• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

โรคทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรง : ปอดบวมมรณะ

โรคทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรง : ปอดบวมมรณะ


ในระยะนี้มีการระบาดของโรคลึกลับชนิดใหม่ ที่สื่อมวลชนเรียกขานว่า "โรคปอดบวมมรณะ" ซึ่ง มีชื่อเป็นทางการว่า "โรคทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรง" ครั้งนี้จึงขอนำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับโรคนี้โดยได้รวบรวมข้อมูลจากหน่วยงานต่างๆ เช่น องค์การอนามัยโลก ศูนย์ควบคุมโรคของสหรัฐอเมริกา กระทรวงสาธารณสุข เป็นต้น เรื่องราวที่นำเสนอนี้ถือเป็นข้อสรุปเบื้องต้น ขอให้ติดตามดูข้อมูลใหม่ๆ ที่ได้จากการศึกษาค้นคว้าของนักวิชาการทั่วโลกกันต่อไป

ชื่อภาษาไทย โรคทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรง, โรคซาร์ส, โรคปอดอักเสบผิดแบบฉบับ, ปอดบวมมรณะ, ไข้หวัดมรณะ, ไข้ไวรัสมรณะ
ชื่อภาษาอังกฤษ  Severe acute respiratory syndrome (SARS), Atypical pneumonia

สาเหตุ  โรคนี้เป็นโรคที่อุบัติขึ้นใหม่เมื่อไม่นานมานี้ สามารถแพร่กระจายได้เร็ว และมีโอกาสเกิดความรุนแรงถึงแก่ชีวิตได้ แพทย์และนักวิทยาศาสตร์ ๑๐ ประเทศได้ร่วมมือกันศึกษาวิจัย จนได้ข้อสรุป (เมื่อวันที่ ๑๖ เมษายน) ว่า โรคนี้เกิดจากการติดเชื้อไวรัสตัวใหม่ซึ่งเชื่อว่าแพร่มาจากสัตว์ โดยธรรมชาติ เชื้อโรคในสัตว์จะก่อโรคเฉพาะในสัตว์ ไม่ข้ามมาก่อโรคในคน แต่ในบางช่วงเวลาจะมีเชื้อโรคในสัตว์ที่กลายพันธุ์สามารถแพร่สู่คน เช่น เชื้อไวรัสเอชไอวีที่แพร่มาจากลิงชิมแปนซี, เชื้อไวรัสหวัดนกที่แพร่มาจากไก่ (เกิดโรคระบาดใหญ่ในฮ่องกงในปี ๒๕๔๐) เป็นต้น เชื้อที่กลายพันธุ์เหล่านี้ มักจะก่อโรคระบาดและรุนแรงในคนโรคที่เกิดขึ้นใหม่คราวนี้ ก็เชื่อว่า น่าจะเป็นไปในแบบเดียวกัน

เชื้อไวรัสตัวใหม่นี้จัดอยู่ในตระกูล "ไวรัส  โคโรนา (coronaviruses)" ไวรัสตระกูลนี้มีอยู่หลายสายพันธุ์ สายพันธุ์ที่เคยพบในคนนั้นเป็น ต้นเหตุของการเป็นไข้หวัดธรรมดา ไม่รุนแรง ส่วนสายพันธุ์ที่เคยพบในสัตว์ (พบในสุนัข แมว หมู หนู นก) นั้น อาจทำให้เกิดความผิดปกติของระบบทางเดินหายใจ ระบบประสาท ตับ ลำไส้ ที่พบว่าเกิดจากไวรัสโคโรนาตัวใหม่ ก็เนื่องเพราะได้วิจัยพบเชื้อชนิดนี้ในผู้ป่วยโรคนี้จำนวนมาก ในหลายประเทศ แต่เชื้อที่พบนี้มีรูปร่างหน้าตาผิดแผกไปจากไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ ต่างๆ ที่เคยรู้จักมาแต่เดิม นักวิทยาศาสตร์ที่ร่วมกันศึกษาวิจัยโรคนี้ได้ตั้งชื่อเชื้อไวรัสตัวใหม่นี้ว่า "ไวรัสซาร์ส (SARS virus)"

