• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ไข้หวัดนกวิกฤติและโอกาส

ไข้หวัดนกวิกฤติและโอกาส


สถานการณ์ไข้หวัดนก ที่เชื่อว่าเป็นผลจากนกที่อพยพมาจากแถบทางเหนือที่มีอากาศหนาว หนีอพยพมาทางใต้ เป็นตัวพาหะนำเชื้อไวรัส H5N1 ทำให้เกิดการติดเชื้อในสัตว์ปีก โดยเฉพาะไก่ และมีรายงานว่าอาจแพร่ขยายไปยังหมู มีคนที่เสียชีวิตจากการสัมผัสกับไก่ที่เป็นโรค ทำให้ล้มเจ็บและตายไปหลายคน มีการประกาศเขตควบคุมโรค ห้ามเคลื่อนย้ายสัตว์ปีก มีการทำลายไก่นับล้านตัว ประชาชนไม่กล้ากินไก่ กินไข่ ไม่กล้าสัมผัสกับไก่ที่ชำแหละแล้ว ทำให้ส่งผลกระทบไปอย่างกว้างขวาง ทั้งภายในประเทศรวมถึงการส่งออกไปสู่ต่างประเทศ คนที่เป็นเจ้าของฟาร์มที่ต้องถูกสั่งให้ฆ่าไก่ หรือคนที่มีฟาร์มไก่ ก็หวาดผวาหาทางป้องกันต่างๆ นานารวมถึงอนาคต ถ้าเกิดควบคุมไม่ดีเกิดแพร่ไปในคนขึ้นมาได้ (เป็นความกลัวของคนที่จะคิดไปได้) เพราะไวรัสเกิดกลายพันธุ์ขึ้นมา ความหวังในการใช้วัคซีนป้องกันโรค ยังอยู่ระหว่างการศึกษาวิจัยอยู่ ภูมิปัญญาพื้นบ้านต่างๆ โดยเฉพาะการแพทย์พื้นบ้านไทย การแพทย์แผนจีน และการแพทย์ทางเลือกอื่นๆ ก็น่ามีส่วนร่วมในการเสริมสร้างสุขภาพ ป้องกัน รวมถึงการรักษาถ้าเกิดสถานการณ์ลุกลามรุนแรง หรือถ้าสถานการณ์ดีขึ้น ก็จะเป็นบทเรียนในการต่อสู้กับโรคที่มีลักษณะระบาดรุนแรงเหมือนเช่นกรณีซาร์สและไข้หวัดนก

ความเข้าใจเกี่ยวกับโรคระบาดในศาสตร์ แพทย์แผนจีน

  • โรคระบาดในแพทย์แผนจีน เรียกว่า อี้-ลี่

 (อี้) หมายถึง ลักษณะของความเฉียบพลันรวดเร็วและความสามารถในการแพร่ระบาดของโรค
 (ลี่) หมายถึง ลักษณะของความรุนแรงของโรค
ศัพท์คำนี้ได้มีการบันทึกไว้กว่า ๒,๗๐๐ ปีก่อน บางครั้งก็เรียกว่า  เวิน-อี้ , ลี่-ชี่ , อี้-ชี่ , ตู๋-ชี่

- ความเชื่อเกี่ยวกับโรคระบาด เชื่อว่าเกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศ, ฤดูกาล, อาหารการกิน, สภาพร่างกายจิตใจ และสภาพสิ่งแวดล้อมของมนุษย์

- สมัยราชวงศ์ฮั่น (ระหว่าง ค.ศ.๑๙๖-๒๐๔) จาง-จ้ง-จิ่ง
ได้สรุปเรื่องของโรคระบาดทั้งในแง่อาการ, การเปลี่ยนแปลงทางพยาธิกำเนิด, การวินิจฉัยการรักษาเป็นคัมภีร์ชื่อ ซาง-หาน-จ๋า-ปิ้ง-ลุ่น ซึ่งภายหลังมีการปรับปรุงแก้ไขเป็น ซาง-หาน-ลุ่น และคัมภีร์อีกเล่มหนึ่งชื่อ จิน-คุ้ย-เอี่ยว-เลี้ย ซึ่งทั้ง ๒ คัมภีร์ ปัจจุบันยังเป็นภูมิปัญญาที่เป็นคุณูปการต่อการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับโรคระบาดที่สืบต่อกันมาของแพทย์แผนจีน

