• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ถัวแปบ ผักพื้นบ้านชื่อไทยโบราณ

ถัวแปบ ผักพื้นบ้านชื่อไทยโบราณ

 
ในบรรดาผักพื้นบ้านดั้งเดิมของชาวไทยนั้นมีหลายชนิดที่เรียกชื่อด้วยถ้อยคำในภาษาไทยแท้ บ่งบอกลักษณะพิเศษที่เด่นมากของผักชนิดนั้นๆ เช่น ถั่วพู มีคำว่าพู แสดงลักษณะเด่นของฝัก ผักไห่ มาจากคำว่าไห บ่งบอกลักษณะทรงผลมะระพื้นบ้าน(ผักไห่) หรือน้ำเต้า มีคำว่า เต้า เป็นลักษณะของผลน้ำเต้าที่คล้ายเต้า (เช่น เต้านม) เป็นต้น

ผักพื้นบ้านที่มีชื่อเป็นภาษาไทยแท้และแสดงถึงลักษณะพิเศษที่เด่นมากของผักชนิดนั้น เหล่านี้ มักเป็นผักพื้นบ้านดั้งเดิมที่อยู่คู่กับคนไทยมาเนิ่นนาน หรือมีถิ่นกำเนิดในบริเวณประเทศไทยมาแต่เดิม น่าสังเกตว่าชื่อภาษาไทยของผักพื้นบ้านดั้งเดิมเหล่านี้ บางครั้งเป็นภาษาไทยโบราณที่คนไทยยุคปัจจุบันไม่เข้าใจความหมายกันแล้ว อาจเป็นเพราะไม่ได้ใช้หรือมีคำใช้แทน จนถูกลืมเลือนไปก็ได้ ดังเช่นชื่อผักพื้นบ้านดั้งเดิมที่จะนำมาเสนอในครั้งนี้ คือ “ถั่วแปบ”
 

แปบ : ชื่อยอดนิยมในอดีต

คำว่าแปบนั้น คงเป็นคำที่ชาวไทยในอดีตใช้กันอย่างแพร่หลายและคงเป็นที่นิยมมากด้วย เพราะนอกจากจะนำมาใช้เป็นชื่อผักแล้วยังใช้เรียกชื่อขนมชื่อปลาอีกด้วย

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๒๕  อธิบายว่า ขนมถั่วแปบ เป็นขนมที่ทำด้วยแป้งข้าวเหนียว ต้มคลุกกับเนื้อมะพร้าวขูดทำเป็นแผ่นหุ้มห่อไส้ที่ทำด้วยถั่วเขียวเราะเปลือกหนึ่ง โรยงา น้ำตาล ขนมชนิดนี้มีลักษณะแบนๆ คล้ายถั่วแปบ ส่วนปลาแปบนั้น อธิบายว่าเป็นชื่อเรียกปลาน้ำจืดทุกชนิดที่อยู่ในสกุล (Genus) Paralaubuea และ Oxygaster ในวงศ์ (Family) Cyprinidae มีลักษณะเด่น คือ ลำตัวแบนมาก สันท้องคม และไม่มีหนวด ปลาแปบเป็นปลาที่พบในแหล่งน้ำจืดได้ทั่วไปโดยเฉพาะเขตภาคกลางของไทยในอดีต แต่ปัจจุบันลดน้อยลงมากจนแม่น้ำบางแห่งไม่มีปลาแปบเหลืออยู่แล้ว จากชื่อผัก ขนม และปลาที่ใช้คำว่าแปบเหมือนกันทำให้สันนิษฐานว่า ในอดีตชาวไทยคงรู้จักคุ้นเคยและใช้คำว่า “แปบ” กันมาก หรืออาจเรียกได้ว่าเป็นคำยอดนิยมคำหนึ่งของยุคสมัย แต่ปัจจุบันหากต้องการทราบความหมายของคำว่า “แปบ” คงต้องเปิดพจนานุกรมดู ซึ่งในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๒๕ อธิบายว่า แปบเป็นคำวิเศษณ์ แปลว่า แบน ส่วนหนังสืออักขราภิธานศรับท์ ของหมอปรัดเล พ.ศ.๒๔๑๖ อธิบายว่า “แปบ แฟบ : คือ ลีบเล็ก แบนเหมือนข้าวลีบนั้น”

เมื่อเปรียบเทียบหนังสือสองเล่ม (คือ พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน และหนังสืออักขราภิธานศรับท์ ของหมอปรัดเล) ซึ่งมีอายุห่างกัน ๑๐๙ ปี พบว่า เมื่อร้อยกว่าปีก่อน คนไทยใช้คำว่าแปบและแฟบในความหมายเดียวกัน (ดูเหมือนจะนิยมใช้คำว่า แปบมากกว่าแฟบ) แต่ปัจจุบันเหลือใช้เพียงคำว่า แฟบ คนไทยสมัยนี้จึงไม่ทราบความหมายของคำว่า “แปบ” และการที่พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๒๕ ให้ความหมายว่า แบนนั้นก็ไม่ค่อยตรงนัก เพราะคำว่า “แฟบ” กับคำว่า “แบน” มีความหมายต่างกันอยู่บ้าง เพราะสิ่งที่ “แฟบ” ต้องมีช่องว่างอยู่ภายในก่อน เช่น ยางรถที่เคยโป่งแล้วแฟบ แต่สิ่งที่แบนไม่จำเป็นต้องมีช่องว่างภายในอยู่ก่อนก็ได้ เช่น กล้วยตากถูกไม้ทับจนแบน เป็นต้น
 

