• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

รู้ทันเซลล์บำบัด

ประมาณ ๕ ปีก่อนเท่านั้นเองที่การแพทย์ตั้งความหวังไว้กับการรักษาด้วยยีน หรือยีนบำบัด แต่แล้วก็ไม่ประสบความสำเร็จ

งานวิจัยเรื่องยีนบำบัดยังดำเนินต่อไป แต่ดูเหมือนว่าการแพทย์กำลังได้ความหวังใหม่นั่นคือการรักษาด้วยเซลล์ต้นกำเนิด หรือเซลล์บำบัด
หลายประเทศรวมทั้งประเทศไทยได้ออกข่าวความสำเร็จในการรักษาผู้ป่วยด้วยเซลล์ต้นกำเนิด หรือสเต็มเซลล์

สเต็มเซลล์ทางการแพทย์
ข่าวต่างประเทศที่สำคัญคือความสำเร็จในการรักษาหนูที่เป็นอัมพาตไขสันหลังให้สามารถขยับขาได้อีกครั้งหนึ่ง
ข่าวในประเทศที่สำคัญคือโรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่งแถลงข่าวถึงความสำเร็จในการรักษาผู้ป่วยโรคหัวใจด้วยเซลล์ต้นกำเนิด ทั้งขึ้นหน้าหนึ่งหนังสือพิมพ์รายวันและขึ้นหน้าปกนิตยสารหลายฉบับ

วิธีรักษาคือนายแพทย์จะกรองเซลล์ต้นกำเนิดออกจากเลือดของผู้ป่วยแล้วส่งไปเพาะขยายที่ต่างประเทศก่อนที่จะนำกลับมาฉีดเข้าไปในกล้ามเนื้อหัวใจของผู้ป่วย เซลล์ต้นกำเนิดที่ถูกฉีดกลับเข้าไปจะพัฒนาเป็นหลอดเลือดหัวใจ สามารถนำกระแสเลือดไปเลี้ยงหัวใจอีกครั้งหนึ่ง

นี่คือการรักษาเพื่อช่วยชีวิต
โรงพยาบาลได้แถลงข่าวว่าผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาด้วยวิธีนี้เป็นผู้ป่วยที่ไม่สามารถรักษาด้วยวิธีอื่นใดได้อีกแล้ว การปล่อยทิ้งไว้มีแต่ทำให้คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยลดลงและเป็นอันตรายต่อชีวิตในที่สุด นอกจากนี้ เนื่องจากเป็นการรักษาแบบใหม่ โรงพยาบาลจึงถือหลักความปลอดภัยสูงสุด
ขอย้ำอีกครั้งว่า การรักษาผู้ป่วยโรคหัวใจด้วยเซลล์ต้นกำเนิดที่กำลังเริ่มต้นนี้เป็นปฏิบัติการช่วยชีวิต กล่าวคือหากไม่รักษาผู้ป่วยก็ต้องถึงแก่กรรมสักวันหนึ่ง เป็นการรักษาที่ไม่มีทางเลือกสำหรับผู้ป่วยบางคน

อย่างไรก็ตาม ควรมีข้อคำถามว่า การรักษาด้วยวิธีนี้ยังเป็นงานวิจัยอยู่หรือไม่? ดังที่มีอาจารย์แพทย์หลายท่านออกมาให้ข่าว
หากยังเป็นงานวิจัยจริง โรงพยาบาลเอกชนสามารถนำมาใช้กับผู้ป่วยได้หรือไม่? มีการบอกกล่าวแก่ผู้ป่วยอย่างชัดเจนถึงสถานะของงานวิจัยหรือไม่อย่างไร?
มีการลงนามอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษรโดยละเอียดถึงเรื่องราวเหล่านี้หรือไม่?
รวมทั้งมีการแจ้งถึงภาวะแทรกซ้อนของการรักษาโดยละเอียดหรือไม่อย่างไร? เช่น โอกาสที่จะเกิดเนื้องอก เป็นต้น

หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
แพทยสภา ควรมีบทบาทในการควบคุมมาตรฐานการรักษาวิธีนี้หรือไม่?
คณะกรรมการอาหารและยา ควรมีบทบาทต่อกรณีการส่งออกเซลล์ต้นกำเนิดไป
ต่างประเทศแล้วนำกลับมาอย่างไร?

แม้ว่าในระยะแรกเริ่มจะมีกฎเกณฑ์ที่ชัดเจนและเข้มงวดว่าจะใช้การรักษาแบบใหม่นี้แก่ผู้ป่วยโรคหัวใจที่ไม่สามารถรักษาด้วยวิธีอื่นอีกแล้วและหากปล่อยทิ้งไว้ก็มีแต่จะถึงแก่กรรมในที่สุด แต่จะมั่นใจได้อย่างไรว่ากฎเกณฑ์นี้จะได้รับการปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง

ยกตัวอย่างกรณีการฟอกไตหรือฟอกเลือด การฟอกเลือดในผู้ป่วยไตวายระยะสุดท้ายเพื่อกำจัดของเสียออกจากกระแสเลือดสามารถยืดชีวิตผู้ป่วยและช่วยให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น ในตอนแรกที่เริ่มมีการฟอกเลือดก็จะมีกฎเกณฑ์บางประการ เช่น จะฟอกเลือดเฉพาะผู้ป่วยที่กำลังรอรับการผ่าตัดเปลี่ยนไต รวมทั้งมีข้อกำหนดอื่นๆ อีกบางประการ

แต่พอเวลาผ่านไปหลายปี การฟอกเลือดมีสภาพเป็นธุรกิจมากขึ้น กฎเกณฑ์เหล่านั้นก็เลือนหายไป เกิดปรากฏการณ์ฟอกเลือดโดยไม่มีข้อบ่งชี้เต็มรูปแบบมากมายจนกระทั่งส่งผลกระทบต่องบประมาณสาธารณสุขของประเทศในที่สุด
เรื่องเช่นนี้จะเกิดขึ้นกับการรักษาผู้ป่วยด้วยเซลล์ต้นกำเนิดหรือไม่? เราควรพูดคุยกันเพื่อหาวิธีป้องกันแต่ต้นมือหรือปล่อยปละละเลยให้มีการรักษาโดยปราศจากข้อบ่งชี้ที่รัดกุม?

สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ควรมีวิสัยทัศน์เรื่องนี้หรือไม่และควรมีบทบาทต่อกรณีการรักษาราคาแพงนี้อย่างไร
เครือข่ายภาคประชาชนควรใส่ใจเรื่องนี้หรือไม่ มั่นใจได้อย่างไรว่าประชาชนจะสามารถเข้าถึงบริการนี้โดยเท่าเทียมกัน?
ทั้งหมดที่เล่ามาเป็นการรักษาด้วยเซลล์ต้นกำเนิด โดยนำเซลล์ต้นกำเนิดมาจากร่างกายผู้ป่วยเอง เช่นนี้จึงไม่มีกรณีจริยธรรม รวมทั้งตัดปัญหาเรื่องเนื้อเยื่อผู้ป่วยไม่เข้ากัน

แต่ที่จริงแล้ว การแพทย์สามารถหาเซลล์ต้นกำเนิดได้จากแหล่งอื่นซึ่งมีคุณภาพดีกว่าที่ได้จากร่างกายผู้ป่วย
แหล่งที่หนึ่งคือเลือดจากสายสะดือทารกแรกเกิด
แหล่งที่สองคือจากตัวอ่อนมนุษย์

ตัวอ่อนมนุษย์
ตัวอ่อนมนุษย์สามารถได้จากอีก ๒ แหล่ง คือตัวอ่อนมนุษย์ที่เหลือใช้จากการปฏิสนธิในคลินิกผู้มีบุตรยาก และตัวอ่อนมนุษย์ที่ได้จากการโคลนนิ่ง
เซลล์ต้นกำเนิดจากสายสะดือทารกจะบริสุทธิ์กว่าเซลล์ต้นกำเนิดจากกระแสเลือดผู้ป่วย ทำให้มีบริษัทเอกชนที่เปิดธุรกิจรับฝากเลือดจากสายสะดือทารกแรกเกิด โดยมีกลุ่มลูกค้าคือมารดาที่กำลังตั้งครรภ์ นอกจากนี้ ยังมีสภากาชาดไทยที่รับบริจาคและรับฝากเลือดจากสายสะดือทารกแรกเกิดอีกด้วย
เซลล์ต้นกำเนิดจากตัวอ่อนมนุษย์ที่มีอายุเพียง ๕-๑๔ วันหลังการปฏิสนธิหรือโคลนนิ่งยิ่งอ่อนวัยกว่าและบริสุทธิ์มากกว่าเซลล์ต้นกำเนิดจากสายสะดือทารก แต่มีปัญหาทางจริยธรรมคือเมื่อเรานำเซลล์ต้นกำเนิดออกไปใช้ประโยชน์ ตัวอ่อนจะถูกทำลายลง ดังนี้แล้วเป็นกรณีสละชีวิตเพื่อชีวิตหรือไม่อย่างไร
ล่าสุดมีหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งพาดข่าวว่า

“สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติแถลงข่าวว่าสามารถเพาะเลี้ยงเอ็มบริโอเซลล์เป็นครั้งแรกในไทยโดยไม่ผิดจริยธรรม ตลอดจนสร้างอะไหล่มนุษย์จากเซลล์ เพื่อรักษาโรคหลอดเลือดหัวใจและกระจกตาเสื่อมได้สำเร็จ พร้อมจัดสรรเพิ่มงบวิจัยสำหรับปีหน้า”

คำว่า เอ็มบริโอเซลล์ คือ เซลล์ตัวอ่อน ในกรณีเช่นนี้น่าจะหมายถึงเซลล์ต้นกำเนิดที่ได้จากตัวอ่อน อาจจะเป็นตัวอ่อนสัตว์หรือตัวอ่อนมนุษย์ อาจจะได้จากการปฏิสนธิหรืออาจจะได้จากการโคลนนิ่ง

รายละเอียดของข่าววิทยาศาสตร์ในประเทศมักไม่สามารถลงในรายละเอียดได้
ไม่ว่าเป็นกรณีใดก็ตาม เป็นเรื่องน่ายินดีที่ประเทศไทยกำลังพัฒนาวิชาการของตนเองเช่นเดียวกับเป็นเรื่องน่ายินดีที่ประเทศไทยสามารถรักษาผู้ป่วยโรคหัวใจด้วยเซลล์ต้นกำเนิด

อย่างไรก็ตาม สมควรที่เราจะได้ช่วยกันพัฒนามาตรฐานและจริยธรรมของเรื่องราวใหม่ๆเหล่านี้เพื่อให้เรื่องน่ายินดีเหล่านี้ยังประโยชน์แก่สังคมให้มากที่สุด ปลอดภัยที่สุด ไร้ข้อกังขาทางจริยธรรมอย่างดีที่สุด เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย และเป็นเรื่องน่ายินดีอย่างแท้จริง



 

ข้อมูลสื่อ

320-005
นิตยสารหมอชาวบ้าน 320
ธันวาคม 2548
นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์