• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

กาหลา : งดงาม เรียบง่าย และทนทาน ปานสิ่งประดิษฐ์

กาหลา : งดงาม เรียบง่าย และทนทาน ปานสิ่งประดิษฐ์


ปีนี้ฝนตกต่อเนื่องมาตั้งแต่ต้นปี และแทบจะไม่ทิ้งช่วงเกินครึ่งเดือนเลย ในบริเวณบ้านท่าเสด็จอันเป็นที่ตั้ง บ้านไทยของมูลนิธิข้าวขวัญ ซึ่งอยู่ท่ามกลางต้นไม้ใบหญ้าหลายสิบชนิด โดยเฉพาะไม้ดอกพื้นบ้านของไทย ซึ่งออกดอกให้ชื่นชมตามฤดูกาลติดต่อกันมาหลายปีแล้ว เนื่องจากปีนี้ฝนตกไม่ทิ้งช่วงเป็นเวลานานหลายเดือน ทำให้แม้ฝนจะหยุดตกในเดือนตุลาคมจนถึงเดือนพฤศจิกายน พื้นดินก็ยังพอมีความชุ่มชื้นอยู่ ไม้ดอกบางชนิดที่ชอบความชุ่มชื้นค่อนข้างสูงก็ยังคงงดงาม และออกดอกได้อย่างต่อเนื่องมาจากฤดูฝน ทำให้คาดว่าเมื่อถึงเดือนธันวาคมที่เข้าฤดูหนาว (หรือเพียงเย็นๆ) ไม้ดอกที่ชอบความชุ่มชื้น ก็ยังมีดอกได้อยู่ อย่างเช่นดอกไม้ที่ผู้เขียนตัดจากต้น  มาวางบนโต๊ะเขียนหนังสืออยู่ในขณะที่กำลังเขียนอยู่นี้ นั่นคือ ดอกกาหลา ที่รู้จักกันดีในภาคใต้มากกว่าภาคอื่น

กาหลา : ผักและดอกไม้ คู่คนไทยมาเนิ่นนาน
กาหลาเป็นไม้ล้มลุก มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Amomum magnifica H. อยู่ในวงศ์ Zingiberaceae เช่นเดียวกับขิง ข่า ลักษณะต้นใบคล้ายกับข่า คือ มีลำต้นใต้ดิน (หรือเหง้า) กาบใบขนาดยาวรวมกันโผล่พ้นดินมีลักษณะคล้ายลำต้น (เช่นเดียวกับกล้วย) สูง ๓-๔ เมตร ใบคล้ายใบข่าหรือใบกล้วยขนาดเล็ก ปลายใบแหลม โคนใบสอบแคบเข้าหาก้านใบ ใบกว้างราว ๑๕-๒๐ เซนติเมตร ยาวราว ๓๐-๔๐ เซนติเมตร ดอกเป็นดอกเดี่ยว งอกขึ้นจากลำต้นใต้ดิน มีก้านดอกยาวมากกว่า ๕๐ เซนติเมตร และอาจยาวถึง ๑.๕ เมตร ก้านดอกมีเส้นผ่าศูนย์กลาง ๑-๑.๕ เซนติเมตร กลีบดอกหนา ผิวเรียบเป็นมันวาวคล้ายพลาสติก ทรงดอกคล้ายดอกบัวหลวง กลีบดอกด้านนอกมีขนาดใหญ่ แล้วค่อยๆ ลดขนาดลงเข้าสู่ด้านใน ตรงศูนย์กลางดอกเป็นเกสร เกาะติดกันเป็นกลุ่ม ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางของดอกบานราว ๑๐-๑๕ เซนติเมตร ดอกบานทนทานได้หลายวัน กลีบดอกมีสีต่างกันไปตามสายพันธุ์ เช่น ขาว ชมพู แสด แดง