- สมัยจิ้น เก๋อ-หง-สว่อ   
ได้สรุปว่า ซาง-หาน , สือ-สิง , เวิน-อี้ มีความหมายเดียวกัน คือ โรคติดเชื้อแพร่ระบาด

- สมัยสุย เฉา-หยวน-ฟาง  ต้นศตวรรษที่ ๗
ได้สรุป ไว้ในตำรา จู-ปิ้ง-หยวน-โฮ่ว-ลุ่น โรคระบาดเป็นเพราะฤดูใบไม้ผลิ ควรจะอบอุ่นแต่กลับหนาวเย็น ฤดูร้อนควรจะร้อนกลับเย็น ฤดูใบไม้ร่วงควรจะเย็นกลับร้อน ฤดูหนาว ควรจะหนาวกับอบอุ่น ควรจะมีสภาพอากาศที่สอดคล้องกลับไม่สอดคล้อง มีลักษณะของโรคคล้ายคลึงกัน เรียกว่า โรคระบาดจากฤดูกาล ซึ่งสรุปได้ว่า การระบาดของโรคเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติ ภูมิอากาศ

หลักการทั่วไปของการป้องกันและรักษา โรคระบาดตามศาสตร์แพทย์แผนจีน
๑. แนวคิดการป้องกันโรค : ได้มีการบันทึกไว้ใน หวงตี้เน่ยจิง "เน่ยจึงซู่เวิ่น" ตอนหนึ่ง

  • สมัยราชวงศ์ถัง ได้มีการสร้างสถานที่กักกันผู้ป่วยโรคเรื้อนเพื่อป้องกันการระบาด เรียกว่า ลี่-เหวิน-ฟาง
  • สมัยราชวงศ์ซ่ง ศตวรรษที่ ๘ ได้มีการปลูกฝีป้องกันไข้ทรพิษ (ค้นพบก่อนเอ็ดเวิร์ด เจนเนอร์ ประมาณ ๑,๐๐๐ ปี ค.ศ.๑๗๙๖)
  • จาง-จ้ง-จิ่ง ได้เขียนอธิบายกลไกลการเกิดโรคว่า "เลือดพลังร่างกายอ่อนแอ รูขุมขนเปิด ทำให้เสียชี่ (พลังก่อโรค) เข้าสู่ร่างกาย เกิดการต่อสู้กัน เมื่อสู้กันอยู่บริเวณชายโครง ทำให้เกิดอาการประเดี๋ยวหนาวประเดี๋ยวร้อน"

นอกจากนี้ยังได้บรรยายถึงการต่อสู้ของพลังร่างกาย กับปัจจัยก่อโรคที่อยู่ในระดับต่างๆ ของเส้นลมปราณ ๖ เส้น ซึ่งเป็นการต่อสู้ระดับตื้นระดับผิวจนถึงระดับลึกของร่างกาย

สรุป หลักการป้องกันของแพทย์แผนจีนในอดีต

๑. เน้นการป้องกันรักษาเมื่อไม่เกิดโรค

๒. หลีกเลี่ยงแหล่งแพร่เชื้อ, ปัจจัยก่อโรค

๓. กักกันผู้ที่เป็นพาหะ, สิ่งที่เป็นตัวนำโรค

๔. ค้นคว้า ปลูกฝีเพื่อป้องกันโรค

๕. แนวการป้องกันรักษาต้องเสริมภาวะเลือด-พลังสมดุลยินหยาง เมื่อร่างกาย เจิ้งชี่ แข็งแรง เสียชี่ หรือตัวก่อโรคก็ไม่สามารถทำอะไรได้

