• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

เขตสุขภาพ : ความหวังใหม่ของสุขภาวะคนไทย

....ขณะที่เขียนบทความนี้  ได้ข่าวว่าทางราชการกำลังมีดำริจะตั้งจังหวัดใหม่ขึ้นในประเทศไทยอีก ๕ จังหวัด  ซึ่งผมรู้สึกว่าเป็นข่าวดี  เพราะจะทำให้คนในจังหวัดใหม่ๆเหล่านั้นได้รับการดูแลใส่ใจจากหน่วยราชการต่างๆได้ใกล้ชิดมากขึ้น...

...แต่ผู้รู้บางท่านบอกว่า  เรื่องนี้ไม่แน่ว่าจะดีไปหมดทุกอย่าง  เพราะตราบใดที่ระบบราชการบ้านเรา  ยังเน้นการสั่งการและการรวบอำนาจการตัดสินใจไว้ที่ส่วนกลาง  ประเด็นต่างๆก็คงไม่ได้รับการแก้ไขเยียวยาที่มีประสิทธิภาพดีขึ้นไปกว่าเดิมสักเท่าไหร่

มีคำกล่าวว่า “ถ้าคุณไม่เปลี่ยนวิธีคิด และวิธีจัดการกับปัญหาเดิมๆ  ผลลัพธ์ที่ออกมาก็คงไม่แตกต่างไปจากเดิม”  ยกตัวอย่างการแก้ปัญหาจราจรในกรุงเทพมหานคร  ซึ่งนับวันจะแย่ลงไปเรื่อยๆ เพราะเราไม่เปลี่ยนหลักการวิธีคิดจากเดิมที่พยายามทำให้ “รถยนต์เคลื่อน” ไปเป็น “คนเคลื่อน” เราไม่มีทางขยายสร้างถนนให้พอเพียงกับรถยนต์ที่เพิ่มปริมาณจนมีถึง ๑๐ ล้านคันแล้วขณะนี้ในกทม.  หากเราไม่วางแผนให้คนใช้  “ระบบขนส่งมวลชน” ลดการใช้รถยนต์ ลดการเผาน้ำมัน  ก็ไม่มีใครสามารถเยียวยาแก้ไขปัญหานี้ได้

ปัญหาบริการสุขภาพก็เฉกเช่นเดียวกัน  ความแน่นแออัด  คิวยาว  รอนาน  เจ้าหน้าที่บุคคลากรไม่พอเพียง  ดูเหมือนจะเป็นปัญหาโลกแตกที่รัฐบาล และหน่วยงานราชการแก้เท่าไหร่ก็แก้ไม่ตก  เหมือนโรคผิวหนังที่เรื้อรัง  รักษามาหลายสิบปีแล้วก็ไม่หายจากโรคเสียที

ประเทศไทยขณะนี้มี ๗๖จังหวัด กับ ๒ เขตการปกครองพิเศษ (คือ กรุงเทพมหานคร และพัทยา)  แต่ละจังหวัดมีประชากร ๒ แสน – ๒.๕ ล้านคน  ในกรุงเทพมหานครแบ่งเป็น ๕๐ เขต  แต่ละเขตมีประชากรเฉลี่ย ๕ หมื่น – ๑ แสนคน  โดยมีประชากรตามฐานทะเบียนราษฎร์ ๕.๗ ล้านคน (โดยไม่นับประชากรแฝงที่มาอยู่ทั้งแบบถาวรและชั่วคราวอีกในปริมาณที่ใกล้เคียง)  ทำให้มหานครแห่งนี้มีประชากรทุกประเภทรวมกันประมาณ ๑๐ ล้านคน  ในขณะนี้เราแบ่งพื้นที่การปกครองประเทศไทยเป็น ๑๓ เขต แต่ละเขตมีจำนวนจังหวัด ๔-๘ จังหวัด

...โรงพยาบาลสมุทรปราการ กับองค์การบริหารส่วนจังหวัด พยายามช่วยกันสร้างอาคารใหม่ในโรงพยาบาล  แต่ทำไม่ได้ เพราะอำนาจการตัดสินใจอยู่ที่ส่วนกลาง...

...องค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต  สร้างโรงพยาบาลของท้องถิ่นขึ้นมาเพื่อช่วยแบ่งเบาภาระของโรงพยาบาลวชิระภูเก็ต  แต่ก็ติดระเบียบระบบข้อจำกัดมากมายในการบริหารจนต้องจ้างเอกชนมาช่วยดูแล  เพราะระเบียบของส่วนกลางไม่เปิดโอกาสให้ทำเรื่องใหม่ๆ

...เทศบาลนครอุดรธานี  ใช้งบประมาณกว่า ๒๐๐ ล้านบาทเพื่อสร้างโรงพยาบาลเทศบาลในอำเภอเมือง  เพื่อแบ่งเบาภาระของโรงพยาบาลศูนย์อุดรธานี  แต่การทำงานร่วมกันของโรงพยาบาล ๒ สังกัดนี้ก็ยังเป็นไปอย่างทุลักทุเล เพราะการใช้ระเบียบที่แตกต่างกัน  รวมทั้งมุมมองวิธีคิดของส่วนกลางที่ไม่ได้วางระบบสนับสนุนอย่างเต็มที่

