• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ยาธาตุเหล็กบำรุงเลือด แก้โรคโลหิตจางชะงัด

ยาธาตุเหล็กบำรุงเลือด แก้โรคโลหิตจางชะงัด


ถ้าจะถามว่าในประสบการณ์การรักษาโรคที่ผ่านมา มียาตัวใดที่ใช้แล้วได้ผลชะงัด สร้างความรู้สึกประทับใจทั้งหมอและคนไข้อย่างดีเยี่ยม คำตอบส่วนตัวของผม ก็คือ ยาธาตุเหล็กบำรุงเลือด นั่นเอง

ยกตัวอย่าง เคยมีคุณยายอายุ ๗๐ ปีเศษรายหนึ่ง บ้านอยู่ต่างจังหวัด อยู่ๆมีอาการเบื่ออาหาร พวกเนื้อสัตว์ กินแต่ข้าวกับผักจิ้มน้ำพริก ต่อมามีอาการอ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย ออกไปเก็บกล้วยในสวนไปขายอย่างที่เคยทำไม่ได้ จึงตาม "หมอชาวบ้าน" มารักษา หมอก็จัดการให้ "เลือดเทียม" (หมายถึง น้ำเกลือผสมวิตามินออกเป็นสีเหลือง ทำให้ดูคล้ายน้ำเหลืองหรือน้ำเลือด แต่จริงๆแล้วไม่มีส่วนประกอบของเลือดแต่อย่างใด) ไป ๒ ขวด คิดค่ารักษา ขวดละ ๕๐๐ บาท อาการก็ไม่เห็นจะดีขึ้น ลูกๆซึ่งทำงาน อยู่กรุงเทพฯ ไปเยี่ยมคุณยายที่บ้าน เห็นท่าไม่ไหว จึงพามารักษาที่กรุงเทพฯ

บังเอิญผมได้ มีโอกาสตรวจดูอาการของคุณยาย พบว่า หน้าตา ริมฝีปาก ลิ้น ฝ่ามือ และ เล็บ ทุกส่วนซีดขาวกว่าปกติ ประกอบกับประวัติการกินดังกล่าว ก็สันนิษฐานว่าเป็นโรคโลหิตจางจากภาวะขาดธาตุเหล็ก จึงได้สั่งยาเฟอร์รัสซัลเฟตให้ไปกินนาน ๑ สัปดาห์ คุณยายเห็นจ่ายยาให้ราคาถูก (เมื่อเทียบกับที่เคยเสียค่ารักษาที่ผ่านมา) ก็นึกฉงนและพยายามร้องขอให้ฉีดยาหรือไม่ก็ให้ "เลือดเทียม" จึงต้องยอมเสียเวลาอธิบายให้คุณยายและลูกๆ ฟัง ดีที่ลูกๆเข้าใจ ก็ช่วยกันบอกให้คุณยายลองกินยาดูก่อน เพียง ๕ วันต่อมา คุณยายก็กลับมาหาอีกครั้งด้วยหน้าตาแช่มชื่น และมีเลือดฝาดดีขึ้น คุณยายบอกว่ามีเรี่ยวแรงขึ้นจนสามารถเดินได้ไม่เหนื่อยแล้ว พร้อมกับบอกว่า "ยาที่หมอให้ไปนี้วิเศษจริง!" เมื่อเห็นว่าดีขึ้น ก็ได้จ่ายยาบำรุงเลือดให้คุณยายไปกินต่อที่บ้านต่างจังหวัดอีกนานเป็นเดือน ต่อมาไม่นานก็ทราบข่าวจากลูกๆของคุณยายว่า คุณยายสามารถไปเก็บกล้วยในสวนหาบไปขายที่ตลาดได้ดังเดิมแล้ว

