• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ไข้หวัดนก "ยา" สำหรับการป้องกัน และรักษาโรคนี้หรือไม่?

ไข้หวัดนก "ยา" สำหรับการป้องกัน และรักษาโรคนี้หรือไม่?

คำถามหนึ่งที่ถามกันมากในช่วงที่เกิดการระบาดของโรคไข้หวัดนก คือ มี "ยา" สำหรับการป้องกันและรักษาโรคนี้หรือไม่?
ขอตอบว่า "มี"

ยาที่ใช้ในการป้องกันและรักษาโรคไข้หวัดนกมีอยู่   ๒ กลุ่ม คือ

๑. ยากลุ่ม M2 inhibitors ซึ่งได้แก่ amantadine และ rimantadine และ

๒. ยากลุ่ม neuraminidase inhibitors ซึ่งได้แก่ oseltamivir และ zanamivir

ยาเหล่านี้ได้รับอนุมัติให้ใช้ในการป้องกันและรักษาไข้หวัดใหญ่ในหลายประเทศ และหวังว่าจะได้ผลดีต่อเชื้อไวรัสไข้หวัดนกซึ่งเป็นสายพันธุ์หนึ่งของไวรัสไข้หวัดใหญ่ที่เป็นสาเหตุสำคัญของการระบาดอยู่ในขณะนี้

อย่างไรก็ตาม การวิเคราะห์ขั้นต้นที่แยกเชื้อไวรัสจากผู้ตายด้วยโรคนี้ในประเทศเวียดนาม พบว่า เชื้อไวรัสชนิดนี้ดื้อต่อยากลุ่ม M2 inhibitors แต่ก็ควรทำการพิสูจน์ทางห้องปฏิบัติการเพิ่มเติมเพื่อยืนยันการดื้อต่อยา amantadine ของเชื้อไวรัสไข้หวัดนกนี้ พร้อมกับการศึกษายืนยันประสิทธิภาพของยากลุ่ม neuraminidase inhibitors ที่มีต่อเชื้อไวรัสไข้หวัดนกชนิด H5N1 ที่กำลังระบาดอยู่นี้ ในสหรัฐอเมริกา ยา amantadine และ rimantadine เป็นยาที่ใช้ได้ผลดีต่อเชื้อไวรัส ไข้หวัดใหญ่ชนิด A แต่ไม่ได้ผลต่อเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ชนิด B ยา amantadine ได้รับอนุมัติให้ใช้ป้องกันการติดเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ชนิด A (H2N2) ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๐๙ ต่อมาในปี พ.ศ.๒๕๑๙ ได้รับอนุมัติเพิ่มเติมให้ใช้ในการรักษาโรคนี้ในผู้ใหญ่และเด็กตั้งแต่ ๑ ปีขึ้นไป ส่วนยา rimantadine ได้รับอนุมัติให้ใช้ป้องกันและรักษาการติดเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ในผู้ใหญ่และใช้ในการป้องกันในเด็ก

ผู้เชี่ยวชาญส่วนใหญ่เชื่อว่ายา rimantadine สามารถใช้รักษาโรคไข้หวัดใหญ่ในเด็กได้ผลดียา zanamivir และ oseltamivir เป็นยากลุ่ม neuraminidase inhibitors ที่ใช้ได้ผลดีต่อเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ชนิด A และ B ยาทั้งสองชนิดได้รับอนุมัติจากองค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกาให้สามารถใช้รักษาการติดเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ชนิดที่ไม่มีภาวะแทรกซ้อนตั้งแต่ ปี พ.ศ.๒๕๔๒ โดยยา zanamivir เป็นชนิดสูดพ่นทางปาก (คล้ายกับยาสูดพ่นที่ใช้ในโรคหืด) ให้ใช้ในการรักษาในเด็กตั้งแต่ ๗ ขวบขึ้นไป มีอาการอันไม่พึงประสงค์ทำให้เกิดหลอดลมหดตัว หายใจลำบาก จึงควรระวังในผู้ป่วยที่มีประวัติเป็นโรคทางเดินหายใจ เช่น หืด ถุงลมโป่งพอง เป็นต้น ส่วนยา oseltamivir ในรูปแบบเม็ดได้รับอนุมัติให้ใช้ในการรักษาในเด็กตั้งแต่ ๑ ขวบขึ้นไป และในปี พ.ศ. ๒๕๔๓ ยา oseltamivir นี้ได้รับอนุมัติเพิ่มเติมให้ใช้ในการป้องกันในเด็กตั้งแต่ ๑๓ ปีขึ้นไปด้วย 

