• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

เห็ดเป็นยา

เห็ดเป็นยา


เห็ดเป็นสิ่งมีชีวิตที่เคยจัดว่าเป็นพืชชั้นต่ำ แต่เมื่อมีเทคโนโลยีขั้นสูงในการศึกษาถึงระดับโมเลกุล จึงทำให้ทราบว่าพันธุกรรมของเห็ดมีความคล้ายคลึงกับสัตว์มากกว่าพืช และที่สำคัญเห็ดไม่มีคลอโรฟิลล์หรือสารสีเขียวที่ใช้ในการสังเคราะห์แสง ดังนั้น นักวิทยาศาสตร์จึงจัดจำแนกเห็ดออกมาเป็นสิ่งมีชีวิตอีกกลุ่มหนึ่งที่แยกจากพืชและสัตว์ มนุษย์ได้รู้จักการใช้ประโยชน์จากเห็ดมานับพันปี ตัวอย่างเช่น ในประเทศจีนมีการใช้เห็ดหลินจือในการบำรุงกำลังและสร้างภูมิคุ้มกันให้กับร่างกายมามากกว่า ๓,๐๐๐ ปี นอกจากนี้ หลักฐานทางประวัติศาสตร์พบภาพเขียนบนผนังถ้ำในเม็กซิโกว่ามีการใช้เห็ดในการประกอบพิธีกรรมและการเฉลิมฉลอง เพื่อทำให้เกิดการเข้าภวังค์ หรือการเข้าทรง เห็ดในกลุ่มนี้คือเห็ดขี้วัว (Copelandia cyanescens) และเห็ดขี้ควาย (Panaeolus papilionacceus) บางชนเผ่าในเม็กซิโกนำเห็ดนี้ให้นักรบกิน เพื่อที่จะทำให้นักรบมีพลังต่อสู้อย่างบ้าคลั่ง เห็ดกลุ่มนี้มีสาระสำคัญ ๒ ชนิด คือ ไซโลไซบินและไซโลซิน ทั้ง ๒ ชนิดจัดเป็นสารพิษที่ทำให้เกิดประสาทหลอน จากการค้นพบมัมมี่ของมนุษย์ที่ถูกแช่แข็งอยู่ในหิมะเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๔ นักวิทยาศาสตร์ได้ประมาณไว้ว่ามัมมี่นี้น่าจะมีอายุไม่น้อยกว่า ๔,๐๐๐ ปี ที่สำคัญคือมนุษย์คนนี้มีล่วมยาติดตัว ซึ่งในล่วมยามีเห็ดชนิดหนึ่ง ชื่อว่า "พิปโทพอรัส" (Piptoporus betulinus) อยู่จำนวน ๒ ก้อน ซึ่งเห็ดชนิดนี้เมื่อทำการตรวจสอบคุณสมบัติพบว่า มีคุณสมบัติเป็นยาปฏิชีวนะ เมื่อกินเห็ดชนิดนี้จะทำให้อาการท้องเดินหยุดได้อย่างรวดเร็ว นักวิจัยสันนิษฐานว่ามนุษย์น้ำแข็งมีอาการป่วยจากการมีพยาธิอยู่ภายในลำไส้ ซึ่งก่อให้เกิดอาการท้องเดินและได้มีการใช้เห็ดชนิดนี้ในการกำจัดพยาธิ (Halpern and Miller, 2002)

