• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

รสชาติที่ผิดปกติ ช่วยพยากรณ์โรค

รสชาติที่ผิดปกติ ช่วยพยากรณ์โรค


มีบ่อยครั้งในยามเจ็บป่วยหรือยามที่ร่างกายไม่ค่อยสบายหรือก่อนจะปรากฎโรคร้ายต่างๆ ให้ตรวจพบจะมีความรู้สึกที่ผิดปกติไป เช่น

"ฉันรู้สึกว่าน้ำลายหรือคอมีความหวานตลอดเวลา"
"ฉันกินอะไรก็จืดไปหมด กินอะไรก็ไม่อร่อย น้ำหนักลดไปหลายกิโลกรัมเลย"

"ผมคอแห้ง คอขมตลอดเวลา อารมณ์หงุดหงิดโมโหง่าย รู้สึกร้อนอยู่ในอกตลอดเวลา"


แพทย์แผนจีนได้กล่าวถึงปัญหาเหล่านี้ไว้อย่างน่าฟัง เมื่อผนวกกับการแพทย์สมัยใหม่ทำให้ได้ข้อมูลที่น่าสนใจเพื่อนำมาประกอบในการพยากรณ์โรค
 

  • ความรู้สึกหวานในปาก

นอกจากรู้สึกว่ามีความหวานในปากแล้ว เวลาดื่มน้ำธรรมดาก็รู้สึกหวานหรือมีรสหวานอมเค็มเล็กน้อย ความรู้สึกหวานในคอบ่งบอกความผิดปกติของระบบการย่อยอาหาร รวมทั้งโรคเบาหวานและการย่อยอาหารผิดปกติ ทำให้การทำงานของเอนไซม์การย่อยผิดปกติไป โดยเฉพาะเอนไซม์อะมีเลส (amylase) ซึ่งทำให้เกิดความรู้สึกหวานคอ คนที่มีน้ำตาลในเลือดสูง น้ำตาลในน้ำลายก็จะสูงด้วย ทำให้มีความรู้สึกหวานตลอดเวลา แพทย์แผนจีนบันทึกไว้ว่า ความรู้สึกรสหวานในคอเป็นความผิดปกติของม้ามและกระเพาะอาหาร จากสาเหตุของความร้อนสะสมในม้าม กระเพาะอาหารและความพร่องของพลังและสารยินของกระเพาะอาหารและม้ามเป็นหลัก ความร้อนสะสมในกระเพาะอาหารและม้ามเป็นผลจากการกินอาหารรสเผ็ดจัด อาหารที่ทำให้เกิดความร้อนภายใน หรือการได้รับปัจจัยความร้อนภายนอกเข้าสู่ภายใน อาการแสดงออก คือ รู้สึกรสหวาน คอแห้ง กระหายน้ำ กินมากหิวเร็ว มีแผลในปากและลิ้น อุจจาระก็อนแข็งแห้ง ตัว ลิ้นแดงแห้ง ชีพจรเร็ว คนที่เป็นเบาหวานหรือมีน้ำตาลในเลือดสูง เนื่องจากอายุมากและการเป็นโรคเรื้อรังนานๆ ทำให้กระเพาะอาหารและม้ามพร่อง ทำให้พลังและสารยินถูกกระทบกระเทือน เกิดความร้อนสะสม เนื่องจากขาดสารยิน ขาดสารน้ำจำเป็นของกระเพาะอาหารและม้าม ทำให้คอแห้ง รู้สึกหวานในคอ แต่ดื่มน้ำไม่มาก หายใจไม่ลึก เหนื่อยง่าย ท้องอืด อุจจาระบางครั้งนิ่ม บางครั้งเป็นก็อนแข็ง
 

  • ความรู้สึกเค็มในปาก

มีความรู้สึกคล้ายอมเม็ดเกลือเล็กๆในปาก มีรสเค็มทั่วไปพบในโรคคออักเสบเรื้อรัง โรคไตอักเสบเรื้อรัง โรคจิตประสาท หรือแผลอักเสบในปาก แพทย์แผนจีนได้บันทึกว่า ความรู้สึกมีรสเค็มในปากมักเกี่ยวข้องกับไตพร่องเป็นเหตุ ถ้ามีอาการเอวหรือเข่าเมื่อยล้าง่าย เวียนศีรษะ หูมีเสียงดัง มีความรู้สึกร้อนบริเวณฝ่ามือ เหงื่อออกกลางคืน ฝันเปียก ฝ้าบนลิ้นน้อย ชีพจรเบาและเร็ว เป็นภาวะไตยินพร่อง เกิดไฟจากภาวะธาตุน้ำพร่อง เรียกว่า "ภาวะไตยินพร่อง" ทำให้มีรสเค็มในปาก ถ้ามีอาการลำตัวหนาว หรือเท้าเย็นอ่อนเพลีย ไม่มีแรง เฉื่อยชา ปัสสาวะบ่อยและมาก มีภาวะกามตายด้าน ครวดูลิ้นมีลักษณะบวม ชีพจรลึกและเบา แสดงว่าพลังหยางของไตไม่พอ เรียกว่า "ภาวะไตพร่อง"
 

