• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

โรคไข้เลือดออก(สายพันธุ์ใหม่)...ใช่หรือ

เป็นที่รู้กันว่าโรคฮิตที่ระบาดหนักในช่วงเดือนมิถุนายนถึงเดือนตุลาคม ที่ฝนตกพรำๆ ทุกวันอย่างนี้คงไม่พ้นโรคไข้เลือดออก หน้าหน่วยงานสาธารณสุขทั่วประเทศจะเริ่มขึ้นป้ายรณรงค์ให้ประชาชนช่วยกันกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายรอบบ้าน เพราะเมื่อฝนตกก็จะเกิดมีน้ำขังในภาชนะต่างๆ กลายเป็นแหล่งเพาะพันธุ์อย่างดีของยุงลาย ซึ่งเป็นพาหะนำโรคไข้เลือดออก โดยยุงจะกัดคนที่เป็นไข้เลือดออกแล้วไปกัดคนอื่นเพื่อแพร่เชื้อต่อไป แต่ปีนี้ข่าวคราวของการระบาดของโรคไข้เลือดออกนี้กลับกระเซ็นกระสายออกมาจากโรงพยาบาลหลายจังหวัดตั้งแต่ช่วงเดือนมกราคมจนถึงเมษายน แพทย์หลายคนออกมาให้ข้อมูลและเตือนประชาชนถึงการระบาดของโรคไข้เลือดออกที่หลงฤดูมาตั้งแต่หน้าร้อนนี้ว่าเป็นไข้เลือดออกสายพันธุ์ใหม่ ทั้งจากกรมควบคุมโรคติดต่อเอง และจากโรงพยาบาลในพื้นที่ที่พบผู้ป่วยไข้เลือดออกมาก รวมทั้งมีรายงานถึงผู้เสียชีวิตจากโรคไข้เลือดออกนี้ไปหลายคนแล้ว ตั้งแต่ยังไม่เข้าฤดูฝน ในข้อเท็จจริงที่ได้รับหลายคนคงนึกหวาดกลัวกับคำว่า “ไข้เลือดออกสายพันธุ์ใหม่” ระบาดและคร่าชีวิตคน โดยมีอาการของโรค ที่รุนแรงกว่าเดิมกันพอสมควร โดยเฉพาะคนที่ไม่เคยป่วยหรือมีคนใกล้ชิดป่วยด้วยโรคนี้มาก่อนอาจตระหนกตกใจว่า ไข้เลือดออกสายพันธุ์ใหม่นี้ มันใหม่อย่างไร ร้ายแรงกว่าเดิมหรือไม่ รวมไปถึงว่าเราจะมีวิธีการดูแลรักษาและป้องกันได้อย่างไร

ข้อมูลจากสำนักงานควบคุมโรคไข้เลือดออกบอกเราว่าไข้เลือดออก ที่ระบาดในปีนี้ ไม่ใช่เป็นสายพันธุ์ใหม่ แต่อย่างใด เป็นเพียงหนึ่งในสายพันธุ์ เชื้อของโรคไข้เลือดออก ซึ่งเป็นเชื้อไวรัสชนิดหนึ่งชื่อ “เดงกี” (Dengue) มีอยู่ทั้งหมด 4 สายพันธุ์ เรียกชื่อเรียงกันง่ายๆว่า สายพันธุ์ 1 2 3 และ 4

เมื่อถึงหน้าฝนของทุกปี ก็เป็นเวลาที่ยุงลายจะเพาะเชื้อ และเริ่มออกอาละวาด เชื้อทั้ง 4 สายพันธุ์จะระบาดไปตามภูมิภาคต่างๆ ทั่วประเทศ ทำให้เกิดโรคไข้เลือดออกโดยแต่ละปีจะมีสายพันธุ์ใดสายพันธุ์ หนึ่งออกวาดลวดลายเป็นพระเอกเด่นกว่าสายพันธุ์อื่นๆ

ในช่วง 2 ถึง 3 ปีที่ผ่านมาสายพันธุ์ที่ระบาดมากที่สุดคือ สายพันธุ์ 3 แต่มาถึงปีนี้สายพันธุ์ที่เด่นขึ้นมาแทน และแนวโน้มว่าจะรับบท พระเอกคือสายพันธุ์ 1 และ 2 การที่ใครหลายคนพูดกันถึงสายพันธ์ุใหม่แท้จริงจึงเป็นเพียงการเปลี่ยนสายพันธุ์ที่เป็นพระเอกจากสายพันธุ์หนึ่ง เป็นอีกสายพันธุ์หนึ่งเท่านั้น

ส่วนการระบาดที่มีแนวโน้มว่า มากกว่าหลายปีที่ผ่านมา เพราะรูปแบบการระบาดของโรคไข้เลือดออก ของประเทศไทยในปัจจุบันจะระบาดแบบปีเว้น 2 ถึง 3 ปีแล้วกลับมาระบาดใหม่ ในปี พ.ศ. 2540 ถึง ปี พ.ศ. 2541 มีการระบาดรุนแรง 2 ปีติดต่อกันแล้ว เว้นไป 2 ปี จึงคาดว่าปี พ.ศ. 2544 จะมีการระบาดสูงอีกครั้งหนึ่ง

และต้องเข้าใจว่าตามปกติเมื่อคนเราได้รับเชื้อไข้เลือดออกสายพันธุ์ใดก็จะมีภูมิต้านทานโรคไข้เลือดออกในสายพันธุ์นั้นไปตลอดชีวิต และอาจมีภูมิต้านทานระยะสั้นๆ (3 ถึง 6 เดือน)ต่อสายพันธุ์เชื้ออื่นๆ ด้วยหากปีต่อมาได้รับเชื้อไข้เลือดออกในสายพันธุ์เดิม ก็จะมีภูมิต้านทานเชื้อในสายพันธุ์นั้น และไม่ป่วยเป็นไข้เลือดออกอีก

