• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

หืด

หืด เป็นโรคภูมิแพ้ชนิดหนึ่ง ที่ทำให้เกิดภาวะตีบตัวของหลอดลม ทำให้ลมหายใจเข้าออกลำบาก ผู้ป่วยมักมีอาการหายใจหอบเหนื่อยเป็นๆ หายๆ เรื้อรัง ส่วนมากจะไม่มีอันตรายร้ายแรง ยกเว้นในรายที่เป็นรุนแรงหรือรักษาตัวอย่างผิดๆ ก็อาจเกิดอันตรายได้

ชื่อภาษาไทย
  หืด
ชื่อภาษาอังกฤษ  Asthma
สาเหตุ  เกิดจากหลอดลมมีความไวต่อสิ่งเร้ามากกว่าปกติ ร่วมกับการอักเสบของหลอดลม เป็นเหตุให้มีการหดเกร็งของหลอดลม จนท่อหลอดลมตีบแคบลง ลมหายใจเข้าออกลำบาก ซึ่งอาจหายกลับเป็นปกติได้เองหรือภายหลังการให้ยารักษา

โรคนี้สามารถถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์ มักมี พ่อแม่ ปู่ย่า ตายาย หรือญาติพี่น้องเป็นหืด หรือโรคภูมิแพ้อื่นๆ (เช่น หวัดภูมิแพ้ ลมพิษผื่นคัน) อยู่เป็นประจำ
ผู้ป่วยมักมีอาการกำเริบเมื่อสัมผัสสิ่งที่แพ้ เช่น ความเย็น เชื้อรา ไรบ้าน ฝุ่นละออง ควันบุหรี่ ควันธูป ควันท่อไอเสีย เกสรดอกไม้ ที่นอน ขนสัตว์ ยา สารพิษฆ่าแมลง สารเคมี อาหารบางชนิด เป็นต้น

บางคนอาจมีอาการกำเริบเมื่อมีการติดเชื้อของทางเดินหายใจ (เช่น ไข้หวัด หลอดลมอักเสบ) หรือเวลามีอารมณ์เครียด
นอกจากนี้ การกินยาแอสไพริน ยาต้านอักเสบ ที่ไม่ใช่สตีรอยด์ (ยาแก้ปวดข้อ) หรือยากลุ่มปิดกั้นบีตาที่ใช้รักษาโรคความดันเลือดสูง หรือการออกกำลังกายมากเกินไปก็อาจกระตุ้นให้เกิดอาการหอบได้

อาการ  แน่นอึดอัดในหน้าอก หายใจลำบาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงหายใจออก ถ้าเป็นมากๆ จะลุกขึ้นนั่งฟุบกับโต๊ะหรือพนักเก้าอี้และหอบตัวโยน มีเสียงดังฮืดๆ หรือวี้ดๆ ผู้ป่วยมักจะไอมาก มีเสลดเหนียว อาจมีอาการคัดจมูก คันคอ เป็นหวัด จามนำมาก่อน
มักจะเป็นตอนกลางคืน หรือเวลาสัมผัสหรือกินถูกสิ่งที่แพ้ เวลาเครียด หรือออกกำลังมากๆ
ส่วนใหญ่จะไม่มีไข้ ในรายที่มีไข้มักเป็นหืดร่วมกับอาการของไข้หวัด หรือหลอดลมอักเสบ