คุณยายเป็นตัวอย่างของคนไข้ ที่เป็นโรคโลหิตจางจากภาวะขาดธาตุเหล็ก ซึ่งเป็นโรคที่พบได้บ่อยในหมู่คนไทยโรคหนึ่ง คนไทยแทบทุกวัยมีโอกาสเสี่ยงต่อการเป็นโรคนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเด็กเล็ก วัยรุ่น ผู้สูงอายุ หญิงตั้งครรภ์ สาเหตุเกิดจากการบริโภคอาหารไม่ถูกหลัก ทำให้ได้รับธาตุเหล็กไม่พอเพียงกับความต้องการของร่างกาย ธาตุเหล็กเป็นองค์ประกอบที่สำคัญของการสร้างเม็ดเลือดแดงร่วมกับสารโปรตีนและวิตามินต่างๆ เมื่อขาดธาตุเหล็ก ร่างกายก็ไม่สามารถสร้างเม็ดเลือดแดงได้พอเพียง จึงกลายเป็นโรคโลหิตจาง

ผลเสียของโรคโลหิตจาง ก็คือ ทำให้ร่างกายอ่อนเพลีย ทำอะไรก็รู้สึกว่าเหนื่อยง่าย ทำให้ทำงานไม่ไหว เด็กนักเรียนที่เป็นโรคนี้ มักจะเรียนหนังสือไม่ค่อยดี (เคยมีการทดลองให้เด็กนักเรียนกินยาธาตุเหล็กเสริมสัปดาห์ละ ๑ เม็ดเป็นประจำ พบว่า คะแนนเรียนดีขึ้น) ธาตุเหล็กมีมากในตับหมู ตับวัว เลือดหมู ไตหมู เนื้อสัตว์ต่างๆ นม ไข่ ถั่วเหลือง และถั่วต่างๆ   เต้าหู้ น้ำลูกพรุน ผลองุ่นแห้ง มะเขือเทศ ผักใบเขียวต่างๆ ร่างกายของคนเราจะดูดซึมธาตุเหล็กจากเนื้อสัตว์ นม ไข่ ตับ ไต ได้ดีกว่าจากพืช ผู้ที่ไม่กินเนื้อสัตว์หรือกินได้ปริมาณน้อย หรือนิยมกินผัก (เช่น นักมังสวิรัติ) อาจได้รับธาตุเหล็กไม่เพียงพอกลาย เป็นโรคโลหิตจางได้ ผู้ที่นิยมกินอาหารมังสวิรัติจึงต้องกินถั่วเหลือง เต้าหู้ให้มาก และกินพืชผักที่หลากหลายและปริมาณมาก จึงจะได้รับธาตุเหล็กเพียงพอ

เด็กเล็กและวัยรุ่น ซึ่งอยู่ในช่วงที่ร่างกายกำลังเจริญเติบโต มีความต้องการธาตุเหล็กสูง ควรกินอาหารที่มีธาตุเหล็ก (โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากเนื้อสัตว์ ตับ นม ไข่ ถั่วต่างๆ) ให้มากพอ มิเช่นนั้นอาจเกิดโรคโลหิตจางจากภาวะขาดธาตุเหล็กได้เช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งหญิงวัยรุ่นที่มีปัญหาการเสียเลือดเนื่องจากการมีประจำเดือน มีความเสี่ยงต่อการขาดธาตุเหล็กได้สูงขึ้น

หญิงตั้งครรภ์ ร่างกายมีความต้องการธาตุเหล็กสูงกว่าคนในวัยอื่นๆ เนื่องจากมีการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์ จึงต้องเสริมบำรุงธาตุเหล็กให้มากตลอดช่วงของการตั้งครรภ์ มิเช่นนั้นก็เสี่ยงต่อการเกิดโรคโลหิตจางได้

ส่วนผู้สูงอายุ จะมีปัญหาในเรื่องโภชนาการ เนื่องเพราะฟันไม่ดี หรืออาจมีความรู้สึกเบื่ออาหาร (โดยเฉพาะอย่างยิ่งพวกเนื้อสัตว์) ก็เสี่ยงต่อการขาดธาตุเหล็กได้สูงเช่นกัน

