• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

อัมพาต เบลล์

บางคนอยู่ๆ นอนตื่นขึ้นมา อาจสังเกตว่ามีอาการ ปากเบี้ยว ปิดตาและยักคิ้วข้างหนึ่งไม่ได้ อาการเหล่านี้มักมีสาเหตุจากโรคอัมพาต เบลล์ อาการที่เกิดขึ้นถึงแม้จะดูน่าตกใจกลัว แต่จริงๆ แล้วเป็นโรคที่ไม่มีอันตรายร้ายแรง และหายได้สนิทเป็นส่วนใหญ่

-ชื่อภาษาไทย อัมพาตเบลล์, เบลล์พัลซี, อัมพาตใบหน้าครึ่งซีก, โรคปากเบี้ยว
-ชื่อภาษาอังกฤษ Bell's palsy*, Idiopathic facial palsy
-สาเหตุ เกิดจากเส้นประสาทสมองเส้นที่ ๗ ที่เรียกว่า "เส้นประสาทใบหน้า" (facial nerve) ซึ่งมาเลี้ยงกล้ามเนื้อบริเวณใบหน้าไม่ทำงานชั่วคราว ทำให้กล้ามเนื้อบริเวณใบหน้าครึ่งซีกนั้นเป็นอัมพาต ส่วนสาเหตุของการเกิดโรคนี้ยังไม่ทราบแน่ชัด สันนิษฐานว่าอาจเกิดจากมีการติดเชื้อไวรัส โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือเชื้อเริมชนิดที่ ๑ (HSV-1) ของเส้นประสาท ดังกล่าว ทำให้เส้นประสาทเกิดการอักเสบและสูญเสียหน้าที่ชั่วคราว

-อาการ อาการมักเกิดขึ้นฉับพลัน โดยผู้ป่วยอยู่ดีๆ (เช่น นอนตื่นขึ้นมา) ก็สังเกตเห็นปากเบี้ยวข้างหนึ่ง กลืนน้ำหรือบ้วนปากจะมีน้ำไหลออกที่มุมปาก เวลายิงฟันหรือยิ้ม จะเห็นมุมปากข้างนั้นตก ตาข้างเดียวกันนั้นจะปิดไม่มิด คิ้วข้างเดียวกันนั้นยักไม่ได้ ลิ้นซีกเดียวกันจะชาและรับรสไม่ได้ หูข้างเดียวกันอาจมีอาการปวดและอื้อ
แต่ผู้ป่วยรู้สึกตัวดี แขนขามีแรงดีและทำงานได้ตามปกติทุกอย่าง และถ้าอยู่เฉยๆ (ไม่พูดไม่ยิ้ม ไม่หลับตาหรือยักคิ้ว) ก็จะดูไม่ออกว่ามีความผิดปกติ
บางรายก่อนมีอาการอัมพาตปากเบี้ยว ๒-๓ วัน อาจมีอาการปวดบริเวณหน้าหรือหลังใบหูข้างที่ เป็นอัมพาต

-การแยกโรค โรคนี้ควรแยกออกจากสาเหตุอื่นๆ เช่น
๑. อัมพาตใบหน้าครึ่งซีก (facial palsy) ที่เกิดจากการได้รับบาดเจ็บหรือการผ่าตัดถูกเส้นประสาทใบหน้า หรือเกิดจากมีการอักเสบของบริเวณหูแล้วลุกลามถูกเส้นประสาทดังกล่าว หรือเกิดจากโรคงูสวัดหรือโรคเรื้อนที่ขึ้นบริเวณใบหน้าแล้วทำให้เส้นประสาทใบหน้าเกิดการอักเสบ หรือเกิดจากเป็นเนื้องอก ในบริเวณหูหรือใบหน้าซึ่งกระทบกระเทือนถูกเส้นประสาทดังกล่าว
สาเหตุเหล่านี้ ทำให้เกิดอาการอัมพาตของใบหน้าครึ่งซีกแบบเดียวกับโรคอัมพาตเบลล์ ต่างกันเพียงแต่อัมพาตเบลล์จะเกิดขึ้นฉับพลันโดยไม่พบสาเหตุที่ชัดเจน
ส่วนวิธีการรักษาก็แตกต่างกันไป ตามแต่สาเหตุที่พบ
๒. โรคอัมพาตครึ่งซีก (hemi-plegia) หรือโรคอัมพฤกษ์ อัมพาต ผู้ป่วย จะมีอาการแขนขาซีกใดซีกหนึ่งอ่อนแรง และบางรายอาจพบว่ามีอาการปากเบี้ยวร่วมด้วย แต่ต่างจากอัมพาตเบลล์ ที่ยังหลับตาและยักคิ้วได้ ส่วนอัมพาตเบลล์จะมีแขนขา ๒ ข้าง แข็งแรงเป็นปกติดี

