• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

การออกแบบสวนบำบัด

การออกแบบสวนบำบัด


การทำสวนบำบัดนั้น การออกแบบสวนที่ดีเป็นสิ่งสำคัญ เพราะต้องปรับสภาพสวนให้เหมาะกับความต้องการ หรือความพิการของแต่ละคน ขั้นตอนแรก ต้องประเมินความต้องการที่แท้จริง และข้อจำกัดต่างๆ ผู้ที่จะใช้สวนมีปัญหาด้านความสัมพันธ์ระหว่างมือกับตา ความทนทานของกล้ามเนื้อ ความสมดุล การมองเห็นหรือไม่ เคยมีปัญหาเรื่องการ เวียนศีรษะหรือการทรงตัวหรือไม่ สวนบำบัดนี้จะต้องจัดสภาพพิเศษสำหรับเด็ก สัตว์เลี้ยง หรือสุนัขนำทางในสวนหรือไม่ ต้องมีการปรับสภาพสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับรถเข็น หรือไม้เท้า ไม้ค้ำยันหรือไม่ เราสามารถออกแบบและสร้างสวนบำบัดได้ทุกแบบ ไม่ว่าจะเป็นสวนดอกไม้ สวนน้ำ สวนหิน ที่สำคัญต้องมีความคิดสร้างสรรค์ มีความรู้ และประยุกต์ สิ่งต่างๆ ให้เป็นไปในสิ่งที่ต้องการ

การออกแบบสวนอาจใช้เวลาในการประเมิน สังเกตดูสวนที่มีอยู่ คอยสังเกตการเปลี่ยนแปลง การใช้เวลาทั้งปี ไม่ใช่สิ่งที่นานเกินไป ในการออกแบบสวน ขั้นตอนแรก เพราะต้องดูวงจรทั้งปี ซึ่งมีฤดูกาลต่างๆ และการเปลี่ยนแปลงของสภาพพื้นดิน หญ้า วัชพืช ไม้พุ่ม ไม้ยืนต้น การเข้าใจรายละเอียดและการเปลี่ยนแปลงสิ่งต่างๆ จะทำให้ออกแบบสวนและจัดการสวนได้ดี โดยมีภาระด้านคนและค่าใช้จ่ายที่ควบคุมได้ ไม่ต้องบานปลาย

การทำแบบเป็นผัง จะช่วยให้เราออกแบบสวน ได้ดียิ่งขึ้น ควรงดพื้นที่ที่ต้องเสียเวลาในการดูแล บำรุงรักษา เช่น สนามหญ้าที่เรียบเตียน ต้องอาศัยคนและเวลาในการดูแลสูงกว่าสนามที่ปกคลุมด้วยไม้พุ่ม พืชคลุมดิน เป็นต้น เราควรปรับลดขนาดของสนามหญ้าให้มีขนาดเล็กลง ใช้หิน กรวด แผ่นทางเดินเท้า เป็นช่วงๆ เพื่อให้ดูแลจัดการได้ง่าย การใช้พืชคลุมดินบางชนิดแทนหญ้า เช่น กระดุมทอง ผกากรอง พัดยายชี เป็นต้น จะช่วยคลุมพื้นดินไม่ให้มีวัชพืช และไม้คลุมดินเหล่านี้มีขนาด ไม่สูงจนปิดบังความสวยงามของสวน

ในช่วงแล้ง ไม้ยืนต้นบางชนิดจะผลัดใบมาก ใบไม้จะร่วงลงเต็มพื้นไปหมด ซึ่งต้องใช้คนเก็บกวาดใบไม้ออกจากสนามหญ้า การเอาไม้ยืนต้นออกเพื่อกำจัดใบไม้ไม่ให้ร่วงหล่นลงพื้นสนาม อาจเป็นวิธีการที่ง่ายที่สุด แต่ก็อาจไม่เหมาะสมเพราะจะขาดความร่มเย็น ความสวยงามของสวน และความสมดุลด้านสิ่งแวดล้อม วิธีที่ดีที่สุด คือ ย้ายสนามหญ้าออก โดยการปลูกพืชคลุมดินรอบๆ ใต้ต้นไม้ ใบไม้ที่ร่วงลงมาจะกลายเป็นปุ๋ยให้ไม้พุ่มและไม้คลุมดิน ถ้าต้องการไม้ดอก เพื่อให้มีสีสันที่สวยงามควรปลูกไม้ดอกที่ดูแลง่าย เช่น เยอบีร่า ผกากรอง เดหลี ว่านสี่ทิศ พลับพลึงตีนเป็ด เป็นต้น

การทำแปลงผัก ก็ให้ความรู้สึกที่เป็นธรรมชาติและใช้เป็นอาหารได้ด้วย การใช้พื้นที่เพียง ๑๕๐ ตารางฟุต จะมีปลูกผักเลี้ยงดูได้ตลอดทั้งปี ดังนั้น ถ้าต้องการผักสำหรับเป็นอาหารต้องดูสมาชิกของสวนบำบัดว่ามีจำนวนเท่าไร จะได้แบ่งพื้นที่บางส่วนทำสวนผัก และได้ผักที่สะอาด ปลอดภัย ไม่มีสารพิษตกค้าง

ข้อมูลสื่อ

298-014
นิตยสารหมอชาวบ้าน 298
กุมภาพันธ์ 2547
อื่น ๆ
นพ.ประพจน์ เภตรากาศ