ดังนั้นกลุ่มคนเหล่านั้น จำเป็นต้องรู้จักเลือกบริโภคอาหารให้ถูกต้อง หากไม่แน่ใจ ควรเสริมด้วยยาธาตุเหล็ก บำรุงโลหิต สัปดาห์ละ ๑-๒ เม็ด (หญิงตั้งครรภ์วันละ ๑-๒ เม็ด) เพื่อป้องกันมิให้เกิดโรคโลหิตจาง ยาธาตุเหล็กราคาตกเม็ดละประมาณหนึ่งสลึงเท่านั้น ถูกอย่างเหลือเชื่อจริงๆ อย่างไรก็ตาม ยานี้ก็ไม่ควรกินพร่ำเพรื่อ หากได้รับธาตุเหล็กจากอาหารเพียงพอ ไม่จำเป็นต้องกินยานี้เสริมบำรุง เพราะถ้าได้รับธาตุเหล็กมากเกิน ก็อาจมีโทษต่อร่างกายได้ครับ

ข้ อ ค ว ร รู้ : ย า แ ก้ โ ล หิ ต จ า ง

๑. อาการแสดงของโลหิตจาง (เลือดจาง) ขึ้นกับความรุนแรง
ถ้าเป็นมากจะมีอาการอ่อนเพลีย ทำอะไรรู้สึกเหนื่อยง่าย มึนงง หน้ามืด วิงเวียนง่าย สังเกตดูสีหน้าจะซีดเผือด เยื่อบุเปลือกตา ริมฝีปาก ลิ้น ฝ่ามือ และเล็บจะซีดขาวกว่าปกติ ถ้าเป็นเล็กน้อย มักไม่มีอาการแสดงชัดเจน จะตรวจพบโดยการเจาะเลือดตรวจหาความเข้มข้นของเลือด ซึ่งจะพบว่ามีค่าต่ำกว่าปกติ

๒. ผู้ที่เสี่ยงต่อการเป็นโลหิตจางเนื่องจากภาวะขาดธาตุเหล็ก

 - เด็กเล็ก วัยรุ่น และผู้สูงอายุที่เบื่ออาหารหรือกินอาหารไม่ถูกหลัก
 - หญิงตั้งครรภ์
 - หญิงวัยรุ่น
 - หญิงที่มีเลือดประจำเดือนออกมาก
 - ผู้ที่เป็นพยาธิปากขอ (พยาธิดูดเลือด)
 - ผู้ที่กินมังสวิรัติไม่ถูกหลัก

๓. ยาบำรุงเลือดแก้โลหิตจาง
ชนิดของยา ยาเม็ดเฟอร์รัสซัลเฟต (ferrous sulfate tablets) เป็นยาเม็ดสีดำๆ ประกอบด้วยธาตุเหล็ก ๑๗ มิลลิกรัม
ขนาดที่ใช้ กินครั้งละ ๑-๒ เม็ด วันละ ๑-๓ ครั้ง หลังอาหาร นาน ๑-๒ เดือน
หมายเหตุ หากกินควบกับยาเม็ดวิตามินซี จะได้ผลดียิ่งขึ้น
 
ข้อควรระวัง

- อาจระคายกระเพาะ ทำให้มีอาการปวดมวนท้อง คลื่นไส้ ถ่ายเหลวได้

- ทำให้ถ่ายอุจจาระเป็นสีดำ (สีของเหล็กในเม็ดยา) ถือเป็นเรื่องปกติธรรมดา เมื่อหยุดกินยานี้ อุจจาระก็จะกลับมาเป็นสีปกติภายใน ๑ สัปดาห์

- ห้ามใช้ในผู้ป่วยโลหิตจางจากโรคทาลัสซีเมีย ซึ่งจะมีอาการซีดเหลือง และเป็นคนขี้โรค ร่างกายอ่อนแอมาตั้งแต่เล็ก ผู้ป่วยพวกนี้จะมีเหล็กสะสมในร่างกายมากเกินอยู่แล้ว ถ้ารับธาตุเหล็กมากเกินไปอาจทำให้เป็นโรคตับแข็ง เบาหวาน หัวใจโต ประสาทส่วนปลายอักเสบได้

ข้อมูลสื่อ

247-007
นิตยสารหมอชาวบ้าน 247
พฤศจิกายน 2542
พูดจาภาษายา
รศ.นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