• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

การผ่าตัดหัวใจ

การผ่าตัดหัวใจ


หัวใจของคนเราทำงานอย่างไร?
ทำไมต้องทำทางเบี่ยง ลิ้นหัวใจเทียม หัวใจเทียม?
"เป็นไปไม่ได้หรอกที่เราจะผ่าตัดเข้าไปทำอะไรกับหัวใจ"
"การผ่าตัดหัวใจไม่ว่าด้วยวิธีไหนก็ไม่มีทางที่จะเป็นไปได้"

ศัลยแพทย์ชาวเยอรมันประสบความสำเร็จในการ เย็บแผลฉีกขาดที่หัวใจ เมื่อ ๑๐๐ ปีที่แล้ว

รู้จักการทำงานของหัวใจ
หัวใจคนเรามีทั้งหมด ๔ ห้องและเกี่ยวข้องกับลิ้นหัวใจอยู่ ๔ ลิ้น เลือดดำจากทั้งหมดของร่างกายจะไหลเข้าสู่หัวใจห้องบนขวาผ่านลิ้นหัวใจไทรคัสพิดลงสู่หัวใจห้องล่างขวา จากนั้นจะผ่านลิ้นหัวใจพัลโมนิกไปฟอกที่ปอดจนเป็นเลือดที่มีออกซิเจนสูง จากนั้นจะไหลกลับเข้าสู่หัวใจห้องบนซ้ายผ่านลิ้นหัวใจไมทรัลลงสู่หัวใจห้องล่างซ้าย ต่อมาจะผ่านลิ้นหัวใจเอออร์ติกเข้าสู่หลอดเลือดแดงใหญ่ และไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกาย

ในปี พ.ศ.๒๔๖๖ นายแพทย์ Samuel A. Levine อายุรแพทย์โรคหัวใจ และนายแพทย์ Elliott Carr  Cutler ศัลยแพทย์ชาวอเมริกัน เริ่มทำการผ่าตัดโรคลิ้นหัวใจไมทรัลตีบ แต่ส่วนใหญ่ไม่ประสบความสำเร็จ ต่อมาปี พ.ศ.๒๔๗๒ นายแพทย์ Werner Forss-mann ชาวเยอรมันขณะยืนอยู่หลังเครื่องถ่ายเอกซเรย์ภาพต่อเนื่อง (Fluoroscope)  เขาทดลองสอดสายเล็กๆ (catheter) เข้าหลอดเลือดดำที่ข้อพับแขนและใส่เข้าไปเรื่อยๆ จากภาพเอกซเรย์เขาเห็นว่า catheter เข้าไปถึงบริเวณของหัวใจ จึงคิดว่าสิ่งนี้น่าจะมีประโยชน์ แต่เขากลับได้รับคำวิจารณ์ว่าทำสิ่งที่อันตรายเกินไป จนกระทั่ง พ.ศ.๒๔๘๗ นายแพทย์ Andre Frederic Cournand ชาวฝรั่งเศส และนายแพทย์ Dickinson W. Richards ชาวอเมริกัน ทดลองใส่ catheter ไปที่หัวใจและฉีดสารทึบแสงเข้าไป เมื่อถ่ายภาพเอกซเรย์ก็ทำให้เห็นกายวิภาคของหัวใจได้ เรียกการตรวจนี้ว่า Cardiac catheterization ซึ่งปัจจุบัน ใช้ตรวจพยาธิสภาพของหลอดเลือดหัวใจได้เป็นอย่างดี (ทั้งสามได้รับรางวัลโนเบลสาขาการแพทย์ในปี พ.ศ. ๒๔๙๙)

การทำทางเบี่ยง
ในเด็กที่ป่วยเป็นโรคหัวใจแต่กำเนิด มีริมฝีปากและเล็บสีม่วงคล้ำ มักเกิดจากมีพยาธิสภาพที่ทำให้หัวใจซีกขวาส่งเลือดไปฟอกที่ปอดได้น้อยกว่าปกติ ผู้ป่วยจะเหนื่อยง่ายและเสียชีวิตตั้งแต่อายุยังน้อย เป็นเช่นนี้เรื่อยมาจนกระทั่ง พ.ศ.๒๔๘๗ แพทย์หญิง Helen Brooke Taussig กุมารแพทย์โรคหัวใจ และนายแพทย์ Alfred Blalock ศัลยแพทย์ชาวอเมริกัน คิดค้นวิธีผ่าตัดทำทางเบี่ยง (shunt) เพื่อให้เลือดไปฟอกที่ปอดได้มากขึ้น เรียกว่า Blalock-Taussig shunt ผู้ป่วยเด็กกลุ่มนี้จึงมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