การแยกโรค อาการหายใจหอบเหนื่อย หรือหายใจลำบาก อาจต้องแยกออกจากสาเหตุอื่น เช่น
๑. ปอดอักเสบ (ปอดบวม) ผู้ป่วยจะมีไข้สูง ไอมีเสมหะ สีเหลือง สีเขียว หรือสีสนิมเหล็ก หายใจหอบ บางครั้งอาจมีอาการเจ็บหน้าอกเวลาหายใจเข้าลึกๆ หรือเวลาไอจามร่วมด้วย
๒. ภาวะหัวใจล้มเหลว ผู้ป่วยจะมีอาการหอบเหนื่อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเวลานอนราบจะหอบมากขึ้น เวลาลุกนั่งหรือนอนหมอนสูงจะค่อยยังชั่ว บางคนอาจมีอาการเจ็บแน่นหน้าอกหรือเท้าบวมทั้ง ๒ ข้างร่วมด้วย
๓. ถุงลมปอดโป่งพอง ผู้ป่วยจะมีอาการเหนื่อยง่ายและไอเรื้อรัง อาการหอบเหนื่อยมักจะกำเริบเวลามีการเคลื่อนไหว เช่น เดิน หรือออกแรงมากๆ มักมีประวัติสูบบุหรี่จัดมานาน
๔. หลอดลมอุดกั้นจากสิ่งแปลกปลอม ผู้ป่วยมักมีอาการไอ หายใจลำบากเกิดขึ้นทันทีทันใด เมื่อมีสิ่งแปลกปลอม (เช่น เมล็ดผลไม้ เศษอาหาร
ลูกอม กระดุม ลูกปัด เหรียญสตางค์) ตกเข้าไปในทางเดินหายใจ
อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะมีอาการหายใจหอบเหนื่อย หรือหายใจลำบากจากสาเหตุข้อใดข้อหนึ่งดังกล่าวข้างต้น ก็ควรไปพบแพทย์โดยเร็ว เพื่อตรวจหาสาเหตุและให้การรักษาที่เหมาะสมต่อไป

การวินิจฉัย  แพทย์จะวินิจฉัยจากการซัก ถามอาการที่เป็น ประวัติการเจ็บป่วยที่เคยเป็น ประวัติครอบครัว (ว่ามีญาติเป็นโรคหืดหรือโรค ภูมิแพ้อื่นๆ หรือไม่) ทำการตรวจร่างกาย โดยเฉพาะ อย่างยิ่งคือ การใช้เครื่องตรวจฟังปอดจะได้ยินเสียงวี้ด (wheezing) ซึ่งเแสดงว่ามีการตีบตัวของหลอดลม
ในรายที่ยังวินิจฉัยไม่ได้แน่ชัด อาจทำการตรวจพิเศษเพิ่มเติม เช่น เอกซเรย์ปอด ทดสอบการทำงานของปอด ตรวจเสมหะ ทดสอบว่าไวต่อสิ่งที่แพ้อะไรบ้าง เป็นต้น