การแพร่เชื้อ  จากลักษณะการติดต่อของโรคที่พบแพร่กระจายเฉพาะในหมู่คนที่อยู่สัมผัสกันอย่างใกล้ชิด เช่น หมอ พยาบาลที่ดูแลรักษาคนไข้ ญาติมิตรที่อยู่ในบ้านหรือห้องเดียวกันกับคนไข้ คนที่อยู่ในห้องแคบๆ อากาศถ่ายเทไม่ดี (เช่น ลิฟต์) เป็นต้น ทำให้สันนิษฐาน ว่าเชื้อไวรัสซาร์สแพร่กระจายทางละอองเสมหะที่มีขนาดใหญ่ (droplet transmission) โดยวิธีใด วิธีหนึ่ง ดังนี้

๑. การไอหรือจามรดใส่กันตรงๆ ภายในระยะไม่เกิน ๓ ฟุต (ประมาณ ๑ เมตร) ทำให้มีการสูดเอาเชื้อเข้าทางปากและจมูก

๒. การสัมผัสถูกสิ่งปนเปื้อนละอองเสมหะของคนไข้ ซึ่งเชื้อไวรัสสามารถมีชีวิตอยู่บนสิ่ง ปนเปื้อนได้นานถึง ๓ ชั่วโมง เช่น การสัมผัสมือ หรือร่างกายของคนไข้ การจับต้องข้าวของเครื่องใช้ (ถ้วยชาม ลูกบิดประตู ฝาตู้เย็น โทรศัพท์ รีโมต โทรทัศน์ ผ้าเช็ดตัว ผ้าห่ม เป็นต้น) แล้วเผลอเอานิ้วมือที่เปื้อนละอองเสมหะนั้นเช็ดตาเช็ดจมูก เชื้อโรคผ่านทางเยื่อเมือกเข้าไปในทางเดินหายใจ

การแพร่เชื้อแบบนี้ พบได้ในลักษณะเดียวกับการติดเชื้อกลุ่มไวรัสไรโน (rhinoviruses) ซึ่ง เป็นสาเหตุที่พบบ่อยของโรคไข้หวัด (ไข้หวัดมีสาเหตุจากเชื้อไวรัสหลายตระกูลรวมๆ กัน ซึ่งมีมากกว่า ๒๐๐ สายพันธุ์ย่อย) การแพร่เชื้อลักษณะนี้ แตกต่างจากการแพร่กระจายทางอากาศ (airborne transmission) ซึ่ง พบในการแพร่ของเชื้อไข้หวัดใหญ่ และเชื้อหัด เชื้อพวกนี้จะติดอยู่ในละอองฝอยๆ เมื่อคนไข้พวกนี้ไอ หรือจาม เชื้อสามารถกระจายออกไปเป็นระยะไกล และฟุ้งอยู่ในอากาศได้นาน เมื่อคนอื่นสูดเอาอากาศ ที่มีละอองฝอยนี้เข้าไป (โดยไม่จำเป็น ต้องไอจามรดใส่กันตรงๆ) ก็สามารถ ติดโรคได้ ดังนั้น จึงพบว่า ไข้หวัดใหญ่และหัดมีการแพร่กระจายโรคได้เร็วและกว้างกว่าไข้หวัด (รวมทั้งโรคซาร์สนี้ด้วย)

ระยะแพร่เชื้อ   ผู้ที่เป็นโรคนี้สามารถแพร่เชื้อให้คนอื่นตั้งแต่เริ่มมีอาการเป็นไข้ตัวร้อนในวันแรกๆ และในวันที่ ๔ หลังเป็นไข้จะแพร่เชื้อให้คนอื่นได้มากยิ่งขึ้น ส่วนระยะก่อนและหลังมีอาการเจ็บป่วยนานกี่วันที่สามารถแพร่เชื้อให้คนอื่นนั้น ยังไม่ทราบแน่ชัด เพื่อความปลอดภัย แนะนำว่าผู้ที่หายจาก อาการเจ็บป่วยควรแยกตัวเอง (อย่าออกนอกบ้าน) นานอีก ๑๐ วัน

