• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

น้ำดื่มไม่ใช่อาหารและยารักษาโรค

น้ำดื่มไม่ใช่อาหารและยารักษาโรค


เชื่อกันว่าสิ่งมีชีวิตพัฒนามาจากสัตว์เซลล์เดียวในน้ำ ร่างกายของมนุษย์จึงมีส่วนประกอบที่เป็นน้ำมากถึงร้อยละ 6o ซึ่งกระจายอยู่ในเซลล์และนอกเซลล์ ด้วยอัตราส่วนที่แตกต่างกันเล็กน้อย เนื่องจากน้ำเหล่านี้ถูกกำจัดออกจากร่างกายโดยทางปัสสาวะ ทางผิวหนัง (เช่นเหงื่อ) การหายใจ น้ำตา น้ำลาย และอุจจาระมนุษย์จึงต้องทดแทนน้ำที่สูญเสียไปด้วยการดื่มน้ำหรือจากการกินอาหารโดยเฉพาะประเภทแกงจืดหรือซุปต่างๆ

อย่างไรก็ดี การดื่มน้ำประมาณวันละ 2-3 ลิตร ย่อมเป็นวิธีการหลักที่ทดแทนน้ำในร่างกายของคนปกติ ในภาวะเจ็บป่วย หรือในภาวะวิกฤติอาจทดแทนโดยการฉีดน้ำเกลือเข้าหลอดเลือดดำ หรือผ่านท่อยางที่ใส่ลงในกระเพาะ มิฉะนั้นอาจเกิดภาวะขาดน้ำซึ่งจะทำให้หัวใจหยุดเต้น เซลล์ในร่างกายฝ่อลง ร่างกายไม่สามารถดำรงชีวิตต่อไปได้ การอดอาหารเป็นเวลาหลายๆวัน ยังไม่ทำลายชีวิตเท่าการอดน้ำเพียง 2-3 วัน

ปัจจุบันนักธุรกิจบางรายได้อาศัยความจำเป็นของชีวิตที่ต้องดื่มน้ำเป็นประจำมาโฆษณาให้เกิดความเข้าใจผิดนานัปการ

บางรายโฆษณาว่าน้ำดื่มต้องมีรสชาติอร่อย เช่นเดียวกับประเภทน้ำอัดลม บางรายบอกว่าน้ำดื่มต้องมีแร่ธาตุ จึงมีประโยชน์ต่อร่างกาย บ้างคุยอวดว่าน้ำดื่มมีฤทธิ์เป็นด่างเข้มข้น เพื่อสะเทินกรดล้างพิษในร่างกาย มีเครื่องทำน้ำดื่มบางยี่ห้อโฆษณาว่าน้ำที่เป็นด่างสามารถลดความเสี่ยงในการเป็นโรคหัวใจ เบาหวาน อ้วน กระดูกพรุน ความดันโลหิตสูง ไขมันอุดตันในเส้นเลือด เส้นเลือดในสมองตีบ โรคเกาต์ โรคตับอักเสบ แผลในกระเพาะ ตับไตและมะเร็ง ช่วยให้ผิวพรรณผุดผ่อง มีน้ำมีนวล สรุปว่ารักษาโรคต่างๆได้ เยี่ยงยารักษาโรค

ที่ไม่เหมาะสมที่สุดคือ การพยายามสร้างภาพพจน์ที่ผิดว่าไม่ควรดื่มน้ำที่ต้ม ซึ่งทำให้ผู้บริโภคเกิดความสับสน 


ความจริงน้ำที่ร่างกายต้องการประจำวัน ควรเป็นน้ำที่ไม่มีกรดและด่าง โมเลกุลของน้ำประกอบด้วยไฮโดรเจนและออกซิเจนในอัตราส่วน 2: 1 หรือมีสูตรทางวิทยาศาสตร์คือ H2O มีคุณสมบัติเป็นของเหลวในอุณหภูมิปกติ มีความสามารถในการเก็บความร้อนมาก เปลี่ยนสภาพเป็นของแข็งที่อุณหภูมิ 4องศาเซลเซียส และเปลี่ยนเป็นไอน้ำที่ 1oo องศาเซลเซียส

