• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

แผลร้อนใน : เป็นๆหายๆทำอย่างไรดี

แผลร้อนใน : เป็นๆหายๆทำอย่างไรดี


ผู้ป่วยไปพบแพทย์เวรที่โรงพยาบาลเพื่อตรวจรักษาโรค

คนไข้ : "คุณหมอคะ ดิฉันมีปัญหาเรื่องเป็นแผลในปาก เป็นร้อนในบ่อยจังเลย เป็นๆหายๆ ไม่หายขาดเสียที"

หลังจากตรวจช่องปากคนไข้

แพทย์ : "คุณเป็นแผลร้อนใน ไม่ต้องตกใจ โรคนี้ทางการแพทย์เรียก แผลแอฟทัส (Aphthous ulcer) สาเหตุที่แท้จริงไม่แน่ชัด เชื่อว่า เกี่ยวข้องกับปฏิกิริยาทางภูมิคุ้มกันทำให้เกิดเป็นแผลในช่องปาก มักสัมพันธ์กับความเครียด อาหารไม่ย่อย ท้องผูก ประจำเดือน พักผ่อนไม่พอ คุณควรจะรักษาด้วยการบ้วนปากด้วยน้ำเกลือ พักผ่อนให้เพียงพอ กินยาบรรเทาอาการปวด โรคจะหายได้เองใน ๑-๒ สัปดาห์"

คนไข้ : 
"แล้วจะหายขาดไหมคะ"

แพทย์ :
 "ถ้าเป็นแผลร้อนใน เป็นผลจากความผิดปกติของร่างกาย คงเน้นไปที่การดูแลสุขภาพให้ดี พักผ่อนให้พอ อย่าให้ท้องผูก ฯลฯ ก็จะไม่เป็นบ่อย แต่ถ้าพบว่าเป็นแล้วไม่หายง่าย เป็นเรื้อรังต่อเนื่องกันเกิน ๓ สัปดาห์ ควรไปให้แพทย์ ตรวจอีกครั้งนะครับ"

เรื่องของแผลในปากของผู้ป่วยคนเดียวกัน ถ้าไปพบแพทย์จีนจะพบว่ามีวิธีคิด วิธีตรวจวินิจฉัย และการรักษาอีกแบบหนึ่ง เช่น

แพทย์จีน : "ขอดูแผลในปากหน่อยครับ แผลที่เป็นเป็นที่เดิมหรือเปล่ามีอาการอื่นร่วมไหม"

คนไข้ :
"แผลเปลี่ยนที่ค่ะ และดิฉันปากแห้ง คอแห้ง กินน้ำวันละหลายขวด ฝ่ามือฝ่าเท้าร้อน"

แพทย์จีน :
 "คุณมีอาการปวดเมื่อยเอว เข่าอ่อน หรือหูอื้อบ้างไหม"

คนไข้ : 
"อาการเมื่อยเอว เข่าอ่อน มีบ้างค่ะ แต่หูอื้อ หูมีเสียงผิดปกติยังไม่มีค่ะ"

แพทย์จีนให้ผู้ป่วยแลบลิ้น จากนั้นก็ตรวจชีพจร (แมะ)

แพทย์จีน : 
"ตัวลิ้นของคุณแดงไม่มีฝ้า ชีพจรเบาเล็กและเร็ว แสดงว่าคุณมีภาวะไตยินพร่อง ขาดธาตุน้ำในร่างกาย มีความร้อนในร่างกายมากเป็นพื้นฐาน อาการแผลในปากมักจะกำเริบ เมื่อได้รับปัจจัยความร้อนหรือไฟมาเสริมมากขึ้น เช่น กินอาหารรสเผ็ด กินอาหารที่เป็นหยางมาก เช่น ทุเรียน ลำใย ลิ้นจี่ ของทอด ของมัน ปาท่องโก๋ ฯลฯ หรือนอนหลับไม่เพียงพอ นอนดึก เครียดจัด การรักษาเฉพาะหน้า ต้องใช้ยาที่ขับพิษขับร้อน แต่ระยะยาวควรต้องใช้ยาบำรุงไตยิน เพื่อปรับสมดุลของร่างกายครับ"

แผลในปากตามความหมายแพทย์แผนจีน คือ ภาวะที่เยื่อบุช่องปาก เช่น ริมฝีปาก ลิ้น กระพุ้งแก้ม เพดานปากหรือเหงือก มีแผลเดียวหรือหลายแผล ลักษณะกลม แผลอาจมีสีเหลืองขาวเทา มักพบในวัยรุ่น หนุ่มสาว และผู้หญิงเวลาใกล้มีประจำเดือน

