• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ซึม-เศร้า-เหงา-หงิก

ซึม-เศร้า-เหงา-หงิก (ตอนจบ)


คนไข้รายที่ ๕

หญิงอายุ ๔๘ ปี ถูกสามีพามาหาหมอ

สามี : “สวัสดีค่ะคุณหมอ ช่วยดูภรรยาของผมให้หน่อยไม่ทราบว่าเป็นโรคอะไรหรือเปล่า อ้วนเอาๆ และหงุดหงิดง่ายด้วย”

หมอ : “สวัสดีครับ นั่งก่อนครับ สามีบอกว่าคุณอ้วนขึ้นจริงหรือไม่ครับ”

คนไข้ : “ค่ะ อ้วนขึ้นหน่อยค่ะ”

หมอ : “คุณทำงานอะไรครับ”

คนไข้ : “งานบ้านค่ะ”

หมอ : “งานในบ้านของคุณเองหรือนอกบ้านครับ”

คนไข้ : “ในบ้านค่ะ”

หมอ : “คุณทำเองหมดทุกอย่างหรือมีคนช่วยครับ”

คนไข้ : “มีคนช่วยค่ะ”

หมอ : “งานบ้านที่ต้องใช้แรง คุณทำหรือเปล่าครับ เช่น ถูบ้าน”

คนไข้ : “ไม่ได้ทำค่ะ”

หมอ : “แล้วคุณกินอาหารประเภทไหนบ้าง”

คนไข้ : “กินได้ทุกอย่างค่ะ”

หมอ : “แล้วลูกๆสบายดีไหมครับ”

คนไข้ : “สบายดีค่ะ”

หมอ : “แล้วคุณเองล่ะ มีอาการผิดปกติอะไรไหม”

คนไข้ : “ไม่มีค่ะ”

หมอ : “แล้วที่สามีบอกว่าคุณหงุดหงิดง่าย คุณเป็นเช่นนั้นหรือเปล่าครับ”

คนไข้ : “เปล่าค่ะ”

สามี : “อย่างนี้แหละหมอ นี่กว่าจะพาตัวมาหาหมอได้ต้องเกลี้ยกล่อมตั้งนาน จนต้องบอกว่าอ้วนมากๆ อย่างนี้อาจเป็นเบาหวานและความดันสูงเหมือนคุณแม่เขาก็ได้ เขาจึงยอมมาครับ”

จากการพูดคุยกันข้างต้นจะเห็นได้ว่า คนไข้ไม่ให้ความร่วมมือในการให้ประวัติเท่าที่ควรแบบที่เรียกกันทั่วไปว่า “ถามคำตอบคำ” ซึ่งคงเป็นเพราะคนไข้ไม่อยากมาตรวจรักษา แล้วถูกสามีพาตัวมา

หมอ : “ถ้าอย่างนั้นผมขอตรวจร่างกายคุณก่อน”

หลังจากตรวจร่างกายไม่พบความผิดปกติ นอกจากความอ้วนและความดันเลือดสูงเล็กน้อย

หมอ : “เท่าที่ตรวจพบ คุณมีความดันเลือดสูงเล็กน้อย และอ้วนไปสักหน่อย เนื่องจากคุณแม่เป็นเบาหวานอยู่ คุณอาจจะติดเชื้อเบาหวานมาด้วยก็ได้ เพื่อให้แน่นอนหมอคิดว่าคุณน่าจะตรวจดูน้ำตาลในเลือดด้วย คุณจะตรวจไหมครับ”

คนไข้ : “ได้ค่ะ ไม่ต้องอดอาหารมาก่อนหรือ”

หมอ : “คุณกินอาหาร ขนม หรือเครื่องดื่มครั้งสุดท้ายนานหรือยังครับ”

คนไข้ : “ตั้งแต่ ๖ โมงเช้าค่ะ”