ยาทั้ง ๔ ชนิดดังที่ได้กล่าวไปแล้วมีการใช้เพื่อการป้องกันและรักษาโรคไข้หวัดใหญ่ที่เป็นปัญหาสำคัญของประเทศสหรัฐอเมริกา ส่วนในประเทศไทยมีการนำเข้าเฉพาะยา oseltamivir เพียงชนิดเดียวเพื่อใช้ในโรคนี้ ในที่นี้จึงขอกล่าวเฉพาะยานี้เท่านั้น ยา oseltamivir เป็นยาใช้ในการป้องกันและรักษาการติดเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ โดยให้ขนาด ๗๕ มิลลิกรัม ใช้กินวันละ ๒ ครั้ง หลังอาหาร เช้า เย็น ติดต่อกัน ๕ วัน เมื่อยานี้เข้าสู่ร่างกายจะถูกดูดซึมจากทางเดินอาหารเข้าสู่กระแสเลือด และถูกเอนไซม์ที่ตับเปลี่ยนไปเป็น oseltamivir carboxylate ซึ่งเป็นสารที่ไปออกฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ neuraminidase ของไวรัสไข้หวัดใหญ่ ทำให้ไวรัสไม่สามารถหลุดออกจากเซลล์ได้ และช่วยให้อาการของโรคนี้หายเร็วขึ้น ๑.๓ วัน เมื่อเทียบกับยาหลอก ยานี้ควรใช้ภายใน ๔๘ ชั่วโมงหรือ ๒ วัน หลังจากที่เริ่มมีอาการแล้ว
ยานี้จะถูกขับออกจากร่างกายทางไต

ผลข้างเคียงที่พบบ่อย คือ คลื่นไส้ อาเจียน ซึ่งพบได้น้อยกว่าร้อยละ ๑ ของผู้ที่ใช้ยา และมีอาการในระดับเล็กน้อยถึงปานกลาง นอกจากนี้อาจพบอาการปอดอักเสบ นอนไม่หลับและเวียนหัวได้ การใช้ยาในเด็ก หญิงตั้งครรภ์ ผู้ป่วยโรคไต และผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงอื่นๆ ควรอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ เพราะยานี้จัดอยู่ในกลุ่มยาที่ใช้ในหญิงตั้งครรภ์ประเภท "C" คือ ยังไม่มีหลักฐานยืนยันความปลอดภัยที่มีต่อตัวอ่อน ถ้ามีการใช้ในหญิงตั้งครรภ์ แต่ในผู้ป่วยโรคไต ถ้าค่า creatinine clearance น้อยกว่า ๓๐ มิลลิลิตร/นาที จะต้องลดขนาดยาลงเหลือเพียง ๗๕ มิลลิกรัม วันละ ๑ ครั้ง เท่านั้น ส่วนในผู้สูงอายุเมื่อใช้ยานี้อาจทำให้ระดับยาในเลือดสูงกว่าปกติได้ แต่ไม่ส่งผลกระทบต่อการรักษาทางคลินิก และไม่จำเป็นต้องปรับขนาดยาเมื่อใช้ในผู้สูงอายุ

สุดท้ายนี้ ยานี้ยังไม่มีข้อพิสูจน์ชัดเจนว่า จะได้ผลดีในการรักษาโรคไข้หวัดนก ซึ่งเป็นการติดเชื้อชนิดหนึ่งในกลุ่มไวรัสที่ทำให้เกิดโรคไข้หวัดใหญ่ แต่เป็นทางเลือกหนึ่ง ที่ดีที่สุดในเวลานี้ถ้ามีการระบาดของเชื้อไวรัสไข้หวัดนกชนิด H5N1 จากสัตว์ปีกมาสู่คน เพราะยานี้ได้ผลดีกับไวรัสไข้หวัดใหญ่ทั้งชนิด A และ B แต่ควรคำนึงถึงกำลังผลิตให้ได้ปริมาณยาที่เพียงพอและค่าใช้จ่ายที่อาจเกิดขึ้น ถ้าเกิดการระบาดของโรคนี้แพร่กระจายเป็นวงกว้างด้วย

เอกสารอ้างอิง

๑. World Health Organization. Avian influenza frequently asked questions.
 
http://www.who.int/csr/disease/avian_influenza/avian_faqs/en/#drugs.htm [accessed 05/02/04]

๒. Advisory Committee on Immunization Practices. Prevention and Control of Influenza: Recommendations of the Advisory Committee on Immunization Practices (ACIP).
http://www.cdc.gov/mmwr//preview/mmwrhtml/rr5208a1.htm  [accessed 05/02/04]

๓. US FDA. Tamiflužs approval label and patient information.
 
http://www.fda.gov/cder/consumerinfo/druginfo/tamiflu/htm [accessed 05/02/04]


 

ข้อมูลสื่อ

299-007
นิตยสารหมอชาวบ้าน 299
มีนาคม 2547
ภก.ดร.วิรัตน์ ทองรอด