ระยะฟักตัว   หมายถึง ระยะนับตั้งแต่คนไข้เริ่มติดเชื้อจนกระทั่งเริ่มเกิดอาการเจ็บป่วย (เป็นไข้) สำหรับโรคนี้อยู่ระหว่าง ๒-๗ วัน (นานสุด ๑๐ วัน) หลังติดเชื้อ ดังนั้น ในการเฝ้าระวังคนที่สงสัยว่าจะมีการติดเชื้อ (เช่น ผู้ที่เดินทางจากประเทศที่มีการระบาดของโรคนี้) จะต้องรอดูอาการอย่างน้อย ๑๐ วัน เมื่อพบว่าเป็นปกติดี ก็ถือว่าไม่ได้ติดเชื้อ

อาการ  แรกเริ่มจะมีอาการเป็นไข้ (วัดปรอทมีไข้มากกว่า ๓๘ องศาเซลเซียส) ปวดเมื่อยตามตัวมาก ปวดศีรษะ เบื่ออาหาร คล้ายอาการของไข้หวัดใหญ่ บางคนอาจมีอาการหนาวสั่นร่วมด้วย บางคนอาจมีอาการเจ็บคอ หรือท้องเดิน ๓-๗ วันต่อมา จะมีอาการไอแห้งๆ หากเป็นรุนแรงถึงขั้นปอดอักเสบ (ปอดบวม) ก็จะมีอาการหายใจหอบ หายใจขัดตามมา จนต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ อาการรุนแรงมักจะเกิดในสัปดาห์ที่ ๒ ของการเจ็บป่วย ส่วนผู้ที่เป็นเล็กน้อยจะมีเพียงอาการไข้ตัวร้อนอยู่ไม่เกิน ๔-๗ วัน ก็หายไปเองคล้ายกับอาการไข้ธรรมดา ทำให้ไม่เอะใจว่าจะเป็นปอดบวมมรณะ

การแยกโรค   โรคนี้มีอาการสำคัญคือไข้ตัวร้อน ซึ่งต้องแยกออกจากโรคที่พบบ่อย เช่น

๑. ไข้หวัด จะมีไข้ร่วมกับน้ำมูกไหล คัดจมูก ไอ จาม ส่วนมากอาการตัวร้อนจะเป็นอยู่ ๒-๔ วันก็ทุเลาไปเอง แต่จะมีอาการไออยู่หลายวัน คน ไข้จะไม่มีอาการปวดเมื่อยมาก กินข้าว เดินเหินไปไหนมาไหนได้ดี

๒. ไข้หวัดใหญ่ จะมีไข้ ปวดเมื่อยตามตัวมาก ปวดศีรษะ เบื่ออาหาร แล้วต่อมาจะมีอาการ เจ็บคอ ไอ บางคนมีน้ำมูกไหล อาการของไข้หวัดใหญ่ในช่วง ๒-๓ วันแรก จะแยกจากโรคปอดบวมมรณะได้ยาก อย่างไรก็ตามผู้ที่เป็นไข้หวัดใหญ่ส่วนมากมักจะไข้ทุเลาภายใน ๓-๔ วัน

๓. ไข้เลือดออก จะมีไข้สูงตลอดเวลา หน้าแดง ตาแดง ซึม เบื่ออาหาร อาจมีอาการปวดท้อง อาเจียนร่วมด้วย อาจมีผื่นหรือจุดแดงตามตัว ถ้าเป็นรุนแรงจะมีอาการตัวเย็นชืด กระสับกระส่าย หรือมีเลือดออก

