• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

อาการและโรค (ตอนที่๒)

โดยทั่วไปแล้ว โรค เป็นสภาพหรือภาวะความผิดปกติของร่างกายหรือจิตใจที่มีลักษณะเฉพาะที่สามารถ แยกจากโรคอื่นๆ หรือภาวะความ ผิดปกติอื่นๆ ที่มีลักษณะแตกต่างออกไป เช่น

โรคไข้เลือดออก
หมายถึง โรค ที่มีอาการคล้ายไข้หวัดหรือไข้หวัดใหญ่ แล้วต่อมามีจุดเลือดออกตามตัวหรือมีอาการเลือดออกในที่อื่นด้วย
โรคไข้จับสั่น หมายถึง โรคที่ มีอาการหนาวสั่น แล้วตามมาด้วยอาการไข้สูง ปวดหัว ปวดตัวมาก แล้วต่อมาเหงื่อแตกและไข้หายไป อีก ๑-๒ วัน ต่อมาก็มีอาการแบบเดิมอีก โรคแต่ละโรค อาจจะเกิดจากสาเหตุเดียวหรือเกิดจากหลายสาเหตุก็ได้ เช่น
 
โรคที่ทำให้มีไข้และมีเลือดออกนั้นมีสาเหตุมากมาย คำที่เราใช้กันทั่วไปว่า “โรคไข้เลือดออก” นั้น เราหมายถึง โรคไข้เลือดออกที่เกิดจากเชื้อไวรัสจำพวกหนึ่งเท่านั้น และเชื้อไวรัส จำพวกนั้นก็ยังมีหลายชนิด ที่บ้างก็มีลักษณะคล้ายกัน บ้างก็มีลักษณะต่างกันได้

ส่วนโรคที่ทำให้มีไข้และมีเลือดออกจากสาเหตุอื่น เรามักจะเรียกสาเหตุของโรคนั้นๆเป็นชื่อโรคไปเลย เช่น โรคมะเร็งของเม็ดเลือดขาวที่มีการติดเชื้อ โรคไขกระดูกฝ่อที่มีการติดเชื้อ เป็นต้น

โรคที่ทำให้มีไข้และมีอาการหนาวสั่นก็เช่นเดียวกัน มีสาเหตุมากมาย แต่คำที่เราใช้กันทั่วไปว่า “ไข้จับสั่น” นั้น เราหมายถึง “ไข้ป่า” หรือ “ไข้มาลาเรีย” อาจจะเป็นเพราะว่าในสมัยโบราณ ไข้ป่าหรือไข้มาลาเรียชุกชุมมาก คนที่มีไข้หนาวสั่นส่วนใหญ่จึงเป็นไข้ป่าหรือไข้มาลาเรีย โดยเฉพาะถ้าเข้าป่าหรือเดินทางผ่านป่ามา คำว่า ไข้จับสั่น จึงมีความหมายเดียวกับไข้ป่าหรือไข้มาลาเรีย

อันที่จริง คนที่เป็นไข้แล้วมีอาการหนาวสั่นยังเกิดจากสาเหตุอื่นมากมาย เช่น โรคกรวยไตอักเสบ โรคท่อน้ำดีอักเสบ โรคเลือดเป็นพิษ การให้เลือดผิดหมู่ เป็นต้น
แม้แต่ไข้ป่าหรือไข้มาลาเรียเองก็เกิดจากเชื้อมาลาเรียได้หลายชนิด บางชนิดมีอาการรุนแรง ทำให้เสียชีวิตได้ง่ายและรวดเร็ว บางชนิดมีอาการไม่รุนแรงและบางชนิดอาจเป็นเรื้อรัง(เป็นๆหายๆ)ไปเป็นเวลาหลายๆปี ถ้าไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง
การตรวจรักษาคนไข้ จึงไม่ใช่การกินยารักษาอาการหรือฉีดยารักษาอาการให้อาการดีขึ้นเท่านั้น แต่ต้องพยายามหาว่าอาการนั้นเกิดจากโรคอะไร และโรคนั้นมีสาเหตุจากอะไร เพื่อให้การรักษานั้นถูกต้องสมบูรณ์ด้วย

การตรวจรักษาจึงประกอบด้วย
๑. การตรวจรักษาอาการ เนื่องจาก “อาการ” หรือความรู้สึกผิดปกติที่เกิดขึ้น เป็นสิ่งที่ทำให้ คนไข้ไปหาหมอหรือไปโรงพยาบาล การตรวจรักษาอาการ และการให้ความสนใจกับอาการของคนไข้ จะทำให้คนไข้คลายความเจ็บปวด หรือความทุกข์ทรมานจากอาการนั้นๆลง และทำให้คนไข้รู้สึกพอใจหมอที่ตรวจรักษามากขึ้น
การเฉยเมยกับอาการของคนไข้ และมุ่งแต่จะตรวจหาโรคและสาเหตุของโรค จะทำให้อาการของคนไข้ทรุดลง หรือยืดเยื้อยาวนานออกไป ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างหมอกับคนไข้เกิดปัญหา และทำให้การตรวจรักษาต่อๆไปพลอยเกิดปัญหาได้ง่าย เพราะคนไข้ไม่ให้ความร่วมมือ เป็นต้น

