• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ความเปลี่ยนแปลงของร่างกาย ในวัยหมดประจำเดือน

ความเปลี่ยนแปลงของร่างกาย ในวัยหมดประจำเดือน


‘เมื่อเข้าสู่วัยคุณภาพ ความเปลี่ยนแปลงของสภาวะทางร่างกายจะเกิดขึ้น สิ่งที่คุณผู้หญิงจะต้องเผชิญอย่างแน่นอน นั่นคือภาวะของการหมดประจำเดือน ซึ่งจะส่งผลกระทบหลายอย่างต่อร่างกายของผู้หญิง’

 
ร่างกายของผู้หญิงเปลี่ยนแปลงอย่างไร
การหมดประจำเดือนของผู้หญิงจะอยู่ในช่วงอายุ ๔๕-๕๕ ปี ถือเป็นการสิ้นสุดของวัยเจริญพันธุ์ตามธรรมชาติ รังไข่จะหยุดผลิตไข่ ทำให้ไม่มีประจำเดือนและไม่มีการสร้างฮอร์โมนเพศหญิงจากรังไข่อีก
คุณผู้หญิงส่วนใหญ่ มักจะมีความวิตกกังวลเกี่ยวกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นเมื่อถึงวัยนี้ เนื่องจากมีทั้งข่าวลือ ความเชื่อผิดๆ รวมทั้งคำขู่ที่สืบทอดต่อกันมา
 

สิ่งใดบ้างที่เกิดขึ้นในหลังภาวการณ์หมดประจำเดือน

เมื่อไม่มีการสร้างฮอร์โมนเพศหญิงเกิดขึ้น อวัยวะต่างๆในร่างกาย ที่สัมพันธ์กับระดับฮอร์โมนเพศหญิงนั้นก็จะเสื่อมลง

- อวัยวะเพศเหี่ยวลงทั้งด้านนอกและด้านในช่องคลอด ผนังบุช่องคลอดบางลงและไม่สามารถยืดขยายได้ดังปกติ และมีอาการเจ็บเวลามีเพศสัมพันธ์ เนื่องจากน้ำหล่อลื่นภายในช่องคลอดลดลง

- กล้ามเนื้อโดยรอบช่องคลอดและกระเพาะปัสสาวะมีขนาดเล็กลงและอ่อนแรง ซึ่งอาจจะทำให้มดลูกเลื่อนต่ำลงและเกิดภาวะช่องคลอดหย่อน หรือที่เรียกว่า กระบังลมหย่อน นั่นเอง

- ผนังกระเพาะปัสสาวะบางลง โดยเฉพาะบริเวณคอกระเพาะปัสสาวะจะบางและอักเสบติดเชื้อได้ง่าย ทำให้รู้สึกเหมือนถ่ายปัสสาวะไม่สุด หรืออาจถ่ายปัสสาวะอยู่ตลอดเวลา

- เต้านมมีขนาดเล็กลง เกิดจากต่อมเต้านมและเส้นใยที่ช่วยในการยืดหยุ่นเหี่ยวลง

- ผิวหนังบาง แห้ง มีรอยย่น และรอยแตก เนืองจากเนื้อเยื่อบางลง และมีไขมันใต้ผิวหนังน้อยลง นอกจากนี้อาจมีอาการคันยิบๆ บริเวณใต้ผิวหนัง

- ผมร่วงง่าย และบางลง

- กระดูกบางลง เนื่องจากการทำลายเซลล์กระดูกเพิ่มขึ้นขณะที่การสร้างลดลง โดยกระดูกจะเริ่มบางลงตั้งแต่อายุ ๓๕ ปี เมื่ออายุประมาณ ๕๕ ปี กระดูกจะบางลงร้อยละ ๒๐-๓๐ และเมื่อถึงอายุ ๖๕-๗๐ ปี กระดูกอาจจะบางถึงร้อยละ ๓๐-๕๐ ทำให้กระดูกทรุดแตกหักได้ง่าย

- อาการอื่นๆ ที่อาจเกิดขึ้น ได้แก่ อาการร้อนวูบวาบตามตัว เหนื่อยง่าย ใจสั่น นอนไม่หลับ ชาตามมือและเท้า เหงื่อยออกตอนกลางคืน ปวดเมื่อยตามกล้ามเนื้อ เป็นตะคริว วิตกกังวล ซึมเศร้า เป็นต้น ซึ่งอาการเหล่านี้ทำให้บางคนคิดว่าเป็นโรคประสาทไปก็มี

 
เตรียมตัวรับการเปลี่ยนแปลง

การเตรียมตัวรับชีวิตใหม่ในช่วงที่หมดประจำเดือนแล้ว จะนำมาซึ่งคุณภาพชีวิตและสุขภาพที่ดีในวัยคุณภาพ โดยเริ่มจาการปรับปรุงสิ่งต่างๆ ในชีวิตประจำวัน

- ควรกินอาหารที่ย่อยง่าย อาหารประเภทโปรตีนควรเป็นชนิดที่มีไขมันน้อย ไม่ควรกินเนื้อติดมันและหนังสัตว์ กินผักใบเขียวมาก ๆ รวมทั้งผลไม้ที่มีวิตามินซีสูง อาหารจำพวกคาร์โบไฮเดรตควรเป็นชนิดที่มีกาก เช่น ข้าว ขนมปังชนิดโฮลวีท ไม่ควรกินเนย น้ำตาล และเกลือในปริมาณมาก และการกินปลากระป๋องหรือปลาตัวเล็กทั้งกระดูกจะช่วยให้ได้แคลเซียมมากขึ้น

- ควรดื่มมนชนิดพร่องไขมันเป็นประจำ ถ้าดื่มนมไม่ได้ควรดื่มนมถั่วเหลืองชนิดจืดแทนเพื่อให้ได้แคลเซียมและวิตามินในปริมาณที่มากขึ้น ควรดื่มน้ำวันละ ๖-๘ แก้ว และไม่ควรดื่มเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของกาแฟอีนและแอลกอฮอล์

- ควรบริหารกล้ามเนื้อช่องคลอดเป็นประจำ เพื่อป้องกันการเกิดภาวะช่องคลอดหย่อน ช่วยให้กล้ามเนื้อที่รองรับกระเพาะปัสสาวะแข็งแรงขึ้น และมีผลให้การตอบสนองเวลามีเพศสัมพันธ์ดีขึ้น

การปฏิบัติตนให้ได้ดังข้างต้น จะช่วยให้ชีวิตวัยคุณภาพเป็นชีวิตใหม่ที่มีสุขภาพแข็งแรงเหมือนปกติ แต่ถ้าปฏิบัติครบถ้วนแล้ว อาการบางชนิดยังไม่หายไปหรือเป็นมากขึ้น เช่น อาการร้อนวูบวาบ หงุดหงิด นอนไม่หลับ ปวดตามข้อกระดูก ฯลฯ อาจจะต้องได้รับฮอร์โมนเพศหญิงทดแทน เพื่อให้สภาวะต่างๆ ของร่างกายกลับคืนสู่สภาพปกติ

ข้อมูลสื่อ

225-008
นิตยสารหมอชาวบ้าน 225
มกราคม 2541
โรคน่ารู้
นพ.พันธ์ศักดิ์ ศุกระฤกษ์