• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

เรื่อง “ไอ” (ตอนที่ 2)

เรื่อง “ไอ” (ตอนที่ 2)

คนไข้รายที่ ๒ ชายหนุ่มรูปร่างบึกบึนท่าทางแบบกรรมกรพาลูกชายวัย ๖ ขวบ ที่มีอาการไอเป็นพักๆมาหาหมอ

เด็กน้อยมีรูปร่างผอม ค่อนข้างแห้ง (ผิวแห้ง ปากแห้ง) ท่าทางอิดโรยมาก และตาทั้ง ๒ ข้างแดงสด (ตาขาวแดงสด) เพราะมีเลือดออกที่ตาขาว

ชาย : “หมอ ดูลูกผมด้วย มันจะแย่แล้ว”
หมอ : “ลูกคุณมีอาการอะไรหรือ”
ชาย :  ”สัปดาห์ก่อน มันมีไข้ น้ำมูกไหล แล้วไม่กี่วันต่อมา มันก็เริ่มไอ ๒-๓ วันนี้ มันไอมากจนกินข้าวกินน้ำไม่ได้ บางทีกินเข้าไปแล้ว แต่พอไอก็อาเจียนออกมาหมด ซื้อยาให้กินก็ไม่ดีขึ้น เช้านี้มันไอมาก จนตาแดงเหมือนเลือดออก จึงรีบพามาหาหมอ”

ระหว่างที่พ่อเด็กให้ประวัติอยู่ เด็กก็มีอาการไอขึ้นอย่างรุนแรง และไอติดต่อกันโดยไม่ทิ้งช่วง (ให้หายใจเข้า) จนหน้าแดงก่ำและเป็นสีม่วง หรือภาษาหมอเรียกว่า “เขียว” (cyanosis) เพราะขาดออกซิเจนจนกระทั่งมีเสียงคล้ายเสมหะหลุดออกมาจากคอแล้วเด็กจึงหายใจเข้าเสียงดังฮู้บ ฝรั่งจึงเรียกโรคนี้ว่า whooping cough คนไทยเรียกว่า โรคไอกรน คนจีนแต้จิ๋วเรียกว่า “แปะยิกเส่า” (โรคไอร้อยวัน) เพราะมักไอเรื้อรัง (อาจถึงร้อยวัน) กว่าจะหายสนิท ถ้าไม่ได้รับการรักษา

หมอ : “อาการไอของลูกคุณแสดงว่าลูกคุณเป็นโรคไอกรน ซึ่งจะทำให้ไอรุนแรง จนเลือดออกในตาขาวได้ อาการเลือดออกในตาขาวไม่ใช่เรื่องร้ายแรงอะไร

“แต่อาการไอรุนแรงเป็นเรื่องร้ายแรง โดยเฉพาะถ้าไอจนเขียวหรือไอจนวูบหมดสติ และลูกคุณก็ไอรุนแรงจนเขียว และจนกินข้าวกินน้ำไม่ได้ เพราะจะอาเจียนออกมาหมดเวลาไอ จึงจำเป็นต้องรับลูกคุณไว้ในโรงพยาบาล ให้น้ำเกลือกลูโคสและให้ยาสัก ๑-๒ วัน ก็จะกลับบ้านได้ คุณจะให้ลูกอยู่โรงพยาบาลมั้ย”

ชาย : “ผมเป็นคนงานก่อสร้าง ไม่มีเงินครับ”
หมอ : “ไม่เป็นไร หมอจะขอสังคมสงเคราะห์ให้ หรือใช้เงินบริจาคของโรงพยาบาลช่วยเหลือไปก่อน ตกลงคุณจะให้ลูกอยู่โรงพยาบาลมั้ย”
ชาย : “ครับ ขอบคุณครับ”

ตัวอย่างคนไข้รายที่ ๒ เป็นตัวอย่างของอาการไอที่เป็นภาวะฉุกเฉินอย่างหนึ่ง คือ อาการไอรุนแรงจนกินข้าวกินน้ำไม่ได้ หรือกินเข้าไปแล้วก็อาเจียนออกมาหมดเวลาไอ จนร่างกายขาดน้ำขาดอาหาร ผิวแห้ง ปากแห้ง ซูบผอม ตาอาจลึกเข้าไปในเบ้า(ตาโบ๋) แก้มตอบ และอื่นๆ