อย่างไรก็ตาม ในช่วงเวลาปัจจุบัน หากพบว่ามีไข้และมีประวัติเดินทางจากประเทศที่มีการระบาดของโรคปอดบวมมรณะหรือสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ที่เป็นโรคปอดบวมมรณะ ก็ควรจะไปพบแพทย์ตรวจดูให้แน่ใจ อย่าคิดว่าเป็นเพียงไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่

การวินิจฉัย   แพทย์จะวินิจฉัยขั้นต้นจากอาการเป็นไข้ ปวดเมื่อยมาก ร่วมกับการมีประวัติเดินทางจากประเทศที่มีการระบาดของโรคนี้ หรือสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ที่สงสัยว่าจะเป็นโรคนี้ ในรายที่แพทย์สงสัยว่าเป็นโรคนี้ ก็จะทำการตรวจเลือด และเอกซเรย์ปอด ร้อยละ ๕๐ ของผู้ที่เป็นโรคปอดบวมมรณะ จะพบสิ่งผิดปกติจากการตรวจชันสูตรเพิ่มเติม เช่น พบว่ามีจำนวนเม็ดเลือดขาวและเกล็ดเลือดต่ำกว่าปกติ, สารเอนไซม์ตับ (ที่เรียกว่า ALT, AST) สูงกว่าปกติ ๒-๖ เท่า, สาร creatine phospho-kinase สูงกว่าปกติ, ผลการเอกซเรย์ปอดพบร่องรอยของปอดอักเสบ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม อีกร้อยละ ๕๐ ของคนไข้ ก็อาจตรวจไม่พบสิ่งผิดปกติดังกล่าวใดๆ ก็ได้
ล่าสุดหลังจากพบเชื้อไวรัสที่ก่อโรค นักวิทยาศาสตร์ได้คิดประดิษฐ์ชุดตรวจสำเร็จรูป สามารถตรวจหาร่องรอยของไวรัสซาร์สในเลือด น้ำลาย หรือเสมหะ ซึ่งมีความแม่นยำในการวินิจฉัยมากยิ่งขึ้นและทราบผลภายใน ๖ ชั่วโมง

การดูแลตนเอง   ผู้ที่กลับจากประเทศที่มีการระบาดของโรคนี้ หรือสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ที่สงสัยว่าเป็นโรคนี้ หากภายใน ๑๐ วัน มีอาการเป็นไข้ตัวร้อนควรรีบไปพบแพทย์ ระหว่างอยู่บ้านควรปฏิบัติตัว ดังนี้

๑. กินยาบรรเทาไข้ ได้แก่ พาราเซตามอล และไปพบแพทย์ตามนัด

๒. นอนแยกห้องจากคนอื่น

๓. แยกข้าวของเครื่องใช้จากคนอื่น

๔. หลีกเลี่ยงการจับต้องสิ่งของต่างๆ ภาย ในบ้าน หากจำเป็น เช่น ใช้โทรศัพท์ ควรใช้แอลกอฮอล์เช็ดให้สะอาด

๕. สวมหน้ากากอนามัย (โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีอาการไอ จาม)

๖. หมั่นล้างมือด้วยสบู่บ่อยๆ เพื่อชะเอาเชื้อที่อาจปนเปื้อนมือออกไป

๗. หากมีอาการหายใจหอบ หายใจขัด ควรรีบไปโรงพยาบาล

การรักษา   ในปัจจุบันยังไม่มีวิธีการรักษาโดยจำเพาะ แพทย์จะให้การรักษาไปตามอาการที่พบ เช่น ให้ยาพาราเซตามอลลดไข้แก้ปวด, ยาแก้ไอ ถ้าเป็นไปได้อาจจำเป็นต้องรับตัวไว้รักษาในโรงพยาบาล เพื่อสังเกตอาการใกล้ชิด และแยกตัวไม่ให้แพร่เชื้อ ให้คนอื่น ส่วนในรายที่มีอาการหอบหายใจลำบาก จำเป็นต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ จนกว่าจะพ้นขีดอันตราย ในประเทศที่มีการระบาด ได้มีการทดลองให้ยาต้านไวรัส (เช่น ribavirin) ร่วมกับยาสตีรอยด์ และบางรายอาจให้ยาปฏิชีวนะเพื่อควบคุมอาการปอดอักเสบ มีข้อสรุปว่า ไม่ได้ผลเท่าที่ควร