หมอ : “นี่ก็ ๑๐ โมงเช้าแล้ว สามารถตรวจน้ำตาลในเลือดช่องหลังอาหารได้ครับ เพราะหลังอาหาร ๒-๓ ชั่วโมงก็ตรวจได้แล้ว แต่ต้องรู้ว่าเป็นระดับน้ำตาลในเลือดหลังอาหารกี่ชั่วโมงด้วย”

ในขณะที่คนไข้ถูกพาไปตรวจเลือด หมอจึงคุยกับสามีคนไข้

หมอ : “คุณลองเล่ารายละเอียดเกี่ยวกับอาการของภรรยาคุณให้หมอฟังหน่อย”

สามี : “ในระยะไม่กี่เดือนมานี่ภรรยาผมหงุดหงิดมาก เวลาผมกลับบ้านตอนค่ำหลังเลิกงานแล้วเขาจะหาเรื่องผมและเกิดปากเสียงกันเป็นประจำ
“บางครั้งผมกำลังเหนื่อยจากงาน ผมก็จะตวาดและดุเขาแรงๆ เขาก็จะร้องไห้แล้วก็งอนไปหลายวัน โธ่หมอ เวลาเราเหนื่อยๆ จากงาน กลับบ้านก็อยากจะพักผ่อนแต่พอกลับถึงบ้าน ก็เจอแฟนเราหน้าหงิกเข้าใส่ แถมพูดจาหาเรื่องอีกบางครั้งมันก็ทนไม่ไหวนะครับ ก็ต้องดุไปบ้าง"

หมอ : “ทำไมถึงเพิ่งเกิดเรื่องในไม่กี่เดือนนี้ล่ะ”

สามี : “ผมก็ไม่ทราบครับ”

หมอ : “คุณกลับบ้านผิดเวลา หรือทำอะไรแปลกๆไปจนภรรยาผิดสังเกตหรือเปล่า”

สามี : “เปล่าครับ เพราะถ้าจะกลับบ้านผิดเวลา ผมจะโทรศัพท์ไปบอกทางบ้านก่อนเสมอ ในช่วงหลายเดือนนี้ เศรษฐกิจตก งานการก็น้อยลง ว่าไปแล้วผมกลับบ้านผิดเวลาน้อยกว่าเมื่อก่อนมาก เพราะไม่ต้องพาลูกค้าไปกินอาหารเย็นบ่อยเหมือนเมื่อก่อน”

หมอ : “แล้วลูกๆล่ะ มีเรื่องกับแม่เขาบ่อยไหม”

สามี : “เออ ใช่แล้วครับ หลายเดือนมานี่ ลูกเขาแยกออกไปมีครอบครัวอยู่ต่างหาก แล้วอีกคนก็ถูกย้ายไปรับราชการที่ต่างจังหวัด เขาไม่มีใครต้องคอยดูแล เลยหันมาดูแลผมมากขึ้น อาจจะเพราะสาเหตุนี้ก็ได้นะหมอ”

หมอ : “ที่คุณคิดนั้นน่าจะถูกต้องอีกสาเหตุหนนึ่งที่น่าจะเป็นได้ คือ ภรรยาคุณกำลังเข้าสู่วัยหมดประจำเดือนหรือหมดระดู ความผันแปรทางฮอร์โมนในร่างกายก็อาจเป็นสาเหตุเสริมได้เช่นเดียวกัน”

คนไข้กลับจาการตรวจเลือดปรากฏว่าน้ำตาลในเลือดอยู่ในเกณฑ์ปกติ

หมอ : “น้ำตาลในเลือดของคุณอยู่ในเกณฑ์ปกติ คุณจึงยังไม่ได้เป็นโรคเบาหวานครับ แต่เนื่องจากคุณแม่ของคุณเป็นเบาหวาน คุณจึงมีโอกาสเป็นเบาหวานมากกว่าคนอื่นๆ โดยเฉพาะถ้าอ้วนขึ้นๆ หรืออ้วนอยู่นานๆ ดังนั้นหมอคิดว่า คุณควรลดน้ำหนักลด โดยกินผักให้มากขึ้น และงดหรือหลีกเลี่ยงอาหารไขมัน และอาหารแป้ง ซึ่งรวมถึงข้าว ขนม และของหวานต่างๆ  ระยะนี้ประจำเดือนของคุณมาเป็นปกติไหมครับ”

