• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

การใช้ยาในหญิงตั้งครรภ์

การใช้ยาในหญิงตั้งครรภ์


การใช้ยาในหญิงตั้งครรภ์ เป็นอีกปัญหาหนึ่งที่มีผู้สนใจสอบถามกันมาเรื่อยๆ ด้วยความห่วงใยในเรื่องความปลอดภัยของการใช้ยาว่า จะส่งผลเสียต่อทารกในครรภ์ของแม่หรือไม่ ควรมีหลักในการเลือกใช้ยาในระหว่างตั้งครรภ์อย่างไร เพื่อให้ได้ผลดีต่อสุขภาพและความปลอดภัยทั้งกับตัวแม่เองและทารกที่กำลังเจริญเติบโตอยู่ในท้องด้วย

ความสัมพันธ์ของยาต่อทารกในครรภ์
แม่ที่กำลังตั้งครรภ์อาจมีการเจ็บป่วยขึ้นได้ จึงมีความจำเป็นต้องใช้ยาในการบำบัดรักษาอาการเจ็บป่วยของตน ซึ่งในกรณีนี้ควรเลือกใช้ด้วยความระมัดระวังเป็นพิเศษ ไม่ควรซื้อยาใช้เองในระหว่างตั้งครรภ์ แม้แต่ยาสามัญประจำบ้านก็ตาม เพราะยาทุกชนิดซึ่งรวมถึงยาสามัญประจำบ้านหลายชนิดก็อาจเกิดอันตรายกับทารกในครรภ์ได้ ดังนั้น จึงควรใช้ยาเท่าที่จำเป็นจริงๆ และควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนการใช้ยาทุกครั้ง ทั้งนี้เพื่อความปลอดภัยทั้งแม่และทารกในครรภ์ด้วย

ยาส่งต่อจากแม่ถึงทารกทางสายสะดือ
เมื่อแม่ใช้ยาจะส่งผลต่อทารกในครรภ์ด้วย เพราะยาในกระแสเลือดของแม่จะซึมผ่านรกเข้าสู่กระแสเลือดของทารกในครรภ์ได้ เช่นเดียวกับน้ำ สารอาหาร และออกซิเจนที่ทารกได้รับทางสายสะดือ ยาจะส่งผลกระทบต่อการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์นั้นขึ้นอยู่กับ ๒ ปัจจัยคือ อายุของทารก ชนิดและขนาดของยาที่แม่ได้รับ

ยากับอายุครรภ์
หลังจากการปฏิสนธิของไข่และอสุจิที่บริเวณปีกมดลูกแล้ว เซลล์ที่ได้รับการปฏิสนธิจะเดินทางมาฝังตัวที่ผนังมดลูก เจริญเติบโตไปเป็นทารก ปกติทารกในครรภ์แม่จะมีอายุอยู่ประมาณ ๙ เดือน จึงจะคลอดออกมาเป็นทารก ในระหว่าง ๙ เดือนที่ทารกเจริญเติบโตอยู่ในครรภ์แม่นี้ ยาอาจส่งผลต่อทารกได้ เริ่มตั้งแต่วันที่ปฏิสนธิถึงวันที่ ๒๐ ของทารก (ประมาณ ๓ สัปดาห์แรก) ถ้าแม่ได้รับยาหรือสารเคมีที่มีอันตรายต่อทารก อาจทำให้เกิดการแท้งหรือทารกเสียชีวิตได้

ในขณะที่ช่วงระหว่างสัปดาห์ที่ ๓-๘ หลังการปฏิสนธิ ถ้าได้รับยาที่มีอันตรายจะส่งผลต่อระบบอวัยวะทุกส่วนของทารก ซึ่งอาจทำให้ผิดปกติได้ มีอาการไม่ครบ ๓๒ เพราะในระยะนี้เป็นระยะที่ทารกในครรภ์เริ่มแบ่งตัวแยกออกเป็นอวัยวะส่วนต่างๆ ของร่างกาย ต่อจาก ๓ เดือนแรกแล้ว คือตั้งแต่เดือนที่ ๔-๙ ทารกจะเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว เพื่อสร้างเสริมอวัยวะต่างๆ ที่แยกอย่างเด่นชัดในช่วง ๓ เดือนแรกให้เจริญเติบโตต่อจนเป็นอวัยวะที่สมบูรณ์ ถ้าในช่วงนี้ได้รับยาจะส่งผลต่อความสมบูรณ์ของอวัยวะ

