• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

หอบเหนื่อย

หอบเหนื่อย


ชายชาวบ้านอายุ ๖๐ ปี ถูกพามาที่ห้องฉุกเฉินด้วยอาการหอบเหนื่อยมาหลายปี เดิมรักษาอยู่ที่โรงพยาบาลร้อยเอ็ด บางครั้งก็ไปรักษาที่โรงพยาบาลขอนแก่น แต่อาการหอบเหนื่อยก็เป็นๆ หายๆ เรื่อยมา ลูกๆ จึงพามารักษาที่โรงพยาบาลกรุงเทพฯ หวังจะรักษาให้หายขาด

เพราะผู้ป่วยห่วงนาที่ไม่มีใครทำ ลูกๆ ก็มาทำงานที่กรุงเทพฯ  ผู้ป่วยอยากจะแข็งแรงและทำงานได้ใหม่  แต่ระยะหลังทำนาไม่ไหว เพราะเหนื่อยเร็วและหอบ ไปรักษามาหลายแห่งก็ไม่หายขาดสักที จึงลองมารักษาที่กรุงเทพฯ ลงมากรุงเทพฯได้เพียง ๒ วัน อาการหอบเหนื่อยกลับกำเริบรุนแรง ลูกๆ จึงพามาที่ห้องฉุกเฉิน

ลูกผู้ป่วย :  "สวัสดีค่ะคุณหมอ คุณพ่อหอบมากค่ะ คุณหมอช่วยดูคุณพ่อด้วยค่ะ"
ผู้ป่วยนั่งหอบตัวโยนอยู่บนรถเข็น แพทย์จึงสั่งให้ออกซิเจนและพ่นยาขยายหลอดลมให้ แล้วจึงถามประวัติเพิ่มเติมจากญาติผู้ป่วย
แพทย์ :  "คุณพ่อเคยหอบมาก่อนไหมครับ"
ลูกผู้ป่วย :  "คุณพ่อหอบเป็นๆ หายๆ มาหลายปีแล้วค่ะ ระยะหลังนี้เป็นบ่อยๆ ต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลมาแล้ว ๓ ครั้ง ครั้งสุดท้ายเมื่อเดือนก่อน  หมอบอกว่าอาจจะต้องเจาะคอ คุณพ่อไม่ยอม แต่พอดีคุณพ่อดีขึ้น จึงไม่ต้องเจาะคอ หลังออกจากโรงพยาบาลยังหอบเหนื่อยบ้างเป็นครั้งคราว จึงขอมารักษาที่กรุงเทพฯ เผื่อจะดีขึ้นได้ค่ะ"
แพทย์ :  "แล้วคุณหมอเขาบอกว่าคุณพ่อเป็นโรคอะไรครับ"
ลูกผู้ป่วย :  "หมอเขาว่า พ่อเป็นโรคถุงลมโป่งพองค่ะ เขาให้ยามากินมาพ่นตั้งหลายอย่าง เปลี่ยนยามาแล้วตั้งหลายครั้ง แต่อาการหอบเหนื่อยก็ยังเป็นๆ หายๆ เหมือนเดิม"
แพทย์ :  "แล้วคุณพ่อสูบบุหรี่มากไหม"
ลูกผู้ป่วย :  "ไม่สูบบุหรี่ค่ะ แต่สูบใบจากมวนยาเองค่ะ เวลาว่างก็สูบค่ะ"

