• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ริดสีดวงทวาร

ริดสีดวงทวาร




ข้อน่ารู้

1. ริดสีดวงทวาร หมายถึง กลุ่มหลอดเลือดดำขอดในบริเวณทวารหนัก อันเป็นผลมาจากแรงกดดันต่อหลอดเลือดดำในบริเวณนั้นนานๆ
สาเหตุที่พบบ่อยก็คือ อาการท้องผูก หรือการนั่งเบ่งถ่ายนานๆเป็นประจำ
นอกจากนี้ยังอาจพบในหญิงตั้งครรภ์ คนที่มีอาการไอเรื้อรัง คนอ้วน ผู้ป่วยตับแข็ง ต่อมลูกหมากโต หรือมีก้อนเนื้องอกในช่องท้อง เป็นต้น โรคนี้จึงพบได้บ่อยในคนทั่วไป

2. อาการสำคัญของโรคนี้ ก็คือ การถ่ายอุจจาระออกเป็นเลือดสด ทั้งนี้เนื่องจากขณะเบ่งถ่ายแรงๆ หัวริดสีดวง (กลุ่มหลอดเลือดดำขอด) จะปริแตก ทำให้มีเลือดไหลได้ ดังนั้นคนที่เป็นโรคริดสีดวงทวารจะมีอาการถ่ายเป็นเลือดสดเป็นครั้งคราว โดยเฉพาะเวลาท้องผูก หรือนั่งถ่ายติดๆกันบ่อยครั้ง (เช่น ขณะท้องเดิน)

3. เนื่องในบริเวณทวารหนักจะมีกลุ่มหลอดเลือดดำอยู่เป็นแนวยาว จากปากทวารหนักต่อขึ้นไปในลำไส้ใหญ่ ดังนั้นจึงมีโอกาสเกิดริดสีดวงทวารได้หลายแห่ง (หลายหัว) โดยคร่าวๆจะแบ่งเป็นริดสีดวงทวารภายนอกกับริดสีดวงทวารภายใน

ริดสีดวงทวารภายนอก คือ กลุ่มหลอดเลือดดำขอดที่อยู่ใต้ชั้นผิวหนังตรงบริเวณปากทวารหนัก ซึ่งอาจมองเห็นจากภายนอกหรือใช้นิ้วคลำพบเป็นหัวนุ่มๆ

ส่วนริดสีดวงทวารภายใน คือ กลุ่มหลอดเลือดดำขอดที่อยู่ใต้ชั้นเยื่อบุผิวลำไส้ในบริเวณทวารหนักหรือลำไส้ใหญ่ส่วนปลาย (เลยจากส่วนของผิวหนังตรงปากทวารหนักเข้าไปในส่วนที่เป็นเยื่อบุผิวลำไส้) ดังนั้นจึงมองไม่เห็นจากภายนอก นอกจากในรายที่เป็นมากขณะเบ่งถ่าย หัวริดสีดวงอาจยื่นโผล่ออกมาตุงอยู่ที่ปากทวารหนักได้ และ หลังถ่ายก็จะกลับคืนเข้าไปภายในได้เอง
                                      






















 

 

 

 

 

 

 

  

4. โดยทั่วไปโรคนี้จะไม่ค่อยมีอาการรุนแรงหรืออันตรายแต่อย่างใด เลือดที่ออกจะมีปริมาณเพียงเล็กน้อย แต่ในรายที่ถ่ายออกเป็นเลือดเรื้อรัง ก็อาจทำให้ร่างกายเสียเลือด กลายเป็นโรคโลหิตจาง มีอาการหน้าตาซีดเซียว อ่อนเพลียได้
บางครั้งริดสีดวงอาจเกิดการอักเสบ ทำให้มีอาการเจ็บปวด ถ้าปวดรุนแรงอาจทำให้นั่ง ยืน หรือเดินไม่สะดวกได้

5. อาการถ่ายเป็นเลือดสด แม้ว่าจะมีสาเหตุจากโรคริดสีดวงทวารเป็นส่วนใหญ่ แต่ก็อาจเกิดจากสาเหตุอื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในคนอายุเกิน 40 ปีขึ้นไป บางครั้งอาจมีโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ซ่อนเร้นอยู่ ทำให้มีอาการถ่ายเป็นเลือดสดคล้ายริดสีดวงทวารหนัก คนในวัยนี้ถ้าพบว่ามีอาการถ่ายเป็นเลือด ควรให้แพทย์ตรวจเช็กให้แน่ใจ
 

รู้ได้อย่างไรว่าไม่ได้เป็นอื่น

คนที่เป็นริดสีดวงทวารจะมีอาการถ่ายออกเป็นเลือดสด ขณะนั่งถ่ายอุจจาระอาจสังเกตเห็นมีเลือดแดงๆเปื้อนกระดาษชำระหรือติดที่ผิวของก้อนอุจจาระ หรือมีเลือดไหลเป็นหยดลงในโถส้วม มักออกเป็นเพียงบางครั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเวลาท้องผูกหรือท้องเดิน หรือนั่งเบ่งถ่ายแรงๆ เลือดจะออกเฉพาะในช่วงที่เบ่งถ่าย หลังถ่ายเสร็จเลือดจะหยุดไหล แต่ละครั้งจะเสียเลือดเพียงเล็กน้อย ไม่มีผลกระทบต่อสุขภาพแต่อย่างใด

