• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ลมพิษ

ลมพิษ


ข้อน่ารู้

1. ลมพิษ (urticaria) ถือเป็นโรคภูมิแพ้ชนิดหนึ่ง ซึ่งมีการสร้างสารแพ้ดังที่เรียกว่า “ฮิสตามีน”  (histamine) ออกมาจากเซลล์ในชั้นใต้ผิวหนัง ทำให้หลอดเลือดฝอยขยายตัว เกิดเป็นผื่นนูนแดงและคันขึ้นตามผิวกาย

2. มักมีสาเหตุจากการแพ้อาหาร (เช่น อาหารทะเล เนื้อสัตว์ อาหารใส่สี อาหารกระป๋อง) แอลกอฮอล์ (เช่น เหล้า เบียร์) ยา (เช่น แอสไพริน เพนิซิลลิน ซัลฟา) ฝุ่น ละอองเกสร ขนสัตว์ นุ่น (ที่นอน หมอน) พิษแมลง (เช่น ผึ้ง มด ยุง) สารเคมี (เครื่องสำอาง สเปรย์ สารฆ่าแมลง) เป็นต้น บางคนอาจแพ้เหงื่อ แพ้แดด ความร้อน หรือความเย็น

3. โดยทั่วไปมักจะเป็นอยู่เพียงไม่กี่วันก็มักจะหายได้ แต่บางคนอาจเป็นอยู่ทุกวัน ถ้าหากเป็นลมพิษทุกวันติดต่อกันนานเกิน 2 เดือน ก็เรียกว่า “ลมพิษเรื้อรัง” ซึ่งส่วนมากจะเกิดขึ้นเองโดยไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด ส่วนน้อยอาจพบว่า มีสาเหตุจากการแพ้สิ่งหนึ่งสิ่งใดดังกล่าวข้างต้น บางคนอาจพบร่วมกับโรคติดเชื้อเรื้อรัง เช่น โรคพยาธิลำไส้ ฟันผุ ไซนัสอักเสบ หูน้ำหนวก เป็นต้น บางคนอาจเกิดร่วมกับโรคร้าย เช่น มะเร็ง หรือโรคภูมิต้านทานตัวเอง (เช่น เอสแอลอี) ขอย้ำว่าเป็นสาเหตุที่พบได้น้อยมาก แต่อย่างไรก็ตาม ในแง่ปฏิบัติ คนที่เป็นลมพิษเรื้อรังนานเกิน 2 เดือน ก็อย่าได้นิ่งนอนใจ ควรให้แพทย์ตรวจหาสาเหตุให้แน่ชัด

4. เนื่องจากลมพิษเป็นโรคในกลุ่มโรคภูมิแพ้ (allergic disorders) คนไข้จึงอาจเป็นๆ หายๆได้บ่อยเมื่อสัมผัสถูกสารแพ้ นอกจากนี้ยังอาจพบว่า มีญาติพี่น้องเป็นโรคภูมิแพ้ (เช่น ลมพิษ ผื่นคัน คันตา หวัด แพ้อากาศ โรคหืด) ชนิดใดชนิดหนึ่งร่วมด้วยก็ได้ เพราะโรคภูมิแพ้สามารถถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์ได้

5. โรคนี้เกี่ยวข้องกับความแปรปรวนของระบบภูมิต้านทาน (ภูมิคุ้มกัน) ซึ่งเกิดมีภูมิไวต่อสิ่งแวดล้อมและสารต่างๆ รวมทั้งภาวะเครียดทางจิตใจก็มีผลต่อการเกิดลมพิษได้เพราะทำให้ระบบภูมิต้านทานแปรปรวนได้

6. ลมพิษจัดว่าเป็นโรคที่พบบ่อยในคนทุกเพศทุกวัย และไม่มีอันตรายร้ายแรง แต่บ่งชี้ว่าเป็นคนที่จะแพ้อะไรง่าย และต้องระมัดระวังในการใช้ยา เพราะอาจเกิดอาการแพ้ยาซึ่งอาจมีอันตรายได้ คนที่เป็นลมพิษอยู่บ่อยๆทุกครั้งที่หาหมอ ต้องแจ้งให้หมอทราบ เพื่อจะได้ระวังการใช้ยา

รู้ได้อย่างไรว่าไม่ได้เป็นอื่น

คนที่เป็นลมพิษ จะมีอาการขึ้นเป็นปื้นนูนแดง มีขนาดและรูปร่างต่างๆ กัน เช่น วงกลม วงรี วงหยัก เนื้อภายในวงจะนูนและสีซีดกว่าขอบเล็กน้อย ทำให้เห็นเป็นขอบแดงๆ คล้ายเอาลิปสติกผู้หญิงมาขีดเป็นวงไว้ คนไข้จะรู้สึกคันมาก พอเกาตรงไหนก็จะมีผื่นแดงขึ้นตรงนั้น อาจรู้สึกร้อนผ่าวตามผิวกาย ลมพิษอาจเกิดขึ้นที่หน้า แขน ขา ลำตัว หรือส่วนอื่นๆ ของร่างกายก็ได้ มักขึ้นกระจายทั่วไป อาการมักจะเกิดขึ้นหลังสัมผัสสารแพ้ (เช่น อาหาร ยา สารเคมี ฝุ่น ละอองเกสร ฯลฯ) ภายใน 15-30 นาที และจะเป็นอยู่ประมาณ 3-4 ชั่วโมง ก็จะยุบหายไปเอง แต่อาจเกิดขึ้นใหม่ในตำแหน่งเดิมหรือตำแหน่งใหม่ได้อีกภายในวันเดียวกันหรือในวันต่อมาก็ได้ บางคนอาจขึ้นติดต่อกันเป็นวันๆก็ได้ แต่ส่วนมากมักจะยุบหายได้เองภายใน 1-7 วัน ลมพิษจะมีลักษณะอาการจำเพาะ เป็นที่รู้จักของชาวบ้านทั่วไป จึงมักไม่ค่อยมีปัญหาในการวินิจฉัยโรคนี้ แต่อย่างไรก็ตาม อาการผื่นคันตามตัวก็อาจเกิดจากสาเหตุอื่น เช่น

