• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

BMI นักทำนายสุขภาพ

BMI นักทำนายสุขภาพ


BMI หรือ ดัชนีมวลกาย (Body Mass Index)  เป็นวิธีหนึ่งของการประเมินปริมาณไขมันในร่างกายที่นิยมใช้กันทั่วไป เพื่อประเมินภาวะอ้วนผอมในบุคคลอายุตั้งแต่ 20 ปีขึ้นไป โดยใช้สมการ  
        น้ำหนักตัว (กิโลกรัม
           ส่วนสูง (เมตร)
2
แล้วเปรียบเทียบกับค่าที่กำหนดไว้

  • น้อยกว่า 18.5  = ผอม
  • ระหว่าง 18.5 -24.9 = สมส่วน
  • ระหว่าง 25-29.9 = น้ำหนักเกิน
  • มากกว่า 30   = อ้วน
  • มากกว่า 40  = อ้วนอันตราย

ตัวอย่างเช่น ภราดรมีน้ำหนักตัว 72 กิโลกรัม มีส่วนสูง 185 เซนติเมตร (1.85 เมตร)
เทียบสูตร  =   72        =     72          = 21.05
                  1.85 2            3.42

ตัวเลขที่ได้คือ 21.05 ถือว่าภราดรมีร่างกายสมส่วน
เหตุที่ BMI ได้รับความนิยมมาก แม้เป็นเพียงการประเมินเบื้องต้นก็ตาม เนื่องจาก BMI เป็นดัชนีที่มีความสัมพันธ์กับระดับไขมันที่สะสมอยู่ใต้ผิวหนังในร่างกายของคนเราค่อนข้างดีที่สุด และสามารถคำนวณได้ง่ายๆ ด้วยตัวเอง


BMI กับการชี้วัดภาวะโรคอ้วน
ปัญหาโรคอ้วนในประเทศไทยมีแนวโน้มสูงขึ้นทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ ซึ่งสาเหตุของโรคอ้วนมีหลายปัจจัย เช่น พันธุกรรม สิ่งแวดล้อม วิถีชีวิต การเลี้ยงดู และพฤติกรรมสุขภาพ จากรายงานทางการแพทย์ อาทิ รายงานของ Berenson และคณะ ในการศึกษา Bogalusa Heart Study และรายงานอื่นๆ สรุปได้ว่า เด็กที่อ้วนมีแนวโน้มจะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่อ้วน และคนอ้วนมีความเสี่ยงสูงต่อการเป็นโรคความดันเลือดสูง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคเบาหวาน และโรคมะเร็ง ผลกระทบจากปัญหาโรคอ้วน  ทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมองหาวิธีป้องกันและแก้ไขปัญหานี้ โดยการแสวงหาและพัฒนาเครื่องมือชี้วัดปริมาณไขมันในร่างกายที่เหมาะสมและเชื่อถือได้ สำหรับคนไทย ซึ่งนอกจากจะใช้เป็นเกณฑ์บอกขนาดของปัญหาแล้ว เพราะถึงแม้จะมีเครื่องมือวัด และสมการที่สามารถหยิบมาใช้ได้สะดวก แต่ทั้งหมดเป็นการพัฒนาโดยนักวิจัยชาวตะวันตก การนำไปใช้กับชนชาติที่แตกต่างออกไป ผลที่ได้ย่อมขาดความเที่ยงตรง เนื่องจากแต่ละเผ่าพันธุ์มีรูปแบบการเจริญเติบโตและระดับกิจกรรมของร่างกายที่แตกต่างกัน แม้ในกลุ่มประเทศเอเชียด้วยกันเอง  ดังรายงานการวิจัยของ  Deurenberg และคณะ ที่ได้ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างเปอร์เซ็นต์ไขมันในร่างกายกับ BMI ในกลุ่มตัวอย่างต่างเชื้อชาติพบว่า คนจีนควรมีค่า BMI ที่ 23.1 คนไทย ที่ 22.1 และคนอินโดนีเซีย ที่ 21.8 ขณะที่ค่ามาตรฐานที่ได้มีการวิจัยโดยชาวตะวันตกนั้น กำหนดไว้ที่ 25

