• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

คนธาตุอ่อน

คนธาตุอ่อน


ผมเป็นคนธาตุอ่อนมาตั้งแต่เล็ก หมายถึงว่า มีอาการท้องเสียเป็นประจำ สัปดาห์ละ ๒-๓ ครั้ง เป็นอย่างน้อย จนเข้าใจว่า กินอะไรผิดนิดผิดหน่อยไม่ได้ สังเกตว่าส่วนใหญ่มักมีอาการปวดท้องจี๊ด ต้องวิ่งเข้าห้องน้ำถ่ายท้อง หลังกินอาหาร ๑๕-๓๐ นาที ถ่ายสัก ๒ ที ก็หายไปดังปลิดทิ้ง วิธีการรักษาตนเองสมัยนั้น ก็คือ ขอสตางค์พ่อวิ่งไปซื้อยาหอมที่ร้านขายยาฝั่งตรงข้ามบ้านผม (บ้านเกิดผมที่เมืองเพชร) มาชงกิน ก็รู้สึกหายดี บางครั้งก็กินยาเม็ดซัลฟากัวนิดีน ซึ่งนิยมใช้กินรักษาโรคท้องเดินในยุคนั้น จึงมีความฝังใจว่า ยาพวกนี้ เป็นยาแก้ท้องเสีย พอโตขึ้นเข้ามาเรียนหนังสือในกรุงเทพฯ ก็ยังคงถูกโรคธาตุอ่อนเล่นงานอยู่ไม่ขาด แต่ก็เริ่มเรียนรู้ว่าไม่ใช่โรคสลักสำคัญอะไร ปล่อยให้ถ่าย ๒-๓ ทีก็หายได้เอง จึงไม่ได้ดิ้นรนหายากิน หรือหาหมอรักษา ปัญหาใหญ่ ก็คือ การหาห้องสุขา บ่อยครั้งจะเกิด "เหตุฉุกเฉิน" เวลาอยู่บนรถเมล์ หรือระหว่างเดินทาง จะต้องลงรถหาห้องน้ำตามอาคารใกล้ๆ หรือตามร้านอาหาร จนมีความเชี่ยวชาญว่า ห้องน้ำจะอยู่ซอกไหนมุมไหนของตึก และมีความซาบซึ้งในคำเรียก "สุขา" ต้องขอยกย่องคนไทยคนแรกที่ใช้คำนี้ เทียบดูไม่เห็นมีชาติไหนเรียกแบบไทยเรา ฝรั่งเรียก toilet,. restroom, washroom หรือ water closet (wc) ส่วนในเมืองจีนเรียก "ห้องล้างมือ" ห้องสุขา ให้ความหมายที่ตรงที่สุด คือ เมื่อผ่านพ้นความรู้สึกที่ทุกข์สุดๆ ก็จะพบกับความสุข ตอนเรียนแพทย์ ก็ยังไม่มีความรู้ว่า โรคธาตุอ่อนที่เป็นนั้น คือโรคอะไร ก็ยังเข้าใจว่าอาจเป็นโรคอาหารเป็นพิษแบบไม่รุนแรง และมักจะโทษว่า เพราะไปกินของเผ็ดหรืออาหารที่ไม่สะอาดเข้า จนเมื่อหลังจากจบเป็นแพทย์แล้วอีกหลายปีดีดัก จึงเริ่มรู้จักชื่อโรคที่เรียกว่า "Irritable bowel syndrome (IBS)" แปลเป็นไทยว่า "กลุ่มอาการกระเพาะลำไส้ไวต่อสิ่งเร้า"