การดูแลตนเอง
๑. ถ้าไม่เคยเป็นโรคหืดมาก่อน หากมีอาการหายใจหอบเหนื่อย หรือหายใจลำบาก ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อการวินิจฉัยสาเหตุให้แน่ชัด
๒. ถ้าเคยเป็นโรคหืดอยู่ก่อน ควรดูแลตนเองดังนี้
๒.๑ ควรติดตามการรักษากับ แพทย์เป็นประจำ เพื่อปรับยาตามขนาดความรุนแรงของโรค และเฝ้าระวังภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น
๒.๒ อย่าใช้ยาชุดหรือยาลูกกลอนด้วยตนเอง เพราะยาเหล่านี้ มักมีสตีรอยด์ผสม แม้ว่าอาจจะใช้ ได้ผล แต่ต้องใช้เป็นประจำ ซึ่งทำให้มีผลข้างเคียงของยาชนิดนี้ตามมา
หากจะซื้อยาใช้ยาเอง ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรให้แน่ใจ
๒.๓ ผู้ป่วยสามารถทำงาน เรียนหนังสือ ออกกำลังกาย เล่นกีฬา เล่นดนตรีได้ตามปกติ ในการออกกำลังกาย ระวังอย่าให้เหนื่อย เกินไป
ถ้ามีประวัติเคยหอบเวลาออกกำลังกาย ควรใช้ยาสูดก่อนออกกำลังกาย ๑๕-๓๐ นาที เพื่อป้องกันอาการหอบกำเริบ
การบริหารร่างกายที่พอเหมาะและการเล่นดนตรี อาจมีส่วนช่วยให้อาการดีขึ้นได้
๒.๔ รักษาร่างกายให้อบอุ่น และพยายามอย่าให้เป็นหวัด เพราะความเย็นและไข้หวัด อาจทำให้อาการกำเริบได้
๒.๕ หลีกเลี่ยงการใช้ยาแอสไพริน ยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่สตีรอยด์ และยาลดความดันกลุ่มปิดกั้นบีตา เพราะอาจกระตุ้นให้อาการหอบกำเริบ เวลาพบแพทย์ด้วยโรคอื่น ควรแจ้งให้แพทย์ทราบว่าเป็นโรคหืดอยู่ เพื่อจะได้หลีกเลี่ยงการสั่งใช้ยาเหล่านี้
นอกจากนี้ ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาระงับการไอและยาแก้แพ้ เพราะจะทำให้เสมหะขับออกยาก มีอาการหอบกำเริบได้
๒.๖ สังเกตว่าแพ้อะไร แล้วพยายามหลีกเลี่ยง รวมทั้งอย่าสูบบุหรี่ หรือถูกควันบุหรี่ ควันธูป ควันท่อไปเสีย
๒.๗ ดื่มน้ำอุ่นมากๆ เพื่อให้เกิดความอบอุ่น แก่ร่างกาย และให้ร่างกายได้รับน้ำเพียงพอ ซึ่งจะช่วยเสมหะขับออกได้ง่าย
๒.๘ พยายามอย่าให้มีเรื่องกระทบกระเทือน จิตใจ หรือคิดมาก จะทำให้จับหืดได้ การทำสมาธิ สวดมนต์ ภาวนา ให้จิตใจสงบ อาจทำให้อาการดีขึ้นได้
๒.๙ หัดหายใจเข้าออกลึกๆ (โดยการเป่าลมออกทางปาก ให้ลมในปอดออกให้มากที่สุด) เป็นประจำ จะทำให้รู้สึกปลอดโปร่ง สดชื่น อาจช่วยให้อาการดีขึ้นได้
๒.๑๐ ควรกลับไปพบแพทย์ก่อนนัด ถ้ามีลักษณะข้อใดข้อหนึ่ง ดังต่อไปนี้
- มีอาการเป็นไข้ เป็นหวัด หรือไอมาก 
- มีอาการหอบมาก หรือใช้ยารักษาโรคหืดแล้วยังไม่ทุเลา
- ขาดยา ในรายที่แพทย์แนะนำให้ใช้ยาประจำ

การรักษา 
แพทย์จะให้การรักษาตามความรุนแรงที่ตรวจพบ ดังนี้
๑. ผู้ป่วยที่มีอาการเพียงเล็กน้อย คือมีอาการหอบน้อยกว่า ๑-๒ ครั้งต่อสัปดาห์ และมีอาการหอบตอนกลางคืนน้อยกว่า ๑-๒ ครั้งต่อเดือน จะให้ยาขยายหลอดลม ได้แก่ ยากระตุ้นบีตา-2 (เช่น เทอร์บูทาลีน ซัลบูทามอล) ชนิดสูดหรือชนิดกินเมื่อมีอาการ
๒. ผู้ป่วยที่มีอาการปานกลาง คือมีอาการหอบมากกว่า ๒ ครั้งต่อสัปดาห์ และมีอาการหอบตอนกลางคืนมากกว่า ๒ ครั้งต่อเดือน เวลาหอบอาจมีผลต่อการทำกิจกรรมและการนอนของผู้ป่วย จะให้ยากระตุ้นบีตา-2 ชนิดสูดหรือชนิดกินเป็นประจำทุก ๖-๘ ชั่วโมง
ถ้าให้ยาแล้ว ยังมีอาการหอบกำเริบ อาจพิจารณาให้ยาลดการอักเสบ ได้แก่ ยาสตีรอยด์ชนิด สูดเพิ่มเติม เพื่อลดการอักเสบของหลอดลม ป้องกันไม่ให้อาการหอบกำเริบ (จึงควรใช้สูดเป็นประจำ ไม่ใช่สูดเมื่อมีอาการกำเริบ)
๓. ในรายที่มีอาการหอบรุนแรงและเรื้อรัง แพทย์อาจพิจารณาให้ยาหลายขนานร่วมกัน ยากระตุ้นบีตา-2 ชนิดสูดร่วมกับชนิดกิน ยาไอพราโทร-เพียมโบรไมด์ชนิดสูด (ซึ่งมีฤทธิ์การขยายหลอดลม) ยาสตีรอยด์ชนิดสูด และบางกรณีอาจจำเป็นต้องให้ยาสตีรอยด์ชนิดกินร่วมด้วยเป็นครั้งคราว
๔. ผู้ที่เป็นโรคหืดเรื้อรัง อาจต้องทำการตรวจสมรรถภาพของปอดด้วยเครื่องตรวจเฉพาะ เพื่อประเมินความรุนแรงของโรค และใช้เป็นแนวทางในการวางแผนการรักษา
๕. สำหรับเด็กที่เป็นโรคหืดเรื้อรัง แต่ไม่รุนแรงอาจให้กินยาคีโตติเฟน (ketotifen) เป็นประจำ ทุกวัน ยานี้เป็นยาแก้แพ้ มีฤทธิ์ป้องกันการอักเสบในหลอดลม ควรกินติดต่อเป็นระยะยาว จะช่วยป้องกันการกำเริบของโรคหืด
๖. ในบางราย แพทย์อาจแนะนำให้ทำ การทดสอบว่าแพ้สารอะไร แล้วฉีดสารที่แพ้นั้นทีละน้อยๆ แต่บ่อยๆ เพื่อลดการแพ้ เรียกว่าการขจัดภูมิไว (desensitization) วิธีนี้จะใช้กับผู้ป่วย
(โดยเฉพาะในเด็กซึ่งได้ผลดี) ที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงสิ่งที่แพ้ และอาการไม่ดีขึ้นหลังการใช้ยา หรือไม่สามารถทนต่อผลข้างเคียงของยา