๖. แยกแยะภาวะของโรคในแต่ละระยะ เพื่อวางแผนป้องกันรักษาในระดับของโรคที่อยู่ลึกตื้น ตามความรุนแรงที่แตกต่างกัน

แนวคิดการเกิดโรคและกลไกการเกิดโรค
โรคระบาดเป็นผลจากพิษภายนอก โดยเฉพาะจากอากาศที่เปลี่ยนแปลง หรือในปัจจุบันหมายถึงจุลชีพ เช่น เชื้อไวรัส, แบคทีเรีย, ปรสิต (พยาธิ)

ลักษณะพิเศษที่สำคัญระบุไว้ในศาสตร์แพทย์จีนคือ

๑. ติดต่อง่าย

๒. เกิดโรคเร็ว อาการของโรครุนแรง ระยะฟักตัวช้า สัมผัสแล้วเกิดโรคเร็ว

๓. โรคชนิดหนึ่งเกิดจากปัจจัยก่อโรคชนิดหนึ่ง อาการคล้ายคลึงกัน 

ระยะต่างๆ ของการลุกลามของเสียชี่   

๑. ระยะแรก ปัจจัยก่อโรครุนแรง แต่ร่างกายไม่อ่อนแอ มีอาการแกร่ง ร้อน เป็นภาวะหยาง เป็นระยะที่โรคลุกลามอยู่ที่เส้นลมปราณหยาง ๓ เส้น คือ ไท่หยาง หยางหมิง  และเซ่าหยาง ซึ่งเทียบเท่ากับโรคอยู่ในระดับผิว และระดับชี่ของร่างกาย

๒. ระยะท้าย ภาวะของเจิ้งชี่ ถดถอย ทำให้โรคลุกลามสู่ภายใน-สู่อวัยวะจั้ง (อวัยวะต้น) ของร่างกาย มีอาการพร่องเย็น เป็นภาวะยิน คือ ลุกลามเข้าสู่เส้นลมปราณ ไท่ยิน ,เซ่ายิน ,เจี้ยะยิน หรือเข้าสู่ระดับหยิง และเลือด ซึ่งเป็นระดับลึก

ทั้งหมดที่กล่าวมาเรียกว่า หลักการแยกแยะภาวะของโรคด้วยเส้นลมปราณทั้ง ๖ ซึ่งเป็นหลักที่จาง-จ้ง-จิ่ง สรุปขั้นและหลักการแยกแยะภาวะของโรคด้วยระดับความลึก เว่ย ชี่ หยิง เสวี่ย ซึ่งเป็นหลักที่เย่-เทียน-ซื่อ สมัยราชวงศ์ชิง สรุปขึ้น

ไข้หวัดใหญ่ หรือไข้หวัดที่แพร่ระบาดในทรรศนะแพทย์แผนจีน มีการแบ่งอย่างไร
ไข้หวัดแพร่ระบาดที่ผ่านมาเกิดจากเชื้อไวรัสชนิดต่างๆ กัน ซึ่งเกิดจากการแยกแยะดีเอ็นเอ เชื้อไวรัส ด้วยวิทยาการสมัยใหม่ติดต่อโดยผ่านทางเดินระบบหายใจ การเกิดโรคเร็ว ระยะฟักตัวเร็ว ไข้สูง อ่อนเพลีย ปวดเมื่อยทั้งตัว มีอาการทางเดินหายใจหนักเบาแตกต่างกัน ในเด็กหรือคนสูงอายุ คนที่มีร่างกายอ่อนแอ ภูมิคุ้มกันต่ำ โอกาสจะเกิดปอดอักเสบสูง มีการระบาดแพร่กระจายสูง การแพร่ระบาดเป็นได้ทุกฤดูกาล โดยเฉพาะในฤดูหนาว

