• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ชีวิตเป็นสุขได้แม้ไตวาย (๒)

ตอนที่แล้วได้เล่าถึงลักษณะอาการต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับร่างกาย ความรู้สึกของตนเองต่อคนรอบข้าง จนกระทั่งหันมาพึ่งธรรมะ ซึ่งเป็นตอนจบของเรื่อง “ชีวิตเป็นสุขได้แม้ไตวาย”

ก่อนที่จะป่วยเป็นคนเที่ยวเก่งที่สุดในบรรดาพี่ๆ ผู้หญิงด้วยกัน หลังจากป่วยแล้วก็ต้องแสดงละครโดยการให้ผู้อื่นรู้ว่าไม่ได้มีเงินไว้รักษาตัวอย่างเดียว ยังมีเงินไว้เที่ยวด้วย นั่นคือนั่งเครื่องบินไปเที่ยวทั้งภาคเหนือ ภาคใต้ ต่อมาก็รู้ด้วยตนเองว่านั่นไม่ใช่ความสุขที่แท้จริงเลย เป็นแต่เพียงให้คนรู้ว่า “ฉันไปเที่ยวมาที่นี่นะ ที่โน่นนะ” เที่ยวเพื่อไปถ่ายภาพเอาไว้เป็นหลักฐานว่าเคยไปมาแล้ว และก็เพื่อเอาไว้คุยทับกันเท่านั้น
    
นี่เรียกว่ามีชีวิตอยู่โดยไม่เป็นตัวของตัวเอง แสดงว่าเรายังสนใจคนในสังคมอยู่ เมื่อได้สติขึ้นมาว่า คนที่เราสนใจในสังคมทั้งหมดก็ต้องตายหมด ตัวเองก็ต้องตายเช่นกัน ไม่ช้าก็เร็ว ถ้าไม่ลัดคิวตายเสียก่อนประสบอุบัติเหตุ ก็ต้องตายเพราะโรค แม้แต่หมอเองก็ต้องตาย
    
ความตายไม่เลือกวัย เพศ คนดี คนไม่ดี คนรวย คนจน แต่เราควรจะตั้งปัญหาถามตัวเองว่า “ตายแล้วเราจะไปไหน” 
    
พุทธพจน์ที่ว่า “ตนนั่นแหละเป็นที่พึ่งแห่งตน” ก็คือ บาป-บุญ ที่เราได้ทำไว้ในชาตินี้นั่นแหละจะติดตามเราไปในชาติหน้า เพราะทรัพย์สมบัติ ลูกหลาน สามีภรรยา สามารถส่งเราได้แค่โรงพยาบาลและเมรุเผาศพ แต่บุญกุศลเท่านั้นที่จะติดตามเราไป
    
อดีตที่เราทำไปแล้วเราแก้ไขไม่ได้แล้ว เราควรจะทำปัจจุบันให้ดีที่สุด อันไหนปล่อยวางได้ก็ปล่อยมันไป เหมือนเราถือของนานๆ มันก็หนัก
    
ขอให้ข้อคิดแก่ผู้ป่วยโรคไตทั้งหลายด้วยว่า ร่างกายของเราควรปล่อยให้แพทย์ผู้รักษาดำเนินการไป ส่วนเราต้องช่วยแพทย์อีกที ด้วยการไม่ทำให้ท่านต้องหนักใจ ควรบอกอาหารการกิน อย่าปิดๆ บังๆ แพทย์จะได้วินิจฉัยถูก อย่ากังวลอะไรจนเกินเหตุ ซึ่งตนเองเคยประสบมาแล้ว กังวลหลายๆ อย่าง ภายหลังสิ่งที่กังวลนั้นไม่ได้เกิดขึ้นเลย 
    
