่ๆ ในชีวิต 
   

๓.  การรู้จักควบคุมจิตใจให้อยู่ในสภาวะ เปิดรับความสุข

ใช้หลักศาสนา
ไม่ว่าเราจะให้คำอธิบายต่อสาเหตุแห่งการไร้ความสุขในแต่ละยุคสมัยว่ามีที่มาจากอะไร แต่คำตอบที่คมชัดและอยู่เหนือกาลเวลาก็คือ หลักศาสนาสำคัญต่างๆ ในโลก ที่ชี้ทางออกทั้งในรูปของข้อคิดและวิธีปฏิบัติเพื่อหลุดพ้นจากความทุกข์ และนำไปสู่ความสุขที่แท้จริง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของความรัก ความสมานฉันท์และให้คุณค่าต่อความเท่าเทียมกัน การให้ การรู้จักพอ รู้จักยินดีในสิ่งที่ผู้อื่นมี ปล่อยวาง และใช้วิจารณญาณในการรับสาร เป็นต้น เหล่านี้ล้วนเป็นภูมิปัญญาอันทรงคุณค่าแห่งการแสวงหาความสุขที่ถูกพิสูจน์ผ่านกาลเวลามาอย่างยาวนาน รอเพียงแค่ให้คนแต่ละคนนำไปพิจารณาและปฏิบัติเท่านั้นเอง

ศึกษาเทคนิคเพื่อช่วยปลดปล่อยจิตใจสู่สภาวะแห่งความสุข
การที่ต้องเผชิญกับสิ่งที่ควบคุมไม่ได้นานัปการในแต่ละวัน ทั้งที่ถูกใจและไม่ชอบ ชักนำให้จิตใจเกิดความเครียด เร่าร้อน ห่างไกลจากความสุข ทุกวันนี้ มีการคิดค้นและเผยแพร่เทคนิคการผ่อนคลายและพัฒนาจิตใจให้เพิ่มความสงบและมั่นคงมากมายหลายรูปแบบออกสู่สาธารณะที่ใครๆ ก็สามารถเข้าถึงเพื่อเรียนรู้ได้ไม่ยาก ไม่ว่าจะเป็นการฝึกโยคะ การออกกำลังกายแบบใช้สมาธิ เช่น รำไท้เก็ก เป็นต้น การทำงานศิลปะ การฝึกกำหนดลมหายใจ หรือการนั่งสมาธิ แต่สิ่งที่สำคัญกว่าก็คือการนำสิ่งที่เรียนรู้ไปปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอจนเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต จึงเกิดอานุภาพในการโน้มนำความสุขสงบสู่ชีวิตได้จริง

คนจะสุขได้แค่ไหน
ถ้าสังคมไม่เป็นใจ

ดร.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ให้ความสนใจกับเรื่องของ "ความสุข" อยู่ไม่น้อย ดร.ทักษิณได้แนะนำให้คณะรัฐมนตรีอ่านหนังสือชื่อ "ความสุข" (Happiness) เขียนโดย ริชาร์ด เลยาร์ด (Richard Layard) โดยมอบหมาย ให้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ จัดทำเอกสารสรุปสาระสำคัญของหนังสือมานำเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ในหนังสือเล่มดังกล่าว  ได้มองเรื่องของความสุขจากแง่มุมที่กว้างใหญ่ออกไปมากกว่าการแสวงหาความสุขระดับบุคคล โดยนำเสนอเรื่องของความสุขจากแง่มุมทางสังคม โดยระบุว่า สังคมที่ดีที่สุดคือสังคมที่มีความสุขมากที่สุด และด้วยเหตุนี้ นโยบายสาธารณะจึงควรมีเป้าหมายเพื่อสร้างความสุขและลดความทุกข์ให้มากที่สุด นั่นหมายถึงว่า นอกจากบทบาทที่คนแต่ละ คนมีต่อชีวิตของตนเองในการเลือกมีทัศนคติที่ดีต่อชีวิตมีวิธีดำเนินชีวิตที่เอื้อให้เกิดความสุข และพัฒนามิติทางอารมณ์และจิตวิญญาณอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอแล้ว ความสุขของชีวิตยังขึ้นอยู่กับทิศทางความเป็นไปในสังคม ซึ่งเป็นสิ่งที่อยู่เหนือกว่าตนเองด้วยอีกส่วนหนึ่ง