-การวินิจฉัย แพทย์มักจะวินิจฉัยจากลักษณะ อาการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อใบหน้าเพียงซีกใดซีกหนึ่ง และแขนขา ๒ ข้างแข็งแรงดี โดยตรวจไม่พบสาเหตุที่ชัดเจน เช่น ไม่มีประวัติการบาดเจ็บ การผ่าตัด ไม่เป็นงูสวัด หรือโรคเรื้อน หรือเนื้องอกที่บริเวณใบหน้า เป็นต้น
ในรายที่แยกแยะสาเหตุไม่ได้แน่ชัด อาจทำการตรวจพิเศษเพิ่มเติม เช่น ตรวจเลือด เอกซเรย์ ถ่ายภาพด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) ตรวจคลื่นไฟฟ้ากล้ามเนื้อ (EMG) เป็นต้น

-การดูแลตนเอง เมื่อสงสัยมีอาการอัมพาตของใบหน้า ควรรีบไปพบแพทย์ เพื่อการตรวจวินิจฉัย ที่แน่ชัด
ถ้าพบว่าเป็นอัมพาตเบลล์ ผู้ป่วยไม่จำเป็นต้อง เข้าพักรักษาตัวที่โรงพยาบาล และควรปฏิบัติตัวดังนี้
๑. ใช้ยารักษาตามคำแนะนำของแพทย์
๒. ติดตามการรักษากับแพทย์ตามนัดอย่าได้ขาด
๓. ทำการบริหารกล้ามเนื้อใบหน้า ด้วยการทำท่าแยกเขี้ยวยิงฟัน และใช้มือยกมุมปากข้างที่เป็น อัมพาตขึ้นตามไปด้วย ทำวันละ ๒-๓ ครั้ง ครั้งละ ๕-๑๐ นาที
๔. สามารถดำเนินกิจวัตรประจำวันได้เป็นปกติ และไม่ต้องกังวลว่าจะแพร่โรคในคนข้างเคียง เพราะไม่ใช่โรคติดต่อ
๕. ส่องกระจกดูอาการเปลี่ยน แปลงทุกวัน มักจะพบว่ากล้ามเนื้อใบหน้าตอนบนจะเริ่มฟื้นตัวได้ก่อน โดยจะสังเกตว่า สามารถยักคิ้ว และปิดตาได้ก่อนที่จะหายปากเบี้ยว ดังนั้น ลองยักคิ้วและหลับตาดูทุกวัน ถ้าพบว่าเริ่มทำได้ ก็แสดงว่ามีโอกาสหายได้ในเร็ววัน

