• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ข่าวล่าน่าสนสำหรับผู้ใช้ยาแก้แพ้ชนิดไม่ง่วงเป็นประจำ

ข่าวล่าน่าสนสำหรับผู้ใช้ยาแก้แพ้ชนิดไม่ง่วงเป็นประจำ
 

ยาแก้แพ้หรือยาต้านฮิสตามีนที่มีใช้กันอาจแบ่งได้เป็นกลุ่มใหญ่ๆ 2 กลุ่ม คือ

1. ยาแก้แพ้ชนิดที่ทำให้ง่วงนอน เช่น คลอร์เฟนิรามีน (Chlorpheniramine), บรอมเฟนิรามีน (brompheniramine), เคลมัสทีน (clemastine), ไฮดร็อกซิซีน (hydroxyzine) เป็นต้น

2. ยาแก้แพ้ชนิดไม่ง่วง เช่น เทอร์เฟนาดีน (terfenadine) หรือเทลเดน (Teldane), แอสเทมิโซล (astemizole) หรือฮิสมานอล (Hismanal), โลราทาดีน (loratadine) หรือแคลริไทน์ (Clarityne) เป็นต้น

ยาแก้แพ้ชนิดที่ทำให้ง่วงจะมีคำเตือนที่ฉลากและเอกสารกำกับยาว่า “ยานี้อาจทำให้ง่วงนอน ไม่ควรขับขี่ยานพาหนะ หรือทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักรกล หรือในที่สูง ขณะที่ใช้ยานี้” ส่วนยาในกลุ่มที่ 2 จะไม่มีคำเตือนนี้

เมื่อเร็วๆ นี้มีรายงานว่าผู้ที่ใช้ยาเทอร์เฟนาดีนเพื่อบรรเทาอาการของโรคภูมิแพ้ต่างๆ เช่น น้ำมูกไหล จาม ผื่นแพ้ตามผิวหนัง และเกิดมีโรคติดเชื้อร่วมด้วย ต้องใช้ยาอีริโทรมัยซิน (erythromycin) หรือยาฆ่าเชื้อรา คือ คีโตโคนาโซล (ketoconazole) เกิดมีอาการหัวใจเต้นเสียจังหวะจนถึงหัวใจหยุดเต้นและเสียชีวิตหลายรายแต่เมื่อเปรียบเทียบกับจำนวนผู้ป่วยที่ใช้ยาเทอร์เฟนาดีนแล้ว จะพบว่า อุบัติการณ์เกิดผลเสียนี้น้อยมาก (70 คนจาก 200 ล้านคนที่ใช้ยานี้)

แต่เนื่องจากอันตรายที่เกิดขึ้นร้ายแรงถึงชีวิต ทางองค์การอาหารและยา (FDA) ในสหรัฐอเมริกาและสหราชอาณาจักร จึงได้กำหนดให้ผู้ผลิตยาเทอร์เฟนาดีนส่งจดหมายถึงแพทย์และเภสัชกร แจ้งถึงผลเสียดังกล่าว และให้ใส่คำเตือนพร้อมกับล้อมกรอบให้เห็นชัดเจนว่า

“ห้ามใช้ยาเทอร์เฟนาดีนในผู้ที่กำลังได้รับยาคีโตโคนาโซล หรือยาอีริโทรมัยซิน และในผู้ป่วยโรคตับ และห้ามใช้ยาเกินขนาดที่แนะนำ”

ต่อมาทางองค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา ได้สั่งให้มีคำเตือนเช่นเดียวกันนี้กับยาแอสเทมิโซลด้วย และได้เพิ่มยาฆ่าเชื้อราอีก 1 ชนิด คือ อิทราโคนาโซล (itraconazole) ด้วย ด้วยความห่วงใยท่านที่มีอาการแพ้ต่างๆ และต้องใช้ยาเทอร์เฟนาดีน หรือแอสเทมิโซลเป็นประจำ หากเกิดเป็นหวัดจากเชื้อโรคที่ต้องใช้ยาอีริโทรมัยซินรักษา ซึ่งจะพบได้บ่อยขึ้นในฤดูฝน ได้โปรดระวังอันตรายที่อาจเกิดขึ้นจากการใช้ยา 2 ชนิดนี้ร่วมกันด้วย ขณะเดียวกัน โปรดระวังการใช้ยาฆ่าเชื้อในกลุ่มเดียวกับอีริโทรมัยซินด้วย เช่น ร็อกซิโทรมัยซิน (roxithromycin), แคลริโทรมัยซิน (clarithromycin) เป็นต้น ดังนั้น ท่านที่ใช้ยาแก้แพ้ชนิดไม่ง่วงเป็นประจำ เมื่อจำเป็นจะต้องใช้ยาอื่นร่วมด้วย โปรดปรึกษาแพทย์ก่อนใช้

ข้อมูลสื่อ

164-003
นิตยสารหมอชาวบ้าน 164
ธันวาคม 2535
เรารักสุขภาพ
ดร.อรพรรณ มาตังคสมบัติ