• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

การเตรียมรับการระบาดของไข้หวัดใหญ่

การเตรียมรับการระบาดของไข้หวัดใหญ่


การระบาดของไข้หวัดใหญ่ในยุโรปและอเมริกา

สหัสวรรษใหม่เริ่มต้น พร้อมกับรายงานการระบาดของไข้หวัดใหญ่ในยุโรปหลายประเทศ คือ อังกฤษ สวีเดน นอร์เวย์ ฝรั่งเศส สวิตเซอร์แลนด์ อิตาลี สาธารณรัฐเชค และยูโกสลาเวีย มีผู้ป่วยเข้ารับการรักษาด้วยอาการไข้หวัดใหญ่ในโรงพยาบาลต่างๆ เพิ่ม มากขึ้น และมีรายงานผู้เสียชีวิตจากโรคปอดบวม ผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่เป็น ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยเรื้อรังด้วยโรคปอดบวม โรคหัวใจ โรคเบาหวาน และ โรคอื่นๆ แม้ว่าจะไม่พบการระบาดใหญ่ทั่วโลก แต่ก็มีข้อแนะนำให้ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยเรื้อรัง รวมทั้งนักเดินทางที่จะไปยังประเทศในยุโรป และสหรัฐอเมริกา ฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ป้องกันล่วงหน้าก่อนเดินทาง ๒ สัปดาห์

อันที่จริง การระบาดของไข้หวัดใหญ่พบเป็นประจำทุกปี ถ้าเป็นยุโรปและสหรัฐอเมริกา ก็จะพบในฤดูหนาว ในเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนมีนาคม แต่จะพบมากในเดือนมกราคม เมื่อเข้าฤดูใบไม้ผลิ อากาศเริ่มอุ่น บรรยากาศแจ่มใส ไม้หัว ผุดหน่อ ไม้ใหญ่ผลิใบ นกร้องเพลง ผู้คนออกมารับแสงแดดนอกบ้านได้ การระบาดก็สงบลง
สาเหตุที่เป็นข่าวโด่งดังในปีนี้  คงจะเป็นเพราะเชื้อไข้หวัดใหญ่พันธุ์ที่กำลังระบาด สามารถป้องกันได้โดยการฉีดวัคซีน ซึ่งมีความปลอดภัยสูง และมีการผลิตได้ในระดับอุตสาหกรรมหลายประเทศ นอกจากนี้ ยังมียารักษาและป้องกันไข้หวัดใหญ่ใหม่เพิ่ง ได้รับการจดทะเบียนอีก ๒ บริษัท เมื่อมียาและวัคซีนที่ได้ผล จำเป็นต้องมีการให้ข้อมูลเพื่อให้แพทย์ และผู้สนใจได้พิจารณา เพื่อนำไปใช้ป้องกันและรักษา ทำให้เกิดประโยชน์ต่อผู้ป่วยและผู้ต้องการใช้ให้ได้ผลคุ้มค่าในการลงทุนวิจัยและพัฒนา

โรคไข้หวัดใหญ่
ไข้หวัดใหญ่เป็นโรคระบาดที่พบแต่ครั้งโบราณ อาการสำคัญของไข้หวัดใหญ่ คือ ไข้สูง ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามกล้ามเนื้อ อ่อนเพลีย ไอ จาม เจ็บ หรือแสบคอ อาจมีอาการน้ำมูกไหล หนาวสั่น คลื่นไส้ ปวดท้อง อาการไข้หวัดใหญ่รุนแรงกว่าไข้หวัดธรรมดา 

ผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่พอจะ แบ่งได้เป็น ๒ กลุ่ม คือ

๑. กลุ่มบุคคลที่แข็งแรงทั่วไป  เป็นไข้หวัดใหญ่โดยไม่มีอาการแทรกซ้อน อาการทุเลาเองใน ๗-๑๐ วัน

๒. กลุ่มเด็กเล็ก อายุต่ำกว่า ๕ ปี กลุ่มผู้สูงอายุ, กลุ่มผู้ป่วยโรคเรื้อรัง และหญิงตั้งครรภ์ กลุ่มนี้ ถ้าเป็นไข้หวัดใหญ่ อาจพบอาการแทรกซ้อนรุนแรง มีอาการหลอดลมอักเสบ ปอดบวม หัวใจล้มเหลว เบาหวานกำเริบ ในบางรายพบกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ หรือสมองอักเสบ ต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลและอาจเสียชีวิตได้ ในหญิงตั้งครรภ์ระยะไตรมาสที่ ๓ อาจพบภาวะแทรกซ้อนทางปอด ทารกอาจเสียชีวิต คลอดก่อนกำหนด หรือมีความพิการแต่กำเนิด