  • ความรู้สึกเปรี้ยวในปาก

คอมีรสเปรี้ยว มักพบในผู้ป่วยที่มีการอักเสบของกระเพาะอาหารและลำไส้เล็กส่วนต้นเป็นแผล ทำให้มีการหลั่งของกรดซึ่งมีรสเปรี้ยวออกมามาก แพทย์แผนจียกล่าวถึงภาวะความรู้สึกมีรสเปรี้ยวในคอว่าเกิดจากความร้อนของตับและถุงน้ำดีไปกระทบกระเพาะอาหาร(ธาตุไม้ไปข่มเกินธาตุดิน) มักมีอาการอึดอัด แน่นหน้าอก และสีข้าง คลื่นไส้ หลังกินอาหารจะอึดอัดแน่นท้อง ฝ้าบนลิ้นจะมีสีเหลืองบาง ชีพจรตึงเหมือนสายคันธนู
 

  • ความรู้สึกเผ็ดในปาก

เป็นความรู้สึกเผ็ดหรือซ่าในคอ มักพบในผู้ป่วยความดันเลือดสูง โรคเกี่ยวกับจิตประสาทแปรปรวน และภาวะมีไข้ต่ำๆเรื้อรังเนื่องจากรสเผ็ดเป็นรสผสมของรสเค็ม ความรู้สึกร้อนและความรู้สึกเจ็บแสบรวมกัน เมื่อกินของเผ็ดจะทำให้อุณหภูมิของลิ้นค่อนข้างอุ่นกว่าปกติ ขณะเดียวกันมีความไวต่อรสเค็ม และรู้สึกเจ็บปวดได้ง่าย แพทย์แผนจีนถือว่า ความรู้สึกมีรสเผ็ดในปากเป็นภาวะของปอดร้อน หรือภาวะไฟของกระเพาะอาหารร้อน และเกร็งเป็นเหตุ มักมีอาการ่วมกับอาการไอ เสมหะเหลือง ฝ้าของลิ้นเหลืองและบาง เป็นต้น
 

  • ความรู้สึกจืดในปาก

เป็นภาวะบ่งบอกถึงความรู้สึกรับรสเสื่อมถอย แสดงออก คือ รสชาติอาหารจืดชืด หรือกินอะไรไม่รู้สึกอร่อย ขาดรสชาติ มักพบในโรคเกี่ยวกับการอักเสบระยะเริ่มต้น หรือระยะที่การอักเสบเริ่มทุเลา โรคลำไส้อักเสบ โรคบิด โรคเกี่ยวกับระบบการย่อยอาหาร ระยะพักฟื้นหลังผ่าตัด โรคขาดสารอาหาร วิตามิน เกลือแร่ โปรตีน นอกจากนี้ เป็นอาการสำคัญที่พบในผู้ป่วยมะเร็ง ซึ่งจะทำให้มีน้ำหนักตัวลดลงอย่างมาก แพทย์แผนจีนถือว่า ความรู้สึกมีรสจืดในปาก ไม่รู้รส มีสาเหตุจากกระเพาะอาหารและม้ามพร่อง การย่อยดูดซึมไม่ดี มีอาการร่วมกับการเบื่ออาหาร แขนขาไม่ค่อยมีแรง ท้องจุกเสียด ตัวลิ้นซีด ฝ้าบนลิ้นขาว 
 

  • ความรู้สึกมีรสฝาดในปาก

ความรู้สึกรสฝาดบ่งบอกความผิดปกติของระบบประสาท หรือเป็นอาการที่เกิดจากการอดหลับอดนอนมาตลอดคืน สามารถแก็ไขได้โดยการปรับเวลาของการนอนให้เพียงพอ หรือให้ยาระงับความเครียด อาการก็สามารถดีขึ้นได้ ยังพบได้ในผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้าย ซึ่งผู้ป่วยจะมีการรับรสฝาดและขม
 

  • ความรู้สึกมีรสหอมในปาก

ความรู้สึกรสหอมคล้ายหอมเหมือนน้ำผลไม้ พบได้บ่อยในผู้ป่วยโรคเบาหวานที่มีความรุนแรง ผู้ที่มีอาการดังกล่าว ควรพบแพทย์เพื่อตรวจเลือดและทำการรักษาอย่างจริงจัง

การแพทย์แผนจีนมักจะจับเอาปรากฏการณ์ทั้งเป็นรูปธรรมจับต้องได้ เช่น สีหน้าลักษณะ อุจจาระ ปัสสาวะ ชีพจร ฯลฯ และปรากฏการณ์ที่เป็นนามธรรม เป็นความรู้สึกของผู้ป่วย เช่น ความรู้สึกของรสชาติอาหาร ความรู้สึกอึดอัดแน่นในอก สีข้างร้อนในท้องในอก ลักษณะความฝัน อารมณ์ทั้ง ๗ ฯลฯ มาสัมพันธ์กับภาวะของร่างกาย โดยพยายามเชื่อมโยงปรากฏการณ์เหล่านั้น กับความสมดุลของปัญจธาตุ อันได้แก่ อวัยวะภายในทั้ง ๕ แล้วนำไปประกอบการวินิจฉัยและพยากรณ์โรค เรื่องราวต่างๆจะได้นำเสนอต่อไป

ข้อมูลสื่อ

242-015
นิตยสารหมอชาวบ้าน 242
มิถุนายน 2542
แพทย์แผนจีน
นพ.วิทวัส (ภาสกิจ) วัณนาวิบูล