ที่ผ่านมามีความพยายามที่จะทดลองให้โรงพยาบาลสร้างเสริมสุขภาพ (รพสต.) โอนไปขึ้นกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น คือ เทศบาลและองค์การบริหารส่วนตำบล  ขณะนี้ทดลองนำร่องไปกว่า ๔๐ แห่ง  แต่ก็ยังไม่ได้ข้อสรุปถึงผลดีผลเสียที่ชัดเจนในเชิงระบบในขณะนี้

...แล้วเราจะหาทางออก และข้อสรุปในปัญหาเหล่านี้อย่างไร!.. 

ในการประชุมคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ เมื่อ  ๒๕ กรกฎาคม ๒๕๕๗ ได้มีมติเห็นชอบเรื่อง “การปฏิรูประบบสุขภาพ ภายใต้การปฏิรูปประเทศไทย” อันเป็นกุญแจใหม่ไปสู่การจัดการระบบสุขภาพของประเทศที่มีปัญหาสั่งสมมากมาย  เหมือน ๓-๔ ตัวอย่าง ข้างต้นที่ผมกล่าวถึงไปแล้ว

...พลเอกประยุทธ  จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี  ได้อนุมัติการจัดตั้งเขตสุขภาพเพื่อประชาชน  เมื่อวันที่ ๒๕ สิงหาคม ๒๕๕๗ หัวใจสำคัญของเรื่องนี้มีอยู่ ๒ ประการ คือ

๑.       จัดตั้งเขตสุขภาพเพื่อประชาชน  โดยยึดโยงการทำงานของหน่วยงานและองค์กรทุกภาคส่วน  โดยใช้พื้นที่เป็นฐาน

๒.     ใช้ประโยชน์สุข และสุขภาวะของคนในพื้นที่ เป็นศูนย์กลางในการทำงาน

หน่วยงานหลักที่จะต้องร่วมกันขับเคลื่อนเรื่องนี้ คือ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ  กระทรวงสาธารณสุข  สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และสำนักงานกองทุนสร้างเสริมสุขภาพ  ซึ่งขณะนี้ได้นำร่องไปแล้ว ๓ เขต คือ เขตอุดรธานี เขตระยอง และเขตพิษณุโลก

แต่ละพื้นที่ซึ่งมีปัญหาด้านสุขภาพ  ความต้องการสนับสนุนช่วยเหลือ (Health Need) ที่แตกต่างกัน  ไปจนถึงมีปัจจัยกำหนดสุขภาพ (เช่น รายได้ สภาพแวดล้อม มลภาวะ ลักษณะอาชีพ สภาพภูมิอากาศ เป็นต้น) ที่แตกต่างกัน  จะสามารถกำหนด วางแผน และให้น้ำหนักในการแก้ปัญหา จัดสรรทรัพยากร ได้อย่างเป็นระบบมากขึ้น  มีศักยภาพในการจัดการตนเองได้มากขึ้น

กระทรวงสาธารณสุขได้นำร่องการจัดระบบ “เขตบริการสุขภาพ” ไปก่อนหน้านี้แล้วโดยผ่านกลไกที่เรียกว่า “แผนบริการสาธารณสุข” (Service Plan) ของเขตทั้ง ๑๓ เขต ซึ่งถือว่าเป็นระบบย่อย  ภายใต้ระบบใหญ่ที่เรียกว่าเขตสุขภาพ (Area Health) ซึ่งถือว่าเป็นมิติใหม่ของสังคมไทยในการปฏิรูประบบสุขภาพของประเทศ

ขณะนี้ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) กำลังอยู่ในระหว่างดำเนินการเสนอร่างระเบียบนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการจัดตั้งเขตสุขภาพเพื่อประชาชน พ.ศ.......เสนอคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบ

หากร่างระเบียบดังกล่าวผ่านมติคณะรัฐมนตรีแล้วก็จะมีกลไกใหม่ คือ คณะกรรมการเขตสุขภาพเพื่อประชาชน (กขป) จำนวน ๑๓ เขต ซึ่งมีกรรมการมาจาก ๓ ภาคส่วน คือ ภาครัฐ ภาควิชาการ/วิชาชีพ และภาคประชาสังคม เอกชนมาร่วมกันทำงาน  ในการกำหนดทิศทางการพัฒนายุทธศาสตร์และนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพของพื้นที่ต่อไป

....เราหวังว่าเขตสุขภาพ  จะเป็นความหวังใหม่ในการปฏิรูปการดูแลสุขภาพของคนไทยทั้งประเทศ...

ข้อมูลสื่อ

442-001
นิตยสารหมอชาวบ้าน 442
กุมภาพันธ์ 2559
นพ.วีระวัฒน์ พันธ์ครุฑ