ปัจจุบัน โรคไอกรนพบน้อยลงมาก เพราะมีการฉีดวัคซีนป้องกันโรคนี้ร่วมไปกับโรคอื่นๆ ที่เรียกกันว่า ฉีดวัคซีน ดีพีที (DPT) นั่นคือป้องกันโรคคอตีบ (Diphtheria) โรคไอกรน (Pertussis) และโรคบาดทะยัก (Tetanus) ตั้งแต่ยังเป็นทารก ซึ่งทำให้เกิดภูมิคุ้มกันการเป็นโรคนี้ตั้งแต่เป็นทารก จึงพบโรคนี้น้อยลง

แต่เนื่องจากคนไข้รายนี้เป็นลูกของคนงานก่อสร้างซึ่งเปลี่ยนที่อยู่ไปเรื่อยๆ จึงไม่ได้รับวัคซีนพวกนี้หรือได้รับไม่สมบูรณ์ นั่นคือ ฉีดไม่ครบตามที่กำหนดไว้ จึงไม่มีภูมิคุ้มกันพอ และเกิดเป็นโรคขึ้น
อันที่จริง โรคไอกรนเป็นโรคที่หายเองได้ แต่กว่าจะหาย ต้องไออย่างทรมานอยู่หลายสัปดาห์ หรืออาจถึงร้อยวัน (แปะยิกเส่า) ซึ่งอาจเกิดภาวะแทรกซ้อน(โรคแทรก)ต่างๆ และอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ โดยเฉพาะในเด็กเล็กๆ หรือในคนที่อ่อนแอมากๆ

ดังนั้น จึงควรฉีดวัคซีนป้องกันโรคต่างๆให้แก่เด็ก ตามโรงพยาบาล สถานีอนามัย ศูนย์บริการแม่และเด็ก และศูนย์บริการสาธารณสุขต่างๆ มีตารางกำหนดไว้ และหลายแห่งให้บริการโดยไม่คิดค่าใช้จ่ายในการบริการแต่อย่างใด เด็กๆจะได้ไม่เป็นโรคเหล่านี้ ซึ่งล้วนแต่เป็นโรคที่ทำให้ทรมานมากและอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้

                                               ********************************

คนไข้รายที่ ๓ หญิงสาวอายุประมาณ ๒๔ ปี มาที่ห้องฉุกเฉิน

หญิง : “สวัสดี...ค่ะหมอ ดิฉัน...มีไข้...ไอมาก...๔-๕ วัน...แล้วค่ะกิน...ยา...ก็ไม่...ดีขึ้น...ค่ะ”
หญิงสาวพูดไปไอไป พูดขาดเป็นห้วงๆ หายใจเร็วและหอบ ปีกจมูกบานเข้าบานออกเวลาหายใจ หัวไหล่ก็ยกขึ้นลงตามการหายใจ

หมอ : “คุณเคยเป็นแบบนี้มาก่อนมั้ย เสมหะสีอะไร และเอายาที่กินมาด้วยหรือเปล่าครับ”
หญิง : “ไม่เคยเป็น...ค่ะ เสมหะ...สีขาว...ค่ะ นี่...ค่ะยา”

ยาที่คนไข้กินอยู่มียาปฏิชีวนะอะม็อกซีซิลลิน และยาแก้ไอชนิดน้ำหวาน ซึ่งซื้อจากร้านขายยาและกินมาได้ ๒ วันแล้ว

หมอ : “ถ้าอย่างนั้น หมอขอตรวจคุณหน่อยนะ”

จากการตรวจร่างกาย พบว่าคนไข้หายใจเร็ว หายใจลำบาก (นั่นคือ เวลาหายใจ กระดูกไหปลาร้าและไหล่ยกขึ้นยกลงตามการหายใจ และ/หรือลูกกระเดือกยกขึ้นยกลงตามการหายใจ เป็นต้น) และเมื่อฟังเสียงหายใจ ปรากฏว่ามีเสียงวี้ดๆ หรือเสียงหวีด (wheeze) ทั้งในขณะหายใจเข้าและหายใจออก (ดูวิธีตรวจปอด ใน “มาเป็นหมอกันเถิด” ในหมอชาวบ้าน ฉบับที่ ๔๑-๔๓)

