• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

วูบ (ตอนที่ 3)

วูบ (ตอนที่ 3)

เรื่องราวต่าง ๆ ทางการแพทย์ มีมากมาย หลายคน ดูว่ายุ่งยากซับซ้อน หรือถูกทำให้ดูยุ่งยากสับสน จนไม่อยากแตะต้อง “สิ่งละอันพันละน้อย” จะนำเรื่องเหล่านี้ มาทำให้อ่านง่าย เข้าใจง่าย เพื่อจะได้เป็นประโยชน์ ในวงกว้างต่อไป

คนไข้รายที่ 2 : เป็นอาจารย์ในโรงเรียนแพทย์แห่งหนึ่ง ขณะกำลังยืนสอนนักเรียนแพทย์และแพทย์ประจำบ้านอยู่ข้างเตียงคนไข้ ก็เกิดอาการ “วูบ” ล้มลง และหมดสติ
นักเรียนแพทย์รีบพยุงศีรษะและลำตัวของอาจารย์ขึ้น เพราะเห็นว่าพื้นห้องของหอคนไข้ทั่วไป(หรือที่ชาวบ้านชอบเรียกว่า “หอคนไข้อนาถา”) นั้นไม่สะอาดนัก กว่าจะหาเตียงให้อาจารย์นอนได้ ซึ่งไม่ใช่ของง่าย(เพราะโดยปกติเตียงในหอคนไข้จะเต็มทุกเตียง จึงต้องขอให้คนไขที่ดีขึ้นแล้วลุกออกจากเตียงก่อน แล้วคลุมผ้าปูที่นอนใหม่ทับลงไปและเปลี่ยนปลอกหมอนใหม่ เพื่อจะได้ไม่ติดเชื้อโรคจากคนไข้เดิม) ก็เสียเวลาไปหลายนาที อาจารย์จึงมีอาการชักและเกร็งและตาค้าง ทำให้แพทย์ประจำบ้านคิดว่าหัวใจของอาจารย์หยุดเต้น จึงรีบทุบหน้าอีกและจะทำการฟื้นชีวิต (ใส่ท่อช่วยหายใจ และขย่มหน้าอกเพื่อนวดหัวใจ ฯลฯ)  แต่โชคดีที่มีคนสังเกตเห็นว่าอาจารย์ยังหายใจเองได้ แม้จะไม่รู้สึกตัว และยังพอจะคลำชีพจรได้ อาจารย์จึงไม่ต้องเจ็บตัวจากการใส่ท่อช่วยหายใจ และการขย่ม(กระแทก)หน้าอก จึงได้มีการให้น้ำเกลือ และให้ยากระตุ้นหัวใจและความดันเลือดแทน หลังจากนั้น ก็มีการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจและปรากฏว่า คลื่นไฟฟ้าหัวใจปกติ ถึงตอนนี้อาจารย์ก็รู้สึกตัวลืมตาตื่นขึ้น พร้อมกับรู้สึกงงว่า ทำไมตนถึงมานอนบนเตียงคนไข้ แต่ยังรู้สึกอ่อนเพลียอยู่

เมื่อดีขึ้นแล้ว จากการถามประวัติ ปรากฏว่าอาจารย์คนนี้เป็นโรคความดันโลหิตสูง ซึ่งปกติก็กินยาลดความดันเลือดอยู่เป็นประจำ แค่คืนก่อนนอนไม่ค่อยหลับ ตอนเช้ารู้สึกปวดมึนศีรษะจึงลองวัดความดันดู ปรากฏว่าสูงขึ้นไปกว่าปกติ 20-30 ทอร์ (มิลลิเมตรปรอท) จึงเพิ่มยาความดันในมื้อเช้าอีกเท่าตัว (จากครึ่งเม็ดเป็นหนึ่งเม็ด) และรีบมาโรงพยาบาลเพื่อให้ทันสอนนักเรียนแพทย์และแพทย์ประจำบ้าน โดยไม่ได้กินอาหารเช้า เมื่อสอนไปสักพัก รู้สึกหน้ามืดและเวียนศีรษะ ก็คิดว่าไม่เป็นไรยังคงยืนสอนต่อไปจนในที่สุด ก็ไม่รู้ตัวและล้มฟุบลง นักเรียนแพทย์โดยเจตนาดีที่จะไม่ให้อาจารย์ต้องนอนอยู่กับพื้น จึงได้ประคองลำตัวและศีรษะของอาจารย์ขึ้นให้อยู่ในท่านั่ง กว่าจะหาเตียงให้อาจารย์นอนได้ ก็ทำให้สมองขาดเลือดไปนานเกิดอาการชักเกร็งและตาค้าง และคลำชีพจรที่คอและขาหนีบไม่ได้ (ที่คลำไม่ได้ อาจเป็นเพราะควากฉุกละหุก หรือความตื่นเต้น หรืออาจเป็นเพราะความดันเลือดตกลงอย่างมาก จนทำให้คลำได้ยาก)จึงทำให้เข้าใจว่า “หัวใจหยุดเต้น” (cardiac arrest) จึงเตรียมใส่ท่อช่วยหายใจ และขย่มหน้าอกเพื่อนวดหัวใจ

