• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

การตรวจรักษาอาการ “เลือดออก” (ตอนจบ)

การตรวจรักษาอาการ “เลือดออก” (ตอนจบ)


มาถึงฉบับนี้ การตรวจรักษาอาการเลือดออกคงเหลืออีก 5 สาเหตุสุดท้าย คือ เลือดออกในช่องคลอด เลือดออกด้านหลังท้อง เลือดออกในเชิงกราน เลือดออกในข้อ และเลือดออกจากกระดูกหัก

สำหรับผู้ที่ติดตามมาตลอดคงจะทราบและพอจะวินิจฉัยอาการเลือดออกได้ด้วยตนเอง และสามารถจะดำเนินการขั้นต่อไปได้อย่างถูกต้องเหมาะสม เพื่อให้การตรวจรักษาอาการเลือดออกสมบูรณ์ยิ่งขึ้น เรามาดูกันต่อดีกว่า

16. เลือดออกใน “ช่องท้อง”

“ช่องท้อง”ในที่นี้ หมายถึง ห้องหรือโพรงภายในผนังท้อง ซึ่งเป็นที่อยู่ของกระเพาะลำไส้ ตับ ไต และอวัยวะภายในอื่นๆ เลือดออกใน “ช่องท้อง” จะวินิจฉัยได้ยาก เพราะไม่มีเลือดไหลออกมาให้เห็นภายนอก นอกจากจะมีบาดแผนทะลุผนังท้อง เช่น ถูกปืน ถูกมีด เป็นต้น

การวินิจฉัย ถ้าเลือดออกใน “ช่องท้อง” เพียงเล็กน้อย อาจจะไม่มีอาการจากเลือดที่ออก แต่อาจจะอาการจากสาเหตุที่ทำให้เลือดออก เช่น กระเพาะลำไส้ทะลุทำให้ปวดท้องมาก เป็นต้น ส่วนเลือดออกมากๆ ในช่องท้อง มักเกิดจากอุบัติเหตุทำให้ตับหรือม้ามแตก หรือหลอดเลือดในช่องท้องฉีกขาดหรือแตก ทำให้เลือดไหลออกมาอยู่ในช่องท้องมากๆ

ถ้าเลือดออกมาก จะทำให้ซีด (หน้าและริมฝีปากขาวซีด) หน้ามืดเป็นลม เหงื่อแตก ตัวเย็น หอบ หน้าท้องมักจะกดเจ็บและอาจโป่งหรือแข็งเป็นดาน อาจมีอาการปวดท้องมาก และคลื่นไส้อาเจียนได้ด้วย
ถ้ามีประวัติและอาการดังกล่าว ควรรีบไปโรงพยาบาล มิฉะนั้น จะเป็นอันตรายได้

17. เลือดออกด้านท้อง

ส่วนใหญ่จะเกิดจากสาเหตุที่ไตหรือตับอ่อน ถ้าเกิดจากไต มักเกิดจากอุบัติเหตุทำให้ไตฉีกขาด ถ้าเกิดจากตับอ่อน มักเกิดจากตับอ่อนอักเสบรุนแรง ซึ่งมักเป็นในคนที่ดื่มสุราเรื้อรัง หรือมีนิ่วอุดตันในท่อน้ำดี มักมีอาการปวดท้องรุนแรง ปวดมากบริเวณกระเบนเหน็บ อาจเห็นรอยเขียวช้ำบริเวณกระเบนเหน็บข้างสีขาว และสีข้างสีขาว และกระเบนเหน็บอวจบวมหนา ตึง และกดเจ็บ มักมีอาการไข้ (ตัวร้อน) และอาการแทรกช้อนอื่นๆ ถ้ามีประวัติและอาการดังกล่าวข้างต้น ควรรีบไปโรงพยาบาล มิฉะนั้นจะเป็นอันตรายได้

18. เลือดออกใน “ช่องเชิงกราน”