เมื่อลมหายใจมีเสียงหวีดแม้จะหายใจทางปาก แสดงว่าหลอดลมตีบเกร็ง (bronchospasus) ถ้าปิดปากหายใจ หรือหายใจทางจมูก ในคนที่คัดจมูกหรือรูจมูกตีบตันอยู่ ก็อาจมีเสียงหวีดได้ ไม่ได้เกิดจากหลอดลมตีบเกร็ง (เวลาคนไข้หายใจแล้วมีเสียงหวีด จึงต้องให้คนไข้อ้าปากแล้วหายใจทางปาก ถ้าเสียงหวีดหายไปแสดงว่าเกิดจากรูจมูกตีบตัน)

หมอ : “คุณเป็นโรคหลอดลมอักเสบ (bronchitis) ที่หลอดลมเล็กอักเสบ (bronchiolitis) ด้วย จึงทำให้ไอมาก และหายใจลำบาก จนถึงขั้นหอบด้วย

“หมอจะลองให้คุณใช้ยาพ่นดูก่อน ถ้าไม่ดีขึ้น คงต้องฉีดยา และอาจให้คุณอยู่โรงพยาบาลเพื่อดูอาการสัก ๓-๔ ชั่วโมง ถ้าดีขึ้น ก็จะให้กลับบ้าน”

อาการไอที่ทำให้คนไข้หอบมากหรือเขียว ก็ถือเป็นอาการไอฉุกเฉินอย่างหนึ่ง ถ้าให้ยาแล้วไม่ดีขึ้นภายในครึ่งถึงหนึ่งชั่วโมง อาจจะต้องรับไว้รักษาตัวในโรงพยาบาล

คนไข้รายนี้มีอาการคล้ายคนไข้โรคหอบหืด (ซึ่งเป็นโรคที่หลอดลมตีบเกร็งจากภูมิแพ้) แต่คนไข้รายนี้มีหลอดลมตีบเกร็งจากโรคหลอดลมเล็กอักเสบ  (bronchiolitis) จากการติดเชื้อโดยเฉพาะเชื้อไวรัสเพราะมีอาการไข้ ไม่เคยเป็นโรคหอบหืดมาก่อน และเสมหะเป็นสีขาว

เมื่อหลอดลมเล็กตีบเกร็ง ลมหายใจจะผ่านเข้าออกลำบาก จึงมีเสียงหวีดเกิดขึ้น ทำให้ไอและหายใจลำบาก จึงต้องให้ยาขยายหลอดลม  (bronchodilators) ถ้ารีบด่วนก็ต้องใช้แบบพ่น(พ่นเข้าไปในปากหรือจมูกเพื่อให้สูดหายใจเข้าไปในปอด) หรือแบบฉีด ถ้าไม่รีบด่วนก็ใช้แบบกินได้ เมื่อหลอดลมหายตีบเกร็งแล้ว อาการไอก็จะหายหรือลดลงมาก

ดังนั้น อาการไออาจเกิดจากหลอดลมตีบเกร็งก็ได้ ไม่จำเป็นต้องเกิดจากการมีเสมหะ สิ่งแปลกปลอม หรือการอักเสบในหลอดลมเท่านั้น ถ้าไม่ตรวจดูให้ดีให้กินแต่ยาแก้ไอและยาขับเสมหะ อาการไอจะไม่หายหรือลดลงได้