คนไข้ : “มาน้อยลงค่ะ และบางเดือนก็ไม่มา”

หมอ : “ถ้าอย่างนั้น ช่วงนี้คุณจะมีอารมณ์เปลี่ยนแปลงง่ายและมีอาการแปลกๆ อื่นๆ เหมือนที่ชาวบ้านเรียกกันว่า ‘เลือดจะไปลมจะมา’ หรือในทางแพทย์ ถือว่าเป็น ‘วัยประจำเดือนหมดหรือกำลังหมด’ ซึ่งทำให้เกิดอาการแปลกๆ จากการเปลี่ยนแปลงฮอร์โมนในร่างกายแล้วลูกๆมาเยี่ยมคุณบ้างหรือเปล่าครับ”

คนไข้ : “ไม่ค่อยได้มาค่ะ ไม่รู้เป็นอะไรหรือเปล่า โทรศัพท์ไปหาก็ไม่ค่อยอยู่บ้านกัน เด็ก ๆ เดี๋ยวนี้เป็นอะไรก็ไม่รู้ เลิกงานก็ไม่กลับบ้าน วันเสาร์-อาทิตย์ก็ไม่มาเยี่ยมพ่อแม่ พ่อแม่ไปหาที่บ้านก็ไม่เจอ ไม่รู้จะทำงานกันไปถึงไหน เดี๋ยวก็ไม่สบายหรอก”

หมอ : “ระยะนี้เศรษฐกิจกำลังฝืดเคือง ลูกคุณก็คงต้องขวนขวายดิ้นรนมากขึ้น เขาก็โตๆ กันแล้ว คงช่วยตนเองได้ ไม่ต้องไปห่วงเขาหรอกครับ”

คนไข้ : “คนเป็นแม่ก็เป็นยังงี้แหละค่ะ ลูกจะโตแค่ไหนก็ยังห่วงอยู่ดูซิพ่อแม่ห่วงเขายังงี้ เขาจะห่วงพ่อแม่บ้างไม่เห็นมี หายเข้ากลีบเมฆกันไปหมด ไม่แวะมาเยี่ยมพ่อแม่บ้างเลย”

หมอ : “ครับ เด็กรุ่นใหม่จำนวนไม่น้อยเลียนแบบวัฒนธรรมตะวันตกจึงเป็นแบบนี้ ระยะนี้คุณพยายามออกกำลังกายมากขึ้น เช่น จัดบ้าน กวาดบ้าน ทำอาหาร และทำอะไรก็ได้ที่ทำให้คุณวุ่นๆอยู่ทั้งวัน จะได้ไม่คิดถึงลูกมากนัก และจะทำให้คุณแข็งแรงขึ้น และอาการของ ‘วัยระดูหมด’ จะลดลง

“นอกจากนั้นคุณจะต้องระวังอาหาร หลีกเลี่ยงอาหารมันๆและอาหารแป้ง รวมทั้งอาหารเค็มด้วย เพราะอาหารเค็มจะทำให้ความดันเลือดสูงขึ้น ถ้าคุณลดน้ำหนักและลดอาหารเค็มได้ ก็ยังไม่ต้องใช้ยาลดความดันเลือด ส่วนอาการห่วงลูกห่วงสามีและหงุดหงิดง่ายนั้น หมอจะให้ยาความความกังวลลง คุณจะได้สบายใจขึ้น”



 