ภาวะแทรกซ้อน ถ้าเป็นรุนแรงจะมีอาการหอบติดต่อกันนาน ดังที่แพทย์เราเรียกว่า สเตตัสแอสมาติคัส (status asthmaticus) อาจเป็นอันตรายถึงตายได้
ในรายที่เป็นเรื้อรัง อาจทำให้เป็นโรคถุงลมพอง หลอดลมอักเสบ ปอดอักเสบ ปอดแฟบ ปอดทะลุ

การดำเนินโรค 
โรคนี้มักจะเป็นเรื้อรัง และอาจมีอาการกำเริบ เป็นครั้งคราว เมื่อขาดยารักษาหรือมีปัจจัยกระตุ้น เช่น สัมผัสสิ่งที่แพ้ เครียด เป็นโรคติดเชื้อของทางเดินหายใจ
ถ้าทราบสาเหตุการแพ้แน่ชัด เมื่อหลีกเลี่ยงสิ่งที่แพ้ ก็อาจทุเลาได้
ถ้าเริ่มมีอาการตอนเล็ก เมื่อย่างเข้าวัยรุ่นหรือวัยหนุ่มสาว ก็อาจมีโอกาสหายได้
แต่ถ้าเริ่มมีอาการตอนอายุมาก ก็มักจะเป็นเรื้อรังตลอดชีวิต
โรคนี้ถึงแม้จะเป็นเรื้อรัง แต่มักจะไม่มีอันตราย ร้ายแรง มีเพียงส่วนน้อยที่อาจเป็นรุนแรงถึงขั้นเป็นอันตรายได้

การป้องกัน  ผู้ป่วยที่เป็นโรคหืด ควรหาทางป้องกันมิให้อาการกำเริบ โดยการดูแลรักษาตนเองอย่างจริงจังและต่อเนื่อง (ดูหัวข้อ "การดูแลรักษาตนเอง") โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้น ต่างๆ

ความชุก  โรคนี้พบบ่อยในคนทุกวัย พบได้ประมาณร้อยละ ๔_๖ ของคนทั่วไป มักมีอาการครั้งแรกในวัยเด็ก หรือวัยหนุ่มสาว แต่อาจเกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในผู้สูงอายุได้

ข้อมูลสื่อ

308-012
นิตยสารหมอชาวบ้าน 308
ธันวาคม 2547
รศ.นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