ความกังวลและความเครียดจะทำให้ความดันเลือดสูงขึ้น เกิดความคิดฟุ้งซ่านและเป็นโรคนอนไม่หลับในที่สุด
เมื่อทราบมาว่าคนไข้หลายคนต้องกินยานอนหลับอย่างแรง บางครั้งคนรอบข้างก็นำความหนักใจมาให้ และคนไข้ส่วนใหญ่จะเอาแต่ใจตัวเอง มักจะคิด พูด ทำเอาแต่ใจ พอกิเลสจรเข้ามาก็ทำใจไม่ได้ เพราะไม่รู้จักพิจารณา ไม่เอาใจเขามาใส่ใจเรา คนเรามีทุกข์มากกว่าสุข ไม่สบายใจมากกว่าสบายใจ เพราะฉะนั้นเมื่อเราแก้ไขสภาพแวดล้อมไม่ได้ เราก็ควรปรับใจตนเองให้เข้ากับมันให้ได้  เหมือนอย่างเราห้ามฝนไม่ให้ตกไม่ได้ แต่เราสามารถหาที่กำบังฝนได้
    
การทำใจและการทำสมาธิภาวนา สามารถแก้โรคความดันเลือดสูงและโรคนอนไม่หลับได้  ซึ่งได้ผลกับตัวเองมาแล้ว เมื่อก่อนกินยาลดความดันทั้ง ๔ เวลา (Adalat ๑๐ มิลลิกรัม และยา minipress ๑ มิลลิกรัม) ตอนเข้าเครื่องฟอกเลือดก็ต้องใช้ยาฉีดเพื่อให้หลับ ปัจจุบันกินยาลดความดันในปริมาณที่น้อยลงกว่าเดิม และไม่ต้องฉีดยานอนหลับขณะเข้าเครื่องฟอกเลือด
    
กินอาหารได้ทุกชนิดยกเว้นของหมักดอง แต่การกินอาหารจะต้องกินตามพลังงานที่ถูกใช้ไป เนื่องจากเราเป็นคนเจ็บไข้ได้ป่วย ทำงานได้เล็กๆ น้อย ๆ พลังงานที่ถูกใช้ไปก็น้อย จึงต้องกินอาหารพอประมาณ และเป็นคนติดกาแฟ (ปัจจุบันเลิกดื่มแล้ว ดื่มนมแทน) จะติดช่วงที่กินอาหารรสจืดมากๆ จะต้องมีน้ำโอเลี้ยงเป็นกับแกล้ม ไม่เช่นนั้นจะอาเจียน 
    
ระหว่างที่นอนป่วยอยู่โรงพยาบาล เพื่อให้แพทย์ผ่าตัดทำเส้นเอาไว้ฟอกเลือด ไม่ได้ดื่มกาแฟเลย จึงทำให้รู้ตัวเลยว่าการดื่มกาแฟมากๆ จะทำให้เกิดอาการเหนื่อย ยิ่งน้ำมะพร้าวอ่อนด้วยแล้วเป็นอันตรายต่อหัวใจอย่างมาก 
    
ตลอดระยะเวลา ๙ ปีครึ่ง ก่อนฟอกเลือดน้ำหนักตัวจะขึ้นโดยสถิติประมาณ ๑ กิโลครึ่งถึง ๓ กิโลครึ่งไม่เกิน ๔ กิโล เคยมีขึ้นสูงสุดคือ ๕ กิโลกรัม เพียงครั้งเดียว ถ้าน้ำหนักตัวขึ้นสูงจะทำให้หัวใจทำงานหนัก (กินผัก และอาหารประเภทถั่ว ข้าวโพดบ้าง และกินยาระบายตามโอกาสอันควร ทำให้น้ำในร่างกายบางส่วนถูกขับถ่ายมากับอุจจาระ) เมื่อเข้าเครื่องฟอกเลือดต้องถูกดึงน้ำออกมาก เมื่อร่างกายถูกดึงน้ำออกมากแล้วก็เหมือนฟองน้ำที่บีบจนแห้ง พอมีน้ำและอาหารที่เรากินเข้าไป ก็จะพองเหมือนเดิม เป็นวัฏจักรอยู่อย่างนี้เรื่อยๆ ซึ่งจะทำให้ร่างกายทรุดโทรมเร็ว เนื่องจากหัวใจต้องทำงานหนัก
    