คนไข้รายที่ ๕ เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งของ “โรคซึมเศร้า” ที่เกิดจาก “ความเหงา” ต้องเฝ้าบ้านทั้งวันและไม่มีงานทำ เพราะงานบ้านก็มีคนงานช่วยทำแล้ว และลูกๆก็ไม่สนใจมาเยี่ยมเยียน เมื่อเหงาอยู่ทั้งวันก็กลายเป็นความหงุดหงิด ความโกรธ พอสามีเข้าบ้าน จึง “หงิก” เข้าใส่ ทำให้เป็นปากเสียงกันและเกิดความโกรธ และความเศร้าเพิ่มขึ้น กลายเป็นวงจรร้ายหรือวงจรอุบาทว์ (vicious cycle) ที่ทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้น “ความเหงา” และ “โรคซึมเศร้า” ไม่จำเป็นจะต้องแสดงออกด้วยอาการเซื่องซึม ซึมเซา หงอยเหงา หรือเงียบเฉย แต่อาจจะแสดงออกด้วยอาการหงุดหงิดง่าย หาเรื่องเรื่อย หรือหิวบ่อย กินจุ (bulimia) และอ้วนขึ้น ดังเช่นที่เจ้าหญิงไดอาน่าเคยประชวรด้วยอาการนี้เมื่อทรงมีปัญหากับเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ การแก้ไขจึงต้องแก้ที่สาเหตุ และบรรเทาอาการด้วยยาแก้ซึมเศร้า (anti-depressants) ซึ่งจะกล่าวถึงต่อไป

ตัวอย่างคนไข้ ๕ รายที่เล่าให้ฟัง คงพอจะทำให้เห็นภาพของอาการ “ซึม-เศร้า-เหงา-หงิก” ในรูปแบบต่างๆที่มีสาเหตุแตกต่างกัน การตรวจรักษาอาการ “ซึม-เศร้า-เหงา-หงิก” จึงเช่นเดียวกับการตรวจรักษาอาการอื่นๆ ที่ในขึ้นแรกต้องแยกอาการที่เป็นภาวะฉุกเฉินออกให้ได้ก่อน เพื่อให้การตรวจรักษาที่ทันท่วงที หรือมีการส่งต่อคนไข้ไปโรงพยาบาลอย่างเร่งด่วน เพื่อให้ได้รับการตรวจรักษาที่ถูกต้อง ดูแผนภูมิการตรวจรักษาอาการ “ซึม-เศร้า-เหงา-หงิก”

คนไข้ “ซึม-เศร้า-เหงา-หงิก” ที่ถือว่าฉุกเฉิน คือ
๑. คนที่มีอาการเจ็บหนัก เช่น ไข้สูง หอบเหนื่อย ไม่รู้ตัว ช็อก ตัวเย็น มือเท้าเย็นซีด เหงื่อกาฬ (แตก) เป็นต้น (ดูเรื่อง “อาการเจ็บหนัก” ใน “มาเป็นหมอกันเถิด” ในหมอชาวบ้าน ฉบับที่ ๖๔-๖๕ รวมถึงการปฐมพยาบาลอาการเจ็บหนักด้วย)
๒. คนที่สมองถูกกระทบกระเทือน จนไม่ทำงานหรือทำงานผิดปกติ เช่น เกิดอาการอัมพฤกษ์หรืออัมพาต เดินเซ พูดไม่ชัด หน้าเบี้ยว รูม่านตาไม่เท่ากัน ซึม สับสน หมดสติ เป็นต้น
๓. คนที่กินยาเกินขนาด (เพื่อฆ่าตัวตายหรืออื่นๆ) หรือได้รับสารพิษ เช่น ยาฆ่าแมลง ยาฆ่าหญ้า หรือยาพิษอื่นๆ

คนไข้ที่อยู่ในภาวะฉุกเฉิน รีบให้การปฐมพยาบาลแล้วรีบส่งโรงพยาบาลทันที ส่วนคนไข้ “ซึม-เศร้า-เหงา-หงิก” ที่ไม่มีอาการดังกล่าวข้างต้น ไม่ใช่คนไข้ฉุกเฉิน ควรตรวจดูโดยทั่วไป ถ้าเห็นอะไรผิดปกติที่จำเป็นต้องตรวจรักษา ให้ส่งไปหาหมอเพื่อตรวจวินิจฉัยให้ถูกต้อง ถ้าไม่เห็นอะไรผิดปกติ อาจจะลองให้ยา เช่น