คนไทยรู้จักกาหลามานานแล้ว ดังเช่น ในวรรณคดีเรื่องลิลิตพระลอ ซึ่งเชื่อว่าแต่งขึ้นในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เมื่อครั้งกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี โดยเรียกว่า กาลาปรากฏอยู่ในบทชมดง ร่วมกับต้นไม้ป่าชนิดต่างๆ แสดงว่ากาหลามีอยู่ในป่าของประเทศไทยภาคเหนือ หรือภาคกลางมาแต่ดั้งเดิม ในหนังสืออักขราภิธานศรับท์ของหมอปรัดเล พ.ศ.๒๔๑๖ เมื่อ ๑๓๐ ปีมาแล้ว เรียกกาหลาว่า กะลา มีคำอธิบาย ว่า "กะลา : ผักอย่างหนึ่ง ต้นเท่าด้ามพาย ใบเหมือนข่า ปลูกไว้สำหรับกินหน่อ" จากคำอธิบายนี้ แสดงว่าในตอนต้นสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ คนไทยภาคกลางนำกาหลามาปลูกเอาไว้ในฐานะผักอย่างหนึ่ง โดยใช้หน่อเป็นผัก (เช่นเดียวกับหน่อไม้) ไม่ได้มองกาหลาเป็นไม้ดอกดังเช่นปัจจุบัน

ถิ่นกำเนิดดั้งเดิมนั้น ตำราบางฉบับ กล่าวว่าอยู่แถบหมู่เกาะในมหาสมุทรอินเดีย ซึ่งก็อาจจะเป็นกาหลาบางสายพันธุ์ ในขณะที่บริเวณป่าร้อนชื้นของประเทศต่างๆ ในทวีปเอเชีย เช่น ไทย พม่า มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เป็นต้น ก็มีกาหลา ขึ้นอยู่แต่เดิมเช่นเดียวกัน กาหลามีลักษณะคล้ายข่ามาก คือ ขึ้นเป็นกอแต่มีขนาดใหญ่กว่าข่าและชอบความชุ่มชื้นและร่มเงามากกว่าข่า จึงมีชื่ออีกอย่างหนึ่งว่าข่าน้ำ ดังนั้น ชื่อของกาหลาที่ใช้เรียกกันแต่เดิมคือ กะลา กาลา กาหลา และข่าน้ำ แต่ในปัจจุบันคนไทยนิยมเรียกว่า ดาหลา ซึ่งสันนิษฐานว่ากลายมาจากคำว่ากาหลา น่าสังเกตว่า คำว่าดาหลาไม่ปรากฏในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานปี พ.ศ.๒๕๒๕ แต่มีชื่อที่เรียกในภาคใต้ว่า ปุดกะลา ส่วนใน ภาคใต้บางแห่งเรียกว่า ปุด และในภาคกลางบางครั้งเรียกว่า ต้นหน่อกะลา

สรุปจากชื่อทั้งหมดของกาหลา สันนิษฐานว่า แรกเริ่มคนไทยเรียกว่ากะลา หรือกาลา ต่อมากลายเป็นกาหลา (เพราะมีความหมายว่าดอกไม้) เมื่อไม่กี่สิบปีมานี้เอง แล้วจึงกลายเป็นดาหลา เมื่อราวสิบกว่าปีมานี้เพราะเรียกได้ง่ายกว่าและเพราะกว่า (คนไทยไม่ชอบคำว่ากา เพราะมีอคติกับอีกาซึ่งเป็นนกสีดำ) ส่วนชื่อข่าน้ำหรือปุด เป็นการเรียกจากลักษณะที่เด่น คือ คล้ายข่า ชอบน้ำ และใช้หน่อ (ปุด) กินเป็นผัก ชื่อในภาษาอังกฤษของกาหลาคือ Torch Ginger

