• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

จักรยานอาสากู้ชีพ

            ....ในการจัดกิจกรรมการออกกำลังกายด้วยการวิ่ง หรือปั่นจักรยานบนถนนนั้น  ปัจจุบันคนไทยมีความตื่นตัวเรื่องการดูแลสุขภาพมากขึ้น  กิจกรรมสองอย่างข้างต้นนั้น  มีแนวโน้มที่จะมีคนเข้าร่วมเป็นจำนวนมากขึ้น  ซึ่งจะทำให้มีโอกาสที่จะเกิดการบาดเจ็บ  เกิดล้มป่วย หรือเกิดภาวะฉุกเฉินทางการแพทย์ตั้งแต่เบาๆไปจนถึงอาการหนักได้

            ...หลายงานที่ผมได้มีโอกาสไปร่วมกิจกรรมดังกล่าว  จะพบว่ามีความหลากหลายในการเตรียมการปฐมพยาบาลและดูแลเหตุดังกล่าว  บางงานมีเฉพาะหน่วยพยาบาลเฉพาะที่จุดปล่อยตัวและหรือเส้นชัย  บางงานมีรถพยาบาลหรือทีมปฐมพยาบาลเรียงรายอยู่ระหว่างเส้นทาง  บางงานที่มี Marshall (จักรยาน) คอยช่วยกำกับเส้นทางก็ช่วยทำหน้าที่ปฐมพยาบาลเบื้องต้นไปด้วย  แต่ละงานจะมีการเตรียมความพร้อมรองรับเพื่อดูแลผู้บาดเจ็บและการปฐมพยาบาลที่แตกต่างกันไป....

            ข่าวนักกีฬาวิ่ง หรือนักปั่นจักรยานหัวใจวายหรือเสียชีวิตในระหว่างการแข่งขัน  แม้จะได้ยินไม่บ่อยนัก  แต่ก็มีอยู่เรื่อยๆในประเทศไทย  ทั้งรถล้ม คนขับแข้งเข่าถลอก กระดูกหัก (รถเกี่ยวกันล้ม ชนกับยานยนต์อื่น รถยางแตก หรือตีลังกาลงจากเนิน  ตกลงไปข้างไหล่ทาง  จนกระทั่งนักปั่นที่โหมหนักเกินไปจนหัวใจเต้นเร็วเกินไปและลงท้ายด้วยหัวใจวาย  กรณีกระดูกแขนและไหปลาร้าหัก เป็นเรื่องที่พบบ่อยทีเดียวในหมู่นักปั่นจักรยาน

            การจัดการดูแลเหตุฉุกเฉินดังกล่าวข้างต้นนั้น  ต้องการการจัดการอย่างเป็นระบบ มีการประเมินสภาพความพร้อมและปัจจัยแวดล้อมของงาน  การวางแผน  การเตรียมงาน การปฏิบัติการ และการประเมินผล

            โครงการ “จักรยานอาสากู้ชีพ” เป็นกลุ่มผู้รักการปั่นจักรยาน  ซึ่งริเริ่มโดยมีผู้มีจิตอาสา และผู้มีอาชีพเกี่ยวข้องกับการกู้ชีพกู้ภัยกลุ่มหนึ่ง ภายใต้การนำของนพ.อุกฤษฎ์  มิลินทางกูร  ที่ปรึกษาอาวุโสของสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ได้เริ่มก่อตั้งขึ้นตั้งแต่ต้นปี ๒๕๕๘  โดยมีเป้าหมายหลัก คือ การมีส่วนช่วยสนับสนุนการจัดงานแข่งขันจักรยานและวิ่งการกุศล  โดยมีแนวทางการปฏิบัติภารกิจที่เป็นระบบ  และมีบุคลากรที่มีจิตอาสา  มีความรู้พื้นฐานเบื้องต้นในการดูแลการปฐมพยาบาลและอุบัติเหตุเฉพาะหน้าได้

            ต่อคำถามว่า เรามีแรงจูงใจอะไรที่ได้ริเริ่มโครงการนี้ขึ้น  คุณหมออุกฤษฎ์ตอบว่า  ความที่ท่านปั่นจักรยานมานานเกือบ ๑๐ ปีแล้ว  อยากให้จักรยานสร้างประโยชน์มากกว่าการนันทนาการ และการออกกำลัง  นอกจากนี้นักปั่นกลุ่มหนึ่งก็เป็นผู้ที่มีพื้นความรู้เรื่องการกู้ชีพกู้ภัยอยู่แล้ว  ตอนแรกเริ่มทีมงานนี้มีแค่ ๖-๗ คน  แต่ต่อมาก็มีคนอาสามาร่วมด้วยเพิ่มขึ้นเป็น ๑๐ กว่าคนในขณะนี้

