• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

หลับมากผิดปกติ

หลับมากผิดปกติ


บ่อยครั้งที่เราจะพบคนบางคน นอนเก่งมากผิดปกติ เรียกว่า นั่งที่ไหน หลับที่นั่น ถ้าเป็นเพราะอดนอน หรือนอนหลับไม่พอ อาการง่วงอยากนอนก็ถือว่าเป็นปกติ ถ้าเจอคนกินอาหารอิ่ม โดยเฉพาะตอนเที่ยงๆ อาจจะมีอาการง่วงงาวหาวนอนได้บ้าง เพราะหนังท้องตึง หนังตาหย่อน (เลือดไปเลี้ยงที่ท้องมาก ทำให้เลือดที่ไปเลี้ยงสมองน้อยลง สมองเลยไม่ค่อยสดใส ทำให้ง่วง) คือ เป็นภาวะปกติ คนที่ผิดปกติ ได้แก่ คนที่ง่วงนอนตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นกลางวันหรือกลางคืน เมื่อปลุกให้ตื่นนอนแล้วยังรู้สึกง่วง ง่วงนอนโดยไม่เลือกสถานที่ แม้แต่ขณะขับรถ ทั้งนี้ไม่รวมถึงคนที่อยู่ในภาวะเป็นโรคเรื้อรัง หรือมีไข้สูง หรือมีภาวะช็อกหมดสติ บางคนถึงถูกตราหน้าว่า เป็นคนขี้เกียจ เกียจคร้าน ห่วงแต่นอน ถ้าเป็นกับนักเรียน นักศึกษากำลังศึกษาเล่าเรียนอยู่ ทำให้เรียนหนังสือไม่ค่อยจะรู้เรื่อง

แพทย์จีนมองปัญหานี้อย่างไร?
ถ้าการนอนไม่หลับ สมองตื่นตัวตลอดเวลา ถือเป็นหยาง การง่วงนอน หลับมากผิดปกติ (สมองเฉื่อยชา) ถือเป็นยิน ผู้ที่มียินมากผิดปกติ มักเกี่ยวข้องกับหยางของม้ามพร่อง ทำให้ระบบการย่อยอาหารอ่อนแอ ไม่มีประสิทธิภาพ อาหาร น้ำ ของเหลวตกค้าง เกิดเป็นความชื้นสะสมในร่างกาย หรือเกิดจากหยางของไตพร่อง ทำให้เกิดความเย็นในร่างกาย นอกจากนี้ยังเกี่ยวข้องกับคนที่มีความชื้นตกค้างในร่างกายมาก่อน หรือมีเลือดอุดกั้นจากการกระทบกระเทือน ทำให้การไหลเวียนของเลือดและพลังไปยังสมองไม่สะดวก คนที่นอนหลับมากผิดปกตินั้น จึงมักสังเกตพบได้ในคนที่อ้วนที่เหมือนบวมน้ำ เพราะมีความเย็นในร่างกายมาก หรือการย่อยอาหารไม่ดี มีความชื้นตกค้าง หรือคนอ้วนที่มีภาวะร้อนแกร่งภายใน รวมถึงคนที่เคยประสบอุบัติเหตุกระทบกระเทือนต่อศีรษะ มาก่อน

การวินิจฉัยแยกแยะภาวะของโรคและการรักษาของแพทย์จีนเป็นอย่างไร?
แบ่งเป็น ๔ ประเภทใหญ่

๑. ภาวะความชื้นแกร่งหรือมาก อาการ มักกำเริบฤดูฝน เนื่องจากธรรมชาติมีความชื้นมาก มักเกิดกับคนที่อ้วน แน่นหน้าอก เบื่ออาหาร (เสมหะความชื้นอุดกั้นทรวงอก) ตัวหนัก ชอบนอน ฝ้าบนลิ้นเหนียว ชีพจรลื่นเนิบช้า

หลักการรักษา สลายความชื้น บำรุงม้าม
ตำรับยา ผิง-เว่ย-ซ่าน

๒. ภาวะม้ามพร่อง อาการ ร่างกายอ่อนเพลีย ชอบนอน อาการง่วงมักเกิดภายหลังจากกินอาหารอิ่ม แขน-ขาอ่อนแรง ใบหน้าสีเหลืองซีด เบื่ออาหาร ท้องเสียง่าย ลิ้นซีดขนาดใหญ่ ฝ้าบนลิ้นสีขาวบาง ชีพจรพร่องอ่อนแอ

หลักการรักษา บำรุงม้าม เสริมพลัง
ตำรับยา ลิ่ว-จวิน-จื่อ-ทาง

๓. ภาวะหยางพร่อง อาการ ไม่ค่อยสดชื่น ไม่มีชีวิตชีวา ไม่อยากพูด ง่วงนอนตลอดวัน กลัวหนาว แขน-ขาเย็น ขี้ลืม ตัวลิ้นซีดฝ้าบนลิ้นบาง ชีพจรลึกเล็กไม่มี  แรง

หลักการรักษา บำรุงพลัง อุ่นหยาง
ตำรับยา ฟู่-จื่อ-หลี่-จง-หวาน 

๔. ภาวะเลือดอุดกั้น อาการ เวียนศีรษะ ปวดศีรษะ สมองอ่อนล้า ง่วงนอน มีประวัติเรื้อรัง เคยมีประวัติอุบัติเหตุที่ศีรษะ ลิ้นมีสีม่วงหรือมีจุดเลือด ชีพจรฝืด

หลักการรักษา ทำให้เลือดไหลเวียน ทะลวงเส้นลมปราณ
ตำรับยา ทง-เชี่ยว-หัว-เสวี่ย-ทาง

สรุป

  • คนอ้วนมักเกี่ยวข้องกับความ ชื้นในร่างกายมาก
     
  • คนที่มีระบบย่อยอาหารไม่ดี อาจเป็นคนอ้วนหรือไม่อ้วนก็ได้
     
  • คนที่มีหยางพร่อง มักจะอ้วนแบบมีน้ำในร่างกายมาก คนเหล่านี้มักจะมีปัญหาเกี่ยวกับการง่วงนอน หรือ หลับมากผิดปกติ มีลักษณะเฉื่อยชา ถ้าเลือดมาเลี้ยงระบบย่อยมาก จะทำให้ไปเลี้ยงสมองได้น้อย ทำให้ง่วงเก่ง
     
  • คนที่เคยประสบอุบัติเหตุ กระทบกระเทือนเส้นลมปราณที่ไปยังสมอง ทำให้เลือดอุดกั้นไหลเวียนไม่สะดวก

สาเหตุต่างๆ บางครั้งมีหลายอย่างร่วมกันได้ แท้จริงแล้วเป็นสิ่งที่บ่งบอกว่า เลือดไปเลี้ยงสมองไม่พอ พลังลมปราณไปส่วนบนของร่างกาย (ศีรษะ) น้อยลง ซึ่งมักมีสาเหตุพื้นฐานแตกต่างกัน แต่จะปรากฏอาการมากขึ้นเมื่อมีสิ่งมากระตุ้น ถ้าใครมีอาการง่วงนอนเก่ง หรือชอบนอนมากผิดปกติ จึงต้องหาต้นเหตุและสร้างสมดุลให้กับร่างกาย เพราะเป็นปรากฏการณ์ที่สะท้อนให้เห็นว่ามีปัญหากับร่างกายแล้ว

ข้อมูลสื่อ

298-009
นิตยสารหมอชาวบ้าน 298
กุมภาพันธ์ 2547
แพทย์แผนจีน
นพ.วิทวัส (ภาสกิจ) วัณนาวิบูล