สังคมในอดีตของบางประเทศ ไม่ว่าจะเป็นรัสเซีย จีน กรีซ เม็กซิโก และละตินอเมริกัน เชื่อว่าการกินเห็ดจะทำให้ร่างกายแข็งแรงกว่าคนปกติ และเชื่อว่าการได้กินเห็ดจะทำให้จิตวิญญาณเข้าถึงพระเจ้า การใช้เห็ดเป็นยาพบได้หลายประเทศ ในแถบเอเชียมีการใช้เห็ดหอม (Lentinus edodes) หรือที่เรียกว่า "ชิตาเก" (Shitake) เป็นยาลดไขมันในหลอดเลือดและความดันเลือด นอกจากนี้ ยังใช้ในการกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันและการเจริญของเนื้องอกได้ด้วย ในปัจจุบันได้มีการสกัดสาร "เลนติแนน" จากเห็ดหอมใช้เป็นยารักษามะเร็ง ซึ่งเป็นที่ยอมรับในสหรัฐอเมริกา หลายศตวรรษมาแล้วเชื่อกันว่าเห็ดเป็นยาโด๊ปที่ดีชนิดหนึ่ง ดังเช่นในช่วงที่ประเทศจีนเปิดประเทศใหม่ๆ ได้มีการส่งนักกีฬาเข้าร่วมการแข่งขันหลายรายการ นักกีฬาของจีนสามารถทำลายสถิติในกีฬาหลายประเภท ทำให้วงการกีฬาสงสัยว่านักกีฬาจีนบำรุงร่างกายด้วยอะไร ปรากฏว่านักกีฬาจากจีนกินเห็ดชนิดที่เรียกว่า "คอร์ไดเซป" (Cordyceps sinensis) ปัจจุบันมีการผลิตจำหน่ายอย่างแพร่หลาย มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ว่าเห็ดหลายชนิดมีคุณสมบัติเป็นยาปฏิชีวนะ แต่เมื่อกินแล้วมีคุณสมบัติเป็นยาระบายอย่างอ่อนๆ การใช้เห็ดเป็นยารักษาโรคต่างๆ ในคนมีการใช้อยู่ในหลายประเทศทั้งแถบตะวันตก เอเชีย และอินเดียนแดง จากรายงานพบว่ามีการนำไปใช้รักษาหลายโรค ได้แก่ ท้องร่วง ไตพิการ โรคเรื้อน หอบหืด น้ำดีพิการ เป็นต้น (Hobbs, 1998)

ตัวอย่างเห็ดที่ใช้เป็นยาได้แก่ เห็ดหิ้งและเห็ดขอน ชนิด Fomes fomentarius, Phellinus igniarius, Fomitopsis pinicola, Phellinus pomaceus, Formitopsis officinalis และ Piptoporus betulinus ซึ่งใช้ในการห้ามเลือดและปิดแผล จากการศึกษาพบว่าสารที่อยู่ในเห็ดเหล่านี้มีคุณสมบัติต่อต้านแบคทีเรีย ระงับการเกิดเนื้องอก และสร้างภูมิคุ้มกันได้ (Hobbs, 1998) นอกจากนี้ เห็ดในกลุ่มเห็ดจาวมะพร้าว เช่น Calvatia gigantean และ C. bovista ให้คุณสมบัตินี้เช่นกัน Porcher (1854) รายงานว่า Lactarius deliciosis ใช้เข้ายารักษาวัณโรคในประเทศฝรั่งเศสได้ผลดีเป็นที่น่าพอใจ จากรายงานของ Rowan, Smith and Sullivan (2002) พบว่ามีการศึกษาทางด้านวิทยาศาสตร์สนับสนุนว่ามีเห็ดอย่างน้อย ๗ ชนิดที่มีประสิทธิภาพในการลดไขมันและโคเลสเตอรอลในหลอดเลือดได้ ซึ่งได้แก่ เห็ดหูหนู (Auricularia auricular) เห็ดคอร์ไดเซป (Cordyceps sinensis) เห็ดหลินจือ (Ganoderma lucidum) เห็ดขอนช้อนซ้อน (Grifola frondosa) เห็ดนางรม (Pleurotus ostreatus) เห็ดหูหนูขาว (Tremella fuciformis) และเห็ดหอม (Lentinus edodes)

สาระสำคัญที่พบในเห็ด ได้แก่ เทอร์พีนอยด์และบีตา กลูแคน ที่เป็นตัวช่วยกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันให้ทำงานได้อย่างสมดุล นอกจากนี้ ยังพบว่าสารจากเห็ดมีผลต่อพรีไบ-โอติก (Prebiotics) ที่อยู่ในระบบทางเดินอาหาร ทำให้เกิดสารที่เรียกว่า "สารสร้างสมดุล" (adaptogens) สารนี้จะช่วยทำให้เกิดสมดุลในร่างกายเมื่อเกิดความเครียด ประเทศจีนและญี่ปุ่น เป็นประเทศที่มีการใช้เห็ดเป็นยามากที่สุด แต่ปัจจุบันประเทศที่เริ่มมีการพัฒนาใช้เห็ดเป็นยามีเพิ่มมากขึ้น เช่น เกาหลี และสหรัฐอเมริกา
เห็ดที่นิยมนำมาใช้เป็นยาและมีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์สนับสนุนได้แก่ เห็ดหอม (Shitake) เห็ดหลินจือ (Reishi) เห็ดช้อนซ้อน (Maitake) เห็ดนางรม (Oyster) เห็ดเข็มทอง (Enokitake) การใช้และสรรพคุณ (ตารางที่ ๑) สำหรับในประเทศไทยมีการกินเห็ดกันมากในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จากรายงานของ อุษา กลิ่นหอม และคณะ (๒๕๔๗) พบว่าเห็ดที่คนอีสานบริโภคมีถึง ๔๘๓ ชนิด และมีจำหน่ายในท้องตลาด ๒๒๒ ชนิด แต่การศึกษาเห็ดเป็นยายังมีน้อยมาก ส่วนใหญ่องค์ความรู้การใช้เห็ดเป็นยาที่มีอยู่มักเป็นองค์ความรู้แบบพื้นบ้าน