นอกจากนี้ โรคที่พบในเด็กที่เกี่ยวข้องกับโรคไข้หวัดใหญ่ คือ กลุ่มอาการไรย์ (Reye's syndrome) เป็นกลุ่มอาการที่แสดงอาการทางสมอง (encephalopathy) ร่วมกับภาวะตับเปลี่ยนสภาพเป็นไขมัน (fatly liver) กลุ่มอาการนี้พบหลัง มีอาการไข้หวัดใหญ่ หรือออกอีสุกอีใสและได้รับยาแอสไพรินลดไข้

เชื้อไข้หวัดใหญ่
โดยทั่วไปภายหลังการติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ ร่างกายจะสร้างภูมิคุ้มกันตอบสนองแอนติบอดี มีบทบาทในการป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ อย่างไรก็ตาม คนเราเป็นไข้หวัดใหญ่ได้หลายครั้ง เพราะเชื้อไข้หวัดใหญ่มีการเปลี่ยนแปลงลักษณะโปรตีนตลอดเวลา แอนติบอดีจากการติดเชื้อเดิม ไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อต่างจากชนิดเดิมได้
เชื้อไข้หวัดใหญ่  นอกจากพบในคนแล้ว พบการติดเชื้อเป็นประจำในสัตว์ประเภทนกน้ำ เช่น นกนางนวล เป็ด ห่าน หงส์ โดยนกน้ำไม่แสดงอาการป่วย นอกจากนี้พบได้ในสัตว์อื่นๆ ที่อาจแสดงอาการป่วยหรือไม่ก็ได้ เช่น หมู ม้า ไก่งวง ไก่ และแมวน้ำ เป็นต้น เชื้อไข้หวัดใหญ่อาจติดต่อจากสัตว์มาสู่คนได้

กลุ่มผู้ควรได้รับวัคซีน
วัคซีนไข้หวัดใหญ่ที่มีจำหน่ายในประเทศไทยขณะนี้ ขนาด ๐.๕ มล. ราคาประมาณเข็มละ ๓๐๐ บาท

  • เด็กเล็กอายุต่ำกว่า ๓ ปี ฉีดครั้งละ ๐.๒๕ มล. ห่างกัน ๑ เดือน ๒ ครั้ง
  • เด็กอายุเกิน ๓ ปี จนถึงผู้ใหญ่ฉีด ๐.๕ มล. ครั้งเดียว

วัคซีนไข้หวัดใหญ่มีความปลอดภัยสูง และพบอาการข้างเคียงน้อย

ผู้ที่ควรฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ได้แก่

๑. กลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดอาการแทรกซ้อนถ้าป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่ ได้แก่ ผู้สูงอายุ (อายุเกิน ๖๕ ปี) ผู้ป่วยโรคเรื้อรังทุกอายุ  เด็กหรือวัยรุ่นที่ต้องกินยาแอสไพรินเป็นประจำ ซึ่งจะเสี่ยงต่อการเกิดกลุ่มอาการไรย์

๒. กลุ่มที่อาจแพร่เชื้อไข้หวัดใหญ่ไปยังกลุ่มเสี่ยงสูง เช่น แพทย์ พยาบาล ผู้ดูแลผู้ป่วยสูงอายุ หรือผู้ป่วยเรื้อรัง

๓. กลุ่มอื่นๆ เช่น ผู้ทำงานสาธารณชน ตำรวจ นักกีฬา นักแสดง นักเดินทาง และนักศึกษา

ท่านควรจะฉีดวัคซีนไข้หวัด ใหญ่หรือไม่?
ท่านควรปรึกษาแพทย์ ถ้าท่านอยู่ในกลุ่มเสี่ยงสูงที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อนถ้าเป็นไข้หวัดใหญ่ หรือต้องดูแลกลุ่มเสี่ยงสูง นอกจากนี้ ถ้าท่านมีรายการต้องเดินทางไปประเทศที่กำลังระบาดในเดือนมกราคมถึงมีนาคม เพราะถ้าป่วยจะทำให้การเดินทางหมดความหมาย อันที่จริงเชื้อไข้หวัดใหญ่ A/Sydney/97 พบระบาดในไทยมาตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๔๐ แล้ว หลายคนมีภูมิต้านทานอยู่แล้ว แต่คงยากที่จะบอกว่าท่านใดมี ต้องใช้การเจาะเลือดตรวจ แต่อาจจะไม่คุ้มค่า เพราะการฉีดวัคซีนต้องรอราว ๒ สัปดาห์ จึงจะป้องกันได้ ถ้ามัวแต่รอผลตรวจเลือดอาจไม่ทันการ ป่วยเสียก่อน ในประเทศไทยฤดูระบาดของไข้หวัดใหญ่เริ่มในฤดูฝน ฉะนั้น อย่าลืมดูแลสุขภาพให้แข็งแรงอยู่เสมอ

ข้อมูลสื่อ

250-004
นิตยสารหมอชาวบ้าน 250
กุมภาพันธ์ 2543
เรื่องน่ารู้
รศ.พญ.จันทพงษ์ วะสี