ลิ้นหัวใจเทียม
ต่อมาเกิดความคิดว่าถ้าลิ้นหัวใจผิดปกติก็สร้างของเทียมขึ้นมาแทนสิ พ.ศ.๒๔๙๕ C. Hufnagel ประสบความสำเร็จในการผ่าตัดลิ้นหัวใจเทียม การผ่าตัดหัวใจจึงเป็นที่ยอมรับมากขึ้น แต่มีปัญหาสำคัญคือเลือดมีการไหลผ่านหัวใจและหัวใจเต้นตลอด ทำให้การผ่าตัดเป็นไปด้วยความยากลำบาก จึงมีแนวคิดที่จะทำให้เลือดดำทั้งหมด ไหลออกมานอกร่างกายแล้วใช้เครื่องฟอกแทนปอด  จากนั้นจึงนำเลือดกลับสู่หลอดเลือดแดงใหญ่ เป็นผลให้เลือดไม่ต้องผ่านหัวใจเลย อุปกรณ์นี้มีชื่อว่าเครื่องปอดและหัวใจเทียมซึ่งประดิษฐ์สำเร็จในปี พ.ศ. ๒๔๙๖ โดยนายแพทย์ John Gibbon ชาวอเมริกัน

หัวใจเทียมและบายพาส
หลังประสบความสำเร็จกับลิ้นหัวใจเทียม  มนุษย์ก็ฝันไปถึงหัวใจเทียม (Artificial heart) พ.ศ.๒๕๐๑ Willem J. Kolff และ Tetsuzo Akutsu ก็ประดิษฐ์หัวใจเทียมสำเร็จ จากการทดลองในสัตว์พบว่าทำให้สุนัขมีชีวิตอยู่ได้ ๙๐ นาที (นอกจากนี้ Kolff ยังประดิษฐ์เครื่องฟอกไตเป็นคนแรกอีกด้วย) นายแพทย์ Rene G. Favaloro ศัลยแพทย์ชาวอาร์เจนตินารักษาโรคหลอดเลือดหัวใจตีบด้วยการผ่าตัดบายพาสหลอดเลือดหัวใจเป็นคนแรก พ.ศ.๒๕๑๐ (ทำให้ได้รับรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล สาขาการแพทย์ ในปี พ.ศ.๒๕๔๑) จากนั้นก็มีการพัฒนาและทดลองหัวใจเทียมมากขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งมาถึงปี พ.ศ. ๒๕๑๒ มีผู้ป่วยที่รอหัวใจบริจาครายหนึ่งกำลังจะเสียชีวิต นายแพทย์ Denton A. Cooley ศัลยแพทย์หัวใจชาวอเมริกัน จึงตัดสินใจผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจเทียมให้ก่อน หลังผ่าตัด ๖๕ ชั่วโมงถึงมีหัวใจจากผู้บริจาค ผู้ป่วยจึงได้รับการผ่าตัดอีกครั้ง แต่เขาอยู่ได้เพียง ๓๖ ชั่วโมงก็เสียชีวิต (ตอนใส่หัวใจเทียมอยู่ได้นานกว่าเสียอีก) สาย Catheter นอกจากจะใช้ในการตรวจวินิจฉัย แล้วยังใช้ในการรักษาได้ด้วย โดย Andreas Gruntzig แพทย์ชาวสวิตเซอร์แลนด์ประกาศความสำเร็จในการใช้ catheter เข้าไปถ่างขยายหลอดเลือดหัวใจที่ตีบในปี พ.ศ. ๒๕๒๒  

แม้หัวใจเทียมจะได้รับการพัฒนามาโดยตลอด  แต่ทั้งหมดก็จะมีสายต่อออกมาที่ผิวหนังเพื่อชาร์จพลังงาน จนล่าสุด พ.ศ. ๒๕๔๔ AbioCor หัวใจเทียมรุ่นที่ไม่มีสายต่อมาที่ผิวหนังก็ถูกใช้เป็นครั้งแรกโดย Robert Tools ซึ่งเป็นผู้ป่วยหัวใจวายระยะสุดท้าย จากนั้นได้มีการทดลองใช้อุปกรณ์นี้ในผู้ป่วยอีกหลายรายจนองค์การอาหารและยาสหรัฐอเมริกาให้การรับรอง

อุปกรณ์เทียมทำให้เราดูเหมือนเป็นหุ่นยนต์ที่เมื่อเกิดความเสียหายก็จะมีอะไหล่เปลี่ยน แม้ว่าจะเป็นเช่นนั้น แต่ผมก็สนับสนุนแนวทางนี้ ดีกว่าไปตัดต่อพันธุกรรมให้มีหัวใจมนุษย์อยู่ในหมูแล้วนำมาผ่าตัดใส่ในคน ฟังดูละเมิดสิทธิสัตวชนจริงๆ

ข้อมูลสื่อ

317-003
นิตยสารหมอชาวบ้าน 317
กันยายน 2548
นพ.ธีรวัฒน์ บูระวัฒน์