• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ธรรมชาติบำบัด

ธรรมชาติบำบัด

สมัยนี้ถ้าไม่พูดถึงธรรมชาติบำบัดคงถูกมองว่าล้าหลัง ไม่ทันต่อเหตุการณ์ เพราะในภาคของรัฐบาลมีการสนับสนุนด้านการเงินให้จัดสัมมนาในเรื่องธรรมชาติบำบัดอย่างสนุกสนาน ในภาคของเอกชนก็มีการโฆษณาเพื่อชักจูงให้ประชาชนไปรับการรักษาทางธรรมชาติบำบัด
แต่เมื่อถามว่าธรรมชาติบำบัดคืออะไร คงยังหาคำตอบที่ชัดเจนได้ยาก ทั้งนี้ก็เช่นเดียวกับศาสตร์แขนงต่างๆ ที่รับอิทธิพลมาจากประเทศอื่น มักมาสรุปกันเองแล้วแต่พื้นฐานประสบการณ์ของแต่ละบุคคล


กายภาพบำบัด (physical therapy) เป็นศาสตร์แขนงหนึ่งเกี่ยวกับการรักษาที่รับมาจากแพทย์ตะวันตก ในการแพทย์แผนไทย(โบราณ)ไม่เคยมีการใช้คำนี้เลย แต่กลับมีบุคคลบางกลุ่มพยายามเรียกวิธีการรักษาแบบการแพทย์แผนไทยบางอย่าง เช่น การนวดไทย การประคบด้วยสมุนไพร การเข้ากระโจม ว่าเป็นกายภาพบำบัด ซึ่งไม่ถูกต้องนัก เพราะกายภาพบำบัดมีแนวคิดและทฤษฎีที่ออกจะแตกต่างกันกับแพทย์แผนไทย


มาถึงธรรมชาติบำบัดเริ่มเฟื่องฟูมีการเสนออีกว่า การนวดไทย การประคบด้วยสมุนไพร และการเข้ากระโจม ควรจัดเป็นธรรมชาติบำบัด ยิ่งทำให้เกิดความสับสนอลเวงมากพอสมควร
ความจริงการนวดไทย การประคบสมุนไพร ล้วนมีทฤษฎี แนวคิด และวิธีการที่พัฒนามาหลายร้อยปี จัดได้ว่าเป็นศาสตร์อีกแขนงหนึ่ง ไม่จำเป็นต้องไปอิงอยู่ในกายภาพบำบัดหรือธรรมชาติบำบัดแต่อย่างใดเลย


ความเชื่อในธรรมชาติบำบัดความจริงไม่ใช่ของเก่าแก่อย่างที่คิด แต่เป็นแนวคิดใหม่ที่ประเทศพัฒนาแล้วเพิ่งเล็งเห็นว่าการใช้เทคโนโลยีต่างๆที่มีราคาแพงไม่สามารถรักษาโรคหรืออาการทุกอย่างได้ และไม่สามารถทำให้มนุษย์มีสุขภาพที่ดีได้ จึงหันมาสนใจศาสตร์ต่างๆ ในสมัยโบราณ ที่อาศัยการรักษาด้วยปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ เช่น ดิน น้ำ ลม(อากาศ) และแร่ธาตุต่างๆ โดยมีแนวคิดว่าเนื่องจากมนุษย์อยู่ในธรรมชาติบำบัดต้องปรับตัวให้เข้ากับธรรมชาติได้จึงจะมีภาวะสุขที่สมบูรณ์ได้ทั้งร่างกายและจิตใจ


จากแนวคิดนี้ได้มีการนำเอาวิธีการรักษาตั้งแต่สมัยกรีก โรมัน ซึ่งยังนิยมทำกันในหมู่ชาวบ้านแถบซีกตะวันตกโดยเฉพาะยุโรปตะวันออก รวมทั้งรูปแบบการรักษาแบบการแพทย์ตะวันออกบางอย่างมาใช้ร่วมกัน
รูปแบบการรักษาแบบตะวันตกพื้นเมืองที่จัดอยู่ในธรรมชาติบำบัดเป็นแขนงหนึ่งของกายภาพบำบัดที่จัดอยู่ใน “ธาราบำบัดเพื่อการแพทย์” (medical hydrotogy) ซึ่งอาศัยการแช่บางส่วนของร่างกาย หรือทั้งร่างกายลงในแหล่งน้ำแร่ที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ(balneotherapy) การใช้น้ำแร่เพื่อการรักษาโรค(crenotherapy) การหายใจเอาสารกัมมันตภาพรังสีที่เกิดขึ้นในธรรมชาติเข้าไปในปอด(emanatherapy) การเอาโคลนภูเขาไฟมาพอกตามส่วนต่างๆของร่างกาย(fangotherapy) การเอาดินโคลน สิ่งหมักหมมจากกระบวนการธรรมชาติทั้งอินทรีย์และอนินทรีย์วัตถุมาพอกตามร่างกาย(psammotherapy) การตากแดด(heliotherapy) การรับลมที่พัดโบกตามธรรมชาติ(anemotherapy) และที่กำลังนิยมมากในปัจจุบันคือ การบำบัดด้วยน้ำทะเล(thalassotherapy)