ประโยชน์ของกาหลา
ชาวไทยนำกาหลามาใช้รักษาโรคบางชนิดมานานแล้ว ปรากฏบันทึกตามตำราสมุนไพรสรุปได้ว่า ดอก : แก้ปวด ศีรษะ ความดันเลือดสูง แก้เลือดออกตามไรฟัน แก้เสมหะ หัว เหง้า : ใช้ต้มกินและอาบ แก้โรคประดง ผื่นคันตามผิวหนัง ส่วนในมาเลเซียใช้น้ำต้มจากลำต้น (ก้านใบ) ใช้อาบแก้ไข้ ประโยชน์หลักด้านหนึ่งของกาหลา ที่รู้จักกันดีมาตั้งแต่อดีต คือ ใช้เป็นอาหาร ในฐานะผักอย่างหนึ่ง ดังเช่นที่ปรากฏในหนังสืออักขราภิธานศรับท์ข้างต้น ส่วนของกาหลาที่นำมาใช้เป็นผัก คือ หน่ออ่อน เหง้า (ลำต้นใต้ดิน) และดอก (กลีบดอก) โดยเฉพาะในภาคใต้ยังนิยมนำมาประกอบอาหารจนถึงปัจจุบัน เช่น นำดอกกาหลามาทำอาหารประเภทยำ เป็นต้น

ปัจจุบันคนไทยในเมืองใหญ่นิยมบริโภคหน่อไม้ฝรั่งมากกว่าหน่อไม้จากต้นไผ่ หากมีการปลูกกาหลาเอาหน่ออ่อนมาบริโภค เช่นเดียวกับหน่อไม้ฝรั่ง คงเป็นประโยชน์กับเกษตรกรไทยมากขึ้น เพราะกาหลาปลูกง่ายกว่าหน่อไม้ฝรั่ง และไม่ต้องพึ่งพาปัจจัยการผลิตจากภายนอก (เช่น เมล็ดพันธุ์ ปุ๋ย สารกำจัดศัตรูพืช เป็นต้น) มากเหมือนการปลูกหน่อไม้ฝรั่ง นอกจากนั้น แปลงปลูกกาหลายังมีความสวยงามจากดอก ซึ่งอาจเป็นสถานที่ท่องเที่ยวได้เช่นเดียวกับแปลงปลูกดอกทานตะวัน ที่กำลังเบ่งบานอยู่ในช่วงเดือนพฤศจิกายน - ธันวาคมนี้

ประโยชน์ของกาหลาที่คนไทยรุ่นใหม่คุ้นเคยที่สุดคือในฐานะไม้ดอก โดยเฉพาะเป็นไม้ตัดดอกที่โดดเด่น มีราคาค่อนข้างสูง และเป็นที่นิยมมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะมีดอกขนาดใหญ่ ทรวดทรงดอกงดงาม กลีบดอกสดใสคล้ายพลาสติก ก้านดอกขนาดใหญ่และยาวมากกว่าดอกไม้ชนิดอื่นๆ รวมถึงคุณสมบัติที่หาได้ยากในบรรดาดอกไม้ของไทย นั่นคือ ความทนทานอยู่ได้นานหลายวันหลังตัดดอกออกจากต้น กาหลาที่ปลูกอยู่ในปัจจุบันยังใช้พันธุ์ ที่ได้จากป่าหรือเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติเป็นส่วนใหญ่ ยังมีโอกาสปรับปรุงให้มีคุณภาพสูงขึ้นตามความต้องการของผู้ปลูก และผู้บริโภคได้อีกมาก ไม่เพียงแต่เพื่อสนองความต้องการภายในประเทศเท่านั้น แต่ยังมีศักยภาพที่จะส่งไปจำหน่ายต่างประเทศได้ และอาจกลายเป็นดอกไม้ที่ได้รับความนิยมไปทั่วโลก ดังเช่นดอกไม้เมืองหนาว เช่น ดอกทิวลิป ก็เป็นได้

ขอขอบคุณสำหรับภาพจาก : ไม้ต้นประดับ, คู่มือคนรักต้นไม้

ข้อมูลสื่อ

296-013
นิตยสารหมอชาวบ้าน 296
ธันวาคม 2546
ต้นไม้ใบหญ้า
เดชา ศิริภัทร