แม้การใช้ BMI จะเป็นที่นิยมในการวัดปริมาณไขมันในร่างกาย เนื่องจากใช้ง่าย และได้ค่าที่น่าเชื่อถือ แต่วิธีการนี้ไม่เหมาะในคนที่มีปริมาณกล้ามเนื้อมาก เช่น นักกีฬา เนื่องจากอาจได้ค่าที่ผิดพลาดได้ เพราะใช้ค่าความสูงยกกำลังสองไปหารน้ำหนักร่างกาย อย่างไรก็ตามการใช้ BMI เพื่อดูภาวะอ้วนในเด็กและวัยรุ่นมีความแตกต่างออกไป แม้ในรายงานการประชุมเกี่ยวกับการจัดทำเกณฑ์วัดและประเมินภาวะอ้วนในเด็กและวัยรุ่นของ International Obesity Task Force ในปี 1997 จะสรุปว่า BMI เป็นวิธีที่ใช้ได้ดีในเด็ก แต่เนื่องจากเด็กมีการเปลี่ยนแปลงความสูงตามอายุ และมีการเข้าสู่ช่วงวัยรุ่นที่แตกต่างกัน โดยเด็กหญิงจะเข้าสู่ช่วงวัยรุ่นก่อนเด็กชาย จึงมีการเสนอให้ใช้ BMI for Age ซึ่งขณะนี้มีความพยายามพัฒนา BMI for Age สำหรับใช้กับเด็กในหลายประเทศ รวมถึงความพยายามที่จะให้มี International BMI for Age ด้วย

BMI กับการชี้วัดโรคหัวใจและหลอดเลือด
จากรายงานที่ว่า คนอ้วนเสี่ยงต่อการเป็นโรคความดันเลือดสูง โรคหัวใจและหลอดเลือด และโรคเบาหวาน ดังนั้น ค่า BMI ระหว่าง 25-29.9 ที่บอกถึงภาวะน้ำหนักเกิน ค่า BMI ตั้งแต่ 30 ขึ้นไปที่บอกถึงภาวะอ้วนจนถึงอ้วนอันตราย จึงเป็นดัชนีชี้วัดความเสี่ยงของการเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด และโรคที่เกี่ยวเนื่องจากการนำข้อมูลจากงานวิจัยระบาดวิทยาของโรคหัวใจและหลอดเลือดในเอเชีย (Inter Asia) นำโดยนายแพทย์ไพบูลย์ สุริยะวงศ์ไพศาล มาพิจารณาจะพบว่า ค่า BMI ที่ 23 และ 25 คือตัวชี้วัดความเสี่ยงของการเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด เราพบว่าค่า BMI ที่ ๒๓ ก็เสี่ยงต่อการเป็นเบาหวานแล้ว ขณะที่โรคไขมันในเลือดสูง ค่า BMI อยู่ที่ 25 นั่นแสดงว่า คนที่มีค่า BMI 25 มีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด" เมื่อพบว่าเบาหวานเป็นจุดเริ่มต้นของการเกิดโรคความดันเลือดสูงและไขมันในหลอดเลือด ดังนั้นเบาหวานก็คือตัวที่ต้องเฝ้าระวัง 

BMI กับการลงพุง
เพื่อเพิ่มค่าความแม่นยำและเที่ยงตรงกับให้กับ BMI ในการพยากรณ์โรคที่เกี่ยวเนื่องกับความอ้วน เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันเลือดสูง โรคหัวใจและหลอดเลือด ได้มีการนำการวัดเส้นรอบเอวมาใช้เป็นตัวชี้วัดประกอบอีกอันหนึ่ง ด้วยมีการค้นพบว่า คนอ้วนโดยเฉพาะบริเวณท้องหรืออ้วนลงพุง เสี่ยงต่อการเป็นโรคเบาหวาน หรือความดันเลือดสูงมากกว่าคนที่อ้วนปกติ ซึ่งขณะนี้กำลังศึกษาหาเหตุผลกันอยู่ว่า เหตุใดไขมันที่ไปอยู่บริเวณหน้าท้อง จึงส่งผลต่อการเป็นโรคความดันลือดสูงและเบาหวานเพิ่ม 

BMI กับโรคกระดูกพรุน
สำหรับโรคกระดูกพรุนแล้ว BMI ไม่ใช่ตัวประเมินหลัก แต่น้ำหนักและอายุของบุคคลนั้นๆ สามารถบอกความเสี่ยงในการเป็นโรคกระดูกพรุน และอาจเกิดกระดูกหักในอนาคตได้ แต่ความเสี่ยงเป็นไปในทางตรงกันข้ามกับโรคอื่นๆ คือ  ยิ่งมีน้ำหนักมาก ยิ่งมีความหนาแน่นของกระดูกมาก และเสี่ยงต่อการเป็นโรคกระดูกพรุนน้อย ในขณะที่โรคความดันเลือดสูง หัวใจ เบาหวานนั้น ผู้มีน้ำหนักมาก (ที่ไม่สัมพันธ์กับส่วนสูง) มีแนวโน้มที่จะเสี่ยงต่อโรคมากกว่า ผู้มีน้ำหนักน้อย