เหมือนเช่นที่นายแพทย์เทอดศักดิ์ได้กล่าวในตอนที่ผ่านมาว่า เรื่องของความสุขนั้นเป็นผลลัพธ์ที่เกิดจากปัจจัยภายในตนและปัจจัยภายนอกรวมกัน แต่ในแง่มุมที่คุณหมอให้ความสำคัญนั้นอยู่ที่การขยายอิทธิพลของปัจจัยภายในให้แผ่กว้างมากที่สุด ด้วยการสร้างมุมมองเชิงบวกต่อชีวิต ในขณะที่ริชาร์ดให้ความสำคัญต่อการขยายอิทธิพลภายนอกให้เอื้อต่อการสร้างสุขภาวะผ่านยุทธศาสตร์ให้รัฐสร้างนโยบายสาธารณะที่ลดความทุกข์ของประชาชน ให้เหลือน้อยที่สุด แปลงเป็นภาษาไทยที่เข้าใจได้ง่ายก็คือ "การสร้างสังคมอยู่เย็นเป็นสุข" นั่นเอง จาก ๘ ข้อเสนอแนะของริชาร์ดว่าด้วย "หนทางสู่ความสุข" ที่ได้ถูกนำเสนอสู่คณะรัฐมนตรีไทย ผ่านการกำหนดวาระจากนายกรัฐมนตรีไปแล้วนั้น ข้อที่นำมาในอันดับแรกสุดก็คือ "รัฐบาลควรติดตามประเมินผลความสุขของสังคมอย่างต่อเนื่องเช่นเดียวกับการติดตามเครื่องชี้วัดเศรษฐกิจ" ที่มาของข้อเสนอแนะดังกล่าวก็คือ ในขณะนี้องค์ความรู้ทำให้เกิดความเข้าใจมากขึ้นว่าความสุขเป็นผลจากปัจจัยทั้งภายนอกและภายในตัวคน แต่วิชาเศรษฐศาสตร์มีข้อจำกัดตรงที่อธิบายได้เฉพาะในสถานการณ์ที่มนุษย์แต่ละคนมีความต้องการคงที่ สังคมมีทรัพยากรจำกัด กลไกตลาดมีความสมบูรณ์ซึ่งในสถานการณ์ที่ว่านั้น ความสุขวัดได้ด้วยรายได้ประชาชาติ แต่ในความเป็นจริง ความสุขของคนมีปัจจัยมากกว่าเงินและเสรีภาพ เพราะยังเกี่ยวข้องกับเรื่องของความต้องการที่ไม่คงที่ เพราะคนมักเปรียบเทียบตนเองกับผู้อื่น และความต้องการยังแปรเปลี่ยนไปตามปัจจัยต่างๆ เช่น การศึกษาและการโฆษณา เป็นต้น นอกจากนี้ คงยังต้องการความมั่นคงในด้านการงาน ครอบครัว และสภาพแวดล้อมของสังคม ซึ่งอยู่เหนือการควบคุมของตนเองเพียงคนเดียว และคนมีความต้องการที่จะสามารถไว้ในผู้คน (trust) ซึ่งสังคมปัจจุบันมีน้อยลงเพราะการเคลื่อนย้ายถิ่นฐานมีมากขึ้น ที่จริงแล้วข้อเสนอของริชาร์ดไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่มีความสำคัญในฐานะที่ย้ำเตือนถึงความสำคัญที่ต้องเร่งออกแบบตัวชี้วัดการพัฒนาของสังคม ที่เข้าถึง "ความสุข" ของมนุษย์ได้มากกว่าการมองเพียงเฉพาะมิติทางเศรษฐกิจ ซึ่งหลายหน่วยงานทั้งในประเทศไทยและนานาชาติกำลังให้ความสนใจ

