• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ปราณยามะ 5

ปราณยามะ 5


เราได้อธิบายเรื่องพื้นฐานเกี่ยวกับลมหายใจกันมาหลายฉบับแล้ว ไม่ว่าจะเป็นกลไกการหายใจอัตโนมัติ การทำความรู้จักกับการหายใจด้วยทรวงอก (ใช้กล้ามเนื้อซี่โครงหายใจ) การหายใจด้วยหน้าท้อง (ใช้กล้ามเนื้อกะบังลมหายใจ)  คราวนี้เรามาเข้าเรื่องปราณยามะกันเสียที ปราณ หมายถึง ลมหายใจ  ยามะ หมายถึง การควบคุม ดังนั้น ปราณยามะ หมายถึง การควบคุมลมหายใจ  คำถามที่เราควรทำความเข้าใจให้ถ่องแท้ก็คือ โยคะควบคุมลมหายใจไปเพื่ออะไร?  แม้ได้เคยกล่าวไว้แล้วในฉบับที่ 290 แต่ก็ขอกล่าวย้ำอีกครั้ง โยคีฝึกปราณยามะไปเพื่อหวังที่จะควบคุม "จิต" (ซึ่งควบคุมได้ยาก) ของตนเองให้ได้ ดังนั้น ปราณยามะไม่ใช่การฝึกเพื่อเติมอากาศ เติมออกซิเจนให้กับร่างกาย 

ในทางตรงกันข้าม ปราณยามะเป็นการฝึกเพื่อลดอากาศที่จะเข้าสู่ร่างกาย ดังที่ปตัญชลีโยคะสูตร (PYS)1 อธิบายว่า "ปราณยามะ คือ ช่องว่าง ระหว่างลมหายใจเข้า และลมหายใจออก หรือก็คือการหยุดลมหายใจ" (PYS 2.49) เพราะโยคะเชื่อว่า ณ ที่ช่องว่างตรงนี้นี่เอง ร่างกายของเราสงบนิ่ง (เพราะเราฝึกอาสนะมาจนร่างกายนั่งนิ่งได้ดี) ลมหายใจของเราสงบนิ่ง (ขณะที่เรากำลังฝึกปราณยามะ) ผลที่ได้คือ จิตสงบนิ่ง  (เราฝึกจิตตรงๆ ไม่ได้ เราจึงต้องอาศัยผ่านทางการควบคุมลมหายใจ)  ดังอธิบายในโยคะสูตรว่า "โดยการฝึกปราณยามะ ควบคุมลมหายใจเข้า-ออก ควบคุมการหยุดลมหายใจ จิตก็จะปีติ และ สงบ" "(หลังจากนั้น) จิตก็พร้อม ที่จะเข้าสู่ สมาธิ" (PYS 2.53) 
 
เทคนิคการฝึกปราณยามะมีอยู่หลายชนิด แม้มีรายละเอียดแตกต่างกัน แต่ก็มีหลักการทำนองเดียวกันคือ เป็นการหายใจช้า  การหายใจที่ช้านี้ เกิดขึ้นจากการควบคุม ซึ่งทำได้ 2 กรณี คือ 

1. ควบคุมอัตราส่วนของการหายใจ 

2. สร้างอุปสรรคกีดขวางทางเดินหายใจ   

ในการสร้างอุปสรรคกีดขวาง นิยมทำกัน 2 จุด คือ 

1. ที่บริเวณปลายจมูก 

2. ที่บริเวณหลอดคอ (ฝา กล่องเสียง)  