เมื่อก่อนเป็นคนเห็นแก่กิน คือมีความสุขอยู่กับการกิน ไม่ได้พิจารณาคุณและโทษของอาหาร กินผลไม้อย่างละนิดอย่างละหน่อย จนพยาบาลบอกว่า “สับปะรดกับแตงโมชิ้นละเป็นหมื่นๆ” ต่อมาก็เลื่อนขึ้นมาอีก คือกินอาหาร (ของแสลง) เข้าไปมากๆ แล้วล้วงออก ความสุขแค่ปลายลิ้นแต่ผลร้ายมีมากมายมหาศาล คือยังติดในรสชาติของอาหารอยู่  
    
ปัจจุบันจะกินอาหารอะไรสักอย่างต้องนึกถึงโทษก่อน (เพราะได้รับบทเรียนราคาแพงมาแล้ว) ถ้าต้องการกินผลไม้ก็นึกเสียว่า เรากำลังกินยาพิษนะ และจะกินผลไม้เฉพาะวันมาฟอกเลือด คือกินสัปดาห์ละ ๒ ครั้ง ในฐานะที่ยังเป็นปุถุชนคือคนหนาด้วยกิเลสอยู่
    
มักจะได้ยินแพทย์บอกคนไข้ข้างเตียงว่า “พะโล้เค็มนะ ต้มจืดมะระก็เค็ม หมูสะเต๊ะหวานกลบเค็มนะ” ซึ่งแพทย์ผู้นั้นพูดมาก็ถูกทุกอย่าง ถ้าแพทย์ทราบว่ากินอะไรบ้าง คงจะแปลกใจ เพราะกินกับข้าวแทบทุกอย่างร่วมกับคนปกติ แต่กินอาหารอย่างมีสติ เช่น แกงส้ม แกงคั่ว จะไม่กินน้ำแกงเลย และจะมีไข่เจียวซึ่งไม่ใส่น้ำปลาเป็นกับแกล้ม จะออกไปกินอาหารนอกบ้านประมาณเดือนละครั้ง ไปช็อปปิ้งตามห้างสรรพสินค้า ส่วนใหญ่จะไปกินสุกี้ยากี้ เพราะเป็นอาหารที่มีโปรตีนสูง จะไม่กินน้ำซุปเลย จะจิ้มน้ำจิ้มเพียงเล็กน้อย และจะใช้ตะเกียบคีบอาหารขึ้นมาแล้วให้อาหารสะเด็ดน้ำเสียก่อนจึงค่อยกิน ส้มตำ (ไทย) ลาบ น้ำตก กินเกือบทุกสัปดาห์ แต่จะมีไก่ย่างซึ่งให้โปรตีนพ่วงติดมาด้วย และเป็นคนชอบทำอาหาร จึงมีความสุขกับการทำอาหารให้คนอื่นกิน เราสามารถชิมอาหารได้ คือ ชิมเพื่อรู้รสชาติแล้วบ้วนทิ้ง
    
ขอให้ข้อคิดแก่คนไข้โรคไตทั้งหลายว่า อย่ามองความหวังดีของคนในครอบครัวหรือผู้ดูแลในแง่ร้าย ไม่ควรกินอาหารหรือแสดงความโกรธอย่างประชดประชัน เพราะจะเป็นผลเสียต่อสุขภาพทางกายและทางใจต่อตัวเราเอง จะทำให้สภาพทางจิตใจของคนรอบข้างต้องเสียไปด้วย เหมือนเป็นการเบียดเบียนตัวเองและผู้อื่น
    
ควรใช้เหตุผลอยู่เหนืออารมณ์ อย่าเอาแต่ใจ รู้จักทวนกระแสของกิเลส เมื่อเราทวนกระแสของกิเลสได้ เราจะมีความสุขว่าเราชนะแล้ว เอาชนะกิเลสได้ดีกว่า ประเสริฐกว่าเอาชนะคน เมื่อจิตใจมีความสุข ก็จะส่งผลให้สุขภาพทางกายดีไปด้วย ไม่ต้องไปหาจิตแพทย์ 
    