ภาวะแทรกซ้อน   ที่ร้ายแรง ก็คือ กลุ่มอาการหายใจลำบากเฉียบพลัน (acute respiratory distress syndrome ย่อว่า ARDS) ซึ่งต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ ภาวะนี้ทำให้ผู้ป่วยบางรายเสียชีวิต

การดำเนินโรค   ร้อยละ ๘๐-๙๐ ของผู้ที่เป็นโรคนี้มักจะมีอาการไม่รุนแรง ซึ่งจะหายได้เป็นปกติภายใน ๑ สัปดาห์ ประมาณร้อยละ ๑๐-๒๐ จะมีอาการหนัก คือหายใจลำบาก ซึ่งต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ ประคับประคองให้พ้นขีดอันตราย กลุ่มนี้จะต้องพักรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลนาน ๒-๓ สัปดาห์ ประมาณร้อยละ ๕ จะเสียชีวิต กลุ่มนี้มักมีอายุมากกว่า ๔๐ ปี หรือมีภูมิต้านทานร่างกายอ่อนแอ เช่น เป็นโรคเบาหวาน โรคไต หรือโรคประจำตัวอื่นๆ แต่อย่างไรก็ตาม คนอายุน้อยที่แข็งแรงถ้าเป็นโรคนี้ แล้วปล่อยจนอาการหนักค่อยรักษาก็อาจตายได้เช่นกัน



การป้องกัน 

๑. ดูแลสุขภาพทั่วไปให้แข็งแรงโดยการออกกำลังกาย กินอาหารที่มีประโยชน์ นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ งดเหล้า บุหรี่ อย่ากินยาชุดยาลูกกลอนที่มีสารสตีรอยด์ คนที่มีภูมิต้านทานร่างกายดี หากบังเอิญติดเชื้อ ก็อาจรอดพ้นจากการเป็นโรคได้ หรือหากเป็นโรคก็อาจป้องกันไม่ให้ลุกลาม และหายเป็นปกติได้

๒. หลีกเลี่ยงการเดินทางไปยังประเทศหรือเขตพื้นที่ที่มีการระบาดของโรคนี้ หากเลี่ยงไม่ได้ควรสวมหน้ากากอนามัยขณะอยู่ร่วมกับคนอื่นๆ และหมั่นล้างมือด้วยน้ำกับสบู่เพื่อชะเชื้อโรคที่อาจปนเปื้อนเสมหะของคนไข้

๓. ถ้ามีคนในบ้านมีอาการเป็นไข้ที่ยังไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด ควรหลีกเลี่ยงการจับมือคนไข้ ถ้าจำเป็นต้องดูแลคนไข้อย่างใกล้ชิดควรสวมหน้ากากอนามัย และหมั่นล้างมือด้วยน้ำกับสบู่ หลีกเลี่ยงการใช้ข้าวของเครื่องใช้กับคนไข้ ควรนอนแยกห้องกับคนไข้ เปิดประตูหน้าต่างให้อากาศถ่ายเทสะดวก

ความชุก   โรคนี้พบมากในหมู่คนที่อยู่สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ที่เป็น โรคนี้ (เช่น หมอ พยาบาล ญาติ มิตรที่ดูแลคนไข้) และคนที่เดินทางไปในประเทศหรือเขตพื้นที่ที่มีการระบาดของโรคนี้ บุคคลเหล่านี้ จำเป็นต้องมีความระมัดระวัง หาทางป้องกันไม่ให้ติดโรคเป็นพิเศษ

ข้อมูลสื่อ

289-007
นิตยสารหมอชาวบ้าน 289
พฤษภาคม 2546
รศ.นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