จากการศึกษาตำรับยาอีสานและการสัมภาษณ์หมอพื้นบ้านพบว่ามีการนำเอาเห็ดไปใช้เป็นยาและส่วนประกอบของยาพื้นบ้านไม่น้อยกว่า ๑๖ ชนิด ดังรายละเอียดตามตารางที่ ๒ เนื่องจากองค์ความรู้เกี่ยวกับการใช้เห็ดเป็นยาในการรักษาโรคมะเร็งยังไม่เป็นที่แพร่หลายในประเทศไทย ทำให้ผู้ป่วยที่เป็นโรคมะเร็ง และเลือกที่จะรักษาตนเองโดยการกินแบบมังสวิรัติ ไม่นิยมกินเห็ดแทนเนื้อสัตว์ เนื่องจากทราบว่าเห็ดมีโปรตีนสูง ซึ่งจะมีผลต่อการกระจายตัวของเซลล์มะเร็ง ในตำรับยาพื้นบ้านเชื่อว่าเห็ดช่วยป้องกันโรคมากกว่าการรักษา ซึ่งจะเห็นได้จากความเชื่อและแนวปฏิบัติว่าถ้าได้กินแกงเห็ดรวมตั้งแต่ ๓ ชนิดขึ้นไป โดยเฉพาะเห็ดป่าจะเป็นยาอายุวัฒนะ ทำให้ร่างกายแข็งแรง ไม่มีโรคภัยเบียดเบียน การแกงเห็ดป่ากินควรใส่ข้าวสารลงไปในหม้อแกงด้วยประมาณ ๑ กำมือ เพราะถ้ามีเห็ดพิษปนอยู่ข้าวจะเปลี่ยนสีไป ซึ่งจะทำให้ทราบว่ามีเห็ดพิษปนเปื้อนอยู่ในหม้อแกงหรือไม่ ในการศึกษาพบว่าคนอีสานมีการใช้เห็ดเป็นยาได้หลายชนิด ดูตารางที่ ๒



จากการศึกษาของภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม พบว่ากลุ่มเห็ดผึ้ง (Boletous) ทุกชนิดที่กินได้ มีคุณสมบัติในการต่อต้านเชื้อวัณโรค และจากการศึกษาทั้งในประเทศญี่ปุ่น เกาหลี และสหรัฐอเมริกา พบว่าสาระสำคัญที่ให้คุณสมบัติในการเป็นยากระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันคือสารโพลีแซ็กคาร์ไรด์ที่อยู่ในดอกเห็ด ซึ่งสารนี้จะมีอยู่มากในเห็ดที่เมื่อนำมาต้มแล้วมีน้ำที่มีลักษณะเป็นเมือกออกมา ได้แก่เห็ดระโงกส้ม (Amanita caesarea) เห็ดระโงกเหลืองขาขน (A. hemibapha) เห็ดผึ้งทาม (Boletus colossus) และเห็ดตะไคขาว (Russula delica) เป็นต้น บางครั้งประชาชนมีการเก็บเห็ดพิษปนเปื้อนมากินก่อให้เกิดความผิดปกติของร่างกาย โดยการอาเจียนอย่างรุนแรง ภูมิปัญญาพื้นบ้านอีสานมีวิธีการรักษาอาการผิดปกติเหล่านี้อย่างน้อย ๘ วิธี ตามตารางที่ ๓ 