            หลักการของการทำงาน คือ ทีมหน่วยจักรยานอาสากู้ชีพนี้  จะช่วยทำหน้าที่เป็นผู้ดูแลเบื้องต้น (First Responder) โดยเฉพาะในเรื่องการปฐมพยาบาล  การกู้ชีพพื้นฐาน ไปจนถึงการใช้เครื่องอุปกรณ์กู้ชีพหัวใจ (AED) ในกิจกรรมออกกำลังกาย กีฬา หรือกิจกรรมที่มีผู้คนรวมตัวเป็นจำนวนมาก

            อุปกรณ์ที่จำเป็นของทีมงานประกอบด้วย

-          จักรยาน ซึ่งเป็นประเภทTouring จะเหมาะที่สุดโดยจะต้องนำมาดัดแปลงเพื่อติดตั้งกระเป๋าใส่อุปกรณ์ชนิดต่างๆ

-         เครื่องมือสื่อสาร คือ วิทยุสื่อสารสำหรับช่วงความถี่ประชาชน (Citizen Band)

-         ชุดปฐมพยาบาลเบื้องต้น และเวชภัณฑ์สำหรับทำแผล

-         เครื่อง AED (Automated External Defibrillator) ชนิดกระเป๋าหิ้ว  สำหรับรายการที่ต้องมีการกระตุ้นหัวใจจะมีติดตั้งในรถบางคัน

-         อุปกรณ์อื่นๆ เช่น ไฟฉาย  ไฟติดหมวก แถบสะท้อนแสง

ข้อดีของการใช้จักรยานในการอาสากู้ชีพและปฐมพยาบาล   ก็คือมีความคล่องตัว  จักรยานไม่มีควัน   ไม่มีเสียงดังรบกวนนักวิ่งและนักปั่น  ไม่มีมลภาวะ  นักวิ่งและนักปั่นจักรยานระดับมืออาชีพ   จะไม่ชอบให้มีรถยนต์หรือจักรยานยนต์  นำหน้าหรือประกบข้างเพราะรำคาญควันท่อไอเสีย

ทีมงานจักรยานอาสากู้ชีพนี้  ได้เข้าไปมีส่วนร่วมสนับสนุนงานใหญ่ๆแล้วหลายงาน นับตั้งแต่งานปั่นจักรยานเทิดพระเกียรติ Bike for Dad และ Bike for Mom  งานวิ่งสุราษฎร์ธานีมาราธอน  งานวิ่งกรุงเทพมาราธอน  คุณหมออุกฤษฎ์บอกว่า  ตอนนี้เนื่องจากมี Eventกิจกรรมแบบนี้เกิดขึ้นจำนวนมาก  จึงต้องเลือกเฉพาะงานใหญ่ๆ มีคนเข้าร่วมแยะ และต้องมีการร้องขอมา

“ที่สำคัญมากๆ คือผู้จัดงานต้องรับรู้ว่ามีทีมเราอยู่ในงาน”  เพราะในการปฏิบัติงานจะต้องมีการประสานกับทีมปฐมพยาบาล  ทีมจักรยานพี่เลี้ยง (Marshall) ทีมวิทยุสื่อสาร  และในบางกรณีก็ต้องประสานกับรถพยาบาลที่เจ้าภาพเตรียมมา

“ตอนนี้เรามีเครื่อง AED ชนิดกระเป๋าหิ้ว  ติดตั้งกับจักรยานได้ถึง ๔ เครื่อง ต้องขอบคุณท่านผู้มีใจศรัทธาที่ช่วยบริจาคอุปกรณ์ดังกล่าว  ซึ่งราคาเครื่องละหลายหมื่นบาทให้ครับ”

ขณะนี้  เรากำลังเตรียมการดำเนินการผลิตเอกสารคู่มือการปฏิบัติงาน (Protocol) และแนวทางปฏิบัติภารกิจ  ซึ่งอาจต้องขอความร่วมมือสนับสนุนร่วมกับสถาบันการแพทย์  ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.)  บางครั้งเราก็เข้าไปมีส่วนเป็นผู้ช่วยครูฝึกเวลามีการจัดอบรมของสพฉ.

ท่านผู้อ่านที่เป็นนักปั่นจักรยานท่านใด  มีความสนใจอยากได้ความรู้ ได้บุญช่วยเหลือคน และได้ปั่นจักรยานไปด้วย  ติดต่อกับทางชมรมได้นะครับ  โดยเปิดดูใน Facebook ของชมรมจักรยานอาสากู้ชีพ

ข้อมูลสื่อ

451-01
นิตยสารหมอชาวบ้าน 451
พฤศจิกายน 2559
นพ.วีระวัฒน์ พันธ์ครุฑ