“ช่องเชิงกราน” ในที่นี้ หมายถึง ท้องหรือโพรงที่ล้อมรอบด้วยกระดูกเชิงกราน (กระดูกเชิงกราน คือ ส่วนที่เป็นโครงแข็งของสะโพก จึงอาจจะเรียกว่า กระดูกสะโพก ก็ได้) ภาวะเลือดออกในช่องเชิงกรานมักเกิดในเพศหญิง เพราะเลือดมักออกจากรังไข่ มดลูก ปีกมดลูก ซึ่งมีเฉพาะในเพศหญิงเท่านั้น

สาเหตุสำคัญๆ ที่ทำให้เลือดออกในช่องเชิงกรานมากๆ เช่น ท้องนอกมดลูก มะเร็งของรังไข่ มดลูกหรือปากมดลูก มดลูกแตกหรือทะลุ เป็นต้น คนที่มีประจำเดือนขาดหายไปแล้วต่อมาปวดท้องบ่อยๆ ควรรีบไปตรวจภายในเพื่อดูว่าเป็นท้องนอกมดลูกหรือไม่ เพราะถ้าทิ้งไว้จนท้องนอกมดลูกแตก (ปวดท้องมากหน้าซีด หน้ามืดเป็นลม) จะทำให้เกิดอันตรายถึงชีวิตได้ คนที่มีเลือดออกทางช่องคลอดที่ไม่ใช่ประจำเดือนหรือประจำเดือนผิดปกติ ควรไปตรวจภายในเพื่อหาสาเหตุและรักษาเสียก่อนจะเกิดอาการรุนแรงขึ้น คนที่ไปทำแท้งหรือขูดมดลูกแล้วต่อมามีอาการหน้าซีด หน้ามืด เป็นลม ควรรีบไปโรงพยาบาลเพราะมดลูกอาจทะลุ ทำให้เลือดออกในช่องเชิงกรานมากเป็นอันตรายได้

19. เลือดออกในข้อ

ข้อต่างๆ ที่เกิดอุบัติเหตุง่าย เช่น ข้อมือ ข้อศอก ข้อเข่า ข้อเท้า ข้อสะโพก ข้อไหล่ ถ้าเกิดการกระทบกระแทกรุนแรง นอกจากจะทำให้เกิดอาการเคล็ดขัดยอก หรือเคลื่อนหลุดนอกจากที่และทำให้เกิดการอักเสบ (ปวด บวม แดง ร้อน) แล้ว ยังอาจทำให้เลือดออกในข้อได้ โดยเฉพาะในคนที่เลือดแข็งตัวยาก (คนที่เลือดแข็งตัวยาก รู้ได้เพราะมีประวัติว่าถูกมีดบาดหรือถูกเข็มแทง แล้วเลือดจะไหลหรือซึมออกมาเป็นเวลานาน (นานกว่า 5-10 นาที) กว่าจะหยุด และเวลาถูกกระทบกระแทกตรงไหน ตรงนั้นจะเป็นรอยเขียวช้ำ หรือพรายย้ำได้ง่าย ถ้าถอนฟันอาจมีเลือดไหลซึมเป็นชั่วโมงๆ ได้ทั้งที่กัดก้อนผ้าอุดรูเหงือกที่ฟันถูกถอนไปแล้วก็ตาม)

ในคนที่มีประวัติเลือดแข็งตัวยาก ถ้าเกิดอุบัติเหตุหรืออยู่ดีๆ (ที่จริงอยู่ไม่ดี คือไม่ระวังตัว จนเกิดการกระทบกระแทกที่ข้อโดยไม่รู้ตัว) แล้วเกิดอาการปวดข้ออย่างรุนแรง และข้อที่ปวดนั้นบวมขึ้นอย่างรวดเร็วและอาจเห็นเป็นสีเขียวจางๆ ต้องรีบไปโรงพยาบาลทันที เพราะต้องรีบฉีดสารช่วยให้เลือดแข็งตัว มิฉะนั้นเลือดจะออกอยู่เรื่อยๆ ทำให้ปวดข้อมาก และอาจทำให้ข้อนั้นพิการ (ใช้ไม่ได้) เมื่อหายจากภาวะเลือดออกในข้อแล้ว