นอกจากนี้ ยังมีเห็ดหิ้ง (Polyporous) อีกหลายชนิดที่ใช้เป็นยาได้ โดยมีงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์สนับสนุน และมีแนวโน้มของการใช้ในระบบการแพทย์แผนปัจจุบัน ได้แก่ เห็ดขอนหลากสี (Tarmetes visicolor) โดยมีการใช้น้ำสกัดจากเห็ดชนิดนี้ให้ผู้ป่วยที่ผ่านการฉายแสงดื่ม พบว่าผู้ป่วยมีการฟื้นตัวได้เร็วขึ้น อุตสาหกรรมการผลิตเห็ดขอนหลากสีเป็นยาเริ่มมาตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๐๘ โดยประเทศญี่ปุ่นเป็นผู้นำในการผลิตใช้เป็นยาต่อต้านมะเร็ง โดยมียอดจำหน่ายประมาณปีละ ๕๐๐ ล้านเหรียญสหรัฐ เนื่องจากปัจจุบันประชาชนมีการใช้สารปฏิชีวนะมากเกินไปซึ่งส่งผลต่อสุขภาพ ทำให้อยู่ในภาวะดื้อยา เห็ดจึงเป็นทางเลือกที่ดีอย่างหนึ่งสำหรับอนาคต เพื่อทดแทนการใช้ยาปฏิชีวนะ นอกจากนี้ ทางมหาวิทยาลัยเพนซิลวาเนีย ได้ค้นพบวิธีการใหม่ในการศึกษาสารต้านอนุมูลอิสระในเห็ด ทำให้ทราบว่าเห็ดป่าหรือเห็ดที่เก็บมาจากธรรมชาติ มีสารต้านอนุมูลอิสระมากกว่าในผักถึง ๔๐ เท่า นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าในอนาคตเห็ดจะเป็นทางเลือกใหม่สำหรับการใช้เป็นยาในการรักษา และบำรุงสุขภาพ ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีทรัพยากรความหลากหลายทางชีวภาพของเห็ดสูงมาก จึงควรให้ความสนใจในการศึกษาและพัฒนาสายพันธุ์เห็ดพื้นบ้านหรือเห็ดในท้องถิ่น เพื่อสุขภาพของคนไทยในอนาคต

ตำรับยาที่มีเห็ดเป็นส่วนประกอบ
ตามภูมิปัญญาพื้นบ้านอีสาน

ยาย้ายตุ่มหมากสุก เป็นตุ่มชนิดหนึ่งสีเหมือนหมากสุก เกิดเมื่อมีไข้

๑. ฮากแข้งขม (มะแว้ง) (Solanum indicum)

๒. เห็ดขี้ควาย (Psilocybe cubensis)

๓. ขนบั่วไก่ขาว (ขนที่มีลักษณะเป็นเส้นฝอยเล็กๆ ของไก่ขาว)

ฝนใส่น้ำหน่อไม้ส้ม (หน่อไม้ดอง) ทาดีแล
 

ยาแก้ตุ่มบ่ขึ้น
เมื่อเป็นไข้แล้วควรมีตุ่มออกมาตามผิวหนังตามมา แต่ปรากฏว่าไม่มี ให้กระทุ้งด้วยยาตำรับนี้
ยานี้ให้เอาไข่เป็ด เห็ดขี้ควาย (Psilocybe cubensis) แช่น้ำทาดีแล


ยาแก้กินผิด กินของมีพิษ เช่น เห็ด พืช

๑. ฮาก (ราก) ถั่วเฮื้อ

๒. ฮากแตงหนู (Mukia maderaspatana)

๓. เห็ดเกิดกลางตอ (Ganoderma sp.)

๔. ฮากหมาน้อย (Cissampelos pareira var. hirsuta)

๕. ฮากย่านาง (Tiliacora triandra)

เอาทั้งหมดฝนใส่น้ำแล้วดื่ม
 

ยาแก้ฝีหัวคว่ำ

๑. ฮากปอ (Colona sp.)

๒. ฮากตาเสือ (Aphanamixis polystachya)

เอาฮากทั้งสองแช่น้ำดื่มดีแล ผิว่ามันแตกแล้วให้เอาเห็ดพิมาน ฝนดื่มดีแล
 

ยาแก้ทำมะลาตัวผู้จับกลางคอ ทำมะลาเป็นอาการที่เป็นตุ่มภายในหรือภายนอกคอ ยานี้ให้เอาฝนทาดีแล

๑. เห็ดพิมาน (Phellinus rimosus)

๒. หัวอิลุมปุมเป้า (ว่านพระฉิม) (Dioscorea bulbifera)

๓. ฮากตดหมา (Paederia thorelii)

๔. ปลวกจับลำไม้

๕. เขืองใหญ่ (Smilax sp.)

