• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ชอบยา

คนไข้รายที่ ๓ : หญิงไทยอายุ ๔๕ ปี ถูกพามาโรงพยาบาลโดยลูกสาววัยรุ่น

ลูก : “สวัสดีค่ะคุณหมอ ช่วยดูคุณแม่หน่อย ค่ะ ไม่ทราบว่าเป็นอะไร ผิวหนังลอกถลอกปอกเปิกไปหมดแล้ว”
หมอ : “เป็นมากี่วันแล้วครับ”
ลูก : “๓-๔ วันแล้วค่ะ แต่เป็นมากขึ้นๆ จนปากเปื่อยไปหมด กินอะไรไม่ได้เลยค่ะ”
หมอ : “ก่อนเป็นคุณแม่ไปกินยาอะไรบ้างหรือเปล่า”
ลูก : “ค่ะ คุณแม่กินยาลูกกลอนและยาหม้อ เพื่อป้องกันอาการหมดประจำเดือนมาหลายวันแล้วค่ะ”
หมอ : “สังเกตจากการที่คุณแม่มีผิวหนังทั่ว ตัวแดงและบางส่วนหลุดลอก รวมทั้งเยื่อบุปาก ริมฝีปากและตา หมอคิดว่าคุณแม่คงเป็นโรคแพ้ยาอย่างรุนแรง และคงต้องอยู่โรงพยาบาลหลายวัน คุณลองถามคุณแม่และโทรศัพท์ถามคุณพ่อด้วยว่าจะยอมให้คุณแม่อยู่โรงพยาบาลมั้ย”

ตัวอย่างคนไข้รายที่ ๓ เป็นตัวอย่าง คนไข้ที่ “ชอบยา” โดยเฉพาะยาสมุนไพร “ยา ผีบอก” หรืออื่นๆ เพื่อป้องกันอาการที่โดยปกติ ไม่ต้องป้องกัน นั่นคือ อาการหมดประจำเดือนซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ และหายไปเองตามธรรมชาติ หลายๆคนไม่มีอาการด้วยซ้ำไป ทั้งในขณะที่กำลังจะหมด ประจำเดือนหรือหมดประจำเดือนแล้ว

การกินยาเพื่อป้องกันอาการหมดประจำเดือน จึงเป็นการกินยาโดยไม่จำเป็น และไม่แน่ว่าจะแก้อาการหมดประจำเดือนได้ มิหนำซ้ำ ยังทำให้เกิดอาการ “แพ้ยาอย่าง รุนแรง” ซึ่งอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ ถ้าให้การรักษาไม่ได้ทันท่วงทีหรือไม่ตรงกับโรคที่เป็น

ในปัจจุบันมีการใช้ยาโดยไม่จำเป็นอย่างมากมาย ในประเทศไทยมีการคำนวณว่า ในปีที่ผ่านมามีการใช้ยาและเวชภัณฑ์ต่างๆอย่าง ไม่จำเป็นประมาณ ๓-๔ หมื่นล้านบาท ส่วนหนึ่งเกิดจากคนไข้ซื้อยากินเอง แต่ส่วนใหญ่เกิดจากแพทย์สั่งยาและเวชภัณฑ์ให้แก่ผู้ป่วย โดยไม่คิดให้รอบคอบ และไม่คิดถึง ประโยชน์ของผู้ป่วย และประโยชน์ของประเทศชาติโดยรวม

คนเป็นจำนวนมาก(รวมทั้งแพทย์จำนวนมาก)ยังชอบหลงเชื่อคำโฆษณายาและเวชภัณฑ์ต่างๆ แม้ว่ายาและเวชภัณฑ์ต่างๆ หรือแม้แต่ “อาหารบำรุงร่างกาย” เช่น ซุบไก่สกัด รังนก ล้วนไม่ให้ผลคุ้มค่าแก่ร่างกายสมกับค่าใช้จ่ายเลย ทั้งนี้อาจจะเป็นเพราะในจิตสำนึกหรือจิตใต้สำนึกของคนจำนวน มาก ยังหวาดกลัวความตาย หรือความเจ็บป่วยจนเกินกว่าเหตุ

หรืออาจจะถูกครอบงำและมอมเมาโดยการโฆษณา โดยเฉพาะการโฆษณาที่อ้างการวิจัยในสถาบันที่มีชื่อเสียง ทั้งที่เนื้อหาสาระของการวิจัยนั้นไม่มีอะไรเป็นแก่นสาร หรือไม่สามารถนำมาประยุกต์ใช้หรือ ประเมินได้ว่าจะเกิดผลเช่นเดียวกันในคนไทย หรืออาจจะเกิดจากผลประโยชน์ หรือสินบนที่บริษัทยาและเวชภัณฑ์ต่างๆ มอบให้แก่แพทย์ แก่สถาบัน แก่สมาคม แก่ชมรม ทั้งที่เป็นของแพทย์และของประชาชนทั่วไป เพื่อให้เกิดภาระทางใจที่ผูกพันให้ต้องใช้ยาหรือเวชภัณฑ์นั้นๆ