ถั่วแปบ : ความแปบที่คนไทยคุ้นเคย

ถั่วแปบมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Dolichos lablab Linn. อยู่ในวงศ์มากมาย เช่น ถั่วเหลือง ถั่วเขียว ถั่วพู ฯลฯ ภาษาอังกฤษเรียก Lab lab Bean หรือ Hyacinth Bean ภาษาไทยเรียกถั่วแปบหรือถั่วหนัง ถั่วแปบเป็นไม้เถาล้มลุก มีเถาเลื้อยแข็งแรงลักษณะใบเป็น ๓ ใบย่อยบนก้านเดียวกันคล้ายถั่วพู แต่ถั่วแปบมีขนอ่อนตามลำต้นและใบทั่วไป กลีบดอกมีสีขาว ชมพู หรือม่วง แตกต่างไปตามสายพันธุ์ซึ่งมีความหลากหลายมาก ฝักแบนกว้างประมาณ ๒-๔ เซนติเมตร ยาว ๕-๑๐ เซนติเมตร ฝักอ่อน สีเขียวหรือม่วงเมื่อแก่เมล็ดมีสีหลากหลายไปตามสายพันธุ์ ตั้งแต่ครีม น้ำตาลจนถึงแดง เมล็ดกลมผิวเรียบ ถั่วแปบเป็นถั่วที่มีถิ่นกำเนิดดั้งเดิมอยู่แถบร้อน (tropical) ของทวีปเอเชีย รวมทั้งพื้นที่ประเทศไทยด้วยจึงพบว่ามีสายพันธุ์หลากหลายมาก จนอาจกล่าวได้ว่าถั่วแปบเป็นพืชที่มีความหลากหลายของสายพันธุ์มากที่สุดอย่างหนึ่งในบรรดาผักพื้นบ้านของไทยในปัจจุบัน

ถั่วแปบเป็นถั่วพื้นบ้านดั้งเดิมที่แข็งแรงทนทานต่อดินฟ้าอากาศและโรคแมลงได้ดีที่สุดชนิดหนึ่งในบรรดาผักพื้นบ้านของไทยที่มีอยู่ในปัจจุบัน รวมทั้งมีความหลากหลายของสายพันธุ์มากที่สุดชนิดหนึ่งอีกด้วย ถั่วแปปบจึงเป็นผักที่ปลูกและบำรุงรักษาได้ง่ายที่สุด โดยเฉพาะใยช่วงฤดูฝนที่ผักอื่นๆ ปลูกได้ยาก
 

  • อาหาร

ส่วนที่นำมาใช้เป็นผักคือฝักอ่อนของถั่วแปบ ซึ่งสามารถใช้ได้ทั้งฝัก เพราะยังมีความอ่อนนุ่ม ฝักอ่อนถั่วแปบนิยมนำมาทำให้สุกก่อนกิน เช่น ใช้เป็นผักจิ้มกับเครื่องจิ้มชูรสต่างๆ จำพวกน้ำพริก ปลาร้า ปลาส้ม ฯลฯ ฝักอ่อนของถั่วแปบ ยังใช้ผัดและแกงได้หลายอย่าง เช่น ภาคกลางใช้แกงส้ม ภาคอีสานใช้แกงซุปเช่นเดียวกับซุปบักมี่ (ขนุนอ่อน)
 

  • สมุนไพร

เมล็ดแก่ของถั่วแปบนิยมใช้เป็นอาหารวัวควาย หรือใช้เป็นสมุนไพรรักษาโรคบางชนิดดังปรากฏในตำราสมุนไพรไทยว่า เมล็ดถั่วแปบ : รสมัน แก้ไข้ แก้โรคตา แก้เสมหะในร่างกาย บางตำราระบุว่า เมล็ดถั่วแปบ ใช้บำรุงธาตุและแก้อาการเกร็งด้วย
 

  • ประโยชน์ด้านอื่นๆ

ถั่วแปบบางสายพันธุ์ นิยมปลูกเป็นอาหารสัตว์ในทุ่งหญ้า นับเป็นพืชอาหารสัตว์ที่สำคัญชนิดหนึ่ง รู้จักกันดีในชื่อถั่ว Lab lab นอกจากนั้นยังใช้ปลูกคลุมดิน ป้องกันวัชพืชและรักษาความชุ่มชื้นในสวนผลไม้ บำรุงดินเพราะมีปมที่รากจับไนโตรเจนจากอากาศมาเปลี่ยนเป็นปุ๋ยไตเตรดได้ หรือใช้เป็นปุ๋ยพืชสด

ข้อมูลสื่อ

221-011
นิตยสารหมอชาวบ้าน 221
กันยายน 2540
ต้นไม้ใบหญ้า
เดชา ศิริภัทร