ผลของยาที่มีต่อทารกในครรภ์
อีกประเด็นหนึ่งที่ส่งผลอันตรายต่อทารกในครรภ์ คือ ชนิดและขนาดของตัวยาที่แม่ได้รับในระหว่างตั้งครรภ์ ซึ่งยาส่วนใหญ่จะส่งผลอันตรายต่อทารก ตัวอย่างยาที่ยืนยันแล้วว่าอาจเกิดอันตรายต่อทารกได้ ถ้ามีการใช้ในขณะตั้งครรภ์ เช่น ยา Isotretinoin ยารักษามะเร็ง ฮอร์โมนเพศ ยากันชัก ยารักษาโรคไทรอยด์ ยาต้านแบคทีเรียกลุ่มเตตราไซคลีน กลุ่มอะมิโนกลัยโคไซด์ กลุ่มซัลโฟนาไมด์ เป็นต้น

ยา Isotretinoin ซึ่งเป็นยากินใช้รักษาสิวหัวช้างและสิวชนิดรุนแรง และโรคสะเก็ดเงิน อาจทำให้ทารก ไม่สมประกอบ ผิดรูปร่างไปได้

ยารักษามะเร็ง อาจเป็นพิษต่อทารก ทำให้เกิดปากแหว่ง เพดานโหว่ และผิดรูปร่างได้

ฮอร์โมนเพศ อาจส่งผลต่อการพัฒนาการของอวัยวะที่เกี่ยวข้องกับเรื่องเพศและการสืบพันธุ์ของทารกให้ผิดปกติได้

ยากันชัก เช่น phenytoin, carbamazepam อาจส่งผลผิดปกติต่อหัวใจ รูปใบหน้า และปัญญาอ่อนได้

ยารักษาโรคไมเกรนกลุ่ม ergotamine ส่งผลต่อการบีบตัวของมดลูก อาจทำให้เกิดการคลอดก่อนกำหนด หรือแท้งได้

ยาแอสไพรินและไอบูโพรเฟน ซึ่งเป็นยาแก้ปวดลดไข้ แก้อักเสบ อาจส่งผลรบกวนการแข็งตัวของเลือด และเพิ่มโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดเลือดออกในขณะตั้งครรภ์ได้

ยารักษาต่อมไทรอยด์ผิดปกติ เช่น propylthiouracil อาจทำให้เกิดคอพอกเป็นพิษได้

ยาต้านแบคทีเรียกลุ่มเตตราไซคลีน มีผลไปเกาะ กับกระดูกและฟัน ทำให้เด็กมีกระดูกและฟันไม่สมบูรณ์ ฟันเป็นสีเหลืองและฟันผุได้ง่าย

พอถึงตรงนี้ก็คงมีคำถามต่อว่า แล้วยาชนิดใดที่หญิงตั้งครรภ์พอจะใช้ได้บ้าง และควรใช้อย่างไร
ยาที่มีการใช้บำบัดอาการเจ็บไข้ไม่สบายของหญิงตั้งครรภ์ที่มีการใช้อยู่บ้างตามอาการของโรคที่พบบ่อย มีดังนี้

๑. ยาลดไข้แก้ปวดที่ถือว่าปลอดภัยที่สุด สำหรับทารกในครรภ์แม่ คือ ยาพาราเซตามอล (อะซีตามิโนเฟน) ในผู้ใหญ่จะใช้ขนาดเม็ดละ ๕๐๐ มิลลิกรัม ครั้งละ ๒ เม็ด ทุก ๔-๖ ชั่วโมง เวลาปวดหรือเป็นไข้