๖. ฮากหมากแตก (กระทงลาย) (Celastrus paniculata)

๗. ฮากหวดข้า (มะหวด) (Lepisanthes rubiginosa)
 

ยาแก้กะบูนลม เป็นโรคที่เป็นได้ทั้งหญิงและชาย มีอาการเป็นก้อนลมในท้อง

๑. เปลือกประดงแดง (Dalbergia lanceolaria var. errans)

๒. เห็ดแดง (Ischnoderma benzoinum)

แช่น้ำ ใช้ทั้งดื่มและอาบ
 

ยาแก้สะเออะ หายใจติดขัด กะบังลมหดตัว

๑. ลูกขอขอด (ขอแขวนคอวัวควาย)

๒. ตีนเห็ดกระด้าง (Lentinus polychrous)

๓. ใบแสงเบื่อ (แสลงใจ) (Strychnos nux-vomica.)

๔. หนังแฮด (หนังแรด)

ฝนดื่มดีแล
 

ยาแก้สะเออะ (สะอึก) เอาเห็ดพิมาน ฝนดื่มดีแล


ยาแก้เจ็บในท้อง

๑. ตีนเห็ดบด (เห็ดที่ยังสดอยู่) (Lentinus polychrous)

๒. เกล็ดเต่าเพ็ก

ต้มดื่มดีแล
 

ยาแก้เจ็บในท้อง

๑. ตีนเห็ดปลวก (Termitomyces albiceps)

๒. เห็ดตากฝนหรือเห็ดโต่งฝน (เป็นชื่อเห็ดครีบชนิดหนึ่ง ดอกมีขนาดใหญ่ ยังไม่ได้ทำการจำแนกชนิด)

แช่น้ำหรือฝนใส่น้ำเหล้าดื่มดีแล
 

ยาแก้ฟกช้ำภายใน อาการธาตุพิการ หรือการช้ำภายใน

๑. ฝุ่นบก (แก่นต้นกะบกที่บดเป็นผง)

๒. เห็ดบก (เห็ดที่เกิดกับตอต้นกะบกที่ตายแล้ว)

๓. หัวบัวบก

๔. บกคาย

๕. บกหวาน

๖. เครืออีเลี่ยน (ชะเอมป่า)

แช่ดื่มและอาบ
 

ยาแก้งูขบ ยาให้เอาเห็ดกระด้าง เคี้ยวเป่าตั้งแต่หัวถึงเท้า
 

ยาแก้ขี้เข็บขบ (ตะขาบกัด) ยาให้เอา เห็ดกระด้าง ฝนทาดีแล
 

ยาแก้คนเบื่อ (โดนยาสั่ง)

๑. เล็บม้า

๒. เห็ดตอขาม (Ganoderma spp.) เป็นเห็ดที่เกิดกับตอต้นมะขาม

๓. เห็ดกับแก้ที่เกิดกับไม้ไผ่ (Schizophyllum commune)

เอาทั้ง ๓ มาฝนใส่น้ำดื่มดีแล
 

ยาแก้ล่องแก้ว  เป็นโรคผิวหนังชนิดหนึ่ง มีลักษณะเป็นวงกลม ขอบสูง มีน้ำเหลืองไหลซึมไม่ขาด น้ำเหลืองนั้นมีสีใส

๑. เห็ดพิมาน (Phellinus rimosus)

๒. ฮากหนามขี้แฮด

๓. ฮากก้างปลา

๔. ฮากตาไก้

๕. ฮากหยิกบ่ถอง

๖. ฮากเครือคันคาก

๗. เยื่อหมาก

๘. ใบบัว

เอาทั้งหมดบดให้เผาไฟ บดให้แหลกเอาน้ำมันงาเป็นน้ำกระสาย ทาดีแล
 

ยาแก้เบื่อเห็ด กะปู (ปูนา) แช่น้ำดื่มดีแล
 

ยาแก้เบื่อเห็ด เอากล้วยทะนีออง (น้ำหว้า) มาตำหมากส้ม (ใส่มดแดง) ให้กิน
 

ข้อมูลสื่อ

327-008
นิตยสารหมอชาวบ้าน 327
กรกฎาคม 2549
ดร.อุษา กลิ่นหอม