ส่วนมากจะไม่รู้สึกเจ็บปวดแต่อย่างใด นอกจากในรายที่มีการอักเสบของหัวริดสีดวง ก็อาจมีอาการเจ็บปวดร่วมด้วย

อาการถ่ายเป็นเลือดสด ยังอาจเกิดจากสาเหตุอื่น เช่น
1. ทวารหนักมีรอยปริแตก จะมีอาการถ่ายออกเป็นเลือดสดและปวดที่ทวารหนักร่วมด้วย มีอาการกำเริบขณะท้องผูกแบบเดียวกับริดสีดวงทวาร โรคนี้ไม่มีอันตรายร้ายแรง

2. มะเร็งลำไส้ใหญ่ อาจมีอาการถ่ายออกเป็นเลือดสดแบบเดียวกับริดสีดวงทวาร พบในคนอายุมากกว่า 40 ปีขึ้นไป บางครั้งอาจมีอาการท้องผูกหรือท้องเสียเรื้อรัง หากสงสัยควรปรึกษาแพทย์โดยเร็ว

เมื่อไรควรไปพบแพทย์
ควรไปพบแพทย์เมื่อ
1. มีอาการเจ็บปวดรุนแรงหรือถ่ายออกเป็นเลือดจำนวนมาก หรือมีอาการอ่อนเพลียและซีดเซียว
2. มีอาการถ่ายเป็นเลือดทุกวันนานเกิน 1 สัปดาห์
3. พบในคนอายุมากกว่า 40  ปี
4. มีความวิตกกังวล

แพทย์จะทำอะไรให้

แพทย์จะตรวจดูภายในบริเวณทวารหนัก บางครั้งอาจใช้เครื่องส่องตรวจทวารหนัก ดูว่ามีหัวริดสีดวงตรงตำแหน่งใด หรือมีก้อนเนื้องอกหรือมะเร็งซ่อนอยู่ภายในทวารหนักร่วมด้วยหรือไม่
ถ้าเป็นริดสีดวงทวารจริงก็จะแนะนำข้อปฏิบัติดังกล่าว

ในรายที่มีการอักเสบของหัวริดสีดวง แพทย์จะให้ยาเหน็บริดสีดวงทวาร เช่น อะนูซอล (Anusol) เชอริพร็อกต์ (Scheriproct) พร็อกโตซีดิล (Proctosedryl) เหน็บวันละ 2-3 ครั้ง เช้า ก่อนนอน และหลังถ่ายอุจจาระ จนอาการปวดจะบรรเทา

ในรายที่มีอาการกำเริบบ่อยหรือเป็นรุนแรง แพทย์อาจให้การรักษาด้วยการฉีดยาเข้าไปที่หัวริดสีดวงทวารให้ฝ่อไป หรือใช้แถบยางรัดโคนหัวริดสีดวงทวาร (ทำให้หัวริดสีดวงฝ่อ)
ถ้าเป็นมากหรือมีภาวะแทรกซ้อน อาจต้องผ่าตัด
หลังการรักษา ถ้าหากยังมีอาการท้องผูกเป็นประจำ ก็อาจมีหัวริดสีดวงเกิดขึ้นใหม่ได้ ดังนั้นทางที่ดีต้องหมั่นป้องกันมิให้ท้องผูก
โดยสรุป ริดสีดวงทวารเป็นสาเหตุสำคัญของอาการถ่ายเป็นเลือดสด โรคนี้ไม่มีอันตรายร้ายแรง ควรป้องกันด้วยการระวังอย่าให้ท้องผูก แต่ถ้ามีอาการถ่ายเป็นเลือดนานเกิน 1 สัปดาห์ หรือพบในคนอายุมากกว่า 40 ปี ก็ควรปรึกษาแพทย์ให้แน่ใจ

การดูแลรักษาตนเอง
คนที่เป็นริดสีดวงทวาร ควรปฏิบัติตัวดังนี้
1. ระวังอย่าให้ท้องผูก โดยการดื่มน้ำมากๆ กินผักผลไม้ให้มากๆ การกินข้าวซ้อมมือ หรือถั่วเหลืองเป็นประจำจะช่วยป้องกันท้องผูกได้เช่นกัน
2. ถ้าท้องผูกควรกินยาระบาย เช่น ยาระบายแมกนีเซีย
3. อย่ายกของหนัก อย่านั่งเบ่งถ่ายนานๆ
4. ถ้าอ้วนให้ลดน้ำหนัก
5. ถ้าปวดให้กินพาราเซตามอลบรรเทาปวด หากปวดรุนแรงเนื่องจากหัวริดสีดวงอักเสบ (แตะถูกเจ็บ) ควรนั่งแช่ในน้ำอุ่นวันละ 2-3 ครั้ง ๆ ละ 15-30 นาที และใช้ยาเหน็บริดสีดวงทวารจนอาการบรรเทา ปกติใช้เวลาประมาณ 3-5 วัน


 

ข้อมูลสื่อ

183-003
นิตยสารหมอชาวบ้าน 183
กรกฎาคม 2537
แนะยา-แจงโรค
รศ.นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