• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

น้ำอัดลม

น้ำอัดลม


สวัสดีค่ะ อย่าเพิ่งแปลกใจว่าทำไมฉบับนี้จึงเป็นคะขา จ๊ะจ๋า เนื่องจากเจ้าประจำเขาพักร้อน ดิฉันจึงทำหน้าที่แทนไปก่อน ในวันที่อากาศร้อนแดดเปรี้ยงๆ จนตัวแทบไหม้เกรียมเนื่องจากไม่มีเค้าเมฆฝนเลยตั้งแต่เช้า เราไปล่องสายธารน้ำอัดลมให้ซาบซ่าชุ่มฉ่ำกันดีกว่า

น้ำอัดลมหรือที่เรียกกันตามภาษาชาวบ้านว่า “น้ำขวด” นั้น เป็นที่รู้จักกันมานานแล้วทั้งเด็กและผู้ใหญ่ เหตุที่นิยมดื่มกันก็เนื่องมาจากความเชื่อมั่นว่าสะอาด แก้กระหาย ประกอบกลยุทธ์ทางการตลาดที่ทำให้เกิดความรู้สึกว่าผู้ดื่มเป็นคนทันสมัย ยิ่งทำให้ความนิยมในการบริโภคน้ำอัดลมมีมากขึ้น น้ำอัดลมจัดเป็นเครื่องดื่มในภาชนะบรรจุที่ปิดสนิท มีเลขทะเบียนเป็น “ผด” แสดงว่าผลิตภัณฑ์ประเภทเครื่องดื่มที่ผลิตขึ้นจากโรงงานภายในประเทศ

กระบวนการผลิตน้ำอัดลม

ก่อนอื่นเราไปดูกันดีกว่าว่าต้นสายธารน้ำอัดลมมาจากไหน วัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตอย่างแรก คือ น้ำ ซึ่งต้องผ่านกรรมวิธีการทำให้บริสุทธิ์ก่อน โดยนำน้ำบาดาลที่เก็บไว้ในถังพักมาผ่านถังกรองทราย เพื่อกำจัดสิ่งแขวนลอยออกไป จากนั้นจะผ่านเรซิน (resin) เพื่อกำจัดอิออน ปรับค่าความเป็นกรด-ด่าง (ph) ให้ได้ประมาณ 6-7 เติมคลอรีนประมาณ 8 ppm (8 ส่วนในล้านส่วน) เพื่อฆ่าเชื้อโรค

น้ำบริสุทธิ์ที่ได้นี้จะนำมาใช้ในการเตรียมน้ำเชื่อมโดยต้มกับน้ำตาลทรายที่อุณหภูมิประมาณ 80 องศาเซสเซียส เป็นเวลาครึ่งชั่วโมง น้ำเชื่อมที่ได้จะมีลักษณะขุ่น จึงต้องมีการฟอกสีและกรองก่อนที่จะทำให้เย็นลงทันทีจนมีอุณหภูมิ 20-25 องศาเซสเซียส จากนั้นนำน้ำเชื่อมที่ได้มาผสมกับหัวน้ำเชื้อ ซึ่งมากมายหลายชนิดแตกต่างออกไปตามชนิดของน้ำอัดลม

ในหัวน้ำเชื้อจะประกอบด้วยสารที่ให้กลิ่น สารให้สี และสารที่ให้รสเปรี้ยว ได้แก่ กรดชนิดต่างๆ น้ำหวานที่ได้จะถูกทำให้เย็นลงก่อนอัดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เพื่อทำให้ก๊าซละลายให้มากขึ้น แล้วจึงทำการปิดฝา

ประเภทของน้ำอัดลม

น้ำอัดลมพอจะแบ่งออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ ด้วยกัน คือ

1. ประเภทที่มีกาเฟอีน ได้แก่ น้ำอัดลมที่ใช้หัวน้ำเชื้อชนิดโคล่า เฟลเวอร์ (Cola-flavor) ซึ่งมีส่วนประกอบของกาเฟอีนที่สกัดได้จากใบโคคา (Coca) เช่น เครื่องดื่มน้ำดำ (โคล่า) โดยมีปริมาณกาเฟอีนตามมาตรฐานกระทรวงสาธารณสุขต้องไม่เกิน 50 มิลลิกรัมต่อ 150 ลูกบาศก์เซนติเมตร

น้ำอัดลมประเภทนี้ถ้าจะแบ่งตามชนิดของสารให้ความหวาน ก็สามารถแบ่งได้อีกเป็น 2 ประเภท คือ

1.1 ประเภทที่ใช้น้ำตาลสารเป็นความหวาน

1.2 ประเภทที่ใช้สารทดแทนความหวาน (จากน้ำตาล) ซึ่งได้แก่ แอสปาเทม และแซ็กคาวิน น้ำอัดลมชนิดนี้เรียกกันว่า น้ำอัดลมแบบไดเอท ซึ่งผลิตออกมาสำหรับคนที่ต้องการควบคุมน้ำหนักตนเอง เนื่องจากน้ำตาลจะเป็นสาเหตุให้ได้รับพลังงานเกินความต้องการ จึงทำให้เป็นโรคอ้วนได้

สารทดแทนความหวานแอสปาเทมให้พลังงาน 4 แคลลอรี่ต่อกรัม และให้ความหวานสูงกว่าน้ำตาลประมาณ 200 เท่า ในขณะที่แซ็กคาวินให้ความหวานสูงกว่าน้ำตาลประมาณ 300-700 เท่า และไม่ให้พลังงาน ดังนั้นจึงมีปริมาณการใช้น้อยกว่า น้ำอัดลมแบบไดเอทนี้จึงเหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการจำกัดการบริโภค ได้แก่ ผู้ที่เป็นโรคอ้วน หรือโรคเบาหวาน

