• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

มะเฟือง : ผักผลรูปดาวของชาวอาเชียอาคเนย์

คอลัมน์ต้นไม้ใบหญ้าตอนที่แล้วได้นำเสนอเรื่องตะลิงปลิง ซึ่งสืบเนื่องมาจากการเดินทางไปประเทศอินโดนีเชีย เพื่อเป็นการต่อเนื่องทั้งจากการเดินทางและจากความใกล้ชิดทางพันธุกรรม ผู้เขียนจะนำเสนอพืชที่เป็นผักพื้นบ้านชนิดหนึ่งต่อจากตะลิงปลิง เพราะระหว่างการเดินทางบนเกาะชวานั้น ผู้เขียนพบพืชชนิดนี้ขึ้นอยู่ทั่วไปในบริเวณที่ปลูกตะลิงปลิง นอกจากนั้นยังเป็นญาติใกล้ชิดในระดับพี่น้อง(สกุลเดียวกัน)รูปร่างหน้าตาคล้ายคลึงกันมากอีกด้วย พืชชนิดนี้คนไทยรู้จักกันแพร่หลาย และนิยมปลูกมากกว่าตะลิงปลิงเสียอีก พืชดังกล่าวก็คือมะเฟืองนั่นเอง

                                  

มะเฟือง:ผลเป็นรูปเฟืองหรือดวงดาว
มะเฟืองเป็นพืชยืนต้นที่อยู่ในวงศ์ Averrhoaceae และสกุล (genus) Averrhoa เช่นเดียวกับตะลิงปลิง มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Averrhoa carambola Linn. มีขนาดความสูงประมาณ ๕-๑๒ เมตร เล็กกว่าตะลิงปลิงไม่มากนัก(ตะลิงปลิงสูงราว ๖-๑๕ เมตร) ลักษณะทั่วไปคล้ายตะลิงปลิง เช่น ลำต้นสีน้ำตาลอ่อน มีตุ่มขนาดเล็กอยู่บนผิวเปลือก และรอยแผลเป็นจากใบที่ร่วงหล่น มีกิ่งก้านมาก ทรงพุ่มไม่เป็นระเบียบ ใบเป็นใบประกอบรูปขนนก ก้านใบแต่ละก้านมีใบย่อย ๗-๑๓ ใบ เรียงอยู่เป็นคู่ๆ และปลายสุดอีก ๑ ใบ ใบย่อยลักษณะรูปไข่ปลายแหลม ใบด้านล่าง(ติดกับกิ่ง)จะเล็กกว่าใบที่อยู่ด้านปลาย ขนาดกว้าง ๑.๕-๔ เซนติเมตร ยาว ๒-๙ เซนติเมตร ดอกออกเป็นช่อ เกิดจากตาดอกบริเวณซอกใบตามลำต้นหรือกิ่งแก่ กลีบดอกสีม่วงขอบขาวเป็นดอกสมบูรณ์(มีเกสรตัวผู้และรังไข่อยู่ในดอกเดียวกัน) ออกดอกเป็นฤดู(ปกติปีละครั้ง ประมาณเดือนกันยายน) ผลโตกว่าตะลิงปลิง ยาวประมาณ ๗-๑๔ เซนติเมตร ผิวเรียบ หนากว่าตะลิงปลิง ผลอ่อนสีเขียว เมื่อแก่สีเหลือง เนื้อผลฉ่ำน้ำเช่นเดียวกับตะลิงปลิง แต่รสชาติมีหลากหลาย ตั้งแต่เปรี้ยวจัดจนถึงหวานจัด บางครั้งมีรสฝาดปนอยู่ด้วย ผลหยักลึกตามยาวเป็นเฟือง ๕ กลีบ(บางครั้งมี ๖ กลีบ)

จากลักษณะเด่นที่ผลเป็นเฟืองนี้เอง ทำให้ชาวไทยเรียกพืชชนิดนี้ว่ามะเฟือง เพราะคำว่าเฟืองนั้น ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๒๕ ให้ความหมายว่า “พู เหลี่ยม ซี่แห่งกงจักร” หรือที่เรียกกันทั่วไปว่าฟันเฟืองนั้นเอง ส่วนชาวตะวันตกมองเห็นผลมะเฟืองเป็นรูปดาว ๕ แฉก(เมื่อตัดผลมะเฟืองด้านขวาง) จึงเรียกพืชชนิดนี้ว่า STAR FRUIT ซึ่งก็ถือได้ว่าถูกทั้งคู่ คือหากมองทั้งผลจะเห็นเป็นรูปเฟือง เมื่อมองด้านตัดขวางก็จะเห็นเป็นรูปดาว

ถิ่นกำเนิดตั้งเดิมของมะเฟืองนั้น เชื่อกันว่าอยู่บริเวณประเทศอินโดนีเซีย มาเลเซีย และบริเวณใกล้เคียง(ซึ่งก็คือเอเชียอาคเนย์) จึงอาจกล่าวได้ว่ามะเฟืองเป็นพืชพื้นบ้านดั้งเดิมของชาวเอเชียอาคเนย์ อันรวมชาวไทยด้วยนั่นเอง

มะเฟืองในฐานะผัก
คนไทยส่วนใหญ่รู้จักมะเฟืองในฐานะผลไม้เป็นหลัก เพราะนำไปประกอบอาหารค่อนข้างน้อย ส่วนที่ใช้เป็นผักก็คือผลมะเฟือง ซึ่งต้องเลือกชนิดที่มีรสเปรี้ยว ใช้เป็นเครื่องแต่งรสเปรี้ยว เช่นเดียวกับมะนาวหรือมะม่วง เช่น ใช้แนมกับน้ำพริก ใช้ประกอบเมี่ยงหรือแหนม(โดยเฉพาะแหนมเนือง) ใช้แกงแทนมะดัน หรือใช้ในยำบางตำรับ เป็นต้น
 