ค่า BMI ประเทศไทยต่างประเทศ
จากการศึกษาเพื่อดูความสัมพันธ์ระหว่างค่า BMI  กับอัตราเสี่ยงของการตายด้วยโรคต่างๆ ผลที่ได้ออกมาเป็นรูปตัว J นั่นคือคนที่มี BMI ต่ำ จะเสี่ยงจากการตายด้วยโรคติดเชื้อ เนื่องจากมีภูมิต้านทานต่ำ ขณะที่คนที่มี BMI สูง ก็เสี่ยงจากการตายด้วยโรคความดันเลือดสูง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคเบาหวาน เป็นต้น และผลสรุปจากการศึกษาพบว่า คนที่มีความเสี่ยงจากการเป็นโรคต่างๆ น้อยที่สุดมีค่า BMI อยู่ที่ระหว่าง 20-24.9 อย่างไรก็ตาม ค่า BMI 20-24.9 พัฒนาขึ้นมาจากการวิจัยทางด้านองค์ประกอบร่างกายของชาวตะวันตก ซึ่งมีลักษณะและโครงสร้างร่างกายแตกต่างชาวเอเชีย จึงมีการศึกษาในคนเอเชียโดยองค์การอนามัยโลก โดยรวบรวมข้อมูลของคนเอเชียทั้งหมดรวมทั้งของไทยด้วย เพื่อดูความสัมพันธ์ระหว่างค่า BMI กับปริมาณของไขมันในร่างกาย  ผลการวิจัยพบว่า คนผิวขาวและคนเอเชียที่มีค่า BMI เท่ากันปริมาณไขมันที่สะสมในร่างกายต่างกัน หมายความว่า คนเอเชียแม้มี BMI ต่ำๆ ก็ดูว่าอ้วนแล้ว ต่อมามีการศึกษาทางด้านภาวะการขาดพลังงาน ซึ่งมีผลต่อสมรรถภาพการทำงานได้ค้นพบว่า ค่า BMI น่าจะลงต่ำได้ถึง 18.5  จากผลการศึกษาดังกล่าว องค์การอนามัยโลกจึงประกาศค่า BMI ที่เหมาะสมเป็น 5 ช่วง คือ 18-23, 23-24.9, 25-29.5, มากกว่า 30 และ มากกว่า 40

BMI กับโจทย์วิจัยในวันนี้
แม้จะพบความสัมพันธ์ของค่า BMI กับภาวะเสี่ยงของการเกิดโรคอันเนื่องมาจากพฤติกรรมแต่ในงานวิจัยโดยทั่วไป มักใช้ค่า BMI เป็นตัวตั้งคำถามของการวิจัยรอง หากต้องการหาคำตอบว่า BMI สามารถเป็นตัวชี้วัดภาวะเสี่ยงต่างๆ ได้หรือไม่ อย่างไร ดร.วงสวาทจึงเสนอว่า ต้องเอา BMI เป็นคำถามหลัก รวมทั้งต้องมีการศึกษาหาค่า BMI ที่เหมาะสมสำหรับคนไทยอย่างเป็นระบบและจริงจังมากกว่านี้ เพราะการศึกษาที่มีอยู่ ไม่ได้เป็นการศึกษาขนาดใหญ่ที่ถือได้ว่าเป็นตัวแทนของคนไทยทั้งหมด เมื่อใดที่สังคมไทยมีค่า BMI ที่เหมาะสม ค่า BMI นี้จะเป็นค่าที่บอกเกณฑ์การเฝ้าระวังโรคต่างๆ รวมถึงใช้ในเรื่องของการกำหนดแผนการทำงาน เช่น ถ้า BMI ของกลุ่มประชากรมาถึงระดับนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องมีกิจกรรมอะไรบ้างในการเฝ้าระวังหรือรักษา อย่างไรก็ตาม ประโยชน์ของค่า BMI ที่มีต่อคนไทยที่เห็นชัดเจนที่สุดขณะนี้ก็คือ เป็นตัวชี้วัดให้เห็นว่า ตัวเองนั้นอ้วนแล้วหรือยัง ตัวเองเสี่ยงต่อการเป็นโรคหรือเปล่า และดูแลตัวเองดีหรือยัง

ข้อมูลสื่อ

293-003
นิตยสารหมอชาวบ้าน 293
กันยายน 2547
ผศ.ดร.วงสวาท โกศัลวัฒน์