โรคนี้เกิดกับคนบางคนที่ไว (แพ้) ต่ออาหารบางชนิด พออาหารพวกนี้ตกถึงกระเพาะเพียง ๑๕-๓๐ นาที ก็จะกระตุ้นให้เกิดกระแสประสาทวิ่งตรงไปลำไส้ใหญ่ ทำให้เกิดอาการปวดท้องถ่ายท้องทันที บางคนก็อาจถูกกระตุ้นจากอารมณ์ที่เครียด (เช่น เวลาสอบ หรือเวลาเดินทาง) สมัยก่อนทางแพทย์เข้าใจว่ามีความเครียดเป็นเหตุ จึงเรียกว่า "โรคท้องเดินจากอารมณ์ (functional diarrhea)"  ปัจจุบันนิยมเรียกว่า โรค IBS แทน โรคนี้มีคนเป็นอยู่หลายเปอร์เซ็นต์ (ตัวเลขเท่าไหร่แน่ๆ ไม่ทราบ) เวลาผมไปบรรยายให้คนฟัง ๒๐๐ คน เมื่อถามถึงโรคนี้จะมีคนยอมยกมือว่าเป็นโรคนี้อยู่สัก ๓-๔ คน (ที่ไม่ยกมือก็อาจมีคนเป็นก็ได้) ๑๐ กว่าปีมาแล้วที่ผมจับต้นเหตุของโรค IBS หรือโรคธาตุอ่อนของผมได้ มีอยู่วันหนึ่งกินหลังจากก๋วยเตี๋ยวแล้วเกิด "เหตุฉุกเฉิน" ขึ้นมา ก็แวบขึ้นมาว่า อาจไวต่อน้ำส้มสายชูที่เติมในก๋วยเตี๋ยวได้ไหม ผมจึงพิสูจน์โดยวันต่อมาไปกินก๋วยเตี๋ยวที่ร้านเดิม แล้วลองไม่ใส่น้ำส้มสายชูดู ก็ปรากฏว่าไม่เป็นไร ตอนหลังได้พิสูจน์อีกหลายครั้ง จนแน่ใจว่าไม่ได้แพ้ของเปรี้ยวหรือของเผ็ด หรืออื่นๆ กระเพาะผม "แพ้" น้ำส้มสายชู แต่กว่าจะไม่กำเริบอีกก็ใช้เวลาอีกนานในการเรียนรู้ว่า น้ำส้มสายชูยังแฝงอยู่ในซอสต่างๆ รวมทั้งน้ำสลัด ทุกวันนี้ตัวเองกลายเป็นคนที่กินง่าย คือ กินอะไรต้องไม่ใส่ซอสปรุงรส และต้องถามทุกครั้งว่าเป็นอาหารปลอดน้ำส้มจริงๆ เวลากินอาหารร่วมโต๊ะกับผู้คน ก็มักจะเล่าเรื่องนี้ให้เพื่อนร่วมโต๊ะฟัง บางครั้งก็พบว่าเพื่อนร่วมโต๊ะก็เป็นคนธาตุอ่อนเช่นกัน บางคนเล่าว่ากินฝรั่งไม่ได้ กินทีไรท้องเสียทุกที บางคนก็ไวต่อกาแฟ ของเผ็ด ของมัน มีกันต่างๆ นานา

การเป็นโรคธาตุอ่อน หรือ IBS นี้ สบายใจได้ว่า ไม่ใช่โรคร้ายแรงอะไร ถึงแม้จะมีเหตุให้ต้องเสี่ยงได้บ่อย (หากไปกินถูกของที่แพ้) ก็ไม่ทำให้เกิดผลแทรกซ้อนแต่อย่างใด เพียงแต่รู้จักหลีกเลี่ยงอาหารที่แพ้ ก็หายได้ บางคนอาจมีอาการท้องผูกสลับท้องเสีย หรือปวดท้อง ท้องอืดบ่อย ก็สามารถบรรเทาด้วยการกินผักผลไม้ (ที่ไม่แพ้) ให้มากๆ ร่วมกับการหลีกเลี่ยงอาหารที่แพ้ (อย่างไรก็ตาม ถ้ามีอาการท้องผูกสลับท้องเสียมาไม่นาน หรือมาเป็นตอนวัยกลางคน ก็ควรจะปรึกษาแพทย์ ให้แน่ใจว่าไม่ใช่โรคร้ายแรงอย่างอื่นเสียก่อน) ถือเป็นโรคที่ไม่ใช่โรค แม้ว่าจะอยู่กับเราไปจนตาย ก็ต้องหาทางเรียนรู้ และอยู่กับมันอย่างมีความสุขให้ได้

ข้อมูลสื่อ

293-002
นิตยสารหมอชาวบ้าน 293
กันยายน 2547
รศ.นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