๑. ยาคลายกังวล เช่น ยาไดอะซีแพม (diazepam) ขนาดเม็ดละ ๒ หรือ ๕ มิลลิกรัม กินครั้งละครึ่งเม็ด หลังอาหารเช้าและเย็น และ ๑ เม็ด ก่อนนอน

๒. ยาแก้ซึมเศร้า เช่น

๒.๑ ยาอะมีทริปไทลีน (amitriptyline) ขนาดเม็ดละ ๑๐ มิลลิกรัม ๑ เม็ด หลังอาหารเย็นและ/หรือก่อนนอน ถ้ากินแล้วไม่ง่วงและไม่มีอาการปัสสาวะลำบากเพิ่มขนาดเม็ดเป็นเม็ดละ ๒๕ มิลลิกรัม กิน ๑ เม็ด หลังอาหารเย็นและ/ก่อนนอน

๒.๒ ยาอิมิพรามีน (imipramine) ขนาดเม็ดละ ๒๕ มิลลิกรัม กินครั้งละ ๑-๒ เม็ด หลังอาหารเย็นและ/หรือก่อนนอน ถ้ากินแล้วไม่ง่วงและไม่มีอาการปัสสาวะลำบาก อาจเพิ่มอีก ๑ เม็ด หลังอาหารเช้าได้

๓. ยานอนหลับ เช่น

๓.๑ ยามีดาโซแลม (midazolam) มีฤทธิ์สั้น กินครั้งละ ครึ่งถึง ๑ เม็ด (๑๕ มิลลิกรัม) ก่อนนอน

๓.๒ ยาฟลูไนตราซีแพม (flunitrazepam) มีฤทธิ์ยาว กินครั้งละหนึ่งส่วนสี่ถึง ๑ เม็ด ( ๒ มิลลิกรัม) ก่อนนอน

๓.๓ ยาฟลูราซีแพม (Flurazipam) มีฤทธิ์ยาว ๑ เม็ด (๑๕ มิลลิกรัม) ก่อนนอน

๓.๔ ยาไนตราซีแพม (nitrazepam) มีฤทธิ์ยาวมาก กินครั้งละครึ่งถึง๑ เม็ด (๕ มิลลิกรัม) ก่อนนอน

๓.๕ ยาฟีโนบาร์บิตัล (Phenobarbital) มีฤทธิ์ยาวมาก กินครั้งละ ๑-๒ เม็ด (๖๕ มิลลิกรัม) ก่อนนอน

เนื่องจากยาคลายกังวล ยาแก้ซึมเศร้า และยานอนหลับเป็นยาที่มีฤทธิ์ต่อจิตประสาท ดังนั้นการจำหน่ายหรือการซื้อยาจะต้องมีใบสั่งแพทย์เท่านั้น จึงควรไปให้หมอตรวจและสั่งยาให้อย่างน้อยสักครั้งหนึ่ง แล้วถ้ากินยาแล้วถูกกัน (อาการดีขึ้น) อาจจะขอให้แพทย์สั่งยาให้มากขึ้น หรือให้ใบสั่งยาเพื่อหาซื้อได้ที่โรงพยาบาลหรือร้านยาใกล้บ้าน เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ยาเหล่านี้เป็นเพียงยาแก้อาการเท่านั้น การรักษาสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการ “ซึม-เศร้า-เหงา-หงิก” จึงมีความสำคัญมากกว่า และการแก้สาเหตุจะทำให้การพึ่งพายาเหล่านี้ลดลงหรือหมดไป และจะทำให้สุขภาพใจและกายดีขึ้นกว่าการกินแต่ยาเพียงอย่างเดียว โดยละเลยต่อการแก้และการกำจัดสาเหตุด้วย

ข้อมูลสื่อ

227-005
นิตยสารหมอชาวบ้าน 227
มีนาคม 2541
ศ.นพ.สันต์ หัตถีรัตน์