แพทย์จีนแบ่งลักษณะแผลในปากได้เป็น ๒ แบบ คือ

๑. แบบแกร่ง สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากภายนอกเป็นสำคัญ เช่น การกินอาหารที่เผ็ด ของทอด ของมันมาก เกิดการสะสมเป็น ความร้อนของหัวใจและม้ามมากเกินไป ความร้อนที่มากจะส่งผ่านเส้นลมปราณของกระเพาะ ม้าม และหัวใจ ไปทำให้เกิดแผลในปากขึ้น และยังมีสาเหตุมาจากอารมณ์และประจำเดือนด้วย ซึ่งลักษณะของการกำเริบจะ มีอยู่ ๓ ลักษณะ คือ ไฟกระเพาะและม้ามกำเริบ, ไฟหัวใจกำเริบ, เส้นลมปราณตับอุดกั้นไฟกำเริบ

๒. แบบพร่อง สาเหตุสำคัญส่วนใหญ่เกิดจากภาวะยินพร่อง (ขาดธาตุน้ำในร่างกาย) ยินพร่องมักเกิดจากการเจ็บป่วยเรื้อรัง หรือทำงานมากเกินไป พักผ่อนไม่พอ ทำให้ขาดยินและไตของหัวใจ เกิดไฟจากภาวะพร่องขึ้นสู่เบื้องบนและ อาจเกิดจากการพร่องของพลังม้าม ทำให้การย่อยไม่ดี เกิดการอุดกั้นของน้ำและความชื้น ซึ่งลักษณะของการพร่องจะมีอยู่ ๓ ลักษณะ คือ ไตยินพร่องไฟกำเริบ, ม้ามพร่อง ความชื้นอุดกั้น, พลังหยางของม้าม และไตพร่อง สรุปได้ว่า แผลในปากในทัศนะแพทย์แผนปัจจุบัน มักมุ่งเน้นไปที่สาเหตุจากภายนอกเป็นหลัก เช่น เป็นแผลจากเริม เป็นแผลจากเชื้อรา ก็รักษาตามสาเหตุและแก้อาการ

ถ้าเป็นแผลที่มุมปาก ๒ ข้าง และขาดอาหารก็ให้การรักษาด้วยวิตามิน บี ๒ ส่วนแผลร้อนในเป็นเรื่องความผิดปกติของระบบอิมมูนของร่างกาย ก็เน้นการปฏิบัติตัว และแก้อาการ ถ้าเป็นแผลที่เรื้อรัง มีฝ้าขาวๆหนาๆ ไม่หายง่าย หรือเป็นมากกว่า ๓ สัปดาห์ ต้องระวังเรื่องมะเร็งในช่องปาก ซึ่งต้องตรวจพิสูจน์ชิ้นเนื้อ และทำการรักษาต่อไป

ในทัศนะแพทย์จีนแผลในปาก มักเกี่ยวข้องกับสมดุลของระบบเบญจธาตุของร่างกาย คือ กระเพาะ ม้าม หัวใจ ตับ ไต เป็นหลัก การรักษาแผลในปากต้องดูข้อมูลอาการต่างๆ ของร่างกายควบคู่ไปด้วย เพื่อหาสาเหตุหลัก เมื่อวินิจฉัยได้ถูกต้องแล้ว จึงให้การรักษาด้วยการขับพิษร้อน ร่วมกับการปรับสมดุลควบคู่กันไปด้านหนึ่ง เพื่อรักษาโรค และทำให้อาการอื่นๆ ดีขึ้นด้วย อีกด้านหนึ่งเพื่อสร้างสมดุลของร่างกายและไม่ให้โรคมีการพัฒนามากขึ้น เน้นที่การแก้สมดุลภายในระยะยาว การดูแลสุขภาพและอาหาร อารมณ์ เป็นองค์ประกอบพื้นฐานที่ต้องเหมาะสมกับแต่ละสาเหตุ อย่างไรก็ตามการแพทย์แผนจีนและการแพทย์แผนปัจจุบัน สามารถบูรณาการให้เกิดคุณภาพใหม่ในการรักษา และป้องกัน การพัฒนาเปลี่ยนแปลงของโรค ดีกว่าจะใช้องค์ความรู้ด้านใดด้านหนึ่งอย่างตายตัวเฉพาะส่วน ภูมิปัญญาของตะวันออกและตะวันตกมิได้ดีหรือด้อยไปกว่ากันเท่าใดนัก

ข้อมูลสื่อ

248-005
นิตยสารหมอชาวบ้าน 248
ธันวาคม 2542
แพทย์แผนจีน
นพ.วิทวัส (ภาสกิจ) วัณนาวิบูล