• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

สาเหตุของกระดูกหักในผู้สูงอายุ

สาเหตุของกระดูกหักในผู้สูงอายุ


ปัญหาสุขภาพของผู้สูงอายุที่พบได้ค่อนข้างบ่อยในปัจจุบัน คือ กระดูกหัก และตำแหน่งที่หักมักจะเป็นที่กระดูกสันหลัง และส่วนต้นของกระดูกต้นขาส่วนที่ต่อจากข้อสะโพก ซึ่งเรียกว่า“คอ” ของกระดูกต้นขา ในกรณีของกระดูกสันหลังหักซึ่งมีประวัติว่า ก้มลงหยิบของแล้วเกิดอาการปวดหลังมากจนนั่งไม่ได้ ต้องนอนเป็นเวลานาน และถึงแม้ไม่ได้รับการรักษาใดๆ อาการปวดจะค่อยทุเลาและลุกขึ้นนั่งได้ เดินได้ แต่หลังมักจะค่อม เดินไม่สะดวก จนต้องใช้ไม้เท้า กระดูกหักในลักษณะนี้ คือ กระดูกสันหลังยุบลงและอาจยุบหลายชิ้นที่ระดับช่วงอก และกระดูกบั้นท้ายเอวชิ้นบน ถ้าตรวจพบว่า มีกระดูกหัก ควรแนะนำให้นอนตัวตรง ใส่กายอุปกรณ์พยุงหลังไว้ หลังจะได้ไม่คอม และเดินได้ดี

ในกรณีกระดูกคอต้นขาหักซึ่งมีประวัติว่า หกล้มและการกระแทกถูกบริเวณสะโพก ไม่มีอาการเจ็บปวดแต่ลุกขึ้นยืนไม่ได้ ลงน้ำหนักไม่ได้ และเนื่องจากกระดูกคอเชื่อมติดกันได้ยาก แพทย์มักผ่าตัดเพื่อเอาหัวกระดูกออก เปลี่ยนข้อสะโพกเทียมใหม่ ซึ่งต้องเสียค่าใช้จ่ายมาก มีผลต่อเศรษฐฐานะของผู้สูงอายุและครอบครัวอย่างยิ่งทีเดียว โดยทั่วไปหากถามถีงสาเหตุของกระดูกหัดในผู้สูงอายุมักจะอธิบายกันอย่างง่ายๆ ว่าเกิดจากกระดูกของผู้สูงอายุเปราะบาง ผุกร่อน ไม่แข็งแรง จึงหักได้ง่ายเมื่อหกล้ม หรือจากการกระทำที่ไม่เคยระมัดระวัง แต่ความจริงแล้วปัจจัยดังกล่าวเป็นผลที่เกิดขึ้นจากสาเหตุอื่นๆ มากกว่า

ทำไมผู้สูงอายุบางคนจึงมีกระดูกที่แข็ง ทำไมผู้สูงอายุบางคนไม่หกล้ม ทำไมผู้สูงอายุบางคนก้มลงโดยกระดูกสันหลังไม่หัก

มีการสำรวจว่า เมื่ออายุมากขึ้น ความหนาแน่นของกระดูกจะลดน้อยลง ดังนั้นในระดับที่อายุ 60 ปีในคนปกติ ความหนาแน่นจะลดลงประมาณร้อยละ 10 เมื่อเทียบกับอายุ 30 ปี ในผู้สูงอายุบางคนถ้าความหนาแน่นของกระดูกลดลงมากกว่าร้อยละ 20 อาจถือว่า กระดูกนั้นเปราะบางผิดปกติ โอกาสที่กระดูกจะหักมีสูงทีเดียว ที่เป็นเช่นนี้เกิดจากปัจจัยภายใน คือ ร่างกายมีการดูดซึงสารต่างๆ เช่น แร่ธาตุแคลเซียมหรือโปรตีนจากอาหารน้อยลง เพราะสภาพของฟันไม่ดี ทำให้ขบเคี้ยวของแข็งไม่ได้ หรือกินอาหารไม่ครบถ้วน และขาดน้ำย่อยบางชนิด ทำให้อาหารถูกย่อยไม่ละเอียดพอที่จะดูดซึมเข้ากระแสเลือด เพื่อนำไปสร้างกระดูกได้

