• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ผักหวานป่า : สุดยอดผักของไทยและเอเชียอาคเนย์

ผักหวานป่า : สุดยอดผักของไทยและเอเชียอาคเนย์


คอลัมน์ที่ผู้เขียนรับผิดชอบอยู่นี้ ได้นำเสนอเรื่องราวของพืชที่คนไทยใช้ปรุงอาหารในฐานะผักติดต่อกันมาหลายสิบตอนแล้ว แต่ยังไม่เคยนำผักแต่ละชนิดมาเปรียบ เทียบกันเลยว่ามีความดีเด่นหรือ ได้รับความนิยมมากน้อยกว่ากันอย่างไร ทั้งนี้เพราะเชื่อว่าผักแต่ละชนิดต่างก็มีคุณค่าในตัวเองที่แตกต่างกันออกไป ยากที่จะนำมาแข่งขันกันได้ และคงไม่มีความจำเป็นหรือมีประโยชน์อะไร ส่วนด้านความนิยมนั้นเป็นเรื่องรสนิยมของแต่ละคน อาจวัดได้โดยการสำรวจความเห็น หรือที่เรียกในภาษาอังกฤษว่าโพลล์ (poll) นั่นเอง เช่น การหยั่งเสียงประชาชนก่อนการเลือกตั้ง เป็นต้น

เท่าที่ทราบจนถึงขณะนี้ ยังไม่มีการหยั่งเสียงคนไทยถึงความนิยมในการบริโภคผักแต่ละชนิดว่าผักชนิดใดได้รับความนิยมสูงสุดหรือ อยู่ใน ๑๐ อันดับแรก (Top Ten) อันอาจเรียกได้ว่าเป็นสุดยอดผักของคนไทย อย่างไรก็ตามหากมีการหยั่งเสียงหาความนิยมในผักแต่ละชนิดของคนไทยขึ้นมาจริงๆ ก็คาดหมายล่วงหน้าได้เลยว่า ผักชนิดหนึ่งคงติดอันดับยอดนิยมไม่ต่ำกว่าอันดับที่สามอย่างแน่นอน ผักชนิดนั้น ก็คือ ผักที่คนไทยภาคกลางเรียกว่า ผักหวานป่า นั่นเอง

ผักหวานป่า : ช้างเผือกจากพงไพร
ผักหวานป่า มีชื่อวิทยาศาสตร์ ว่า Melientha suavis Pierre. อยู่ในวงศ์ Opiliaceae ซึ่งเป็นวงศ์พิเศษที่ยังไม่มีผักชนิดใดหรือผลไม้ชนิดใดที่ผู้เขียนรู้จักอยู่ในวงศ์นี้เลย เรียกได้ว่าพืชในวงศ์นี้ผู้เขียนรู้จักเพียงผักหวานป่านี้เท่านั้น แสดง ให้เห็นความพิเศษของผักหวานป่าว่ามีลักษณะหลายประการแตกต่างจากผักชนิดอื่นๆอย่างชัดเจน รวมทั้งรสชาติที่คนไทยชื่นชอบนั้นด้วย

ผักหวานป่าเป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็ก สูง ๔-๑๑ เมตร เนื้อไม้แข็ง ผิวเปลือกเรียบ กิ่งอ่อนผิวสีเขียวเข้ม เมื่อแก่เปลี่ยนเป็นสีเทาอมน้ำตาลอ่อน เป็นพืชผลัดใบตามฤดูกาล จึงสะสมอาหารไว้ที่รากและลำต้นได้มากกว่าต้นไม้ทั่วไป ใบของผักหวานป่าเป็นใบเดี่ยว รูปรียาวหรือรูปไข่ กว้าง ๒.๕-๕ เซนติเมตร ยาว ๖-๑๒ เซนติเมตร ปลายใบมนหรือแหลม ฐานใบสอบเรียว ก้านใบยาว ๑-๒ มิลลิเมตร ใบอ่อนสีเขียวอ่อน ใบแก่สีเขียวเข้ม ดอกเป็นช่อยาว ออกจากกิ่งหรือซอกใบ ก้านช่อดอกยาว ๑๕-๒๐ เซนติเมตร มีใบประดับรูปไข่ปลายแหลม ดอกแยกเพศอยู่บนก้านดอกเดียวกัน ดอกตัวผู้มีกลีบสีเขียวอ่อน เกสรสีเหลือง ดอกตัวเมียมีกลีบดอกสีเขียวเข้ม ก้านดอกสั้นกว่าดอกตัวผู้ ออกดอกระหว่างเดือนธันวาคมถึงมีนาคม ผลผักหวานป่ามีผลเดี่ยวอยู่บนช่อยาว (ช่อดอกเดิม) ผลรูปไข่ ขนาดกว้าง ๑.๕-๑.๗ เซนติเมตร ยาว ๒.๓-๓ เซนติเมตร ผลอ่อน  สีเขียว ผลแก่เป็นสีเหลืองส้มหรือแดง ก้านผลยาว ๓-๕ มิลลิเมตร

ถิ่นกำเนิดดั้งเดิมของผักหวานป่าอยู่ในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อยู่ตามป่าเบญจพรรณในที่ราบ หรือเชิงเขาสูงไม่เกิน ๖๐๐ เมตรจากระดับน้ำทะเล ปกติชอบขึ้นอยู่บนดินร่วนปนทราย ผักหวานที่กินกันในอดีตจนถึงปัจจุบันนี้ ส่วนใหญ่เก็บมาจากป่าหรือที่ขึ้นเองตามธรรมชาติ จึงเรียกกันทั่วไปว่า ผักหวานป่า บางครั้งเรียกว่า ผักหวาน มีแปลกไปเฉพาะที่สุรินทร์ซึ่งเรียกว่าผักวาน สันนิษฐานว่าคงเรียกเพื้ยนไปจากผักหวานนั่นเอง