แต่เมื่อมีการเปลี่ยนสายพันธุ์ใหม่ระบาด จากสายพันธุ์ 3 กลายมาเป็นสายพันธุ์อื่น คนที่เคยมีภูมิต้านทานต่อสายพันธุ์ 3 เดิมก็ใช้ไม่ได้ เมื่อถูกยุงลายกัดและนำเชื้อ สายพันธุ์ที่ต่างไปจากเดิม ก็ไม่มีภูมิต้านทานต่อเชื้อสายพันธุ์นั้น จึงมีโอกาสเกิดโรคได้มาก

แต่ก็ไม่ใช่เรื่องที่น่าตกใจอะไร เพราะใช่ว่าทุกคนจะต้องเป็นไข้แบบรุนแรงกันไปทั้งหมด และการรักษาอย่างถูกต้องแต่ต้นมือก็จะสามารถทำให้ไข้เลือดออกไม่ได้ร้ายแรงไปกว่าไข้ธรรมดาสักเท่าไหร่เลย

อาการของไข้เลือดออกที่จะสังเกตเห็นได้คือมีไข้ขึ้นสูงตลอดเวลา กินยาลดไข้ก็ไม่ลด หน้าแดง ตาแดง เซื่องซึม เบื่ออาหาร อาเจียน และที่จะเป็นพิเศษกว่าไข้อื่น เห็นได้จากชื่อว่า “ไข้เลือดออก” คือผู้ที่ได้รับเชื้อจะมีเลือดออกอยู่ภายใน และอาจแสดงอาการออกมาภายนอกด้วยจุดแดงๆ ตามตัว โดยจะไม่มีอาการคัดจมูกน้ำมูกไหล หรือไอมากเหมือนคนเป็นหวัด หรือออกหัด ไข้จะสูง อยู่ประมาณ 2 ถึง 7 วัน ถ้าไม่มีอาการรุนแรงไข้จะลดลงไปในวันที่ 5 ถึง 7

เมื่อสังเกตพบอาการอย่างที่ว่าก็ควรรีบพาไปพบหมอ หมออาจเจาะเลือดและรอดูอาการว่าติดเชื้อไข้เลือดออกหรือไม่ ถ้าคิดจะหยิบยากินเองเพื่อลดอาการไข้เบื้องต้น ก็สามารถกินได้แต่ยาลดไข้ที่เป็นพาราเซตามอลล้วนๆเท่านั้น ซึ่งควรกินตามขนาดและไม่กินติดต่อกันเกิน 5 วัน ส่วนยาลดไข้แอสไพรินเป็นของต้องห้ามโดยเด็ดขาด เพราะจะยิ่งทำให้เลือดออกมากขึ้น ซึ่งนอกจากอาการจะไม่ดีขึ้นแล้วยังอาจเข้าสู่ภาวะรุนแรงได้

การระบาดของไข้เลือดออกในปีนี้ ยังขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป ทั้งอุณหภูมิ ความชื้น ปริมาณน้ำฝน เช่นสภาพอากาศที่ร้อน มีความชื้นสูง อย่างปีนี้มีฝนตกตั้งแต่ต้นปี ทำให้มีแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายจำนวนมากขึ้น ยุงเพาะพันธุ์รวดเร็วและมีจำนวนมาก จึงเริ่มระบาดตั้งแต่ช่วงต้นปี มักจะพบในจังหวัดที่มีประชากรหนาแน่น ซึ่งมี แหล่งปฏิกูลที่เพาะพันธุ์ยุงได้สูง เช่น กองขยะ น้ำเน่า เป็นได้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ แต่เด็กๆจะเป็นโรคไข้ เลือดออกมากกว่าเพราะภูมิต้านทาน ที่ได้รับจากมารดาของกลุ่มเด็กเล็กอายุ 10 ถึง 14 ปี จะหมดไป

ในขณะนี้พบว่ากำลังระบาดมาก ในหลายจังหวัด โดยเฉพาะจังหวัดภาคกลางที่เป็นชุมชนเมือง และมีประชากรหนาแน่น จังหวัดที่มีอัตราป่วยสูง 10 อันดับได้แก่ นครปฐม ยะลา ชลบุรี ปทุมธานี ราชบุรี ระยอง เพชรบุรี นครสวรรค์ ประจวบคีรีขันธ์ และกรุงเทพฯ โดยมีจำนวนผู้ป่วยทั้งประเทศตั้งแต่ 1 มกราคม ถึง 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2544 รวมทั้งสิ้น 11,711 ราย เสียชีวิตแล้ว 38 ราย

สำหรับคนที่ยังปลอดภัยอยู่ก็ควรระมัดระวังไม่ให้ยุงกัด แล้วเริ่มสำรวจรอบๆบ้านและในชุมชนได้แล้ว ว่ามีแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายอยู่ที่ไหนบ้าง ก็รีบทำลายให้สิ้นซาก เพราะการช่วยกันกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย จะเป็นการป้องกันการระบาดของโรคได้ดีที่สุด

ง่ายๆ เท่านี้เราก็จะปลอดภัยจากไข้เลือดออกไม่ว่าเชื้อไวรัสเดงกี สายพันธุ์ไหนๆแล้วละ ขอขอบคุณ : นายแพทย์สราวุธ สุวัณณทัพพะ ผู้อำนวยการสำนักงาน ควบคุมโรคไข้เลือดออก

ข้อมูลสื่อ

266-008
นิตยสารหมอชาวบ้าน 266
มิถุนายน 2544
กองบรรณาธิการ