ความจริงมะเฟืองมีคุณสมบัติใช้เป็นผักได้ดีกว่าตะลิงปลิงเสียด้วยซ้ำ เพราะมีความหลากหลายด้านรสชาติมากกว่าตะลิงปลิง(ที่มีแต่เปรี้ยวจัดเท่านั้น) มะเฟืองมีรสตั้งแต่เปรี้ยวจัด เปรี้ยวอมหวาน ไปจนกระทั่งหวานอมเปรี้ยว และหวานจัด นอกจากนั้นยังมีรสฝาดในระดับต่างๆมาประกอบอีก ทำให้สามารถเลือกไปประกอบอาหารชนิดต่างๆได้มากมาย แต่เนื่องจากทัศนคติของคนไทยส่วนใหญ่มองมะเฟืองในฐานะผลไม้เศรษฐกิจอย่างหนึ่ง จึงทำให้พัฒนาการด้านที่จะนำมาเป็นผักหยุดชะงักไปเป็นเวลานาน คนไทยรุ่นใหม่อาจฟื้นฟูพื้นฐานของมะเฟืองให้มีบทบาทด้านผักขึ้นอีกได้ไม่ยาก ซึ่งจะทำให้อาหารไทยได้รับความนิยมมากยิ่งขึ้น และยั่งยืนยิ่งขึ้นในระดับสากล
 
มะเฟืองในฐานะผลไม้
มะเฟืองหวานเป็นผลไม้ที่ชาวไทยรู้จักดีที่สุดชนิดหนึ่งมาแต่อดีต เนื่องจากเป็นพืชที่ปลูกง่าย ให้ผลเร็วและดก ตามบ้านเรือนหรือสวนหลังบ้านของชาวไทยในชนบทมักพบมะเฟืองขึ้นอยู่ด้วยเสมอ แต่ในปัจจุบันมะเฟืองดูเหมือนจะถูกทอดทิ้ง เพราะคนไทยหันไปนิยมปลูกผลไม้ชนิดอื่นๆกันมากกว่า การพัฒนาพันธุ์มะเฟืองในประเทศไทยจึงหยุดลงเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน ต่างจากผลไม้ชนิดอื่นที่ไทยมักเป็นผู้นำอยู่เสมอ

กระแสความนิยมปลูกมะเฟืองในประเทศไทยเริ่มอีกครั้งหนึ่งเมื่อ ๕-๖ ปีที่ผ่านมา เมื่อมีการนำพันธุ์มะเฟืองที่พัฒนาคุณภาพแล้ว เข้ามาจากประเทศมาเลเซียและไต้หวันที่มีการพัฒนาทั้งพันธุ์และวิธีการปลูกมะเฟืองอย่างจริงจังจนมะเฟืองกลายเป็นผลไม้เศรษฐกิจสำคัญชนิดหนึ่ง ทั้งบริโภคในประเทศและส่งออก

ปัจจุบันการปลูกมะเฟืองเพื่อบริโภคผลได้รับความนิยมมากขึ้นตามลำดับ แต่การปลูกเพื่อใช้เป็นผักหรือประกอบอาหารแทบจะไม่ได้รับความสนใจเลย เป็นหน้าที่ของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องจะต้องช่วยกันพัฒนาทั้งพันธุ์ที่เหมาะสมและการนำมาประกอบอาหารจนได้รับความนิยมจากผู้บริโภคให้สำเร็จ มิฉะนั้นอนาคตชาวไทยอาจจปลูกเพียงมะเฟืองหวานเพื่อใช้กินเป็นผลไม้เพียงด้านเดียวเท่านั้น
 
ประโยชน์ด้านอื่นๆของมะเฟือง

มะเฟืองมีคุณสมบัติด้านสมุนไพรหลายประการ เช่น ตำราสรรพคุณสมุนไพร ระบุว่า
ใบและราก : เป็นยาเย็น ปรุงเป็นยา ดับพิษร้อน แก้ไข้ แก้กาฬขึ้นภายนอก ภายในแก้ผิดสำแดง
ผล : เป็นยาขับเสมหะ ขับปัสสาวะ แก้นิ่ว ไตพิการ

นอกจากนี้บางตำรายังใช้เป็นยาแก้โรคนิ่วในไตและถุงน้ำดี และใช้เป็นยารักษาโรคผิวหนังด้วย

ผลมะเฟืองมีน้ำมากและมีกรดมากพอสมควร จึงเหมาะแก่การนำไปทำน้ำผลไม้ ทำไวน์ กวน แช่อิ่ม ฯลฯ มะเฟืองพันธุ์พื้นบ้านที่มีรสเปรี้ยวไม่เหมาะแก่การกินสดหรือขายเป็นผลไม้ อาจนำมาแปรรูปได้ดี การพัฒนาผลิตภัณฑ์ต่างๆจากมะเฟืองจึงต้องทำควบคู่ไปกับการพัฒนาสายพันธุ์และการส่งเสริมให้เกษตรกรปลูก แต่สำหรับผู้อ่านคอลัมน์นี้ และมีที่ว่างอยู่บ้าง ก็น่าจะหาพันธุ์มะเฟืองมาปลูกเอาไว้สักต้น จะเป็นพันธุ์ใหม่ๆ หรือพันธุ์พื้นเมืองก็ได้ เพราะประโยชน์ที่ได้รับจริงๆ ด้านสุขภาพกายและใจนั้นไม่แตกต่างกันเลย

ข้อมูลสื่อ

240-012
นิตยสารหมอชาวบ้าน 240
เมษายน 2542
ต้นไม้ใบหญ้า
เดชา ศิริภัทร