นอกจากนี้ ควรมีการแต่งตัวบ้างตามความเหมาะสม อย่าปล่อยเนื้อปล่อยตัวให้ร่างกายทรุดโทรม เรื่องการรักษาความสะอาดเป็นสิ่งสำคัญมาก และอย่าใช้อิริยาบถใดอิริยาบถหนึ่ง ไม่ว่าจะยืน เดิน นั่ง นอน ให้มากไป ควรมีการบริหารร่างกายบ้างตามอัตภาพของแต่ละคน แล้วท่านก็จะ “ป่วยแต่กาย ใจไม่พลอยป่วยไปด้วย”
    
ส่วนคนในครอบครัวและผู้ดูแลก็ต้องมีความรู้ขั้นพื้นฐานในการปฐมพยาบาลขั้นต้นไว้ด้วย ไม่ว่าจะเป็นการปั๊มหัวใจ การห้ามเลือด (ทั้ง ๒ เหตุการณ์ประสบมาแล้ว) เพราะเหตุการณ์ไม่คาดคิดมักเกิดขึ้นได้เสมอ ต้องเป็นคนช่างสังเกต ควรให้ความเอื้ออาทรแก่คนไข้ เพราะคนไข้มักจะเป็นคนขี้ใจน้อย หงุดหงิด
    
ขอขอบคุณคนในครอบครัวคือพี่ๆ ทั้ง ๔ คน ซึ่งทุกคนทำตัวเสมือนพ่อ-แม่ คนที่ ๒ และผู้ดูแล ทุกๆ คนให้ความรักและความอบอุ่นทางด้านจิตใจมาตลอด
    
คนไข้จะมีสุขภาพที่ดี (ตามอัตภาพของแต่ละคน) และมีสุขภาพใจที่ดีด้วย ขึ้นอยู่กับองค์ประกอบหลายๆ อย่าง อาทิ แพทย์ สภาพแวดล้อมและคนในครอบครัว ตลอดถึงผู้ดูแล
    
สิ่งสำคัญอย่างยิ่งคือ ตัวของคนไข้เองต้องมีความเข้มแข็ง ต่อสู้ อดทนต่อความเจ็บไข้ ต้องยอมรับสภาพความเป็นจริง คิดเสียว่าความเจ็บไข้เป็นของสาธารณะสำหรับทุกคน จะมากน้อยต่างกันก็ขึ้นอยู่กับวิบากกรรมของแต่ละคน เมื่อท่านทำใจได้เช่นนี้ ท่านก็จะมีชีวิตที่เป็นสุขได้แม้ไตวาย
      
(หมายเหตุ อนุญาตให้ตีพิมพ์เพื่อเผยแพร่เป็นวิทยาทาน)
ขอกราบขอบพระคุณแพทย์ทุกๆ ท่าน คือ แพทย์เจ้าของไข้ แพทย์ผู้ทำการผ่าตัดทำเส้นฟอกเลือด แพทย์โรคหัวใจ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านประสาทวิทยา ซึ่งขณะที่ช็อกในห้องผ่าตัด เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๐ ทำให้สมองทำงานผิดปกติ จนถึงกับพูดและเขียนหนังสือไม่ได้ ท่านได้ทำการเยียวยารักษาให้หายได้ตามปกติ
    
ขอบพระคุณเจ้าหน้าที่พยาบาลในห้องไตเทียม ซึ่งทำหน้าที่ฟอกเลือดให้ข้าพเจ้า รวมไปถึงการสังเกตอาการของคนไข้ทุกๆ เตียงด้วย 
แพทย์และพยาบาลเหล่านี้ได้ช่วยต่อชีวิต ทำให้ได้มีโอกาสทำบุญสร้างกุศลสืบต่อไป 
คนไข้นิรนาม
คนไข้นิรนาม
๒๑ ธันวาคม ๒๕๓๘
    