ผักหวานป่าในฐานะผัก
คนไทยใช้ยอดอ่อน ใบอ่อน และผลอ่อนของผักหวานป่ามากินเป็นผัก โดยอาจนำมาลวกให้สุกเป็นผักจิ้มหรือเครื่องเคียง นำไปผัดน้ำมันหรือประกอบกับแกงชนิดต่างๆ เช่น แกงเลียง แกงส้ม แกงคั่ว ฯลฯ เป็นต้น สำหรับคนไทยทั่วไปนั้น อาหารที่ปรุงจากผักหวานป่านับเป็นอาหารพิเศษที่นานๆจะได้กินสักครั้ง เพราะเป็นผักธรรมชาติที่มีตามฤดูกาลและมีปริมาณน้อย ราคาก็แพงมากเมื่อเทียบกับผักชนิดอื่นๆ ซึ่งคล้ายกับเห็ดยอดนิยมของคนไทยที่ชื่อ เห็ดโคน หรือเห็ดปลวกของคนอีสาน เพราะเห็ดโคนมีเฉพาะในธรรมชาติ ยังไม่สามารถเพาะเลี้ยงได้ จึงมีเป็นฤดูกาล ปริมาณน้อย ราคา จึงแพงมากเมื่อเทียบกับเห็ดชนิดอื่นๆ ปัจจุบันมีวิธีถนอมเห็ดโคนเอาไว้กินนอกฤดู เช่น การบรรจุขวด หรือกระป๋องที่ยังคงรสชาติเอาไว้ได้มาก แต่ผักหวานยังไม่มีการถนอมเอาไว้กินนอกฤดูที่เหมาะสมและได้รับความนิยม จึงทำให้ผักหวานคงเป็นอาหารพิเศษที่มีราคาสูงไปอีกนาน

ประโยชน์ด้านอื่นๆของผักหวานป่า
ผักหวานป่ามีคุณสมบัติด้านสมุนไพรในการรักษาโรคที่แพทย์แผนไทยใช้มาตั้งแต่อดีตเช่นเดียวกับพืชชนิดอื่นๆ เช่น

ใบและราก : รักษาแผล ปวดในข้อ ปวดหัว ปวดท้อง

ราก : เป็นยาเย็น แก้ร้อนในกระหายน้ำ สงบพิษไข้ แก้ดีพิการ

นอกจากใช้เป็นผักและยาสมุนไพรแล้ว ผลสุกของผักหวานป่า ยังกินเป็นผลไม้ได้ด้วย แต่ไม่เป็นที่นิยมมากเท่าใช้เป็นผัก ในธรรมชาติผลสุกเป็นอาหารของนกและสัตว์ บางชนิดที่ช่วยขยายพันธุ์ผักหวานให้กระจายออกไป

ปัจจุบันเกษตรกรไทยบางรายสามารถปลูกผักหวานป่าเป็นการค้าได้แล้ว แต่ยังไม่แพร่หลายนัก เพราะวิธีการปลูกยังนับว่ายากและไม่ทราบกันทั่วไปเหมือนพืชชนิดอื่นๆ นอกจากนั้น ต้นพันธุ์ผักหวานป่าที่ได้จากการเพาะเมล็ดก็มีไม่มาก เพราะต้นแม่พันธุ์มีน้อย และผลอ่อนมักถูกเก็บไปเป็นผักเสียก่อนจะแก่ อย่างที่เขียนเล่าไว้ในตอนต้นว่า ผักหวานป่าเป็นพืชอยู่ในวงศ์พิเศษที่ไม่มีพี่น้องที่ผู้เขียนรู้จักอยู่เลย ผักหวานป่าจึงมีลักษณะเฉพาะตัวบางอย่างที่ไม่เหมือนใคร ทำให้กลายเป็นต้นไม้ที่ปลูกยากมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ซึ่งความยากนั้นอาจเกิดจากคนปลูกไม่เข้าใจธรรมชาติของผักหวานป่า จึงใช้วิธีปลูกเหมือนผักชนิดอื่นทั่วไปจึงไม่ประสบผลสำเร็จ เช่นเดียวกับที่ยังไม่ประสบความสำเร็จในการเพาะเลี้ยงเห็ดโคนนั่นเอง

ในอดีตคนไทยประสบความสำเร็จในการปลูกทุเรียน ซึ่งเป็นผลไม้ยอดนิยมที่ปลูกยากเพราะมีธรรมชาติพิเศษ ต้องการสิ่งแวดล้อมเฉพาะตัว ซึ่งไม่เหมาะกับที่ราบลุ่มภาคกลาง แต่ชาวสวนแถบฝั่งธนบุรี นนทบุรี เข้าใจธรรมชาติของทุเรียน ได้ดัดแปลงสภาพสวนจนปลูกทุเรียนได้คุณภาพดีที่สุดในโลก ซึ่งก็คือ ระบบสวนยกร่องที่มีทองหลางเป็นพืชพี่เลี้ยง ปลูกผลไม้ผสมผสานกันหลายชนิด มีระบบปุ๋ยธรรมชาติกับการควบคุมน้ำที่เหมาะสมกับธรรมชาติของทุเรียน ฯลฯ เชื่อว่าในอนาคตอันใกล้ เกษตรกรไทยคงประสบความสำเร็จในการปรับสภาพ สวนให้เหมาะสมกับธรรมชาติของผักหวานป่า เช่นเดียวกับชาวสวนทุเรียนในอดีต

ข้อมูลสื่อ

243-011
นิตยสารหมอชาวบ้าน 243
กรกฎาคม 2542
พืช-ผัก-ผลไม้
เดชา ศิริภัทร