• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ตรวจย้อมเชื้อ / เพาะเชื้อ

“วิธีที่จะตรวจดูสาเหตุของโรคปอดอักเสบอย่างง่ายๆก็คือ นำเอาเสลดของผู้ป่วยไปตรวจย้อมเชื้อดู...”
“ผู้ป่วยที่เป็นโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบเรื้อรัง ควรนำปัสสาวะไปเพาะเชื้อ เพื่อค้นหาเชื้อที่เป็นสาเหตุ...”


คุณผู้อ่านคงเดาได้ไม่ยากว่า การตรวจย้อมเชื้อและการเพาะเชื้อ เป็นวิธีการค้นหาเชื้อโรคที่เป็นตัวก่อโรคในผู้ป่วยที่เป็นโรคติดเชื้อต่างๆ

การตรวจย้อมเชื้อ
(Smear and stain) คือการนำเอาของเหลวที่สงสัยว่ามีเชื้อโรคปนเปื้อน เช่น น้ำหนอง เสลด ตกขาว เป็นต้น ไปป้ายบนแผ่นกระจกแล้วทำการย้อมด้วยสีพิเศษ (ซึ่งมีอยู่หลายชนิด) นำไปส่องดูด้วยกล้องจุลทรรศน์ ก็อาจช่วยให้ค้นพบเชื้อโรคที่เป็นต้นเหตุของการเกิดโรค อาทิเช่น คนที่เป็นไข้และไอเรื้อรัง น้ำหนักลด ซึ่งสงสัยจะเป็นวัณโรคปอด นอกจากส่งผู้ป่วยไปถ่ายภาพรังสี (เอกซเรย์) ปอดแล้ว ยังจะต้องนำเสมหะที่ผู้ป่วยขากออกมาไปตรวจย้อมเชื้อถึง 3 ครั้ง (วันละครั้ง โดยใช้เสมหะของผู้ป่วยขณะที่ตื่นตอนเช้า) ถ้าพบเชื้อวัณโรค ก็สามารถวินิจฉัยว่าเป็นวัณโรคปอดได้ร้อยเปอร์เซ็นต์
การตรวจย้อมเชื้อมีข้อดีคือทำได้ง่าย รู้ผลทันที ราคาถูก และสามารถทำได้ในสถานบริการเล็กๆ

การเพาะเชื้อ
(culture) คือการนำเอาของเหลวที่สงสัยว่า มีเชื้อโรคปนเปื้อนไปเพาะเลี้ยงในน้ำเลี้ยงเชื้อพิเศษ (ซึ่งมีอยู่หลายชนิด) ซึ่งจะใส่ในตู้อบที่มีอุณหภูมิพอเหมาะ อาจกินเวลาประมาณ 3 วันกว่าจะรู้ผล อาทิเช่น ผู้ป่วยที่สงสัยว่าเป็นไข้ไทฟอยด์ ซึ่งจะมีเชื้ออยู่ในกระแสเลือดและในอุจจาระ หมอก็จะเอาเลือดและอุจจาระไปเพาะเชื้อ พร้อมกันนั้นก็มักจะทำการทดสอบดูว่า เชื้อที่เพาะได้นั้นสามารถใช้ยาปฏิชีวนะตัวใดรักษา คือไวต่อยาชนิดใด เรียกว่า การทดสอบความไว (sensitivity test)

การเพาะเชื้อ จึงเป็นเรื่องที่ค่อนข้างยุ่งยาก ต้องใช้เครื่องมือที่สลับซับซ้อน รู้ผลช้า ราคาค่อนข้างแพง และทำได้เฉพาะในสถานบริการขนาดใหญ่ เช่น โรงพยาบาลประจำจังหวัด โรงพยาบาลเขต โรงพยาบาลที่เป็นโรงเรียนแพทย์ เป็นต้น แต่มีข้อดี คือ ช่วยบอกได้ว่าควรใช้ยาอะไรรักษาจึงจะได้ผล

โรคติดเชื้อมักจะมีความยากง่ายในการตรวจรักษาแตกต่างกันไป บางชนิดสามารถบอกจากอาการและเลือกใช้ยาตามสถิติข้อมูลที่ผ่านมา บางชนิดต้องอาศัยการตรวจย้อมเชื้อ และบางชนิดอาจต้องรอผลการเพาะเชื้อ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าเป็นโรคที่เป็นปริศนาในการวินิจฉัยหรือเคยใช้ยาแต่ไม่ได้ผล

ดังนั้น ถ้าหากคุณไปหาหมอแล้วหมอบอกว่า ต้องรอผลการตรวจย้อมเชื้อ หรือผลการเพาะเชื้อก่อนที่จะจ่ายยาให้ ก็อย่าได้แปลกใจที่ไม่ได้ยารักษา
จงดีใจเถิดว่า คุณกำลังได้รับการตรวจรักษาที่สมบูรณ์แบบที่สุดแล้ว
 

ข้อมูลสื่อ

97-008
นิตยสารหมอชาวบ้าน 97
พฤษภาคม 2530
ภาษิต ประชาเวช