แต่คนไข้ “หัวใจหยุด” มักจะหยุดหายใจภายในเวลา 1-2 นาที แต่อาจารย์คนนี้ยังหายใจอยู่ และมีผู้สังเกตเห็นและฉุกคิดได้ว่าไม่ใช่ภาวะหัวใจหยุดเต้น อาจารย์คนนี้จึงรอดพ้นจากการเจ็บตัวไป
เมื่อได้นอนราบกับเตียงแล้วสักพัก ก็ตื่นขึ้นมาเองได้ น้ำเกลือและยากระตุ้นหัวใจและความดันเลือดคงมีส่วนช่วยด้วย แต่ถึงจะไม่ให้ยา โดยทั่วไปแล้วคนไข้ที่เป็นลมหน้ามืดในท่ายืนเมื่อได้นอนราบลงกับพื้นแล้วสักพักก็จะดีขึ้นเอง (บังเอิญรายนี้ลูกศิษย์คิดจะช่วยอาจารย์ไม่ให้สกปรกและน่าเกลียด จึงได้ประคองอาจารย์ขึ้นไว้ในท่านั่ง จึงเกิดอาการมากขึ้น)

อาการ “วูบ” ของอาจารย์แพทย์รายนี้ก็คล้ายคลึงกับอาการ “วูบ” ของคนไข้รายแรก คือ เกิดจาก “ความดันเลือดตกในท่ายืน” หรือเลือดไหลลงไปที่ขาและเท้าในท่ายืนมากกว่าปกติ จนเลือดไปเลี้ยงสมองไม่พอ และทำให้เกิดอาการ “วูบ” ขึ้น

แต่สาเหตุที่ทำให้ “วูบในท่ายืน” ของอาจารย์แพทย์รายนี้ ต่างจากในคนไข้รายแรกที่เกิดจากการเสียเลือดจากแผลในกระเพาะลำไส้ เพราะของอาจารย์แพทย์รายนี้เกิดจากสาเหตุอย่างน้อย 4 ประการ

1.การอดนอนหรือการนอนไม่ค่อยพอในคืนก่อนทำให้ระบบประสาทอัตโนมัติทำงานไม่ได้สมบูรณ์เต็มที่ในวันต่อมา จึงไม่สามารถสอนนักเรียนนาน ๆ คนที่อดนอนจึง “วูบ” หรือเป็นลมได้ง่าย

2.การกินยาลดความดันเลือดอีกเท่าตัวในตอนเช้าวันนั้นเพราะรู้สึกปวดมึนศีรษะแล้วไปวัดความดันเลือดสูงกว่าปกติ
อันที่จริง คนที่อดนอนก็อาจปวดมึนศีรษะได้เป็นธรรมดา ไม่ใช่ว่าพอปวดมึนศีรษะก็คิดว่าเป็นอาการปวดมึนศีรษะเกิดจากความดันเลือดสูง
อนึ่ง คนที่นอนไม่หลับ มักจะเครียด หรือหงุดหงิด คนที่ไม่สบาย เช่น ปวดมึนศีรษะอยู่ก็มักจะเครียดจากความกลัว หรือความไม่สบายกายได้เช่นเดียวกัน
ในขณะที่เครียด ความดันเลือดมักจะสูงกว่าปกติเป็นธรรมดาอยู่แล้ว จึงไม่ควรกินยาลดความดันเลือดเพิ่มขึ้น เพราะการกินยาลดความดันเลือดเพิ่มขึ้นเป็นการแก้ปลายเหตุ ที่จริงควรกินยาแก้เครียดและยาแก้ปวดศีรษะจะดีกว่า ถ้าไม่สามารถนอนพักผ่อนได้ (การนอนหลับพักผ่อนจะเป็นการแก้สาเหตุมากกว่าการกินยา)
เมื่อไปกินยาลดความดันเลือดเพิ่มขึ้น จึงทำให้ความดันเลือดตกลงไปมากเมื่อความเครียดบรรเทาลง หรือหมดไป
เมื่อความดันเลือดตกลงไปมาก จึงทำให้เกิดอาการ “วูบ” ขึ้น

3.การงดอาหารเช้า แล้วไปทำงานแบบท้องว่าง ทำให้ร่างกายขาดพลังงานได้ง่าย คนที่อดอาหารจึง “วูบ” หรือเป็นลมได้ง่าย

4.อากาศหรือบรรยากาศ อากาศในหอคนไข้มักจะมีกลิ่นอับหรือกลิ่นที่ไม่ชวนดมต่าง ๆ และไม่มีการถ่ายเทอากาศ(ไม่มีลมพัด) ให้คลายร้อน และให้สดชื่นมากนัก อีกทั้งยังถูกรุมล้อมด้วยนักเรียนแพทย์ และแพทย์ประจำบ้านในการสอนข้างเตียงเช่นนี้ ทำให้อึดอัดมากขึ้น บรรยากาศที่อึดอัดร้อนอบอ้าว หรือความจอแจ คับแคบ เป็นปัจจัยอีกอย่างหนึ่งสำหรับการ “วูบ” หรือเป็นลมได้ง่าย
“ถ้าเราเข้าใจอาการ “วูบ” จากการเป็นลมหน้ามืดเช่นนี้แล้ว ก็จะสามารถป้องกันและรักษาอาการ “วูบ” แบบนี้ได้เอง

เพราะถึงไปโรงพยาบาล การรักษาก็ไม่แตกต่างกัน นั่นคือให้นอนพัก และรักษาสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการ “วูบ”

                                                                                                                               (อ่านต่อฉบับหน้า)


 

ข้อมูลสื่อ

197-005
นิตยสารหมอชาวบ้าน 197
กันยายน 2538
ศ.นพ.สันต์ หัตถีรัตน์