การที่คนจำนวนมากเชื่ออะไรๆ ง่ายๆ จึงทำให้ถูกหลอกถูกต้มง่าย และเกิดพิษภัยจากยาได้ง่าย
แม้แต่ “ยาบำรุง” ต่างๆ โดยความเป็นจริงแล้วก็ไม่สามารถบำรุงอะไรได้ เพียงแต่ไปทดแทนส่วนที่ขาดไปเป็นสำคัญ เมื่อคนๆนั้นมีส่วนที่ขาดไปจากการอดอาหาร อดของแสลง กินไม่ได้ หรือกินอาหารไม่ครบทุกหมู่ เป็นต้น

แต่ถ้าคนนั้นไม่มีส่วนที่ขาด การกินวิตามิน เหล็ก แคลเซียม เลซิติน น้ำมันปลา สาหร่ายเซลล์ เดียว ก็ไม่ทำให้เกิด “การบำรุง” ขึ้น ได้ กลับจะทำให้เสียเงิน เสียเวลา และอาจเสียร่างกายหรือจิตใจ ถ้าเกิดการแพ้ยาหรือเกิดพิษจากยาขึ้น พระพุทธองค์ทรงทราบเกี่ยวกับ จุดอ่อนของมนุษย์ในเรื่องเชื่ออะไร ง่ายๆนี้ดี จึงทรงเทศนาไว้ในพระสูตรที่ชาวบ้านเรียกว่า “กาลามสูตร” หรือ “เกสปุตตสูตร” เพราะพระองค์ ทรงประทานให้แก่ชาวกาลามะในเกสปุตตนิคม ซึ่งได้เผยแพร่ไปอย่างแพร่หลายดังนี้
๑. อย่าเชื่อ เพราะได้ยินได้ฟังต่อๆกันมา (มา อนุสฺสเวน)
๒. อย่าเชื่อ เพราะเป็นของเก่าสืบทอดกันมา (มา ปรมฺ ปราย)
๓. อย่าเชื่อ เพราะเลื่องลือกัน (มา อิติกิราย)
๔. อย่าเชื่อ เพราะอ้างตำราหรือคัมภีร์ (มา ปิฎกสมฺปทาเนน)
๕. อย่าเชื่อ เพราะอ้างเหตุผลทางตรรก (มา ตกฺกเหตุ)
๖. อย่าเชื่อ เพราะการตีความตามนัยะ (มา นยเหตุ)
๗. อย่าเชื่อ เพราะเห็นตามอาการที่ปรากฏ (มา อาการปริวิตกฺเกน)
๘. อย่าเชื่อ เพราะชอบที่ต้องกับลัทธิตน (มา ทิฏฐินิชฺฌานกฺ ขนติยา)
๙. อย่าเชื่อ เพราะผู้พูดน่าเชื่อ (มา ภพฺพรูปตาย)
๑๐. อย่าเชื่อ เพราะผู้นั้นเป็น พระหรือครูของเรา (มา สมโณ โน ครูติ)
ต่อเมื่อได้ศึกษา ปฏิบัติ และ ทดสอบด้วยตนเอง(สันฺทิฏฐิโก) ไม่ว่าในกาลเวลาใด(อกาลิโก) และไม่ว่าด้วยการพิสูจน์ของผู้ใด(เอหิปัสฺสิโก)แล้ว พบว่าเป็นคุณประโยชน์ต่อผู้ที่ศึกษาปฏิบัติ(โอ ปนยิโก) และ ป็นสิ่งที่เรียนรู้ได้ด้วยตนเอง(ปจฺจตฺตํ เวทิตพฺโพ วิญญูหิ) จึงจะเชื่อว่าสิ่งนั้นเป็นประโยชน์อย่างแท้จริง

ถ้าคนทั่วไปรวมทั้งแพทย์รำลึก ถึง “กาลามสูตร” หรือ “เกสปุตตสูตร” อยู่เสมอ การใช้ยาอย่างพร่ำเพรื่อและไม่จำเป็นจะลดลงและหมดไป

อาการป่วยจากพิษยาและหรือ แพ้ยาก็จะลดลงเช่นเดียวกัน รวมทั้งค่าใช้จ่ายของผู้ป่วย ครอบครัว และสังคม โดยเฉพาะค่าใช้จ่ายของ ประเทศ เพราะยาแผนปัจจุบันเกือบทั้งหมดต้องซื้อจากต่างประเทศ ทำให้เสียเงินตราต่างประเทศปีละกว่าแสนล้านบาท ในปัจจุบันที่เงินบาทลอยตัวจะ ต้องเสียเพิ่มขึ้นอีกร้อยละ ๓๐-๕๐ คิด เป็นเงินประมาณ ๒ แสนล้านบาท

ดังนั้น ถ้าทุกคนช่วยกันดูแลรักษาสุขภาพของตนเองด้วยการประพฤติปฏิบัติดังในคำอธิบายในตอนท้ายของตัวอย่างคนไข้รายที่ ๒ แล้ว การใช้ยาโดยไม่จำเป็นจะลดลงอย่างมากมาย และจะช่วยประเทศได้หลายหมื่นล้านบาทต่อปี จึงควรจำไว้เสมอว่า “จะใช้ยาต่อเมื่อจำเป็นจริงๆ เท่านั้น”

ข้อมูลสื่อ

230-009
นิตยสารหมอชาวบ้าน 230
มิถุนายน 2541
ศ.นพ.สันต์ หัตถีรัตน์