• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ประยงค์ช่อน้อยลอยกลิ่นไกล

ช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมามีภาพยนตร์ไทยอันเป็นที่กล่าวขวัญมากอยู่ 2 เรื่อง เรื่องแรกคือสุริโยไท
อีกเรื่องหนึ่งคือเรื่อง “ จันดารา ” ซื่อสร้างจากนวนิยายที่เขียนโดยอุษา เพลิงธรรม ซื่งเป็นนามปากกาของประมูล อุณหธูป นั่นเอง

หนื่องในหนังสือรวมเรื่องสั้นของประมูล อุณหธูป ที่ยังจำได้ตั้งแต่อ่านครั้งแรกเมื่อ 30 ปีก่อนโน้น คือหนังสือชื่อ “ ช่อประยงค์” ซึ่งเป็นหนังสือรวมเรื่องสั้นที่มีความหมายดีมาก ( เหมือนช่อดอกประยงค์ที่ค่อนข้างสั้น ) และมีคุณภาพ ( กลิ่นหอมทนนาน )

                                       

ประยงค์ : หอมไกลของชาวใต้
ประยงค์เป็นไม้พุ่มยืนต้นขนาดย่อม มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Aglaia odorata Lonr อยู่ในวงศ์ Meliaceae ลำต้นสูงไม่เกิน 5 เมตร ทรงพุ่มทึบงดงาม มองเผิน ๆ คล้ายต้นแก้ว แต่ใบประยงค์เป็นใบรวมมีใบย่อย 5 ใบ อยู่บนก้านใบเดียว ( บางใบอาจมีใบย่อยเพียง 3 ใบ ) แต่ละใบยาวราว 5 เซนติเมตร รวมทั้งก้านใบยาวประมาณ 12 เซนติเมตร ใบเรียงหัวท้ายป่องกลาง ขอบใบเรียบเป็นคลื่นเล็กน้อย ไม่แบนราบเสียทีเดียว

ดอกเป็นช่อสั้น ๆ ยาวราว 5 เซนติเมตร ออกตามซอกใบ แต่ละช่อประกอบด้วยดอกเล็ก ๆ มากกว่า 10 ดอก แต่ละดอกรูปร่างกลมเล็กคล้ายไข่ปลา สีเหลือง มีกลีบดอกสีเหลือง 5 กลีบ กลีบรองกลีบสีเขียว 5 กลีบเช่นกัน เป็นดอกสมบูรณ์เพศ ผลรูปร่างกลมลี ขนาด 1.0-1.2 เซนติเมตร

ถิ่นกำเนิดดั้งเดิมของประยงค์อยู่แถบใต้ของประเทศจีน และแถบอินโดจีน คงเข้ามาประเทศไทยนานมากแล้ว เพราะปรากฏในวรรณคดีไทยสมัยอยุธยา เช่น ลิลิตพระลอ ซึ่งเชื่อว่าแต่งในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ในหนังสืออักขราภิธานศรับท์ พ.ศ. 2416 อธิบายคำว่าประยงค์ว่า

“ ประยงค์ : เป็นชื่อต้นไม้อย่างย่อมอย่างหนึ่ง ใบคล้ายใบแก้ว มีดอก เป็นชาติไม้ป่า ”


คำบรรยายนี้ทำให้สันนิษฐานว่าประยงค์มาจากป่า ซื่งในประเทศไทยมีประยงค์ป่าเป็นพืชดั้งเดิมอยู่ด้วย ความแตกต่างอยู่ที่ประยงค์ป่ามีใบย่อย 3 ใบ อยู่บนก้านใบ ส่วนประยงค์ ( บ้าน ) มี 5 ใบย่อย

ในประเทศไทยเรียกประยงค์ว่าประยงค์ ประยงค์บ้าน ( ภาคกลาง ) พยง ขะยม ขะยงค์ ( ภาคเหนือ) หอมไกล ( ภาคใต้ )

ประยงค์ชอบที่แห้งและกลางแจ้ง ออกดอกเป็นช่วง ๆ ตลอดปี ดอกมีกลิ่นหอมแรง และลอยไปไกล และแม้ดอกแห้งก็ยังมีกลิ่นหอมเช่นเดียวกับมะลิหรือพิกุล

ประโยชน์ของประยงค์
ประยงค์เป็นสมุนไพรที่แพทย์พื้นบ้านชาวไทยรู้จักดีมานาน เพราะใช้ประโยชน์ได้หลายส่วน เช่น
ดอกแห้ง : กลิ่นหอม รสขม เฝื่อน เร่งการคลอด แก้เมาค้าง ฟอกปอด ทำให้หูตาสว่าง แก้ร้อน ดับกระหาย แก้อึดอัดแน่นหน้าอก ไอ วิงเวียนศีรษะ ช่วยให้จิตใจปลอดโปร่ง
ใบและก้าน : รสเผื่อน แก้แผลบวมฟกซ้ำ ฝีมีหนอง
ราก : รสเย็นเผื่อน ทำให้อาเจียน

ดอกแห้งของประยงค์ใช้อบกลิ่นชาเช่นเดียวกับดอกมะลิแห้ง ชาวจีนนิยมกันมาก ในชวาใช้ดอกประยงค์แห้งอบเสื้อผ้าให้มีกลิ่นหอม

นอกจากดอกที่หอมทนและหอมไกลแล้ว ทรงพุ่มของประยงค์ยังงดงาม เหมาะสำหรับปลูกเป็นไม้ประดับได้ดี นอกจากนี้ยังแข็งแรง ทนทาน ปลูกง่าย อายุยืนยาวเหมาะกับการปลูกเอาไว้ในบริเวณบ้านหรืออาคารต่าง ๆ

 

ข้อมูลสื่อ

273-013
นิตยสารหมอชาวบ้าน 273
มกราคม 2545
ต้นไม้ใบหญ้า
เดชา ศิริภัทร