20. เลือดออกจากกระดูกหัก

โดยทั่วไปเวลากระดูกหักจะมีเลือดออกจากปลายกระดูกที่หักจะมีเลือดออกจากปลายกระดูกที่หักและแยกจากันเสมอ แต่เลือดจะออกไม่มากนักและไม่ทำให้เกิดอาการจากเลือดที่ออก อาการจึงเกิดจากกระดูกหักเท่านั้น เช่น ปวดบวม และเจ็บตรงที่กระดูกหัก และถ้าปลายกระดูกนั้นแยกจากกันอวัยวะที่มีกระดูกนั้นเป็นแกนอยู่จะเคลื่อนไหวหรือทำงานไม่ได้ แต่ถ้ากระดูกใหญ่ๆ หัก เช่น กระดูกต้นขา (ขาอ่อน) หรือกระดูกข้อสะโพกหัก อาจทำให้เลือดออกได้มากๆ โดยที่เลือดนี้ออกอยู่ภายในเนื้อเยื่อและกล้ามเนื้อในบริเวณนั้นแล้วแผ่ขยายไปสู่บริเวณข้างเคียง ไม่ได้ไหลออกมาภายนอกจึงมองไม่เห็น แต่รู้ได้เพราะบริเวณที่กระดูกหักจะบวมขึ้นมาก และอาการบวมแผ่ขยายออกไปเรื่อยๆ อาจเห็นสีเขียวจางๆ ใต้ผิวหนังที่เลือดได้ซึมขึ้นมาจนถึงชั้นใต้ผิวหนัง จะมีอาการซีดลงอย่างรวดเร็ว หน้าซีด มือเท้าเย็น หน้ามืดเป็นลม เหงื่อแตก ตัวเย็น และอื่นๆ ที่เป็นอาการของคนที่เสียเลือดไปมาก รีบให้การปฐมพยาบาลโดยให้ส่วนที่คิดว่ากระดูกหักอยู่นิ่งที่สุดเท่าที่จะทำได้ โดยใช้ไม้หรือสิ่งอื่นดามไว้ และให้มีการเคลื่อนไหวน้อยที่สุด ให้ยาแก้ปวดและให้น้ำเกลือ น้ำเลือด (พลาสมา) หรือเลือด ถ้าทำได้และรีบนำตัวมาส่งโรงพยาบาล

การตรวจรักษาอาการเลือดออกดังที่ได้กล่าวมาทั้งหมด คงจะทำให้ท่านผู้อ่านสามารถวินิจฉัยภาวะเลือดออกในอวัยวะต่างๆ ได้พอสมควร และคงจะทำให้ท่านผู้อ่านสามารถให้คำแนะนำหรือช่วยให้การดูแลรักษาภาวะเลือดออกเล็กๆ น้อยๆ ในกรณีต่างๆ และช่วยทำการปฐมพยาบาลในกรณีเลือดออกมากก่อนนำตัวผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลต่อไป

ความสามารถที่จะตรวจรักษาตนเองและผู้อื่นเช่นนี้ ย่อมเป็นการบรรเทาความทุกข์ยากลำบากของตนเองและผู้อื่น และช่วยจรรโลงสังคมของเราให้คงความเป็นสังคมไทยที่มีน้ำใจ มีเมตตา และความเอื้ออาทรต่อกันสืบไป

ข้อมูลสื่อ

178-006
นิตยสารหมอชาวบ้าน 178
กุมภาพันธ์ 2536
ศ.นพ.สันต์ หัตถีรัตน์