1. ผื่นแพ้จากการสัมผัส (contact dermatitis) จะขึ้นเป็นผื่นแดง หรือตุ่มน้ำใสเล็กๆ คัน ซึ่งจะขึ้นเฉพาะบริเวณที่สัมผัสถูกสิ่งที่แพ้ เช่น สายนาฬิกา สร้อยคอ ขอบกางเกง สายรองเท้า เป็นต้น

2. ผื่นแพ้จากกรรมพันธุ์ (eczema) จะขึ้นเป็นผื่นแดงเล็กๆ คันตามบริเวณแก้มหรือข้อพับ (เช่น แขนพับ ข้อมือ ขาพับ ข้อเท้า รอบคอ) ซึ่งจะขึ้นพร้อมกันทั้ง ๒ ข้าง คนไข้มักจะเกาหรือถูจนหนังหนา และอาจมีน้ำเหลืองเยิ้ม (ชาวบ้านมักจะเรียกว่า “น้ำเหลืองไม่ดี”)

3. กลากหรือโรคเชื้อรา (ringworm) จะขึ้นเป็นวงๆ มีลักษณะเป็นขุยๆ ขอบแดง คัน ขึ้นเฉพาะแห่ง เช่น หนังศีรษะ ขาหนีบ ง่ามเท้า วงจะลามใหญ่ออกไปเรื่อยๆ

เมื่อไรควรไปหาหมอ

1. ควรไปหาหมอทันทีถ้ามีอาการหายใจหอบร่วมด้วย ซึ่งอาจพบในคนที่เป็นลมพิษชนิดรุนแรง (angioedema) มีอาการบวมของกล่องเสียง ทำให้หายใจเข้าออกลำบาก

2. ควรไปปรึกษาหมอถ้ากินยาแก้แพ้แล้วอาการไม่ดีขึ้น ถ้าอาการดีขึ้นใน 3 วัน หรือมีอาการเป็นๆ หายๆบ่อย หรือมีความวิตกกังวลหรือไม่แน่ใจ

แพทย์จะทำอะไรให้

ถ้าแน่ใจว่าเป็นลมพิษ แพทย์จะซักถามถึงสาเหตุที่ทำให้เกิดลมพิษ พร้อมกับให้การรักษาด้วยยาแก้แพ้หรือยาแอนติฮิสตามีน (antihistamine) ถ้าหากใช้ยาเม็ดคลอร์เฟนิรามีนไม่ได้ผล จะให้ยาแก้แพ้ตัวอื่นแทน ที่ใช้บ่อยได้แก่ ยาเม็ดไฮดรอกไซซีน (hydroxyzine) ครั้งละ 1/2-1 เม็ด วันละ 2 ครั้ง เช้ากับก่อนนอน ยานี้อาจทำให้ง่วงนอน ในรายที่เป็นเรื้อรัง นอกจากจะให้ยาแก้แพ้กินทุกวันเพื่อควบคุมอาการแล้ว อาจต้องตรวจหาสาเหตุด้วยการตรวจร่างกายอย่างละเอียด ตรวจอุจจาระ (ดูไข่พยาธิ) ตรวจเลือด ตรวจปัสสาวะ หรือตรวจพิเศษอื่นๆ ตามแต่สาเหตุที่สงสัย ถ้าพบสาเหตุก็ให้การรักษาตามสาเหตุ เช่น ถ้าเกิดจากฟันผุ ก็ต้องรักษาฟันที่ผุ ถ้าเกิดจากโรคพยาธิก็ให้ยาถ่ายพยาธิ เป็นต้น ถ้าไม่พบสาเหตุ อาจต้องกินยาแก้แพ้ไปเรื่อยๆ จนกว่าจะหายขาด บางคนอาจใช้เวลาเป็นแรมเดือน บางคนอาจเป็นแรมปี

โดยสรุป ลมพิษเป็นโรคภูมิแพ้ที่พบได้บ่อย และไม่มีอันตรายร้ายแรง สามารถรักษาด้วยยาแก้แพ้และหลีกเลี่ยงสิ่งที่แพ้ ถ้าเป็นเรื้อรัง ควรพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุ บางคนอาจเป็นร่วมกับโรคบางอย่างก็ได้

การดูแลรักษาตนเอง

ลมพิษเป็นอาการที่สามารถให้การดูแลรักษาตนเองได้ง่ายๆ ดังนี้

1. ประคบด้วยน้ำเย็น น้ำแข็ง หรือทายาแก้ผดผื่นคัน ถ้าไม่แพ้แอลกอฮอล์ จะใช้เหล้าทา หรือใช้ใบพลูตำกับเหล้าทาก็ได้

2. กินยาแก้แพ้ ยาเม็ดคลอร์เฟนิรามีน ครั้งละ 1/2-1 เม็ด ถ้ายังไม่หาย ซ้ำได้ทุก 6 ชั่วโมง

3. หาสาเหตุที่แพ้แล้วหลีกเลี่ยงเสีย

ข้อมูลสื่อ

162-005
นิตยสารหมอชาวบ้าน 162
ตุลาคม 2535
แนะยา-แจงโรค
รศ.นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