• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

บาดแผล

บาดแผล


แผลฉีกขาด
แผลฉีกขาดเกิดจากของไม่มีคมบาด ขอบแผลจะกะรุ่งกะริ่ง ไม่เรียบ อันตรายของบาดแผลชนิดนี้คือการเสียเลือดมาก โดยเฉพาะในรายที่มีแผลลึกและกว้าง

การปฐมพยาบาล

๑. ห้ามเลือดโดยใช้ผ้าสะอาดวางทับที่ปากแผลและใช้มือกด

๒. ใช้ผ้าสะอาดพันทับแผลอีกครั้ง

๓. ยกบริเวณที่มีบาดแผลให้สูง (ถ้ายกได้)

๔. ถ้าแผลกว้างหรือลึกมากให้ปฏิบัติตามข้อ ๑

๕. รีบนำส่งโรงพยาบาล
 

แผลที่ศีรษะ

แรงกระแทกที่รุนแรงอาจทำให้เกิดการบาดเจ็บที่บริเวณศีรษะได้ ถ้าการบาดเจ็บนั้นเกิดเฉพาะที่หนังศีรษะและมีเลือดออก การดูแลก็เช่นเดียวกับการปฐมพยาบาลแผลฉีกขาด แต่ถ้ามีการกระทบกระเทือนที่สมองอาจทำให้เกิดอันตรายถึงแก่ชีวิตได้

การปฐมพยาบาล

๑. ถ้าบาดแผลมีเลือดออก ให้ใช้ผ้าสะอาดกดตรงแผลเพื่อห้ามเลือด แล้วใช้ผ้าพันทับแผล ถ้าแผลกว้างหรือลึกมาก หลังจากห้ามเลือดแล้ว รีบนำส่งโรงพยาบาล

๒. ถ้าศีรษะได้รับแรงกระแทกโดยไม่มีบาดแผล ให้ปฐมพยาบาล ดังนี้

๒.๑ ให้นอนพักนิ่งๆ ตะแคงหน้าไปด้านใดด้านหนึ่ง เพื่อให้เลือดหรือเสมหะไหลออกสะดวก

๒.๒ สังเกตอาการอย่างใกล้ชิด เพราะสมองอาจได้รับความกระทบกระเทือน ถ้ามีอาการผิดปกติทางสมอง ให้สังเกตว่ามีอาการต่างๆ ดังต่อไปนี้หรือไม่

  •  สังเกตความรู้สึกตัวของผู้บาดเจ็บ เช่น ไม่รับรู้เรื่องบุคคล สถานที่และเวลา
  •  ซึมลงหรือมีอาเจียน ปวดศีรษะ
  •  ตรวจดูรูม่านตาทั้ง ๒ ข้างว่า มีขนาดและปฏิกิริยาต่อแสงเท่ากันหรือไม่

๒.๓ รีบนำส่งโรงพยาบาล

ข้อมูลสื่อ

318-011
นิตยสารหมอชาวบ้าน 318
ตุลาคม 2548