น้ำที่ร่างกายต้องการต้องสะอาดปราศจากโรค และมีสารปะปนน้อยที่สุด เราจึงดื่มน้ำที่ผ่านการต้ม หรือการกรองจากวิธีทางธรรมชาติ เช่น ผ่านเครื่องกรองชนิดต่างๆ ถึงแม้จะมีการคิดค้นวิธีการฆ่าเชื้อโรคหลายวิธี แต่วิธีที่ดีที่สุดคือการต้ม น้ำที่ต้มแล้วสามารถฆ่าเชื้อแบคทีเรียและไวรัสได้ ความร้อนทำให้แก๊สคลอรีนที่ใส่ลงในน้ำประปาระเหยออกพร้อมกับไอน้ำ ถึงแม้จะไม่สามารถกำจัดสารประกอบอินทรีย์ออกได้จากการต้ม แต่ถ้าปล่อยทิ้งไว้ให้เย็นและเทใส่ขวดที่สะอาด โดยเทส่วนที่จมอยู่ที่ก้นของกาต้มน้ำทิ้งย่อมทำให้น้ำนั้นสะอาด

น้ำดื่มไม่ควรมีสารเกลือแร่ปะปนเป็นจำนวนมาก เพราะแร่ชนิดต่างๆทำให้น้ำเปลี่ยนสภาพเป็นกรดเป็นด่าง เมื่อดื่มเข้าไปในร่างกายแล้วแทนที่จะถูกดูดซึมเข้าไปในเซลล์หรือหล่อเลี้ยงเซลล์ได้ทันที ร่างกายกลับต้องผ่านขบวนการกำจัดสารเกลือแร่เหล่านั้นก่อน และอาจทำให้สารเหล่านี้สะสมอยู่ในร่างกายเป็นจำนวนมากเกินไปถ้าร่างกายไม่สามารถขจัดออกได้ ย่อมไม่เป็นผลดีต่อสุขภาพ

การกินอาหารให้ครบทุกหมู่ และผัก ผลไม้ ย่อมทำให้ได้เกลือแร่ที่เพียงพอกับความต้องการของร่างกาย ไม่จำเป็นต้องเติมอะไรลงไปในน้ำดื่ม น้ำแร่ชนิดต่างๆ มีส่วนประกอบของแร่ธาตุที่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับแหล่งของน้ำแร่หรือแร่ธาตุที่ผู้ผลิตเติมลงไป การที่น้ำแร่อร่อยกว่าน้ำดื่มธรรมดา จึงไม่มีความจำเป็นสำหรับร่างกาย

น้ำดื่มไม่ใช่อาหารจึงไม่ต้องการความอร่อยเพื่อเรียกน้ำย่อย หรือต้องทำให้ดื่มมากขึ้น ควรดื่มเท่าที่ร่างกายต้องการ จึงต้องดื่มน้ำมากขึ้นในเวลาที่อากาศร้อน และลดปริมาณลงในเวลาที่อากาศเย็น
 การดื่มน้ำในปริมาณที่พอเหมาะ ย่อมทำให้สุขภาพแข็งแรง มีสมรรถภาพที่ดีปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ แต่น้ำดื่มไม่ใช่ยารักษาโรคที่ใช้รักษาโรคชนิดหนึ่งชนิดใด โดยเฉพาะยังไม่มียารักษาโรคได้ทุกชนิด นอกจากปฏิบัติตนให้ถูกต้องตามสุขลักษณะและออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ

น้ำดื่มที่สะอาดจึงไม่ใช่อาหารที่ต้องปรุงรส และไม่ต้องเติมสารชนิดต่างๆ จนกลายเป็นน้ำรักษาโรคใดโรคหนึ่งโดยเฉพาะ

 

                                                    ********************************

ข้อมูลสื่อ

206-008
นิตยสารหมอชาวบ้าน 206
มิถุนายน 2539
รศ.ประโยชน์ บุญสินสุข