• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

10 ชาติอาเซียนประกาศค้านให้สิทธิบัตรยา

สหพันธ์คุ้มครองผู้บริโภคนานาชาติ จาก 10ประเทศ สัมมนาใหญ่ปัญหาสิทธิบัตรยา ประกาศยาจะต้องไม่มีการถือครองสิทธิบัตรโดยเด็ดขาด

จากการประชุมสัมมนาประจำปีของโครงการรณรงค์การใช้ยาที่เหมาะสมในเอเชีย (Action for Rational Drug in Asia, ARDA) เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2530 ณ สถาบันวิจัยสังคมจุฬาฯ จัดโดยสหพันธ์คุ้มครองผู้บริโภคนานาชาติ (IOCU) สถาบันวิจัยสังคมจุฬาฯ กลุ่มศึกษาปัญหายา (กศย.) และคณะกรรมการประสานงานองค์กรเอกชนเพื่อการสาธารณสุขมูลฐาน (คปอส.) ซึ่งมีผู้เข้าร่วมประชุมจาก 15 องค์กร 10 ประเทศ คือ บังคลาเทศ มาเลเซีย ปากีสถาน อินเดีย อินโดนีเซีย เกาหลีใต้ ฟิลิปปินส์ ศรีลังกา ญี่ปุ่น และไทย ที่ประชุมได้มีความเห็นร่วมกันว่า สิทธิบัตรยามีผลทำให้ยาราคาแพง ไม่สามารถกระจายอย่างทั่วถึง ไม่ทำให้เกิดการลงทุนในประเทศเพิ่มขึ้น มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศอย่างมาก

ผู้แทนสหพันธุ์คุ้มครองผู้บริโภคนานาชาติ ชี้แจงว่า กรณีสิทธิบัตรยานั้นควรจะเป็นไปตามหลักการ 3 ซึ่งมีการยอมรับกันอย่างกว้างขวาง คือ 1. กฎหมายสิทธิบัตรต้องมีขึ้นเพื่อเป็นส่วนช่วยพัฒนาประเทศทั้งทางเศรษฐกิจและสังคม และสนองตอบความต้องการที่แท้จริงของประเทศกำลังพัฒนาเท่านั้น 2. ยึดถือผลประโยชน์ของประชาชนส่วนรวมเป็นหลัก 3. กฎหมายสิทธิบัตร ไม่ควรถูกนำมาเป็นเครื่องมือต่อรองทางการค้า

ผู้แทนสหพันธ์ฯ กล่าวต่อไปว่า ยาจะต้องไม่มีการถือครองสิทธิบัตรโดยเด็ดขาด ไม่ว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์ยาหรือกรรมวิธีการผลิต แต่ละประเทศควรจะจัดระบบให้ผลตอบแทนแก่นักประดิษฐ์คิดค้นหรืออาจจะให้มีใบรับรองการประดิษฐ์คิดค้น (Inventors’ Certificate) ซึ่งใบรับรองนี้จะได้รับการแบ่งปันผลประโยชน์แก่นักประดิษฐ์ เมื่อรัฐได้นำเอาไปจัดสรรเพื่อประโยชน์แก่สาธารณชน ในกรณีที่ยังมีการใช้ระบบสิทธิบัตรและมีเงื่อนไขที่ยังยกเลิกไม่ได้นั้น การให้สิทธิบัตรต้องจำกัดเฉพาะกรรมวิธีการผลิตเท่านั้น ห้ามให้สิทธิบัตรผลิตภัณฑ์โดยเด็ดขาด

ผู้แทนสหพันธ์ฯ กล่าวตบท้ายว่า ประเทศที่กำลังพัฒนาและองค์กรพัฒนาเอกชนที่ทำงานด้านสุขภาพและการพัฒนา ตลอดจนประเทศที่พัฒนาแล้วจะต้องร่วมมือร่วมใจกันผลักดันให้นโยบายและการดำเนินการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาใดๆก็ตาม ควรให้เป็นไปเพื่อสนองตอบความต้องการที่แท้จริงของประชาชน เพื่อนำไปสู่การมีสุขภาพดีถ้วนหน้า


 

ป้ายคำ:

ข้อมูลสื่อ

97-003-2
นิตยสารหมอชาวบ้าน 97
พฤษภาคม 2530
ข่าว