นอกจากนี้ยังมีปัจจัยภายนอกเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย คือ เมื่ออายุมากขึ้น การประกอบกิจกรรมต่างๆ จะลดน้อยลง ผู้สูงอายุส่วนใหญ่มักขาดการออกกำลังกาย และไม่ค่อยออกไปสัมผัสกับธรรมชาตินอกบ้าน การที่กล้ามเนื้อไม่หดตัวบ่อยๆ กระดูกจึงไม่แข็งแรงและบางลง การอยู่แต่ในบ้าน ขาดแสงแดดซึ่งมีส่วนสำคัญในการสร้างกระดูกให้แข็งแรงขึ้น กระดูกจึงเปราะบาง ดังนั้น ผู้สูงอายุจึงควรกินอาหารให้ครบทุกหมู่ คือ แป้ง โปรตีน ไขมัน เกลือแร่ และวิตามิน โดยใช้กรรมวิธีในการทำอาหารให้ละเอียดหรือใช้หมอตุ๋นไฟอ่อนๆ ให้อาหารอ่อนนุ่มลง และกินน้ำแกงต้มกระดูกแทนที่จะใส่ผงชูรส หรือสารปรุงแต่งให้มีรสชาติ แต่ปราศจากคุณค่าทางอาหาร และควรดื่มนมสดด้วย เพราะน้ำต้มกระดูกและนมสดจะอุดมไปด้วยแร่ธาตุแคลเซียมสำหรับสร้างกระดูก นอกจากนี้การตากแดดอ่อนๆ ในยามเช้าหรือยามเย็น ออกกำลังกายทุกส่วนของร่างกายอย่าสม่ำเสมอ จะทำให้ความหนาแน่นของกระดูกไม่ลดลงมากจึงไม่หักง่าย

การหกล้มในผู้สูงอายุมิใช่เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะสาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากปัจจัยภายในของผู้สูงอายุเอง คือ ระบบประสาททำงานช้าลง เสียหลักเมื่อเดินบนพื้นที่ต่างระดับสูงต่ำไม่เท่ากัน ถูกชนหรือเอื้อมไปหยิบสิ่งของ เนื่องจากการตอบสนองแบบฉับพลันของการทรงตัวเชื่องช้า ไม่สามารถทำให้ตั้งตรงทันที จึงหกล้มทำให้กระดูกหักได้ คนในวัยสูงอายุนี้สายตาเริ่มเสื่อมถอยลง ทัศนวิสัยไม่ดีเท่าที่ควร ดังนั้นที่อยู่อาศัยต้องสว่างพอสมควรปรับระดับของพื้นให้ราบเรียบ หลีกเลี่ยงการพักอาศัยชั้นบนของบ้าน มีราวสำหรับเกาะทั้ง 2 ข้างบันได และตามที่คับขันต่างๆ พื้นที่ห้องน้ำและครัวต้องแห้งสนิท ไม่ลื่น พื้นห้องไม่ควรปูหินอ่อน หรือหินขัด หรือลงเทียนไข

จะเห็นได้ว่า การปรับสภาพของสมดุลทั้งภายในร่างกายและสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเกิดความสมดุลในอาหารที่กิน และการเคลื่อนไหวส่วนต่างๆ ของร่างกายไม่ให้หยุดนิ่งเป็นเวลานาน การปรับสิ่งแวดล้อมที่อยู่อาศัยให้เป็นธรรมชาติมากขึ้น มีแดดส่องได้ทั่วถึง ไม่เปียกชื้น และเข้ากับสภาพร่างกายของผู้สูงอายุ ซึ่งไม่คล่องแคล่วว่องไว นับว่าเป็นเรื่องจำเป็นมากสำหรับการป้องกันกระดูกหักในผู้สูงอายุ ผู้สูงอายุและลูกหลานที่อยู่ใกล้ชิดจำเป็นต้องเข้าใจถึงปัจจัยเหล่านี้อย่างถูกต้อง จึงจะสามารถหลีกเลี่ยงอาการกระดูกหักในผู้สูงอายุได้ เพื่อจะได้ไม่เป็นปัญหาต่อตนเองและภาระต่อผู้ใกล้ชิด

ข้อมูลสื่อ

171-013
นิตยสารหมอชาวบ้าน 171
กรกฎาคม 2536
ดุลชีวิต
รศ.ประโยชน์ บุญสินสุข