ข้อควรระวังสำหรับน้ำอัดลมชนิดนี้ คือ ไม่เหมาะสำหรับผู้ที่เป็นโรคเฟนิลคีโตนยูเรีย (phenylketonurea) ซึ่งเป็นโรคที่เกิดจากความผิดปกติทางพันธุกรรม เนื่องจากไม่สามารถกำจัดเฟนิลอะนีน (phenylalanine) ซึ่งเป็นส่วนประกอบในแอสปาเทมได้ ทำให้เกิดการสะสมของสารเคมีบางชนิดที่เป็นอันตรายต่อสมอง

2. ประเภทที่ไม่มีกาเฟอีน ได้แก่ น้ำอัดลมที่ใช้หัวน้ำเชื้อชนิดเลมอนไลม์เฟลเวอร์ (Lamon-lime flavor) เช่น เครื่องดื่มที่มีสีขาวใส และหัวน้ำเชื้อชนิดที่เป็นกลิ่นผลไม้ต่างๆ เช่น ส้ม องุ่น สตรอเบอรี่ ซึ่งกลิ่นและสีนั้นได้จากการสังเคราะห์เพื่อเลียนแบบกลิ่นผลไม้จากธรรมชาติ

นอกจากนี้ยังมีน้ำอัดลมอีกชนิดหนึ่งซึ่งเพิ่งวางจำหน่ายในอเมริกา ได้แก่ น้ำอัดลมประเภทเครื่องดื่มน้ำดำ แต่ไม่มีส่วนผสมของกาเฟอีน ทั้งนี้เพื่อตอบสนองกลุ่มคนที่ต้องการดื่มน้ำอัดลมกลิ่นโคลา แต่ไม่ต้องการบริโภคกาเฟอีน น้ำอัดลมประเภทนี้จะมีลักษณะใส ต่างจากแบบเดิมที่มีสีดำ

คุ้มค่าน่าดื่มไหม

เมื่อมาพิจารณาคุณค่าทางโภชนาการแล้ว จะเห็นได้ว่าน้ำอัดลมประกอบด้วยน้ำตาลเป็นส่วนใหญ่ เมื่อเทียบกับนมซึ่งให้ทั้งโปรตีน ไขมัน และน้ำตาล หรือน้ำผลไม้ ซึ่งจะมีวิตามินอยู่สูง หันมาดูทางด้านราคากันบ้าง น้ำอัดลมบรรจุขวดขนาด 285 ลูกบาศก์เซนติเมตร ราคา 5 บาท และน้ำอัดลมบรรจุกระป๋องขนาด 325 ลูกบาศก์เซนติเมตร ราคา 10 บาท ในขณะที่นมสดพาสเจอร์ไรซ์บรรจุถุงขนาด 225 ลูกบาศก์เซนติเมตร ราคา 4 บาท และนมสดยูเอชที ขนาด 250 ลูกบาศก์เซนติเมตร ราคา 6 บาท เมื่อเปรียบเทียบราคาและคุณค่าทางโภชนาการแล้วคงไม่ต้องบอกว่าอย่างไหนให้ประโยชน์มากกว่ากัน

นอกจากนั้นยังพบว่า การดื่มน้ำอัดลมบ่อยๆ หรือดื่มเป็นประจำจะมีผลกระทบต่อสุขภาพของร่างกายได้ โดยเฉพาะในเด็ก การดื่มน้ำอัดลมก่อนอาหารจะทำให้อิ่มและกินอาหารได้น้อยลง ซึ่งมีโอกาสเป็นโรคขาดสารอาหารได้ อีกทั้งยังทำให้เกิดก๊าซในกระเพาะอาหาร เนื่องจากก๊าซที่อยู่ในน้ำอัดลมมีผลทำให้ท้องอืดและจุกเสียด อีกทั้งน้ำตาลในน้ำอัดลมยังเป็นแหล่งอาหารที่ดีของจุลินทรีย์ในปาก ซึ่งมีผลทำให้ฟันผุ ดังนั้นหลังจากดื่มน้ำอัดลมแล้วคุณแม่ควรกำชับลูกๆ ให้แปรงฟันทุกครั้งนะคะ

พรรณนามาเสียมากมายคงถึงคำถามที่ว่า แล้วน้ำอัดลมไม่มีประโยชน์เลยหรือ สำหรับประโยชน์นั้นมีเหมือนกัน แต่เฉพาะผู้ที่ต้องการเพิ่มน้ำหนักตัวเท่านั้นนะคะ เพราะการดื่มน้ำอัดลมหลังกินอาหารจะช่วยเพิ่มน้ำตาลให้มากขึ้น ซึ่งน้ำตาลเหล่านี้ถ้าเหลือใช้ก็จะสะสมเป็นไขมัน มีผลทำให้ร่างกายอ้วนขึ้นได้ ล่องสายธารน้ำอัดลมกันมาจนถึงปากขวดแล้ว เปิดจุกแล้วซ่ากันจนหยุดสุดท้ายเลยเป็นไง สวัสดีค่ะ

ข้อมูลสื่อ

174-011
นิตยสารหมอชาวบ้าน 174
ตุลาคม 2536
สิติมา จิตตินันทน์