หลังจากได้ออกซิเจนและยาพ่นขยายหลอดลม อาการหอบเหนื่อยของผู้ป่วยก็ดีขึ้น แพทย์จึงหันไปถามผู้ป่วย
แพทย์ :  "รู้สึกดีขึ้นไหมครับ"
ผู้ป่วย :  "ดีขึ้นครับ"
แพทย์ :  "ในช่วงนี้คุณมีไข้ตัวร้อน หรือไอมีเสมหะไหมครับ"
ผู้ป่วย :  "ไม่มีครับ"
แพทย์ :  "แล้วคุณคิดว่าอะไรทำให้อาการของคุณกำเริบขึ้น"
ผู้ป่วย :  "คงเพราะเปลี่ยนที่เปลี่ยนทาง เป็นไปได้ไหมครับ"
แพทย์ :  "เป็นไปได้ครับ นอกจากนั้นอากาศกรุงเทพฯยังสกปรกมีมลพิษจากควันรถ ควันโรงงานและฝุ่นละอองมากกว่าในต่างจังหวัด คนที่เป็นโรคปอดโรคหลอดลมพอเข้ากรุงเทพฯ จึงมักจะมีอาการกำเริบขึ้น นอกจากนั้น การเดินทางไกลจากต่างจังหวัดเข้ากรุงเทพฯ ยังทำให้คุณเหนื่อยและภูมิต้านทานในร่างกายลดลง ทำให้เกิดโรคแทรกได้ง่าย เช่น ไข้หวัด ท้องเสีย โชคดีที่คุณไม่มีโรคอื่นแทรก ไม่อย่างนั้นอาการจะรุนแรงกว่านี้
ผู้ป่วย :  "แล้วหมอช่วยรักษาผมให้หายจากโรคนี้หน่อย ผมจะได้ทำนาไหว"
แพทย์ :  "โรคนี้รักษาไม่หายขาดหรอกครับ ถ้าคุณดูแลตัวเองได้ดี เลิกสูบใบจาก ไม่เดินทางไกล  ไม่สูดหายใจ เอาอากาศสกปรกเข้าไป ไม่สูดเอาฝุ่นละอองควันไฟและควันพิษต่างๆ และระวังตนเองไม่เข้าไปใกล้คนที่เป็นหวัดหรือไอ เพื่อจะได้ไม่ติดเชื้อโรค ไม่ทำงานหนักเกินไป และเวลาอากาศเปลี่ยนจากร้อนเป็นหนาว หรือครึ้มฟ้าครึ้มฝน  ให้อยู่แต่ในบ้าน อาการก็จะไม่กำเริบบ่อยๆ"
ผู้ป่วย :  "ผมหยุดสูบใบจากมาหลายเดือนแล้วครับ ตั้งแต่เจ็บหนักจนต้องนอนโรงพยาบาลครั้งแรก แต่ก็ยังหอบเหนื่อยบ่อยๆ"
แพทย์ :  "ถึงคุณจะหยุดสูบมาหลายเดือน แต่เถ้าถ่านของยาสูบที่มันหมักหมมและสะสมเกรอะกรังอยู่ในปอดคุณมาหลายสิบปีมันยังคงเหลืออยู่ เพราะเราไม่มีวิธีที่จะไปขัดถูเอามันออกจากปอดของคุณได้ และมันคงจะอยู่กับคุณไปตลอดชีวิต ช่วงไหนคุณผิดอากาศ ผิดที่ผิดทาง หรือไปถูกฝุ่นละออง ควันพิษหรือสิ่งที่คุณแพ้เข้า  อาการหอบเหนื่อยของคุณก็จะกำเริบขึ้นเหมือนครั้งนี้คุณเดินทางมาไกล  ผิดที่ผิดทางและเหนื่อยจากการเดินทางร่วมกับอากาศในกรุงเทพฯ ที่มีควันรถและมลพิษต่างๆ มาก  อาการคุณจึงกำเริบขึ้นมาก ดังนั้นคุณจึงไม่ควรมารักษาที่กรุงเทพฯ เพราะอากาศบ้านคุณสะอาดกว่าที่กรุงเทพฯ และคุณไม่ต้องเดินทางไกลไม่ต้องเหนื่อยโดยไม่จำเป็น เพราะการรักษาโรคนี้ที่โรงพยาบาลใกล้บ้านของคุณกับที่นี่ไม่แตกต่างกัน คุณเหนื่อยมาก็ให้ออกซิเจนและยาขยายหลอดลมเหมือนกัน ถ้าไม่ดีขึ้นก็ต้องใส่ท่อช่วยหายใจ และถ้ายังไม่ดีขึ้นอีก ก็ต้องเจาะคอช่วยหายใจเหมือนกัน ไม่มีอะไรต่างกันเลย"
ผู้ป่วย :  "ถ้าอย่างนั้น พอหมอรักษาผมให้หายเหนื่อยแล้วผมขอไปรักษาที่บ้านดีกว่าครับ เพราะผมก็ไม่ชอบอยู่ที่กรุงเทพฯเลย"

นี่เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งที่แพทย์รักษาผู้ป่วยไม่มีเวลาอธิบายให้ผู้ป่วยฟังถึงโรคที่เขาเป็นอยู่ และวิธีรักษาตนเองไม่ให้โรคกำเริบ เมื่อโรคกำเริบบ่อยๆ ผู้ป่วยก็คิดไปเองว่าหมอรักษาผิด รักษาไม่เป็น โรคจึงกำเริบบ่อยๆ จึงเปลี่ยนหมอเปลี่ยนโรงพยาบาลไปเรื่อยๆ

การรักษาผู้ป่วยจึงไม่ใช่เอาแต่รักษาโรคและอาการของโรคเท่านั้น  แต่ต้องชี้แจงและอธิบายให้ผู้ป่วยเข้าใจถึงวิธีดูแลรักษาตนเองไม่ให้โรคกำเริบขึ้นบ่อยๆ และให้ผู้ป่วยเข้าใจด้วยว่า การเปลี่ยนหมอเปลี่ยนโรงพยาบาล ไม่สามารถทำให้โรคและอาการไม่สบายต่างๆ หายขาดได้ 

ข้อมูลสื่อ

325-013
นิตยสารหมอชาวบ้าน 325
พฤษภาคม 2549
ศ.นพ.สันต์ หัตถีรัตน์