สืบค้นต้นสาย "ไม้บรรทัดวัดความสุข"
ความเคลื่อนไหวในระดับโลกเพื่อพัฒนาเครื่องชี้วัดระดับความจำเริญของสังคม เริ่มต้นชัดเจนในช่วงหลัง พ.ศ. ๒๕๑๐ ที่มหาวิทยาลัยแห่งสหประชาชาติ (UNU) โดยมีการระดมผู้เชี่ยวชาญกลุ่มหนึ่งให้พัฒนาเครื่องชี้วัดด้านการพัฒนาโดยเพิ่มมิติทางด้านสังคมเข้าไปมากขึ้น และต่อมาในปี พ.ศ. ๒๕๑๗ องค์การความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา ได้กำหนดความหมายในเรื่อง "ความเป็นอยู่ที่ดี" และนำเข้าสู่ส่วนหนึ่งของข้อตกลงระดับนานาชาติที่ส่งผลมาถึงปัจจุบัน จากความเคลื่อนไหวจากองค์กรพัฒนาระดับโลกได้ส่งแรงสะเทือนไปสู่ทุกภูมิภาค รวมถึงในกรณีของประเทศไทยเราเองด้วย ในปี พ.ศ. ๒๕๑๘ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้มีการจัดทำ "เครื่องชี้ภาวะสังคม" ซึ่งนับเป็นการบุกเบิกเครื่องมือใหม่ๆ ในการรายงานสภาพความเป็นไปในสังคมเพื่อเป็นข้อมูลสำหรับกำหนดทิศทางการพัฒนาประเทศ และในช่วงไล่เลี่ยกันนั้น กลุ่มของนักคิดด้านการพัฒนาสังคม ก็มีการนำเสนอแนวคิดว่าด้วย  ตัวชี้วัดระดับคุณภาพชีวิตในบริบทสังคมไทยด้วย ที่รู้จักกว้างขวางที่สุดชุดหนึ่งก็คือ "จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน" ของ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ นั่นเอง จากองค์ความรู้ที่ตกผลึกขององค์การสหประชาชาติในปัจุบัน สถานะของ "ตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจ" ถือเป็นเพียง ๑ ใน ๖ ตัวชี้วัดพัฒนาการของสังคมเท่านั้น  
 
ใช้ไม้บรรทัดผิดอัน สร้างพันธนาการสังคม
หลังเกิดวิกฤตเศรษฐกิจครั้งใหญ่ของประเทศไทย  หน่วยงานที่มีบทบาทในการกำหนดทิศทางการพัฒนาของประเทศอย่าง "สภาพัฒน์ฯ" ได้ประกาศพัฒนาดัชนีชี้วัดการพัฒนาชุดใหม่ในรูปของ "ดัชนีชี้วัดความอยู่ดีมีสุข" โดยระบุว่า เครื่องชี้วัดการเติบโตทางเศรษฐกิจโดยพิจารณาอัตราการเปลี่ยนแปลงในผลผลิตมวลรวมของประเทศ (GDP) ต่อหัวและรายได้ประชาชาติยังไม่เพียงพอต่อการวัดความอยู่ดีมีสุขของคน เพราะการวัดผลผลิตมวลรวมของประเทศยังไม่ได้รวมปัจจัยอีกหลายอย่างที่ มีส่วนในการสร้างความอยู่ดีมีสุขของประชาชน อีกทั้งไม่สามารถนับรวมสินค้าและบริการหรือผลผลิตที่ไม่ผ่านระบบตลาด เช่น ผลผลิตที่เกิดจากน้ำพักน้ำแรงของกลุ่มแม่บ้าน ซึ่งอาจจะตีค่าได้มหาศาล ในขณะที่การเติบโตทางเศรษฐกิจนำไปสู่การเพิ่มเติมมลพิษ ทั้งทางอากาศ น้ำ เป็นต้น