นอกจากนั้น บ่อยครั้งที่โรค หรือสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการนั้นได้ผ่านพ้นไปแล้ว เช่น อุบัติเหตุ หรือยังรักษาไม่ได้ เช่น โรคหรือสาเหตุเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะโรคทางกรรมพันธุ์ โรคจากการเสื่อมสภาพ โรคที่เกิดจากเชื้อโรคที่ยังไม่มียารักษา เช่น โรคหวัด โรคเอดส์ เป็นต้น

๒. การตรวจรักษาโรค เนื่องจาก “โรค” เป็นภาวะผิดปกติของร่างกายและ/หรือจิตใจทั้งหมด หรือเพียงส่วนใดส่วนหนึ่ง ซึ่งมีลักษณะเฉพาะ
เราอาจจะวินิจฉัยว่าเป็นโรคนั้น โรคนี้ได้จาก
๒.๑ อาการ ซึ่งอาจจะเป็น อาการเดี่ยวๆ เช่น ปวดหัว เวลาเครียด ก็จะวินิจฉัยได้ว่า เป็น “โรคปวดหัวเวลาเครียด” (tension headache) เป็นต้น
หรือเป็นกลุ่มอาการ เช่น มีอาการหอบเหนื่อย และเท้าบวมทั้ง ๒ ข้าง ก็มักจะวินิจฉัยได้ว่าเป็น “โรคหัวใจล้ม” หรือ “ภาวะหัวใจ ล้ม” ซึ่งบ้างก็เรียกว่า “ภาวะหัวใจล้มเหลว” (congestive heart failure) เป็นต้น
๒.๒ อาการแสดงหรือสิ่งตรวจพบ เช่น ถ้าตรวจพบอาการไข้ หน้าแดง และมีจุดเลือดออกตามแขนขา ก็อาจจะ วินิจฉัยว่าเป็น “โรคไข้เลือดออก” ไปก่อนได้
ถ้าตรวจพบอาการตัวเหลืองตาเหลือง ท้องมาน(มีน้ำในช่องท้องมาก) ก็อาจจะวินิจฉัยว่าเป็น “โรคตับเรื้อรัง” ได้ ถ้าตรวจพบความดันเลือดสูง ก็จะวินิจฉัยว่าเป็น “โรคความดันเลือดสูง” โดยที่คนไข้ยังไม่มีอาการก็ได้ เป็นต้น
๒.๓ การตรวจทางห้องทดลอง เช่น ถ้าตรวจพบน้ำตาลในปัสสาวะ และน้ำตาลในเลือดสูง ก็จะวินิจฉัยว่าเป็น “โรคเบาหวาน” ทั้งที่คนไข้อาจจะยังไม่มีอาการอะไรก็ได้ ถ้าตรวจพบเชื้อเอดส์หรือภูมิต้านเชื้อเอดส์ในเลือด ก็จะวินิจฉัยว่าเป็น “โรคติดเชื้อเอดส์” ทั้งที่คนไข้อาจจะยังไม่มีอาการก็ได้ เป็นต้น
โรคจึงอาจเป็นเพียงอาการ กลุ่มอาการ หรือความผิดปกติที่ยังไม่มีอาการก็ได้

การวินิจฉัยโรคได้อาจทำให้ รู้สาเหตุของโรคนั้น เช่น โรคไข้มาลาเรีย โรคติดเชื้อเอดส์ โรคเบาหวาน เป็นต้น
หลายต่อหลายครั้ง แม้ว่าจะวินิจฉัยโรคได้แล้ว แต่ก็ยังไม่รู้สาเหตุ และต้องหาสาเหตุต่อไป เช่น โรคความดันเลือดสูง อาจจะเกิดจากสาเหตุต่างๆได้มากมาย เช่น ครรภ์เป็นพิษ โรคไต โรคเนื้องอกของต่อมหมวกไต ปฏิกิริยาระหว่างยา หรือระหว่างยากับอาหาร โรคหัวใจและหลอดเลือดแต่กำเนิด เป็นต้น โรคหัวใจล้ม หรือภาวะหัวใจ ล้ม อาจจะเกิดจากโรคหัวใจหลายชนิด โรคไตหลายชนิด โรคเลือดจางหลายชนิด โรคขาดอาหารหรือขาดสารอาหารบางอย่าง เป็นต้น การตรวจรักษาอาการและการตรวจรักษาโรคจึงยังไม่สมบูรณ์ ต้องมีการตรวจรักษาอื่นๆ ดังจะได้กล่าวถึงต่อไป

ข้อมูลสื่อ

233-007
นิตยสารหมอชาวบ้าน 233
กันยายน 2541
ศ.นพ.สันต์ หัตถีรัตน์