๒. ยาลดน้ำมูกแก้แพ้ที่นิยมใช้และปลอดภัยที่สุด คือ ยาคลอร์เฟนิรามีน หรือยาเม็ดแก้แพ้อากาศเม็ดสีเหลืองที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในผู้ใหญ่จะใช้ขนาดเม็ดละ ๔ มิลลิกรัม ครั้งละ ๑/๒ -๑ เม็ด วันละ ๓ ครั้ง หลังอาหาร เช้า กลางวัน เย็น ยาชนิดนี้อาจทำให้ง่วงซึม จึงเหมาะสำหรับกินตอนก่อนนอน ถ้าจำเป็นต้องใช้ในเวลาทำงาน ต้องระวังการง่วงนอน ซึ่งอาจเกิดอุบัติเหตุขึ้นได้ ถ้าทำงานอยู่กับเครื่องจักรหรือขับขี่ยานพาหนะ

๓. ยาปฏิชีวนะในหญิงตั้งครรภ์อาจเลือกใช้ยากลุ่มเพนิซิลลิน เช่น เพนิซิลลิน-วี แอมพิซิลลิน หรืออะม็อกซีซิลลิน เป็นต้น ซึ่งเป็นกลุ่มยาที่ปลอดภัยสำหรับทารกในครรภ์แต่เนื่องจากยากลุ่มนี้มีการแพ้ยาสูงเป็นอันดับหนึ่ง จึงใช้ยานี้ในผู้ป่วยที่ไม่เคยมีประวัติแพ้ยากลุ่มเพนิซิลลิน เพราะอาจเป็นอันตรายซึ่งในบางคนเป็นรุนแรงอาจถึงแก่ชีวิตได้

๔. ผงเกลือแร่ เป็นยาสามัญอีกชนิดหนึ่งที่สามารถใช้เพื่อทดแทนการสูญเสียเกลือแร่ เนื่องจากท้องเสีย ท้องเดิน หรืออุจจาระร่วงได้ แต่ยาชนิดนี้ไม่ได้ส่งผลต่อ สาเหตุโดยตรงของโรคท้องเสียโดยเฉพาะท้องเสียชนิดที่มีการติดเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งมักจะถ่ายเหลวเป็นน้ำ ถ่ายบ่อย และมีไข้ ตัวร้อน ปวดหัวร่วมด้วย ซึ่งถ้ามีอาการ สงสัยว่าจะท้องเสียชนิดติดเชื้อแบคทีเรียหรือรุนแรง เมื่อได้น้ำเกลือแร่แล้วไม่ดีขึ้น ควรไปพบแพทย์

ยาทั้ง ๔ ชนิด เป็นตัวอย่างยาสามัญประจำบ้านที่มักมีอยู่ประจำตู้ยาของทุกครอบครัว ซึ่งถ้าเกิดเจ็บป่วย เบื้องต้นไม่รุนแรง ก็สามารถนำมาใช้บรรเทาอาการเจ็บป่วยไข้ของคนท้องได้

แต่อย่างไรก็ตาม การใช้ยากับหญิงตั้งครรภ์อาจเกิดปัญหากับทารกในครรภ์ได้ จึงพยายามหลีกเลี่ยงการใช้ยาทุกชนิด ยกเว้นเมื่อจำเป็นจริงๆ หรือเป็นการใช้ยาภายใต้การดูแลของแพทย์หรือเภสัชกร หากท่านมีข้อสงสัยเกี่ยวข้องกับเรื่องยาและสุขภาพ ท่านสามารถปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรชุมชน (ที่ประจำอยู่ที่ร้านยา) ที่พร้อมให้คำปรึกษาในเรื่องสุขภาพแก่ท่านทุกเมื่อ

ข้อมูลสื่อ

317-011
นิตยสารหมอชาวบ้าน 317
กันยายน 2548
ภก.ดร.วิรัตน์ ทองรอด