อาการหลอดลมตีบเกร็งนี้อาจเกิดจากสาเหตุต่างๆ เช่น

1. ภูมิแพ้ เช่น แพ้ยา แพ้อาหาร แพ้ฝุ่นละออง แพ้ควันหรือละอองจากงานที่ทำอยู่  แพ้อารมณ์ของตนเองโดยเฉพาะอารมณ์โกรธหรือผิดหวัง แพ้อากาศ หรืออื่นๆ ซึ่งนอกจากจะให้ยาขยายหลอดลมแล้ว ต้องกำจัดหรือหลีกเลี่ยงสิ่งที่แพ้ด้วย
2. การติดเชื้อ เช่น หลอดลมอักเสบ ปอดอักเสบ  ซึ่งนอกจากจะให้ยาขยายหลอดลมแล้ว อาจต้องให้ยาแก้การอักเสบด้วย ถ้าการอักเสบนั้นเกิดจากเชื้อโรคที่มียารักษา ก็ต้องให้ยารักษา (ยาฆ่าเชื้อโรค เช่น ยาปฏิชีวนะ) ด้วย
3. ปอดคั่งเลือด หรือปอดบวมน้ำ (pulmonary congestion or edema) ซึ่งนอกจากจะให้ยาขยายหลอดลมแล้วยังต้องขัยปัสสาวะ และ/หรือให้ยาช่วยให้หัวใจทำงานดีขึ้น เป็นต้น
การรักษาอาการไอจากหลอดลมตีบเกร็ง จึงต้องหาสาเหตุที่ทำให้หลอดลมตีบเกร็ง และรักษาหรือกำจัดสาเหตุนั้นด้วย

                                              ***************************

คนไข้รายที่ ๔ ชายหนุ่มอายุประมาณ ๒o ปี เดินเข้ามาที่ห้องฉุกเฉินกลางดึก

ชาย : “สวัสดีครับ หมอ ผมแน่นแก หายใจไม่สะดวก เพิ่งเป็นมาได้สักชั่วโมงครับ มันแน่นขึ้นเรื่อยๆจึงต้องมากวนหมอกลางดึก”
หมอ : “ก่อนที่คุณจะมีอาการแน่น คุณมีอาการอะไรบ้าง”
ชาย : “ผมเป็นไข้หวัดมา ๒ วัน ไอมาก ตอนเย็นวันนี้ ผมไอรุนแรง หลังจากนั้นผมรู้สึกแน่นในอกเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทำให้หายใจไม่สะดวก ผมเป็นโรคหัวใจหรือเปล่าครับ”
หมอ : “คุณเคยเป็นโรคหัวใจหรือ”
ชาย : “ไม่เคยครับ เห็นหนังสือเขาบอกว่า ถ้าแน่นในอกและหายใจไม่ออก ให้นึกถึงโรคหัวใจ”

หมอ : “โธ่เอ๊ย...โรคหัวใจที่ทำให้แน่นอกหรือเจ็บอกและหายใจไม่ออกที่คุณพูดถึงนั้น หมายถึงหัวใจขาดเลือดหรือโรคหลอดเลือดหัวใจตีบใช่มั้ย”
ชาย : “ใช่ครับ”
หมอ : “ถ้าอย่างนั้น หมอบอกได้เลยว่า คุณไม่ได้เป็นโรคนั้น ยกเว้นเสียแต่ว่าคุณจะโชคดียิ่งกว่าถูกสลากกินแบ่งรัฐบาลรางวัลที่ ๑ เพราะคุณยังอายุน้อยเกินไปที่จะเป็นโรคนั้น

“อาการแน่นอกของคุณคงเกิดจากโรคปอดมากกว่า ขอหมอตรวจร่างกายคุณก่อน แล้วจะบอกได้แน่นอนขึ้น”

จากการตรวจร่างกาย พบว่าคนไข้หายใจเร็ว แต่ยังไม่ถึงกับหอบหรือหายใจลำบาก เมื่อฟังเสียงหายใจปรากฏว่า เสียงลมหายใจที่ทรวงอกข้างขวาเบากว่าข้างซ้ายมากและเสียงพูดที่ทรวงอกข้างขวาก็เบากว่าข้างซ้ายมาก เมื่อเคาะทรวงอกข้างขวาก็มีเสียงโปร่งกว่าทรวงอกข้างซ้าย แสดงว่า มีลมในช่องอกขวา (right pneumothorax) ทำให้ปอดขวาแฟบ (right lung atelectasis) ลมหายใจจึงเข้าปอดขวาไม่ได้  (ดูวิธีฟังเสียงหายใจและเสียงพูด รวมทั้งวิธีเคาะทรวงอก ใน “มาเป็นหมอกันเถิด” ในหมอชาวบ้าน ฉบับที่ ๔๑-๔๓)