ปตัญชลียังได้กล่าวถึงวิธีการฝึกปราณยามะด้วย ว่า "ปราณยามะมี ๓ ขั้นตอน หายใจเข้า หายใจออก หยุดหายใจ ทั้งหมดทำด้วยจังหวะที่แน่นอน  จังหวะที่สม่ำเสมอ เป็นไปอย่างช้าๆ ค่อยๆ นานขึ้น ค่อยๆ เพิ่มจำนวนรอบมากขึ้น" (PYS 2.50) ก่อนจะเริ่มฝึกปราณยามะพึงระลึกว่า การควบคุมลมหายใจเป็นเทคนิคที่ละเอียดอ่อนกว่าท่าอาสนะ  ท่าอาสนะนั้น เป็นเรื่องของกลุ่มระบบประสาทส่วนกลาง central nervous system ที่เราสามารถกำหนดควบคุมได้  ส่วนปราณยามะนั้นเชื่อมโยงกับกลุ่มระบบประสาทอัตโนมัติที่สลับซับซ้อนกว่ามาก คำแนะนำของเราก็คือ ให้ฝึกปราณยามะด้วยความระมัดระวังอย่างยิ่ง ให้ฝึกทีละขั้น ค่อยเป็นค่อยไป ที่สำคัญ หากรู้สึกอึดอัดติดขัดต้องหยุดทันที ห้ามฝืนตนเองโดยเด็ดขาด  พึงระลึกรู้ว่า เรากำลังฝึกปราณยามะไปเพื่อทำให้ตนเองดีขึ้น มิใช่ทำให้ตนเองแย่ลง หรือถึงขนาดทำอันตรายต่อตนเอง ที่สำคัญ ฝึกปราณยามะในสถานที่และเวลาที่กำหนดไว้เท่านั้น ตำราโยคะ หฐปฏิปิกะ (HP)2 ระบุว่า "ให้ฝึกปราณยามะได้ (ไม่เกิน) วันละ 4 เวลาคือ เช้า เที่ยงวัน เย็น และเที่ยงคืน" (PH 2.11) กล่าวคือ ฝึกปราณยามะเฉพาะในสถานที่ที่เรากำหนดเอาไว้ใช้ฝึกเท่านั้น ฝึกปราณยามะเฉพาะเวลาที่กำหนดเท่านั้น  ไม่ฝึกพร่ำเพรื่อ  ไม่ใช่คิดอยากจะฝึกก็ฝึก เพราะอาจจะส่งผลเสียต่อตัวผู้ฝึก  (ในเวลาปกติ มนุษย์ควรจะหายใจตามธรรมชาติ หายใจโดยอัตโนมัติ) การบ้านของฉบับนี้ เมื่อเรารู้แล้วว่า รูปแบบของการฝึกปราณยามะวิธีหนึ่ง คือ การควบคุมอัตราส่วนของลมหายใจ ในเบื้องต้น สำหรับผู้สนใจปราณยามะให้ลองฝึก ดังนี้

1. กำหนดเวลาฝึกปราณยามะที่แน่นอน เช่น ตอนเช้า หลังจากที่เราฝึกอาสนะเสร็จ และผ่อนคลายในท่าศพ ๑๐ นาทีเรียบร้อยแล้ว  หรือบางคนอาจกำหนดเวลาฝึกปราณยามะตอนค่ำ ก่อนนอน

2. ฝึกจากท่าอาสนะเพื่อสมาธิ  ฝึกหายใจด้วยหน้าท้อง (หายใจเข้าท้องพอง หายใจออกท้องแฟบ) หรือหายใจด้วยทรวงอก (หายใจเข้าทรวงอกแอ่น หายใจออกทรวงอกปิด) โดยให้ควบคุมอัตราส่วนลมหายใจของตนเอง เริ่มจากอัตราส่วน 1 ต่อ 1  (หายใจเข้าใช้เวลาเท่าใด หายใจออกใช้เวลาเท่ากัน)

3. พึงระลึกถึงความปลอดภัยเป็นหลัก ไม่ฝืนโดยเด็ดขาด หลักในการสังเกตว่าเราฝืนตัวเองเกินไปหรือไม่ คือให้ดูว่าเราฝึกทำ 10 ครั้งต่อเนื่องกันได้โดยไม่รู้สึกอึดอัด ถ้าทำได้ไม่ถึง 10 ครั้ง หมายความว่าการฝึกนั้นมากไปสำหรับเรา 

4. ไม่คำนึงถึงปริมาณมากเกินไป ฝึกไม่เกินครั้งละ ๑๐ นาทีก็เพียงพอ กุญแจสำคัญที่เราจะได้ประโยชน์จากการฝึกปราณยามะ (และทุกเทคนิคของโยคะ) คือ ความสม่ำเสมอ ต่อเนื่องเป็นเวลานานโดยไม่หยุด และด้วยความจริงใจ

5. ค่อยๆ เพิ่มปริมาณ โดยดูจากตาราง ดังนี้


1 PYS = หนังสือโยคะสูตร ซึ่งรวบรวมโดยมหาฤษีปตัญชลี (ตัวอย่าง PYS 2.49 = บาที่ 2 ประโยคะที่ 49)
2 PYS = หนังสือโยคะ หฐปฏิปิกะ (ตัวอย่าง HP 2.11 = บที่ 2 ประโยคที่ 11)

ข้อมูลสื่อ

293-011
นิตยสารหมอชาวบ้าน 293
กันยายน 2547
โยคะ
กวี คงภักดีพงษ์