นอกเหนือจากความเคลื่อนไหวจากสภาพัฒน์ฯ ทุกวันนี้ในสังคมไทยและสังคมโลกได้เกิดเครื่องมือชี้วัดระดับการพัฒนาอีกมากมายที่รวมเอามิติของ "ความอยู่เย็นเป็นสุขสุข" ในชีวิตของประชาชนเข้าเป็นส่วนสำคัญ ตัวชี้วัดการพัฒนาที่นำเรื่องผลปลายทางจากการพัฒนาในรูปของ "ความสุข" มาเป็นเป้าหมายสำคัญในการชี้วัดถูกเรียกอย่างรวมๆ แบบล้อเลียนตัวชี้วัดยอดฮิตดั้งเดิมในชื่อ จีดี-เอช ที่ย่อมาจาก Gross Domestic Happiness-GDH ที่กำลังเติบโตอย่างน่าจับตา เป็นการเติบโตทั้งด้านการขยายกลุ่มผู้สนใจลงมือพัฒนาเครื่องมือชี้วัด จากกลุ่มนักวิชาการหรือหน่วยงานที่ทำงานเกี่ยวกับการพัฒนาสังคมของภาครัฐ ไปสู่กลุ่มนักพัฒนาและผู้นำความคิดระดับรากหญ้า  ที่นำไปใช้เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของเครื่องมือในการพัฒนา ดังเช่น กรณีของกระบวนการพัฒนาตัวชี้วัดความสุขของประชาชนชาวไทยที่นายแพทย์ อภิสิทธิ์ ธำรงวรางกูล แห่งศูนย์ค้ำคูณ อำเภออุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่น เป็นแกนนำจัดทำร่วมกับกลุ่มปราชญ์ชาวบ้านอีสาน

นอกจากนี้ ดัชนีชี้วัดความอยู่เป็นเป็นสุขยัง เติบโตในด้านของระดับของการนำไปใช้ประโยชน์โดยในปีนี้ รัฐบาลหลวงแห่งประเทศภูฏานจะเป็นเจ้าภาพใหญ่จัดประชุมนานาชาติเรื่อง "ความสุข มวลรวมประชาชาติ" หลังจากที่ภูฏานกรุยทางนำเสนอแนวคิดเรื่องนี้ในเวทีระดับภูมิภาคอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๔๑



จีดีเอช "ดัชนีมวลรวมความสุขประชาชาติ" ไปถึงไหนในวันนี้

นายแพทย์พินิจ ฟ้าอำนวยผล อนุกรรมการวิชาการการจัดประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๘ ได้สังเคราะห์ดัชนีชี้วัดความสุขที่มีการทำขึ้นในช่วงที่ผ่านมา และสรุปเป็นภาพดังนี้



แผนภาพการซ้อนกันขององค์ประกอบของความอยู่เย็นเป็นสุข ๓ ระดับ 
ตัวชี้วัดการพัฒนาที่มุ่งให้ความสนใจต่อผลลัพธ์ในด้านความสุขทั้ง ๓ ระดับดังที่ได้กล่าวมานี้ มีความเกี่ยวพันกัน ไม่อาจแยกแยะกันได้เด็ดขาด  ตัวชี้วัดความอยู่เย็นเป็นสุขด้านหนึ่งที่ปรากฏอยู่ในทั้ง ๓ ระดับ ก็คือ เรื่องของสุขภาพร่างกาย เมื่อนำประเด็นที่อยู่ในองค์ประกอบของแต่ละชุดตัวชี้วัด จะปรากฏผลออกมาดังตาราง ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า แต่ละชุดตัวชี้วัดให้ความสำคัญกับมิติการพัฒนาทั้งในด้านมหภาคและจุลภาคที่ครอบคลุมกว้างขวางกว่าประเด็นด้านเศรษฐกิจโดยมีประเด็นด้านสังคม การศึกษา สิ่งแวดล้อม และสุขภาพ เข้ามาเกี่ยวข้อง อีกทั้งยังให้ความสำคัญกับประเด็นดังกล่าวในระดับครอบครัวและชุมชนด้วย อย่างไรก็ดีเมื่อวิเคราะห์ตัวชี้วัดความอยู่เย็นเป็นสุขที่มีการคิดค้นขึ้นในขณะนี้ พบว่ามีบางประเด็นที่ยังขาดตัวชี้วัดที่เหมาะสมมารองรับ เช่น ตัวชี้วัดด้านสังคม วัฒนธรรม และสุขภาพทางปัญญา

ข้อมูลสื่อ

315-006
นิตยสารหมอชาวบ้าน 315
กรกฎาคม 2548
อภิญญา ตันทวีวงศ์