-การรักษา แพทย์จะให้การรักษาดังนี้
๑. ให้กินยาลดการอักเสบ ได้แก่ เพร็ดนิโซ-โลน นานประมาณ ๑๐ วัน ยานี้ถ้าให้ตั้งแต่ภายใน ๔ วันแรก จะช่วยลดการอักเสบของเส้นประสาทใบหน้า ทำให้อาการกล้ามเนื้อที่เป็นอัมพาตฟื้นตัวได้เร็ว ถ้าให้ช้ากว่านั้น อาจได้ผลไม่แน่นอน
เนื่องจากยานี้มีข้อควรระวังในการใช้ และอาจมีผลข้างเคียงร้ายแรงหากใช้ไม่ถูกต้อง จึงควรให้แพทย์เป็นผู้พิจารณาสั่งใช้ตามความเหมาะสม ไม่ควรซื้อใช้เอง
๒. ใช้ยาป้ายตาที่เข้ายาปฏิชีวนะ ใส่ตาข้างที่ปิดไม่มิด วันละ ๒-๓ ครั้ง เพื่อป้องกันไม่ให้ตา ได้รับการระคายเคืองจนเกิดการอักเสบ หรือจะ ใส่แว่นกันแดด หรือใช้ผ้าสะอาดปิดตาข้างนั้นไว้ ก็ได้
๓. ในรายที่เป็นมาก อาจต้องให้การรักษาทางกายภาพบำบัด เช่น ใช้ไฟฟ้ากระตุ้นกล้ามเนื้อ ที่เป็นอัมพาต
๔. แพทย์จะนัดผู้ป่วยมาติดตามการรักษาเป็นระยะๆ จนกว่าจะแน่ใจว่าหายดี โดยทั่วไปมักจะใช้เวลา ๑-๓ สัปดาห์

-ภาวะแทรกซ้อน มักจะไม่มีอาการแทรกซ้อนร้ายแรง
ที่อาจพบได้คือ ตาอักเสบเนื่องจากปิดตาไม่มิด อาจมีฝุ่นหรือแมลงเข้าไประคายเคือง
บางรายอาจมีอาการปากเบี้ยวอย่างถาวร

-การดำเนินโรค โรคนี้ร้อยละ ๘๐-๘๕ จะมีอาการดีขึ้นได้ภายใน ๑-๓ สัปดาห์ และจะหายได้สนิทภายใน ๓-๖ เดือน ถึงแม้ไม่ได้ใช้ยารักษา ก็มักจะหายได้เองตามธรรมชาติ (เมื่อการอักเสบของเส้นประสาทใบหน้าจากเชื้อไวรัสทุเลาไปเอง) แต่การใช้ยาลดการอักเสบอาจช่วยให้โรคหายเร็วขึ้น
มีเพียงส่วนน้อยประมาณร้อยละ ๑๕ ที่อาจใช้เวลาในการฟื้นตัว บางรายอาจกินเวลาตั้งแต่ ๒ เดือนถึง ๒ ปี อายุยิ่งมากยิ่งหายช้า
ส่วนมากจะหายได้สนิท ส่วนน้อยที่อาจมีร่องรอย (ปากเบี้ยว) ให้เห็นอยู่บ้าง ถ้าจำเป็นอาจต้องแก้ไขด้วยการผ่าตัด
บางรายอาจมีอาการกำเริบซ้ำได้อีก

-การป้องกัน ในปัจจุบันยังไม่มีวิธีป้องกันที่ได้ผล แต่เมื่อมีอาการเกิดขึ้น ควรรีบไปให้แพทย์ทำการรักษา เพื่อช่วยให้ฟื้นตัวเร็ว และลดภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น

-ความชุก โรคนี้พบได้พอประมาณในคนทั่วไป (ในสหรัฐอเมริการพบประมาณปีละ ๔๐,๐๐๐ ราย) พบมากในคนอายุ ๒๐-๕๐ ปี ชายกับหญิงมีโอกาสเป็นพอๆ กัน
ผู้ที่เป็นเบาหวานมีโอกาสเป็นโรคนี้มากกว่าคน ทั่วไปประมาณ ๔ เท่า หญิงตั้งครรภ์ในระยะไตรมาส ท้าย (อายุครรภ์ ๗-๙ เดือน) มีโอกาสเสี่ยงต่อการเป็น โรคนี้มากขึ้น ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง (เช่น ผู้ป่วยเอดส์) ก็เสี่ยงต่อการเป็นโรคนี้ และการกำเริบของโรคซ้ำ
โรคนี้อาจพบร่วมกับโรคอื่นๆ เช่น ไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ ความดันเลือดสูง หูชั้นกลางอักเสบ เรื้อรัง เป็นต้น
 

ข้อมูลสื่อ

311-009
นิตยสารหมอชาวบ้าน 311
มีนาคม 2548
รศ.นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