กลุ่มอาการไข้หวัดใหญ่ หรือไข้หวัดแพร่กระจายในศาสตร์แพทย์จีนจัดอยู่ในกลุ่ม "สื่อ-สิง-ก่าน-เม่า"  เป็นกลุ่มไข้หวัด แต่มีความรุนแรง ติดต่อง่าย และแพร่กระจายเร็วโดยแบ่งเป็น ๒ ลักษณะใหญ่ๆ คือ

๑. ชนิดลมร้อน

๒. ชนิดลมเย็น

ทางคลินิกมักเกิดจากลมร้อนเป็นหลัก
ส่วนไข้หวัดนก (Bird Flu) มีการแพร่กระจายระบาดในสัตว์ปีกด้วยกัน ยังมีการติดต่อกับคนที่สัมผัสนกที่เป็นโรคได้ แต่ยังไม่มีรายงานที่แน่ชัดว่า เชื้อนี้สามารถติดต่อไปยังหมูได้ และไม่มีรายงานว่าติดต่อจากคนที่เป็นโรคไปยังคนอื่นได้

การป้องกันนก คนและหมูจากการติดไข้หวัดนก จะใช้หลักการอะไร และสมุนไพรอะไรดี
จนถึงขณะนี้ยังไม่มีการสรุปเรื่องการใช้ศาสตร์แพทย์แผนจีนหรือแผนไทยอย่างเป็นระบบระเบียบที่ชัดเจน แพทย์แผนไทยบางท่านได้เสนอ ตัวยาสมุนไพรหลายตัว เช่น ฟ้าทะลายโจร พญายอ หญ้าใต้ใบ เพื่อให้ไก่กินเป็นการป้องกันและรักษาโรค ซึ่งควรค่าแก่การศึกษาวิจัยอย่างยิ่ง

ในหลักแพทย์แผนจีนมีหลักการใหญ่ๆ และวิธีการปฏิบัติบางอย่างที่น่าสนใจ

๑. หลักสำคัญ คือ เสริมพยุงเจิ้งชี่ ขจัดเสียชี่ คือ ด้านหนึ่งต้องเสริมภูมิคุ้มกัน แก่ ไก่ คน หมู ด้านหนึ่งใช้ยาขจัด ทำลายพิษ ต่อต้านไวรัส
ยาจีนที่เสริมพลัง เช่น 
- หวงฉี
- ตั้งเซิน
- ไป่จู๋

ยาขับพิษ, ต้านไวรัส เช่น
- ดอกเบญจมาศ
- ดอกสายน้ำผึ้ง
- ป่าน-หลาน-เกิน
- ต้า-ชิง-เย่
- ชะเอม
- ปู่ กง อิง
ถ้ามีอาการรุนแรงต้องให้การวินิจฉัยแยกแยะโรค และจัดยาให้สอดคล้องเป็นรายๆ ไป

๒. เสริมความแข็งแรงของร่างกาย
พื้นฐานของการเกิดโรค นอกจากการสัมผัสกับเชื้อโดยตรงแล้วยังขึ้นกับสภาพความแข็งแรงพื้นฐานของร่างกาย ความแข็งแรงของร่างกายเกี่ยวข้องกับวิถีการดำเนินชีวิต การกินอยู่ การพักผ่อน สภาพจิตใจ สิ่งแวดล้อม ไม่ควรหวาดวิตกจนเกินไป แต่ก็ไม่ประมาท

๓. การหลีกเลี่ยงพาหะนำโรค การป้องกันพิษ
- การหลีกเลี่ยงจากการสัมผัสสัตว์ปีก โดยเฉพาะในเขตแพร่ระบาด
- การทำความสะอาดร่างกายสม่ำเสมอ
ที่สำคัญปฏิบัติตามคำแนะนำของทางการ กินไก่ที่ไม่เป็นโรค และทำสุกแล้วเท่านั้น กินผักผลไม้ที่มีวิตามินซีมากๆ เพื่อเสริมภูมิคุ้มกันแก่ร่างกาย