หมอ : “จากการตรวจร่างกาย คิดว่าคุณหายใจลำบาก เพราะมีลมในช่องอกข้างขวาไปดันให้ปอดข้างขวาของคุณแฟบลง คุณจึงหายใจลำบาก หมอคิดว่าคุณคงต้องอยู่โรงพยาบาลอย่างน้อย ๑-๒ วัน ถ้าอาการหอบเหนื่อยของคุณเป็นมากขึ้น หมอต้องรีบเจาะเอาลมในช่องอกของคุณออกให้ และคงต้องใส่สายยางคาไว้ในช่องอกขวาของคุณ เพื่อให้ลมในช่องอกระบายออกได้”

ชาย : “แล้วลมในช่องอกผมเกิดได้อย่างไร”
หมอ : “หมอยังไม่รู้สาเหตุแน่นอน แต่คิดว่าอาการไอรุนแรงของคุณอาจจะเป็นชนวนทำให้ถุงลมที่อยู่ใกล้เยื่อหุ้มปอดปริออก ทำให้ลมในปอดรั่วเข้าไปในช่องอก เมื่อปอดของคุณแฟบลง รอยปรินี้อาจเชื่อมติดกันและปิดสนิทได้อีกครั้งหนึ่ง ทำให้ลมไม่รั่วออกมาเพิ่มเติมและคุณไม่หอบเหนื่อยเพิ่มขึ้น

“แต่ถ้าลมยังรั่วออกมาเรื่อยๆ ปอดของคุณจะแฟบลงๆ คุณจะหอบเหนื่อยมากขึ้นๆ ก็จำเป็นจะต้องใส่สายยางเข้าไปในช่องอกของคุณ และดูดลมออก มิฉะนั้นคุณอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้

“เพื่อความแน่นอนในการติดตามว่าลมมันรั่วออกมาเพิ่มขึ้นๆ อีกหรือไม่ หมอจำเป็นต้องเอกซเรย์ทรวงอก (เอกซเรย์ปอด) ของคุณไว้ในตอนนี้ และถ้าคุณมีอาการมากขึ้น จะได้เอกซเรย์ซ้ำ แต่ถ้าคุณมีอาการคงเดิม อีก ๒๔-๒๘ ชั่วโมงจึงจะเอกซเรย์ซ้ำใหม่

“อย่างไรก็ตาม คุณคงต้องอยู่โรงพยาบาลสัก ๑-๒ วัน เผื่อว่าอาการทรุดลง จะได้รีบใส่สายยางดูดเอาลมออกทันที”

เอกซเรย์อกของคนไข้ แสดงลมในช่องอกขวา และปอดขวาแฟบลงเล็กน้อย ไม่พบสิ่งผิดปกติอื่นใดในปอด หมอจึงให้คนไข้นอนพัก ให้ยาระงับไอ และยาคลายกังวล แล้วคอยสังเกตอาการ ปรากฏว่าอาการคนไข้ไม่ทรุดลงหลัง ๖ ชั่วโมง และเอกซเรย์อีก ๘ ชั่วโมงต่อมา ปรากฏว่าลมในช่องอกลดลง (ถูกดูดซึมไป) และปอดขยายตัวออกมากขึ้น แสดงว่ารูรั่วที่ปอดปิดเองแล้ว จึงไม่มีลมรั่วออกมาเพิ่มขึ้น

เมื่อหมอเห็นว่าคนไข้ปลอดภัยและอยากกลับไปพักผ่อนที่บ้านซึ่งอยู่ไม่ไกลจากโรงพยาบาลนัก จึงอนุญาตให้กลับ พร้อมทั้งกำชับว่าอย่าไอแรงๆ ถ้าคันคอหรืออยากไอให้ไอเบาๆหรือกระแอมแทน จะได้ไม่ไปดันให้รูรั่วนั้นเปิดออกอีก พร้อมกับให้ยาระงับอาการไอ และยาคลายกังวลไปกินต่อที่บ้าน

ตัวอย่างคนไข้รายที่ ๔ เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งของอาการฉุกเฉินที่ต้องรับไว้ดูอาการในโรงพยาบาล ถ้าอาการทรุดลงจะได้รีบให้การรักษาพยาบาลได้ทัน

                                                                                                        (อ่านต่อฉบับหน้า)
                                                            ***************************************

 

 

 

ข้อมูลสื่อ

216-004
นิตยสารหมอชาวบ้าน 216
เมษายน 2540
ศ.นพ.สันต์ หัตถีรัตน์