การใช้คำว่าบำบัดหรือการรักษา(therapy) ในศัพท์ภาษาอังกฤษล้วนบ่งบอกถึงความเป็นตะวันตก การนำมากล่าวอ้างว่าเป็นของไทยแต่โบราณ จึงไม่ถูกต้องนัก
ยังมีศาสตร์ใหม่อีกแขนงหนึ่งที่เรียกตนเองว่าการบำบัดสมัยใหม่(new age therapy) ได้แก่ การบำบัดแบบแมโครไบโอติก(macrobiotic) โดยสนใจความสมดุลทางด้านอาหาร การบำบัดด้วยลูกผลึกหรือหินสีต่างๆ เพื่อการรักษาบำบัดการใช้พลังทางจิตผ่านการสัมผัสทางมือ การบำบัดด้วยการนั่งวิปัสสนา ในกลุ่มการบำบัดสมัยใหม่มีความเชื่อตามแบบตะวันออก โดยเฉพาะตามชาวฮินดูที่เชื่อว่าเรายังอยู่ในสมัยมืด และกำลังก้าวเข้าสู่สมัยใหม่ซึ่งมักเน้นทางจิตใจ และอาจเกี่ยวข้องกับความเชื่อทางศาสนาด้วย


อย่างไรก็ตาม การใช้ธรรมชาติบำบัดในรูปแบบการรักษาด้วยน้ำแร่หรือน้ำทะเลนั้น มีปัจจัยหลายอย่างที่ต้องคำนึงถึง ตัวอย่างเช่น การรักษาด้วยน้ำทะเลซึ่งอาจนำน้ำทะเลมาแช่ อาบ ดื่ม หรือสูดไอจากน้ำทะเลเข้าไปในปอดนั้น ก่อนอื่นต้องสำรวจคุณภาพของน้ำทะเลที่จะนำมาใช้ก่อน เนื่องจากส่วนประกอบของน้ำทะเลเป็นสัดส่วนกับพลาสมาของเลือดโดยตรง ความเค็มจากเกลือแร่ในน้ำทะเลแตกต่างกัน ตั้งแต่ 35 กรัมต่อลิตรในน้ำทะเล ไปจนถึง 42 กรัมต่อลิตรในมหาสมุทร ร้อยละ 75 ของเกลือแร่ในน้ำทะเลคือเกลือแกง หรือโซเดียมคลอไรด์ แล้วยังมีแร่ธาตุอื่นๆอีกร้อยละ 25 คือ แมกนีเซียม แคลเซียม โพแทสเซียม และสตรอนเซียม


นอกจากนี้ยังมีแร่ธาตุที่พบได้ปริมาณน้อยมาก เช่น ฟลูโอรีน รูบิเดียม ลิเทียม แบเรียม ไอโอดีน เหล็ก ทองแดง สังกะสี ซิลิคอน แมงกานีส ตะกั่ว ซีลีเนียม สารหนู นิเกิล โคบอลต์ เรเดียม ปรอท เป็นต้น การที่มีแร่ธาตุต่างๆมากมายเช่นนี้ ทำให้ช่วยเสริมเติมแร่ธาตุที่ร่างกายขาดหายไปเนื่องจากกินอาหารสังเคราะห์ หรือพืชที่ปลูกจากการใช้ปุ๋ยสังเคราะห์ ร่างกายจึงอ่อนแอและขาดพลังงาน การได้แร่ธาตุเหล่านี้โดยซึมผ่านทางผิวหนังจากการแช่ หรือโดยการดื่ม หรือหายใจเข้าไป จึงทำให้ร่างกายแข็งแรงมีสุขภาพดีขึ้นได้
แหล่งที่ใช้น้ำทะเลต้องไม่มีมลภาวะและอยู่ห่างจากโรงงานอุตสาหกรรมอย่างน้อย 10 กิโลเมตร อุณหภูมิของน้ำไม่เย็นจนเกินไป ปราศจากเชื้อที่ทำให้เกิดโรค และนำมาจากส่วนลึกไม่ต่ำกว่า 5 เมตรของทะเลที่ห่างที่ห่างจากชายหาด ความเข้มข้นของเกลือแร่คงที่ผันแปรไม่เกินร้อยละ 2 และยังมีกัมมันตภาพรังสีต่ำ ทั้งในน้ำทะเล สภาพแวดล้อม และแสงอาทิตย์ ดังนั้นการใช้น้ำทะเลเพื่อการรักษา จึงไม่ใช่เพียงลงไปแช่ในน้ำทะเลที่ไหนก็ได้ แต่ต้องมีการเลือกสถานที่ และตรวจสอบคุณภาพของน้ำทะเลตลอดทั้งปี


ธรรมชาติบำบัด ไม่ว่าจะใช้ปรากฏการณ์ทางธรรมชาติรูปแบบใด ย่อมต้องศึกษาถึงสถานที่ สิ่งแวดล้อม วิธีการ และอุปกรณ์ต่างๆ ที่นำมาใช้ร่วมและเสริมให้การรักษามีประสิทธิภาพขึ้น มิใช่ติดป้ายโฆษณาชวนเชื่อว่า “ที่นี่รักษาด้วยธรรมชาติบำบัด” โดยไม่ได้รับผิดชอบต่อสุขภาพของประชาชนอย่างแท้จริง

 

ข้อมูลสื่อ

188-009
นิตยสารหมอชาวบ้าน 188
ธันวาคม 2537
ดุลชีวิต
รศ.ประโยชน์ บุญสินสุข