๔. การส่งเสริมระบบการเลี้ยงไก่แบบฟาร์มปิด จะช่วยป้องกันการปนเปื้อนเชื้อจากภายนอกเข้าไป แต่ยังไม่แน่ใจนักว่าไก่ในระบบนี้จะมีภูมิต้านทานต่อโรค ความแข็งแรงกว่าไก่ที่เลี้ยงแบบธรรมชาติหรือไม่ ส่วนไก่ที่เลี้ยงโดยระบบเปิด โอกาสปนเปื้อนจากการติดเชื้อแพร่กระจายสูง ควบคุมยาก แม้ว่าโดยธรรมชาติไก่ประเภทนี้น่าจะแข็งแรงกว่าไก่ในระบบฟาร์มปิด จึงควรพิจารณาทั้ง ๒ ปัจจัย ควบคู่กันไป รวมถึงอาหารที่จะให้กับไก่ในอนาคต

๕. ให้ความสำคัญของการป้องกันเป็นเอก รักษาเป็นรอง เพราะเมื่อเกิดโรคแล้วโอกาสการรักษาให้หายยากกว่า ลงทุนมากกว่า เพราะการแพร่กระจายอย่างรวดเร็ว รุนแรง ปัจจุบันใช้การฆ่าสัตว์ในบริเวณที่แพร่ระบาดรุนแรงเป็นวิธีการที่ดีที่สุด

๖. แนวทางการบูรณาการการแพทย์แผนปัจจุบันกับการแพทย์ทางเลือกหรือแพทย์แผนจีน
แผนปัจจุบันมุ่งเน้นโรคชนิดของไวรัสเพื่อผลิตวัคซีน และใช้วิธีการระบาดวิทยาควบคุมโรค แพทย์แผนจีนมุ่งเน้นภาวะของโรค ไม่ว่าจะเป็นไวรัสชนิดไหน ก่อเกิดจากการต่อสู้ของร่างกายกับสิ่ง ก่อโรคการป้องกันรักษาจึงเน้นที่การเสริมร่างกายขับพิษ การใช้ยาจึงคล้ายคลึงกัน แต่พลิกแพลงตามสภาพที่เป็นจริง

๗. เพื่อให้เกิดการส่งเสริมภูมิปัญญาโบราณที่สืบทอดกันมา ควรส่งเสริมวิชาการแพทย์แผนไทย แพทย์แผนจีน และการแพทย์ทางเลือกอื่นๆ ซึ่งมีมุมมองและการแก้ปัญหาที่แตกต่างกัน แม้จะไม่มีลักษณะจำเพาะต่อเชื้อไวรัส แต่ในเชิงเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน ลดพิษ ขจัดพิษ จะสามารถทำได้ในแนวกว้าง ประหยัด และสอดคล้องกับลักษณะท้องถิ่นทำได้ทันที ไม่ต้องหวังพึ่งแต่วิทยาการสมัยใหม่ ที่ต้องสั่งซื้อจากประเทศที่มีความพร้อมมากกว่า ทำให้สูญเสียเศรษฐกิจ และเป็นลักษณะหวังพึ่ง โดยน่าจะทำอะไรได้มากกว่านี้

ข้อเสนอแนะ
น่าจะมีการตั้งทีมงานเพื่อการศึกษาวิจัยเตรียมพร้อมกับโรคระบาดที่จะเกิดขึ้นในอนาคต นำข้อดีของภูมิปัญญาต่างๆ ทั้งของตะวันตกและตะวันออกมาเสริมซึ่งกันและกัน วิกฤตินี้น่าจะเป็นโอกาสของการเปลี่ยนแปลงวิธีคิด การดูแลสุขภาพ ป้องกันโรคระบาด และเสริมสร้างภูมิปัญญาในด้านสาธารณสุขที่มีความเป็นเอกลักษณ์ของคนไทย

ข้อมูลสื่อ

299-006
นิตยสารหมอชาวบ้าน 299
มีนาคม 2547
แพทย์แผนจีน
นพ.วิทวัส (ภาสกิจ) วัณนาวิบูล