เมื่ออ่านเรื่องของท่าน “คนไข้นิรนาม” แล้ว ท่านผู้อ่านคงเห็นพ้องต้องกันแล้วว่า ที่ว่า “ชีวิตเป็นสุขได้แม้ไตวาย” ไม่ใช่เรื่องเหลือเชื่อ แต่เป็นเรื่องที่เป็นไปได้  
    
ข้อคิดและคำแนะนำจากประสบการณ์ตรงในชีวิตของคนไข้นิรนามท่านนี้คงจะเป็นประโยชน์ต่อคนไข้อื่นๆ 
    
ท่านผู้นี้สามารถใช้ปัญญาแก้ปัญหา และกลับร้ายให้เป็นดีได้ในที่สุด และจะเห็นว่าเมื่อเกิดความเจ็บป่วยขึ้น นอกจากต้องรักษาอาการทางกายซึ่งส่วนใหญ่เป็นหน้าที่ของแพทย์แล้ว สิ่งที่สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่า คือการรักษาใจไม่ให้ป่วยไปด้วย 
    
เราทุกคนต้องเป็นที่พึ่งของตนเองด้วย และตัวเราเองเท่านั้นที่จะรักษาใจของเราได้ดีที่สุด 
    
วิธีรักษาใจไม่ให้หมองเศร้าที่ดีที่สุดนั้นเป็นที่ยอมรับกันทั่วโลกแล้วว่า คือวิธีของพระพุทธเจ้า คือการเจริญวิปัสสนากรรมฐาน ให้เกิดปัญญารู้เท่าทันชีวิต และรู้ว่าจะปฏิบัติต่อสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิตอย่างรู้เท่าทัน เหมาะสม ถูกต้องและพอดีอย่างไร เราท่านไม่มีใครทราบว่าจะเกิดโรคภัยไข้เจ็บเมื่อใด หากรอจนเจ็บป่วยเสียก่อนก็อาจไม่ทันกาล 
    
ถึงเวลาหรือยังสำหรับผู้ที่เรียกตนเองว่าชาวพุทธจะได้เข้าถึงแก่นธรรมและนำมาใช้ในการดำเนินชีวิต 
    
เวลานี้ในประเทศไทยมีสถานที่ฝึกอบรมวิปัสสนากรรมฐานมากมาย จงพากันมาฝึกให้เกิดมีปัญญาที่จะ “ตามดูรู้ทัน และวางอุเบกขา” กับสิ่งต่างๆ ที่จะมากระทบประสาทสัมผัสทั้ง ๖ ของเรากันเถิด แล้วเราทุกคนก็จะสามารถตั้งรับกับเหตุการณ์ทุกอย่างที่เกิดขึ้นในชีวิต รวมทั้งสภาวธรรมที่เราทั้งหลายหลีกเลี่ยงไม่ได้ คือ ความเจ็บ ความแก่ ความตาย แต่ที่สำคัญที่สุดคือทำให้เรามีศิลปะในการดำเนินชีวิต ซึ่งจะมีผลทำให้เกิดสันติสุขในสังคมโดยรวม 
    
คนไข้นิรนามท่านนี้ท่านทำได้ เราท่านก็เป็นมนุษย์เช่นเดียวกัน เราจะไม่เปิดโอกาสให้ตนเองหรือ หากบทความนี้ก่อให้เกิดประโยชน์ใดๆ ก็ขอให้บุญกุศลนั้นหนุนนำให้ “คนไข้นิรนาม” ท่านนี้หลุดพ้นจากวิบากกรรมต่างๆ และได้พบแต่สิ่งที่ดีงามในทุกๆ ชาติเถิด

 

 


 

ข้อมูลสื่อ

324-008
นิตยสารหมอชาวบ้าน 324
เมษายน 2549
บทความพิเศษ
ศ.พญ.สุมาลี นิมมานนิตย์